spacer.png, 0 kB
John McLaughlin and Mahavishnu Orchestra (AFM)
Top Ten Songs from Genesis (Analog Kid)
5 Greatest Major Fusion Jazz Albums from 70's (AFM)
The Red Stratocaster and EMGs (AFM)
Diggin' Deeper "Shine On You Crazy Diamond - Pink Floyd" (AFM)
Roger Waters - Amused to Death (AFM)
Porcupine Tree - Fear of a Blank Planet (Parid)
Top Ten Songs from Yes (Analog Kid)
Top Ten Songs from King Crimson (Analog Kid)
Aviv Geffen - Blackfield : Part I (Parid)
The Rise and Fall of Queensryche (Lilium)
13 Essential Albums of “Extreme Progressive Metal” (Lilium)
Eloy Albums Guide (PSLK)
13 Greatest Rhythm Section Albums (AFM)
Robert Fripp's Soundscapes Technique (AFM)
Penguin Cafe Orchestra (Panyarak)
Penguin Cafe Orchestra & Simon Jeffes (Polotoon)
Mike Oldfield (Panyarak)
John Cale (Panyarak)
Philip Glass - Part I (Panyarak)
Philip Glass - Part II (Panyarak)
Van der Graaf Generator (Panyarak)
Sally Oldfield (Panyarak)
Family (Panyarak)
Renaissance & Annie Haslam (Panyarak)
Strawberry Fields Forever by George Martin (Winston)
Syd Barrett (Panyarak)
Peter Gabriel (panyarak)
Telecasters plus Les Paul Goldtop & Gretsch Duo Jet (AFM)
7 Phases in Prog Heads Life (Analog Kid)
Aviv Geffen - Blackfield : Part II (Parid)
Aviv Geffen - Blackfield : Part III (Parid)
Pink Floyd's Back Up Role
Ayreon - 01011001 (Parid)
Roger Waters – Amused to Death (Parid)
Snowy White & His Guitar : Interview (AFM)
Rick Wakeman (panyarak)
Coldplay - Viva la Vida (parid)
Jeff Beck - Blow By Blow & Wired (AFM)
Interview with \"Dredg\" (Lilium)

spacer.png, 0 kB
spacer.png, 0 kB
Home arrow 13 Greatest Rhythm Section Albums (AFM)
13 Greatest Rhythm Section Albums (AFM) PDF Print E-mail
Written by Agent Fox Mulder   
Sunday, 23 March 2008

13 สุดยอดอัลบั้ม Rhythm Section

(เบสและกลอง) ยอดเยี่ยม

Written by Agent Fox Mulder
จากกระทู้ในเว็บบอร์ด Pantip.com ห้อง Rock & Roll วันที่ 22 มกราคม 2549


ช่วงนี้ชอบทำพวกลิสต์มากครับ ไม่รู้ยังไงกัน พักหลังมานี้สนุกกับการฟังเบสกับกลองครับ พูดถึงเบสกับกลองเนี่ย หลายๆ วงมีจุดแข็งทางด้านนี้มากทีเดียว ดนตรีร็อคนั้น นอกจากต้องการเมโลดี้ที่สวยงามแล้ว ยังต้องการภาคจังหวะที่แข็งแกร่งและมีสีสันด้วย วันนี้ผมขอเสนอ 13 สุดยอดอัลบั้ม Rhythm Section ยอดเยี่ยม โดยการลิสต์นี้เป็นการจัดอันดับของผมเอง โดยใช้ " ความชอบส่วนตัว" เข้าร่วมในการจัด โดยเกณฑ์ในการจัดอันดับคืออัลบั้มวงไหนมี Rhythm Section ที่ยอดเยี่ยมทั้งเบสและกลองในระดับสูงทั้งคู่ก็จะได้อันดับสูงมาก นอกจากนั้นทั้งเบสและกลองยังต้องเล่น "เข้าขา" กันได้ดีอีกด้วย ตอนแรกกะว่าจะทำเป็น 10 อัลบั้มยอดเยี่ยม แต่พอจัดไปจัดมาเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง เลยต้องพ่วงที่เกินมาอีก 3 อัลบั้มด้วย อัลบั้มทั้งหมดที่จัดมาพยายามเลือกที่เป็นร็อคเป็นหลัก ไม่เอาพวกฟิวชั่นแรงๆ เข้ามาปนด้วย (แต่ก็มีอัลบั้มที่ติดกลิ่นฟิวชั่นพ่วงมา 2 อัลบั้ม) ส่วนเรื่องของยุคสมัยก็กว้างตั้งแต่ปลายยุค 60's จนถึงยุค 00's เลยทีเดียว ขอเชิญรับชมได้เลยครับ


