แนะนำอัลบั้มมาสเตอร์พีซที่(เกือบ)ถูกลืม : Roger Waters - Amused to Death มาสเตอร์พีซจากผู้สร้างอัจฉริยะแห่ง Pink Floyd
Written by Agent Fox Mulder
จากกระทู้ในเว็บบอร์ด Pantip.com ห้อง Rock & Roll วันที่ 19 มิถนายน 2549

สวัสดีครับ ช่วงนี้ก็เปิดเทอมแล้ว ผมก็มีโครงการจะเขียนโน่นเขียนนี่อะไรเยอะแยะไปหมด วางแผนแล้ว วางแผนอีก สุดท้ายก็ไม่ได้เขียน วันนี้เลยตั้งใจว่าจะเอาเรื่องนี้ให้เสร็จให้ได้ เนื่องจากล้มเลิกมาหลายรอบแล้ว เพิ่งเปิดเทอมครับ เลยต้องรีบเขียน เนื่องจากหากปล่อยเวลาให้ผ่านไปใกล้ๆ Mid-Term แล้ว อาจจะไม่ได้เขียนอีก
จากที่ผมเขียนเขียนเรื่องของเดฟไปในกระทู้ก่อนๆ ผมก็ชมเดฟซะเยอะแยะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบกระทู้นี้เลยขอชมโรเจอร์บ้าง ( สลับกันไป) เดี๋ยวโรเจอร์จะน้อยใจเอา
จากที่ผมสังเกตในห้องของเรา มีแฟน Pink Floyd อยู่หลายท่าน ส่วนใหญ่ก็จะปลื้มกับอัลบั้มมาสเตอร์พีซของพวกเค้าในยุค 70's เป็นหลัก โดยเฉพาะ Dark Side of the Moon เนื่องจากความเป็น "นวัตกรรม" ของมันที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน หรือว่าจะเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มระดับตำนานอย่าง The Wall เหล่านี้ผมพยายามจะไม่เขียนถึง เพราะเนื่องจากมีเรื่องราวเกี่ยวกับอัลบั้มเหล่านี้มากมายให้อ่านกันอยู่แล้ว
วันนี้ผมขอพูดถึงอัลบั้มชุดหนึ่งซึ่งเป็นงานเดี่ยวของโรเจอร์ ซึ่งผมฟันธงได้เลยว่า นับตั้งแต่ The Wall เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน นับรวมทั้งงานเดี่ยวของสมาชิกในวงและงานของ Pink Floyd ในยุคหลังทั้งหมด อัลบั้ม Amused to Death ของโรเจอร์ชุดนี้ มีความเป็นฟลอยด์และมีมาตราฐานใกล้เคียงกับคำว่า " มาสเตอร์พีซ" มากที่สุด
สิ่งนึงที่ควรทำความเข้าใจก่อนรับฟังและเสพงานของโรเจอร์คือ งานของโรเจอร์ค่อนข้างจะโดดเด่นที่คอนเซ็ปต์และเนื้อหาทางด้านวรรณศิลป์เป็นหลัก ต่างจากงานในยุคหลังของเดฟ ถ้าจะเทียบให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ เดฟมีความเป็น " นักดนตรี" สูงกว่าโรเจอร์ ในขณะที่โรเจอร์เข้าขั้นเป็น "ศิลปิน" มากกว่า ดังนั้นหากจะนำผลงานของโรเจอร์ไปเทียบกับอัลบั้มของฟลอยด์ในยุคหลัง ด้วยการใช้ดนตรีเพียงอย่างเดียว ก็คงจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เหมาะสมนัก เพราะฉะนั้นการฟังอัลบั้มชุดนี้ของโรเจอร์จึงควรเน้นหนักไปที่การทำความเข้าใจในคอนเซ็ปต์และคำร้องเป็นหลัก
