Thai Progressive Rock Community Version 2
Home
Webboard

Established since 2007 (29/05/2007), New Version : 5/11/2007

 

ผ่า Shine On You Crazy Diamond - Pink Floyd

Written by Agent Fox Mulder
จากกระทู้ในเว็บบอร์ด Pantip.com ห้อง Rock & Roll วันที่ 7มกราคม 2550


 

เพลง Shine On You Crazy Diamond ( ต่อไปจะขออนุญาตย่อว่า SOYCD) ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 1974 โรเจอร์ให้สัมภาษณ์ว่า เพลงนี้เริ่มต้นมาจากเสียงกีตาร์สามสี่โน๊ตของเดฟ ซึ่งภายหลังถูกพัฒนาจนกลายเป็นเพลงยาวเหยียดถึง 9 Part ด้วยกัน โรเจอร์บอกอีกว่า มันถูกแต่งขึ้นในแบบเดียวกับที่พวกเค้าเคยแต่งเพลง Echoes โดยในช่วงทัวร์ของปี 1974-1975 เพลง SOYCD ถูกนำไปเล่นในครึ่งแรกของการแสดงสดของทางวง ร่วมกับเพลงอื่นๆ ที่ยังเป็นวัตถุดิบใหม่ๆ ในขณะนั้น คือเพลง Raving And Drooling, You've Gotta Be Crazy และ Have A Cigar ( ซึ่งสองเพลงแรกต่อมากลายมาเป็นเพลง Sheep และ Dogs ในอัลบั้ม Animals ตามลำดับ) โดยเพลง SOYCD จะถูกแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ คือ Part 1-5 และ Part 6-9 โดยในการแสดงสดช่วงปี 1974-1975 มันจะถูกคั่นด้วยเพลง Have A Cigar

การบันทึกเสียงของเพลง SOYCD กับอัลบั้ม Wish You Were Here
สังเกตดีๆ จะเห็นว่าในเซ็ทลิสต์ของทัวร์ในปี 1974-1975 ของพวกเค้า ไม่มีเพลง Welcome To The Machine และ Wish You Were Here ร่วมอยู่ด้วย สาเหตุเป็นเพราะว่าในช่วงทัวร์จนถึงต้นเดือนกรกฎาคมของปี 1975 นั้น ทางวงยังไม่ได้แต่งเพลง Welcome To The Machine และ Wish You Were Here ไว้ ( หรืออาจแต่งไว้แต่ไม่ได้นำไปเล่นออกแสดง) ซึ่งสองเพลงนี้ถูกนำมาบันทึกเสียงในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนกรกฎาคมในปี 1975 ส่วนเพลง SOYCD และ Have A Cigar นั้น เข้าในว่าทางวงเริ่มงานบันทึกเสียงมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมของปี 1975 แล้ว โดยเข้าสตูดิโอบันทึกเสียงสลับกับการออกทัวร์

ภาพรวมของเพลง SOYCD
แน่นอนว่าอย่างที่หลายๆ ท่านรู้กันว่า เพลงทุกเพลงในอัลบั้ม Wish You Were Here มีธีมหลักเกี่ยวกับ Syd Barrett โดยโรเจอร์เคยให้คำอธิบายเกี่ยวกับธีมนี้ด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ว่า " Absence" หรือการขาดหายนั่นเอง และเพลง SOYCD ก็เช่นเดียวกัน มันถูกประพันธ์ขึ้นมาเป็นส่วนแยกได้ถึง 9 Part โดยทุกพาร์ตใช้คีย์เดียวกันคือเป็น Gm เรียกได้ว่า Gm แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของเพลงนี้ได้เลยครับ


SOYCD Part I
เวลา : 00 – 2:05
เครดิตผู้แต่ง Wright, Waters, Gilmour
รายละเอียด :
อินโทรของเพลงนี้เริ่มต้นด้วยเสียงจากการเล่นแก้วไวน์ที่ถูกใส่ระดับน้ำไว้ต่างกัน โดยใช้มือเปียกๆ ถูไปมาบริเวณขอบแก้ว (ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบจากโปรเจคท์เก่าที่ชื่อ Household Objects ที่ทางวงเคยคิดจะทำ แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไป) เพื่อให้เกิดเป็นคอร์ด Gm ซึ่งจะซ้อนกับเสียงคอร์ดจากซินธิไซเซอร์ ARP Solina String Ensemble โดยจะเป็นคอร์ดแช่อยู่จนถึงประมาณวินาทีที่ 20 เราจะได้ยินเสียงโซโล่ Minimoog จากริก โดยลักษณะเสียงจะคล้ายๆ เสียง Horn โดยทั้งหมดจะถูกรองรับด้วยคอร์ด Gm ทั้งหมด