 13) Situation Dangerous - Bozzio Levin Stevens (2000)
Bassist - Tony Levin
Drummer - Terry Bozzio



อัลบั้มในสังกัดของ Magna Carta ซึ่งมีศิลปินคุณภาพอยู่เพียบ แต่ผลงานของพวกเขามักได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากไม่ใช่สังกัดเมเจอร์ นี่คือการรวมตัวกันของสุดยอดฝีมือสามท่าน Steve Stevens ,Tony Levin และ Terry Bozzio ผมพยายามขวนขวายอัลบั้มนี้มาฟัง หลังจากฟังกลองจากฝีมือของ Bozzio ครั้งแรกในอัลบั้ม Jeff Beck's Guitar Shop ก็รู้สึกได้ทันทีว่ามือกลองคนนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ เสียงไม้กลองสัมผัสกับฉาบของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ส่วนพี่ Tony Levin ของเราก็อยู่ในระดับมาตราฐานอยู่แล้ว เชิญติดตามต่อไปเรื่อยๆ ครับ เพราะใน 13 อัลบั้มของลิสต์นี้จะมีพี่ Tony Levin ติดมาด้วยถึง 3 อัลบั้มด้วยกัน ใครสนใจอัลบั้มนี้ลองไปหาเพลง Tragic มาฟังก่อนก็ได้ครับ ลองฟังกลองของ Bozzio ดู แล้วจะรู้ว่าเขาไม่ธรรมดายังไง


 12) Liquid Tension Experiment II - Liquid Tension Experiment (1998)
Bassist - Tony Levin
Drummer - Mike Portnoy 



ไซด์โปรเจคของ Dream Theater ในช่วงปี 1997 - 1998 สมัยนั้น Jordan Rudess ยังไม่ได้เข้าของสมาชิกของวง Dream Theater เลย วง Liquid Tension Experiment นี้ออกอัลบั้มมาสองอัลบั้มในช่วงสองปี อัลบั้มชุดแรกมีเพลงเด็ดๆ เยอะเหมือนกัน แต่ผมยังรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยลงตัวนัก ส่วนใหญ่จะเน้นปั่นๆ กันซะมากกว่า แต่ในอัลบั้มชุดที่สองนี้ทางวงมีเอกภาพมากขึ้นเยอะ โดยส่วนตัวคิดว่าคุณภาพของอัลบั้มชุดที่สองนี้ เทียบได้กับพวก Images and Words หรือ Scenes From A Memory เลยซะด้วยซ้ำ เพียงความเป็นโปรแกรสสีฟและเมทัลลดน้อยลง แล้วถูกแทนที่ด้วยกลิ่นฟิวชั่นบางๆ กลองของพี่ไมค์ยังเชื่อฝีมือได้เสมอ ที่ชอบเป็นพิเศษเห็นจะเป็นคีย์บอร์ดของ Jordan Rudess ที่ซาวน์หลากหลายดี โดยเฉพาะเสียงออร์แกนแบบ Keith Emerson ในเพลง When the Water Breaks อัลบั้มนี้แฟนๆ ของ Dream Theater ห้ามพลาดเด็ดขาด เราจะได้ฟังสมาชิก(ส่วนใหญ่) ของวง Dream Theater เล่นดนตรีเพียวๆ ในมุมที่แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย แต่ฝีมือระดับสุดยอดจริงๆ


11) Eat'em and Smile - David Lee Roth (1986)
Bassist - Billy Sheehan
Drummer - Gregg Bissonette

 