ความจริงอัจฉริยะภาพในการเป็นศิลปินของโรเจอร์ฉายแววตั้งแต่อัลบั้ม Dark Side แล้ว แต่หลายๆ คนมักมองข้ามและให้ความสนใจการซาวน์เอกเฟคค์และดนตรีมากกว่า คอนเซ็ปต์และคำร้องทั้งหมดของ Dark Side เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากที่ทำให้อัลบั้มชุดนี้ยิ่งใหญ่และเป็นตำนาน การพูดถึงด้านมืดของมนุษย์ ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญการดำเนินชีวิตและเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป ในด้านวรรณศิลป์ก็เช่นกัน Dark Side น่าจะเป็นจุดสูงสุดทางด้านวรรณศิลป์ของโรเจอร์ ด้วยสัมผัสและความงามทางภาษาระดับน้องๆ Bob Dylan
หลายๆ เพลงใน Dark Side ที่โรเจอร์พยายามสื่อสารกับผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมา อย่างในเพลง Time หรือ Money ที่เราสามารถฟังหรืออ่านคำร้องแล้วเราสามารถบอกได้ทันทีว่าโรเจอร์ต้องการจะสื่อสาระสำคัญอะไรกับผู้ฟัง ในอัลบั้มถัดมา Wish You Were Here ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงกับ Syd Barrett ผู้ฟังค่อนข้างที่จะเข้าถึงเนื้อหายากขึ้น เนื่องจากอัลบั้มนี้มีความเป็นส่วนตัวอยู่มาก โดยเฉพาะกับเพลง Shine On You Crazy Diamond แต่เราก็ยังสามารถสัมผัสได้กับความงามทางวรรณศิลป์ที่สุดยอดอยู่ ขนาดเดฟเองยังถึงกับเอ่ยปากว่า เค้าชอบคำร้องในเพลงนี้มาก และรักที่จะร้องมันออกมา
หลังจาก Wish You Were Here เป็นต้นมา โรเจอร์เริ่มให้ความสำคัญกับคอนเซ็ปต์เป็นหลัก และเริ่มเขียนคำร้องที่มีสำนวนเปรียบเทียบมากขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเสมือนว่าโรเจอร์กำลังพยายามเล่นเกมกับผู้ฟัง อย่างเพลงในอัลบั้ม Animals ที่ถ้าฟังเผินๆ จะดูไม่ออกเลยว่าโรเจอร์กำลังจะพยายามสื่ออะไรกับผู้ฟังอยู่ ผู้ฟังต้องพยายามคิดว่าโรเจอร์กำลังพยายามเอาสิ่งนั้นมาเปรียบเทียบกับอะไร และสุดท้ายแล้วในเพลงนั้นๆ ต้องการสื่ออะไรแก่ผู้ฟังกันแน่
ตั้งแต่ยุค The Wall เป็นต้นมา โรเจอร์ก็เปลี่ยนคำร้องของเขามาเป็นแบบดราม่าเต็มตัว อาศัยการเล่าเรื่องผ่านตัวละครต่างๆ ให้ผู้ฟังคิดจินตนาการเอาเองว่าโรเจอร์ต้องการจะสื่ออะไร The Wall เป็นงานที่ซับซ้อนและเข้าใจยากที่สุดชุดหนึ่ง หลายๆ คนจะสามารถเล่าเรื่องในอัลบั้ม The Wall ได้ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่เราก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเพลงบางเพลงต้องการจะสื่ออะไรแก่ผู้ฟัง
อัลบั้ม The Final Cut เป็นอัลบั้มสุดท้ายของ Pink Floyd ที่มีโรเจอร์อยู่ด้วย และเป็นอัลบั้มที่โรเจอร์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างเต็มที่ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับพ่อของโรเจอร์ที่เป็นทหารออกรบในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โรเจอร์พูดถึงความรุนแรงในสงครามเป็นหลัก เราทำสงครามไปแล้วได้อะไร ? สงครามพรากอะไรไปจากชีวิตเราบ้าง ?