SOYCD Part II
เวลา 2:05 - 3:55
เครดิตผู้แต่ง Gilmour, Waters, Wright
รายละเอียด :
เป็นช่วงที่เดฟเริ่มโซโล่กีตาร์ชุดแรก โครงสร้างของคอร์ดจะกลายเป็น Gm Cm และ Dm โดยกีตาร์เดฟใช้บันทึกเสียงคือ Black Strat ในสมัยที่คอยังเป็นไม้ Rosewood อยู่ ( คอสีดำ) โดยจะปิด Knob โทนที่ตัวกีตาร์ และสเกลที่เดฟใช้จะเป็น Gm Pentatonic โดยจะมีเสียงซินธ์จาก VSC3 เล่นเป็นโน๊ตเบสด้วย

SOYCD Part III
เวลา 3:55 – 6:28
เครดิตผู้แต่ง Waters, Gilmour, Wright
รายละเอียด :
เริ่มต้นด้วยโน้ตสี่ตัวจากกีตาร์ของเดฟ คือ ( B-flat, F, G, E) วนซ้ำไปซ้ำมา จนถึงรอบที่สี่ ออร์แกน Hammond B-3 ของริกและเบสกับกลองก็จะเข้ามา ตามด้วยโซโล่กีตาร์ชุดที่สองจากเดฟ (เดฟดันสายได้ถึงพริกถึงขิงมาก) ช่วงนี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Syd's Theme

SOYCD Part IV
เวลา 6:29 – 8:43
เครดิตผู้แต่ง Waters, Gilmour, Wright
รายละเอียด :
เริ่มต้นด้วยการโซโล่ Minimoog เป็นเสียง Horn อีกครั้งจากริก แล้วตามด้วยโซโล่กีตาร์ชุดที่สามจากเดฟ โดยเดฟเล่นกีตาร์ผ่าน MXR Phase 90 จบด้วยการเล่นกีตาร์ Double Track คู่ประสานของเดฟ

SOYCD Part V
เวลา 8:44 - 13:34
เครดิตผู้แต่ง Waters
รายละเอียด :
ท่อนร้องที่โรเจอร์เป็นทั้งผู้แต่งและร้องนำ สังเกตว่ายังคงคอนเซปต์เดิมคือเป็นคีย์ Gm โดยมีโครงสร้างการเคลื่อนของคอร์ดที่น่าสนใจมาก ( ไม่น่าเชื่อว่าโรเจอร์จะเขียนคอร์ดได้ดีขนาดนี้) Backing Vocals โดยริก , เดฟ และนักร้องประสานเสียงสาวสองคนคือ Venetta Fields และ Carlena Williams เสียงออร์แกนของริกและเสียงกีตาร์ของเดฟโดดเด่นเหลือเกิน จบท่อนร้องด้วยโซโล่แซ็กโซโฟนจาก Dick Parry ซึ่งใช้แซ็กโซโฟนถึงสองชนิดด้วยกัน โดยเริ่มต้นด้วย Baritone Saxophone ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น Alto Saxophone ในช่วงเวลา 12:02 โดยเดฟเล่นกีตาร์ แบบเดียวกันกับใน Syd's Theme คู่ไปกันเสียงออร์แกนของริก จนถูกเฟตเอาท์ออกไป

SOYCD Part VI
เวลา 00 – 5:00
เครดิตผู้แต่ง Wright, Waters, Gilmour
รายละเอียด :
เปิดด้วยเสียงลมที่ต่อมาจากแทร็ก Wish You Were Here ตามด้วยเสียงเบสโน๊ตตัว G ย้ำๆ จากฝีมือเบสของเดฟ ในขณะที่โรเจอร์เล่น Riff เบสอีกท่อนนึงผ่านเอฟเฟคต์ MXR Phase 90 ( ท่อนนี้มีเบสถึงสองตัวด้วยกัน) ริกเริ่มเล่น ARP Solina และอีกครั้งด้วยโซโล่ Minimoog จนถึงช่วงนาทีที่ 1:40 เดฟเริ่มเล่น Lap Steel เป็น Unision คู่ไปกับ Minimoog ของริก หลังจากนั้น เดฟเริ่มโซโล่ Lap Steel ยาวเหยียด โดยมีริกแซมๆ Minimoog กับ ARP Solina ไปตลอดทาง

SOYCD Part VII
เวลา 5:01 – 6:05
เครดิตผู้แต่ง Waters, Gilmour, Wright
รายละเอียด :
ท่อนร้องชุดที่สองซึ่งมีโครงสร้างและการเรียบเรียงในแบบเดียวกับ Part V ทุกอย่าง จบด้วยริฟฟ์กีตาร์ Syd's Theme เหมือนเดิม