อัลบั้มงานเดี่ยวของ David Lee Roth หลังจากที่ลาออกจากวง Van Halen ซึ่งตอนนั้น Diamond Dave ของเราก็ได้ยอดฝีมือสามท่านนี้มา กลายเป็นวงทรีโอที่มีประสิทธิภาพสูงมาก Steve Vai เล่นกีตาร์สำเนียงอันสนุกสนานเมามัน เข้ากับเสียงร้องของไดมอนด์เดฟได้เป็นอย่างดี ส่วน Rhythm Section ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ลองตั้งใจฟังเพลง Shy Boy ให้ดีๆ เพลงนี้มีอะไรมากกว่าเสียงกีตาร์อันแสนมหัศจรรย์ของของ Vai ปกติผมเป็นคนที่ไม่ค่อยฟัง Guitar Hero มากเท่าไหร่นัก แต่ผมชอบวงของ Steve Vai ในปัจจุบันมาก สมาชิกแต่ละคนเรียกว่าระดับโครตเซียนทั้งนั้น โดยเฉพาะ Billy Sheehan กับ Tony McAlpine แสดงให้เลยว่า Vai นั้นเป็นคนที่ยอม "ลงทุน" พอสมควร ไม่ได้เอาแต่อมค่าตัวเก็บไว้คนเดียว แถมลีลาบนเวทีของแต่ละคนในวงนี้ก็เหลือกิน โดยเฉพาะตัวของ Steve Vai เอง ที่มีลูกบ้าเหลือหลาย ชอบเอาพัดลมมาเป่าผมตัวเองให้ปลิวไสว ขณะเล่นกีตาร์ ใครได้ดูดีวีดี G3 - Live in Tokyo ชุดใหม่ก็วงจะทราบดี ผมชอบเบสของ Sheehan ในเพลง The Audience is Listening มาก ถ้าใครดูจะเห็นเหมือนกับว่า Sheehan แอ๊คชั่นท่าทางซะจนเว่อร์ แต่ถ้าใครลองฟังเสียงเบสที่เล่นออกมาจริงๆ จะรู้ได้ทันทีเลยว่ามีลูกเล่นเยอะมาก เรียกว่านอกจะท่าทางจะเว่อร์ได้ใจแล้ว เสียงที่เล่นออกมายังยอดเยี่ยมอีกตะหาก ใครชอบ Sheehan ก็ลองไปหาไซด์โปรเจคของเขาที่ชื่อวงว่า Niacin มาฟังดูนะครับ วงนี้เป็นทรีโอแบบ ELP คือมีกลอง , เบสและคีย์บอร์ด แนะนำอัลบั้ม Time Crunch ครับ มีเพลงคัฟเวอร์สองเพลงที่น่าสนใจเหลือหลายคือ Blue Wind ของ Jeff Beck และก็ Red ของ King Crimson


10) Vital Tech Tones - Vital Tech Tones (1998)
Bassist - Victor Wooten
Drummer - Steve Smith 

 

อัลบั้มฟิวชั่นจากสังกัดของ Tone Center ( ในที่สุดก็ติดฟิวชั่นมาจนได้) เป็นการรวมตัวกันของสุดยอดฝีมือสามท่านคือ Scott Henderson, Victor Wooten และ Steve Smith ฝีมือแต่ละคนนี่ไม่ต้องพูดถึง ลีลาการ Slap เบสของ Victor Wooten นี่ไม่ธรรมดาจริงๆ ส่วนกลองของ Steve Smtih ก็ระดับสุดยอดอยู่แล้ว ลองฟัง Giant Steps เพลงคัฟเวอร์ของ John Coltrane ดู ในช่วงที่กลองกับเบสค่อยๆ ลดจังหวะจากเร็วแล้วค่อยๆ ช้าลงมันสุดยอดจริงๆ ( เป็นการค่อยๆ ลดจังหวะ ไม่ใช่เปลี่ยน Time Signature กระทันหันอย่างพวกวงโปรแกรสสีฟชอบทำกัน)


9) Abbey Road - The Beatles (1969)
Bassist - Paul McCartney
Drummer - Ringo Starr