โรเจอร์นำเดโมเทปโปรเจ็คหนึ่งที่ผลิตในช่วงเดียวกับ The Wall ออกมาทำเป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเอง (หรืออาจเป็นชุดที่สอง หากนับอัลบั้ม Music from The Body ด้วย) อัลบั้มนั้นคือ The Pros and Cons of Hitchhiking ซึ่งได้นักดนตรีฝีมือเยี่ยมหลายคนมาร่วมงานบวกกับทีมงานชุดเก่าที่เคยร่วมงานในอัลบั้ม The Final Cut ซึ่งอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ได้มาตราฐานและ "น่าฟัง" ชุดหนึ่ง โดยเฉพาะแขกรับเชิญระดับเทพอย่าง Eric Clapton และ David Sanborn มาช่วยสร้างสีสันให้กันงานชุดนี้ได้ไม่เลวทีเดียว ทางด้านเนื้อหาก็ยังคงเป็นคอนเซปต์อัลบั้มดราม่าเข้มข้นแบบ The Wall แต่ไม่ซีเรียสและกดดันเท่า เนื้อหาเกี่ยวกับความฝันของชายคนหนึ่ง ซึ่งเจออะไรมากมาย แต่สุดท้ายก็ตื่นจากความฝันและได้สติในที่สุด นอกจากนี้อัลบั้มนี้ยังเป็นอัลบั้มที่โรเจอร์ขึ้นถึงจุดพีคในด้านเสียงร้อง ไม่เชื่อลองฟังเพลง Go Fishing ที่โรเจอร์แผดเสียงได้อย่างถึงใจจริงๆ
ในปี 1985 โรเจอร์ก็ส่งจะหมายลาออกจากวงอย่างเป็นทางการ โรเจอร์คงเข้าใจว่า Pink Floyd คงเดินหน้าต่อไปไม่ได้ถ้าไม่มีเค้า แถมโรเจอร์ยังเห็นเดฟออกอัลบั้มโซโล่ About Face ในปีก่อน โรเจอร์จึงเข้าใจว่า Pink Floyd คงหมดอนาคตแล้วแน่ๆ ช่วงนั้นเดฟรับจ๊อบเป็นนักดนตรีรับเชิญให้กับศิลปินอื่นๆ มากมาย ในปีถัดมาโรเจอร์รับงานซาวน์แทร็กประกอบภาพยนต์อนิเมชั่นเกี่ยวกับพิษภัยของสงครามนิวเคลียร์ When the Wind Blows
และแล้วในปี 1987 โรเจอร์ก็ต้องผิดคาด เนื่องจากเดฟจับมือนิก ร่วมกับพลพรรคนักดนตรีอีกหลายคนเข้าสตูดิโอเพื่อผลิตอัลบั้มชุดใหม่ของ Pink Floyd แถมยังไปดึงตัว Richard Wright ซึ่งถูกโรเจอร์ตะเพิดออกไปจากวงในช่วง The Wall เข้ามาร่วมงานด้วยอีก ทำให้โรเจอร์ไม่พอใจเพื่อนๆ เป็นอันมาก โรเจอร์พยายามยับยั้งเดฟทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องต่อศาลหรือส่งทนายโทรศัพท์ไปกวนเพื่อนๆ ถึงสตูดิโอจนไม่เป็นอันทำงานกัน
และแล้วในท้ายที่สุด ทั้งคู่ก็หาข้อยุติได้และตกลงกันถึงในสิทธิ์ที่แต่ละฝ่ายพึงมี เดฟยังสามารถใช้ชื่อ Pink Floyd ได้ต่อไป แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับโรเจอร์หากเดฟเล่นเพลงของ Pink Floyd ที่เป็นเครดิตของโรเจอร์ในการแสดงสด ปี 1987 Pink Floyd ยุคสามเกลอออกอัลบั้ม A Momentary Lapse of Reason ส่วนโรเจอร์ออกอัลบั้ม Radio K.A.OS. และทัวร์มาชนกัน ผลคือโรเจอร์แพ้ราบคาบ ทำให้โรเจอร์เสียใจมาก โรเจอร์ให้สัมภาษณ์ว่าเค้ารู้สึกแย่มากเนื่องจากการแสดงในทัวร์ของโรเจอร์บางรอบมีคนดูไม่ถึงครึ่งสเตเดี้ยม ในขณะที่การแสดงของ Pink Floyd มีผู้เข้าชมต่อรอบเป็นแสนเป็นหมื่น
ถ้าจะว่ากันจริงๆ โรเจอร์ก็น่าจะแพ้อยู่ ความจริงก็คือ ทั้งอัลบั้ม A Momentary Lapse of Reason และ Radio K.A.O.S. ต่างก็มีมาตราฐานที่ต่ำพอๆ กัน เนื่องจากทั้งคู่ก็อบอวลไปด้วยซาวน์อิเล็กโทรนิกฟุ้งๆ เหมือนกัน แต่ถ้าให้ผมเลือก ผมยังยอมเลือก A Momentary Lapse of Reason ซะดีกว่า เนื่องจากผมยังพอทนฟังมันจนจบได้ ไม่เหมือน Radio K.A.O.S. ที่แค่เพลงแรกผมก็เบือนหน้าหนีแล้ว อันที่จริงเนื้อหาของอัลบั้มนี้ก็ไม่เลวเหมือนกัน ยังเป็นคอนเซปต์อัลบั้มดราม่าแบบที่โรเจอร์ถนัด แต่ซาวน์ดนตรีมันไม่ไหวจริงๆ ต้องโทษโปรดิวเซอร์ Ian Ritchie กับ Nick Griffiths สองคนนี้