SOYCD Part VIII
เวลา 6:05 – 9:05
เครดิตผู้แต่ง Gilmour, Wright, Waters
รายละเอียด :
ท่อนแจมที่ออกจังหวะไปทาง Funky หน่อยๆ ริกเริ่มต้นด้วยการเล่นเปียโนไฟฟ้า Wurlitzer คุมด้วยคอร์ด Gm และ C จนถึงนาทีที่ 7:01 ริกเล่น Hohner Clavinet ส่วนเดฟเล่นโซโล่ Lap Steel ควบคู่ไปกับ โซโล่ซินธ์ VCS3 ของริก โดยในส่วนของภาคริธึ่ม เดฟเล่น Rhythm Guitar ที่ผ่านเอฟเฟคต์ MXR Phase 90

SOYCD Part IX
เวลา 9:05 – 12:31
เครดิตผู้แต่ง Wright
รายละเอียด :
ท่อนปิดที่เป็นเครดิตการประพันธ์ของริกแต่เพียงผู้เดียว ใช้จังหวะ 4/4 มีการเคลื่อนของคอร์ดที่น่าสนใจมากๆ ซึ่งเป็นแบบฉบับของริกโดยแท้ ( แม้แต่เดฟก็ทำแบบนี้ไม่ได้) ยังคงคอนเซปต์คือเป็นคีย์ Gm ในส่วนของการเรียบเรียงคือมีเปียโนอคูสติกเป็นตัวคุมหลัก โดยมีโซโล่เสียง Horn จาก Minimoog และหยอดด้วยเสียงซินธ์ Sweeping Effect จาก VCS3 เป็นระยะๆ


ขอทิ้งท้ายด้วยภาพของคีย์บอร์ด ซินธิไซเซอร์ที่ริกใช้ในเพลง SOYCD จะได้เห็นกันว่า เครื่องแบบไหนเรียกว่าอะไร ยังไงครับผม ขอผ่าน Hammond B-3 ไปเลยละกันครับ คงเคยเห็นกันบ่อยแล้ว

ขอเริ่มต้นที่ ARP Solina String Ensemble ตัวนี้คือซินธิไซเซอร์ที่ใช้สร้างเสียงเครื่องสาย คล้ายๆ กับเมโลตรอน แต่จะให้เสียงที่คมและชัดกว่า ในขณะที่เมโลตรอนจะให้เสียงทึบๆ อุ่นๆ มากกว่า ริกใช้เจ้าตัวนี้ในการบันทึกเสียงอัลบั้ม Wish You Were Here และ Animals ครับ

ARP Solina String Ensemble


ส่วนนี่ก็ Minimoog เจ้าเก่า นี่คือซินธิไซเซอร์ตัวนึงที่โด่งดังที่สุดเลยก็ว่าได้ โซโล่ได้งดงามเหลือหลายจริงๆ

MiniMoog


VCS3 สำหรับทำ Sweeping Effect ใน Part IX นี่คือตัวเดียวกับที่ใช้สร้างซีเควนซ์ในเพลง On The Run และใช้บันทึกเสียงเพลง Welcome To The Machine

VCS3


เปียโนไฟฟ้า Wurlitzer ที่ใช้ใน Part VIII ซึ่งเป็นเปีนโนไฟฟ้าตัวหลักที่ริกใช้ในช่วงอัลบั้ม Dark Side of the Moon จนถึง Wish You Were Here ก่อนที่ริกจะเปลี่ยนไปใช้ Fender Rhodes ในช่วงเวลาต่อมา เสียงของ Wurlitzer จะหนาๆ หน่อย ในขณะที่ Rhodes ซาวน์จะออกบางๆ หวานๆ ออกไปทางแจ๊สมากกว่า

Wurlitzer


อีกตัวนึงคือ Hohner Clavinet D6 ซึ่งเป็นลักษณะที่เค้าเรียกกันว่า Bass Type Keyboard จริงๆ มันเป็นเปียโนไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ให้เสียง Attack ที่ชัดเจนและแข็งกระด้างนิดๆ นี่เป็นคีย์บอร์ดแบบเดียวกับที่ Stevie Wonder ใช้เล่นริฟฟ์ในเพลง Superstition และจอห์น พอล โจนส์ใช้เล่นในเพลง Trampled Underfoot ครับผม โดยเจ้าตัวนี้ริกใช้เล่นริฟฟ์เบสใน Part VIII และเพลง Have A Cigar ด้วย และริกนำมันไปใช้งานอีกครั้งการบันทึกเสียงเพลง Pigs(3 Different Ones) ในอัลบั้ม Animals

Hohner Clavinet D6


Return to Articles

หน้าเว็บนี้เหมาะสำหรับ Browser Internet Explorer 5.5 - 6.0 และ Mozilla Firefox
Copyright 2007 © ThaiProg.net All Rights Reserved
Thai Progressive Rock Community
Contact : admin@thaiprog.net