Paul McCartney เป็นมือเบสที่ฝีมือฉกาจคนหนึ่ง โดยเฉพาะในอัลบั้มสุดท้ายของ The Beatles ชุดนี้ พอลฝากลิคเบสงามๆ ไว้เพียบจริงๆ ลองฟัง Something แล้วต่อด้วย I Want You (She's So Heavy) ดูก็ได้ ในช่วงที่เบสของพอลกับโต้ตอบกับออร์แกนออร์แกนของของ Billy Preston นั้นงดงามจริงๆ ส่วนเบสของพอลในเมดเล่ย์ไซด์บีก็ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน ส่วนริงโก้นั้น ถึงแม้จะดูแล้วไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วก็มีเยอะเหมือนกัน ไม่เชื่อลองตามไปอ่านกระทู้นี้จากห้อง The Beatles ดูสิครับ


8) Images and Words - Dream Theater (1992)
Bassist - John Myung
Drummer - Mike Portnoy 



วงดนตรีที่น่าหมั่นไส้ที่สุดในห้องร็อคนี้ คงไม่ต้องแนะนำอะไรกันมากแล้วมั้งสำหรับอัลบั้มนี้ ไว้อีกสองวันเจอกันเลยดีกว่าครับ ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันทั้งๆ ที่หมั่นไส้วงนี้เป็นที่สุด แต่ตัวเองกลับไปยืนเข้าแถวรอซื้อบัตรตั้งแต่เช้าตอนที่ห้างยังไม่เปิด ในวันที่ 17 ธันวาคม ไม่เข้าใจเลยจริงๆ แล้วเจอกันวันพุธนี้ครับผม!!


7) Brain Salad Surgery - Emerson, Lake & Palmer (1973)
Bassist - Greg Lake
Drummer - Carl Palmer



อัลบั้มมาสเตอร์พีซชุดหนึ่งในวงการโปรแกรสสีฟ อัลบั้มนี้สมบูรณ์แบบจริงๆ คีย์บอร์ดก็สุดยอด Rhythm Section ยังแจ๋วอีกตะหาก สเตปการรัวของกลอง Carl Palmer ใน Toccata หาใครเทียบเทียมยาก ซาวน์กลองของ Carl Palmer เป็นซาวน์ที่เข้ากับคีย์บอร์ดของ Keith Emerson ได้อย่างดี แถมการตีของพี่แกก็ซับซ้อนไม่เบา ส่วนเบสของ Greg Lake ถึงจะไม่อยู่ในระดับโครตเซียน แต่ก็ใช้ได้ทีเดียว โดยเฉพาะในเพลง Toccata กับช่วงต้นของ Karn Evil 9


6) Quadrophenia - The Who (1973)
Bassist - John Entwistle
Drummer - Keith Moon 



สุดยอดสมาชิกที่เป็น Rhythm Section ของวงนี้ทั้งสองคนปัจจุบันก็ไม่อยู่บนโลกนี้แล้วทั้งคู่ Keith Moon ก็ไปตั้งแต่ปี 1978 ส่วน John Entwistle ก็เพิ่งตามไปเมื่อปี 2002 นี่เอง ปัจจุบันก็เหลืออยู่ 2 คน อัลบั้มนี้เค้าว่ากันว่าเป็นอัลบั้มที่เป็นจุดสูงสุดทางดนตรีของ The Who ตัวอัลบั้มเป็นร็อคโอเปร่าแบบเดียวกับ Tommy แต่ผมชอบ Quadrophenia มากกว่า เพราะดนตรีดีกว่า แถมฟัง Tommy แล้วไม่ค่อยรู้สึกเข้าหูเท่าใดนัก บางทีผมอาจจะโปรดอัลบั้มนี้มากกว่า Who's Next ซะด้วยซ้ำ ไฮไลท์ของอัลบั้มนี้ก็มีอยู่เพียบ ทั้งไลน์เบสบีบหัวใจในเพลง The Real Me เสียงร้องทรงพลังเกินมนุษย์มนาของ Roger Daltrey เสียงกลองของ Keith Moon ก็มีสีสันดี (ส่วนใหญ่แฟนๆ The Who มักจะบอกว่ากลองของ Keith Moon ในอัลบั้ม Tommy ดีกว่า) Pete Townshend ไม่โดดเด่นเท่าไหร่สำหรับการเล่นกีตาร์และคีย์บอร์ดแต่เด่นกว่าในฐานะผู้ประพันธ์เพลง นี้คือร็อคโอเปร่าที่ดีที่สุดของวงการร็อคอัลบั้มหนึ่ง ไม่แพ้ The Wall ของ Pink Floyd เลยครับ