3 ปีถัดมา ในขณะที่เดฟกับนิกยังคงนับเงินกันไม่เสร็จ โรเจอร์จัดงานอภิมหาใหญ่ยักษ์ ที่กำแพงเบอร์ลิน เป็นการแสดงสด The Wall ด้วยโปรดักชั่นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งเชิญแขกรับเชิญคนดังมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ในที่สุด มันก็เป็นได้แค่งานที่ขายโปรดักชั่นซะจนออกนอกหน้า แขกรับเชิญก็มากมายจนทำให้ The Wall ฟังดูไม่กลมกลืนอย่างที่มันควรจะเป็น โชคดีที่มันยังมีผู้ชมมากถึง 3 แสนคน

หลังจากนั้นในปี 1992 โรเจอร์ก็ออกอัลบั้ม Amused to Death ที่เรากำลังจะพูดถึงกันเนี่ยแหละครับ ในแง่ของคอนเซปต์และเนื้อหามันกินขาด The Division Bell ของ Pink Floyd ที่ออกในอีก 2 ปีถัดมากระจุย แต่ในด้านดนตรีอาจเป็นรองอยู่บ้าง
Amused to Death มีแนวคิดคล้ายกับอัลบั้ม Dark Side นั่นคือการโฟกัสไปที่ความเป็น " Humanity" สิ่งที่ทำให้มนุษยชาติสูญพันธุ์ ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความโลภ ความรุนแรง และบทบาทของสื่อและการตลาดที่มีผลต่อผู้คน คำว่า " Amused to Death" แปลเป็นอังกฤษอีกที่จะได้ว่า " Human enjoy themselves until they die." พอจะชัดเจนขึ้นไม๊ครับ ? เค้าโครงจากอัลบัมนี้โรเจอร์ได้มาจากหนังสือของ Neil Postman ที่ชื่อ Amusing Ourselves to Death
ในด้านของดนตรีโรเจอร์ได้ Patrick Leonard มาช่วยโปรดิวซ์ แถมด้วย Nick Griffiths เจ้าเก่า และนักดนตรีอีกหลายท่าน ที่เป็นไฮไลท์คือได้ Jeff Beck มาโซโล่กีตาร์ในหลายๆ เพลง ซึ่งจริงๆ แคแร็กเตอร์เสียงกีตาร์ของแบ๊คก็ไม่ค่อยเข้ากับภาพรวมของอัลบั้มมากนัก แต่ก็ฟังดูมีสีสันดี
โรเจอร์กลับมาโดดเด่นในด้านการเขียนคำร้อง โดยเขียนเพลงที่สื่อความหมายได้อย่างชัดเจนกับผู้ฟังมากขึ้น เหมือนกับที่เค้าเคยทำใน Dark Side โดยไม่สูญเสียชั้นเชิงในด้านของสำนวนโวหารเปรียบเทียบ และที่เจ็บแสบที่สุดคือการประชดประชัน อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของโรเจอร์ที่หาใครเทียบเทียมยาก ในเพลงร็อคที่ถูกตัดเป็นซิงเกิ้ล What God Wants, Pt. 1 โรเจอร์ตั้งคำถามว่า " พระเจ้าต้องการอะไร" บางประโยคก็เป็นตลกร้าย บางประโยคก็ฟังแล้วขนลุกอย่าง God wants jihad (Jihad = จิฮาด - คือการพลีชีพในสงครามศาสนาของมุสลิม โดยเชื่อกันว่าผู้ใดได้กระทำการจิฮาดแล้ว จะได้ขึ้นสวรรค์ทันที) ในเพลง Perfect Sense ทั้งสอง Part กล่าวถึงบทบาทของสื่อที่ขัดเกลาผู้คนจนกระทั่งเห็นว่าความรุนแรงในสงครามเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับกีฬา ประชาชนในประเทศมหาอำนาจเห็นความตายของคนในประเทศที่ด้อยกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ขณะที่การทำลายล้างของผู้มีอำนาจสามารถทำได้เพียงแค่กดปุ่มเท่านั้น " Can't you see It all makes perfect sense. Expressed in dollars and cents Pounds shillings and pence." นี่คือความงามทางด้านวรรณศิลป์อย่างแท้จริง
เพลง The Bravery of Being Out of Range พูดถึงความกล้าหารในการทำลายของผู้มีอำนาจอย่างที่ไม่ถูกไม่ควร
You hit the target and win the game From bars 3,000 miles away
3,000 miles away
We play the game
With the bravery of being out of range