5) Led Zeppelin II - Led Zeppelin (1969)
Bassist - John Paul Jones
Drummer - John Bonham



อัลบั้มชุดที่สองของ Led Zeppelin ที่มีรสชาติของบลูส์ร็อคเข้มข้นและรุนแรงที่สุด อุดมไปด้วยเพลงเด็ดๆ มากมาย Jimmy Page เปลี่ยนกีตาร์ จาก Telecaster มาใช้ Les Paul เป็นครั้งแรก สำเนียงกีตาร์อันเป็นสุดยอดเอกลักษณ์ของเพจจึงเริ่มปรากฎอย่างเด่นชัดในอัลบั้มนี้ หลายๆ เพลงเปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนในวงได้โชว์กันเต็มที่ แพลนต์โชว์เสียงร้องทรงพลังควบคู่ไปกับกลองของบอนแฮมใน Whole Lotta Love เพจโชว์สำเนียงโซโล่กีตาร์เพียวๆ ใน Heartbreaker ส่วนจอห์น พอล โจนส์ก็ได้โอกาสโชว์ฝีมือเบสในเพลง The Lemon Song ที่มี่เนื้อหาบางประโยคที่สุดสยิวซะเหลือเกิน ที่ขาดไม่ได้เลยคือเพลง Mody Dick เพลงโชว์ฝีมือกลองระดับสุดยอดของบอนแฮม เสียดายจริงๆ ที่บอนแฮมกินเหล้ามากไปหน่อย ไม่งั้น Led Zeppelin อาจจะยังไม่แตกวงจนมาถึงทุกวันนี้ อัลบั้ม IV อาจจะเป็นอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Led Zeppelin แต่นี่คืออัลบั้มที่เป็นแม่แบบของดนตรีฮาร์ดร็อคบลูส์ที่สำคัญไม่แพ้ IV ทีเดียว ใจจริงอยากจะให้   Physical Graffiti ด้วยสำหรับกลองของบอนแฮม แต่ใน Physical Graffiti ดูจอห์น พอล โจนส์จะมีบทบาทในด้านภาคคีย์บอร์ดมากกว่าเบส เลยให้อัลบั้มนี้ได้ตำแหน่งไปแทนครับ


4) Fragile - Yes (1972)
Bassist - Chris Squire
Drummer - Bill Bruford



อัลบั้มนี้แจ๋วหมดเลยทั้งกีตาร์ เบส กลอง คีย์บอร์ด นี่คืออัลบั้มแรกที่ Rick Wakeman เข้าร่วมวง Yes และเป็นอัลบั้มที่สองของการทำงานของ Steve Howe กับวง Yes สังเกตได้ว่าอัลบั้มนี้ Chris Squire กับ Bill Bruford เล่นได้เข้าขากันดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเพลง Heart of Sunrise ซึ่งเครื่องดนตรีทุกชิ้นทำหน้าที่ลงตัวกันได้อย่างวิเศษเหลือเกิน โดยเฉพาะกลองโชว์เทคนิคและชั้นเชิงของ Bill Bruford ไลน์เบสของ Chris Squire ในเพลง Roundabout ก็สุดแสนพิสดาร (ทีแรกที่ฟังนึกว่าเป็นเสียงคีย์บอร์ดของเวคแมน) ขนาดเพลงสั้นๆ 37 วินาที อย่าง Five percent for nothing ก็ยังโชว์กันไม่เลิกเลย ฝีมือระดับนี้ Dream Theater ยังต้องคารวะให้เลยทีเดียว นี่คืออัลบั้มที่ดีที่สุดของ Yes ในแง่ของการ Performance และ Arrangement   แต่ถ้าพูดถึงความเป็น Epic หรือ Progressive อาจจะเป็นรอง Close to the Edge อยู่นิดหน่อย การรีมาสเตอร์ของอัลบั้มทำได้ดีเหลือเกิน เครื่องดนตรีทุกชิ้นมีมิติดีมากเลยครับ


3) Moving Picture - Rush (1981)
Bassist - Geddy Lee
Drummer - Neil Peart 



วงดนตรีทรีโอวงนี้ ดูเหมือนว่าสมาชิกที่เป็นมือกลองกับมือเบสดูจะโด่งดังกว่ามือกีตาร์ซะอีก นี่คืออัลบั้มของ Rush ในช่วงต้นยุค 80's อันแสนชาญฉลาดและทรงพลังอย่างเป็นที่สุด วงดนตรีโปรแกรสสีฟโดยทั่วไปมักจะเข้าสู่ช่วงพีคในช่วงต้นยุค 70's แต่เนื่องจากวง Rush เพิ่งจะมาออกอัลบั้มในตอนกลางของยุค 70's ซึ่งเป็นช่วงที่ดนตรีโปรแกรสสีฟเริ่มซบเซาลง Rush จึงอาศัยช่วงเวลาในช่วงปลายของยุค 70's พัฒนาเทคนิคและฝีมือ ด้วยอัลบั้มชั้นยอดอย่าง A Farewell to Kings ที่ Rush ประกาศให้แฟนๆ รับรู้กันว่า พวกเขาคือโปรแกรสสีฟแบนด์ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ฮาร์ดร็อคที่เจือเอาอาร์ตร็อคมาผสมไว้อย่างที่ใครๆ หลายคนคิด ตอกย้ำด้วย Hemispheres ในปี 1978 และ Permanent Waves ในปี 1980 ก่อนที่พวกเขาจะก้าวถึงจุดสูงสุดในปี 1981 ด้วยอัลบั้ม Moving Picture อัลบั้มที่เพียบพร้อมไปด้วยฝีมืออันร้ายกาจและ Performance อันแสนจะร้อนแรงของพวกเขา นอกจาก Neil Peart จะตีกลองแบบ "โครตเซียน" แล้วยังรับหน้าที่เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องให้กับวงอีกด้วย ( Mike Portnoy เลยเลียนแบบตาม) ส่วน Geddy Lee ผู้มากความสามารถ ก็เหมาหน้าที่อื่นๆ แทบหมด นอกจากจะเล่นเบสแล้วยังร้องนำและเล่นคีย์บอร์ดอีกด้วย ลองฟังเพลง YZZ ที่เป็นเพลงที่ให้โอกาสกลองและเบสผลัดกันโซโล่ได้อย่างเต็มอิ่ม จนกีตาร์แทบจะกลายเป็นเด็กๆ ไปเลย แถมเสียงเบสในเพลงนี้เป็นเพลงที่เสียงเบสที่เพราะที่สุดเพลงนึงที่ผมเคยได้ยินมาทีเดียว ส่วนวิธีการตีกลองของ Peart นั่นผมยกให้เป็นที่หนึ่งเลยในแง่ของ "ความฉลาด" ในการตีกลอง นี่คืออัลบั้มโปรแกรสสีฟร็อคที่ชาญฉลาดเป็นที่สุดและโชว์ฝีมือระดับพระกาฬไว้สุดๆ ในอัลบั้มเดียวกัน


2) Wheels of Fire - Cream (1968)
Bassist - Jack Bruce
Drummer - Ginger Baker



อัลบั้มครึ่งสตูดิโอครึ่งแสดงสดของ Cream ในช่วงที่พวกเขาอยู่ในช่วงท็อปฟอร์ม จุดสนใจอยู่ที่แผ่นหลังที่เป็นแสดงสด เปิดด้วย Crossroads ที่นอกจากจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของแคลปตันในการโชว์โซโล่กีตาร์ที่งดงามเพลงหนึ่งแล้ว เบสของบรูซก็น่าจะกำหัวใจของคุณเอาไว้ได้ไม่ยาก ตามติดด้วยเวอร์ชั่นไลฟ์ของ Spoonful อันแสนจะร้อนแรง โดยเฉพาะบรูซก็ยังโชว์ฝีมืออย่างไม่เกรงใจใคร โชว์กันเต็มที่เกือบ 17 นาที (ไม่เหนื่อยกันบ้างเหรอ) ส่วนเพลงปิดอัลบั้มอย่าง Toad ก็ให้โอกาสจินเจอร์โซโล่กลองได้อย่างเต็มอิ่ม อัลบั้มนี้มิกซ์เสียงได้ดีเยี่ยมจริงๆ เบสของบรูซจะอยู่ลำโพงซ้าย ส่วนกีตาร์ของแคลปตันจะอยู่ลำโพงขวา ยิ่งเป็นไลฟ์อัลบั้ม ถ้าเปิดยิ่งดังก็จะยิ่งเพราะ (แต่ระวังเพื่อนบ้านด้วย) ส่วนแผ่นแรกที่เป็นผลงานในสตูดิโอก็มีเพลงสุดดังอย่าง White Room ที่จินเจอร์โชว์การตีกลองแบบทัชชิ่งสไตล์แจ๊สอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา (เพลง White Room เป็นหนึ่งเพลงสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมต้องเสียตังค์ไปซื้อ Jim Dunlop Cry Baby Wah-Wah มาเล่น) ส่วนเพลงอื่นๆ อย่าง Sitting On Top Of The World, Passing the Time, Politician และ Born Under A Bad Sign ก็อยู่ในระดับเกรดเอทั้งสิ้น หาก Disraeli Gears คือสุดยอดของ Cream ในการแต่งและเรียบเรียงเพลงแล้ว Wheels of Fire ก็เป็นสุดยอดของ Cream ในด้านการ Performance อย่างแน่นอน