Late Home Tonight พูดถึงบทบาทของวัตถุนิยมที่มีผลต่อผู้คน What God Wants Part 2,3 ก็ยังประชดประชันไม่เลิก " God wants insurance, God wants to cover himself." โรเจอร์ได้ Don Henley จาก The Eagles มาร่วมดูเอตในเพลง Watching TV ซึ่งพูดถึงผลของการดูทีวีมากเกินไป ทำให้ผู้คนเพ้อฝันและไม่ยึดติดกับความเป็นจริง เนื่องจากโดนสื่อล้างสมอง
Three Wishes ออกจะเป็นเพลงที่งงๆ ซักหน่อย ผมเองก็ยังไม่แน่ใจนัก ดูจากเนื้อหาแล้วน่าจะเกี่ยวกับแม่คนครอบครัวนึงที่เสียชีวิตไปแล้ว และแล้ววันหนึ่งลูกของเธอคนหนึ่งก็ได้รับพรสามข้อให้ขออะไรก็ได้ แต่ลูกคนนี้กลับไม่คิดถึงแม่ของตัวเอง It's a Miracle พูดถึงความไม่รู้จักพอเพียงและความฟุ้มเฟ้อของมนุษย์
We got warehouses of butter
We got oceans of wine
We got famine when we need it
We got designer crime
We got Mercedes
We got Porsche Ferrari and Rolls Royce
Yeah, we got choice
และความเป็นโลกที่ไร้พรมแดนในปัจจุบัน
They've got Pepsi in the Andes
They got McDonalds in Tibet
การที่มนุษย์ศิวิไลซ์ตัวเองขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นปาฏิหารย์ " The human race has civilized itself. It's a miracle." ซึ่งน่าจะสื่อถึงช่องว่างเกี่ยวกับความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของผู้คนในประเทศมหาอำนาจกับประเทศที่ขาดความเจริญ
ไตเติ้ลแทร็กปิดอัลบั้ม โรเจอร์อธิบายจากบทสัมภาษณ์ไว้ว่า
"And I had at one point this rather depressing image of some alien creature seeing the death of this planet and coming down in their spaceships and sniffing around and finding all our skeletons sitting around our TV sets and trying to work out why it was that our end came before its time, and they come to the conclusion that we amused ourselves to death."
คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มแล้วล่ะครับ
อัลบั้ม Amused to Death เป็นอัลบั้มที่แฟนๆ ของฟลอยด์ทุกคนควรสัมผัสอย่างยิ่ง นอกเหนือไปจากงานมาสเตอร์พีซในยุค 70's และงานในยุคหลังของ Pink Floyd ที่มีเดฟเป็นผู้นำ ที่สำคัญคืออัลบั้มนี้จะตอกย้ำความเป็นอัจฉริยะของโรเจอร์ในการสร้างงานและมุมมองชีวิตของเค้าได้อย่างดีเยี่ยม และอย่างที่ผมบอกไว้ ในด้านของเนื้อหาและคอนเซปต์ มันเป็นอัลบั้มที่มี่ความเป็นฟลอยด์มากที่สุดนับตั้งแต่ The Wall เป็นต้นมา ใครเคยฟัง A Momentary Lapse of Reason กับ The Division Bell มาแล้วลองไปหาอัลบั้มนี้มาฟังกันนะครับ ทางที่ดีหา The Pros and Cons of Hitch Hiking มาฟังด้วยก็ดีครับ อันนั้นก็ใช้ได้ทีเดียวครับ แต่ก็ยังเป็นรอง Amused to Death อยู่
คำเตือน : อย่าไปแตะต้องอัลบั้มรวมเพลง Flickering Flame เป็นอันขาดครับ หากจะต้องเสียเงินซื้อ แต่ถ้าหามาได้โดยไม่เสียตังค์ก็ไม่ว่ากันครับ
Review อัลบั้ม On An Island นะครับ เนื่องจากผมมีข้อมูลมากเกินไปจนไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนดี เอาเป็นว่าอัลบั้มใหม่ชุดนี้ของเดฟอยู่ระดับกลางๆ ครับ ใครชอบเดฟก็ลองไปหามาฟัง แต่ถ้าใครเฉยๆ ก็ผ่านไปได้ครับ
เตรียมพบกับ [กระทู้บ้าดีเดือด] ความลับในเสียงกีตาร์ของ David Gilmour ภาค 2 ได้ที่นี่เร็วๆ นี้ ไม่รู้จะได้เขียนเมื่อไหร่เหมือนกันครับ แต่จะพยายามหาเวลาว่างเขียนให้ได้เชียว!!!
Return to Articles