1) Discipline - King Crimson (1981)
Bassist - Tony Levin
Drummer - Bill Bruford



อัลบั้ม "ชุบชีวิต" ของวงโปรแกรสสีฟวงสำคัญ หลังจากแยกทางกันหลังจากออกอัลบั้มสุดยอด Red ไปในช่วงกลางยุค 70's จนเมื่อต้นยุค 80's Robert Fripp ได้สมาชิกใหม่มาสองคนคือ Tony Levin ซึ่งก่อนหน้านั้นเล่นเบสให้กับงานเดี่ยวของ Peter Gabriel และเล่นให้กับ John Lennon ในอัลบั้มสุดท้ายของเขา Double Fantasy (1980) และได้มือกีตาร์/นักร้องนำอีกคนหนึ่ง นั่นคือ Adrian Belew เข้ามาร่วมกับ Bill Bruford ซึ่งถูกจองตัวไว้อยู่แล้ว ในตอนแรกพวกเขาจะวางแผนฟอร์มวงกันใหม่ที่ชื่อ Discipline แต่ภายหลังก็กลับมาใช้ชื่อ King Crimson แล้วเอา Discipline ไปเป็นชื่ออัลบั้มแทน อัลบั้มนี้ซาวน์ไม่ค่อยจะเหมือน King Crimson ในยุคแรกๆ เท่าไหร่นัก พวกเขานำเอาโปรแกรสสีฟมาผสมกับซาวน์แบบ Post-Rock/Experimental กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กับแนวดนตรีที่เรียกว่า Math Rock ( ร็อคคณิตศาสตร์ ??) กลองของ Bruford ใน Elephant Talk และ Indiscipline มีสำเนียงน่าสนใจดี ส่วนไลน์เบสใน Thela Hun Ginjeet ก็ฟังเพลินดี ผมชอบอัลบั้มนี้เพราะซาวน์และจังหวะมันดูแปลก น่าสนใจดี Tony Levin โชว์ฝีมือทั้งการเล่นเบสและ Stick กลองของ Bruford ก็อัจฉริยะอยู่ในระดับเดียวกับ Neil Peart ส่วน Robert Fripp รับหน้าที่เล่นทั้งกีตาร์และคีย์บอร์ด Adrian Belew ทำหน้าที่ช่วยเล่นกีตาร์เสริมให้กับ Fripp แล้วก็ยังรับหน้าที่ร้องนำ ( บางเพลงก็เหมือนบ่นพึมพำอะไรก็ไม่รู้) อัลบั้มนี้ออกจะฟังดูเพี้ยนๆ นิดนึง ( Fripp ออกจะอัจฉริยะเกินมนุษย์มนาไปหน่อย ก็เลยเป็นแบบนี้แหละ) แต่ถ้าฟังหลายๆ รอบเข้าจะเริ่มติดใจมากขึ้น สรุปคือผมให้อัลบั้มนี้เป็นที่หนึ่งเพราะชอบในความแปลกและเพี้ยนของมันนั่นเอง ใครชอบ Bill Bruford ก็ลองไปหางานเดี่ยวที่ชื่อ One of a Kind ที่ออกไปทางฟิวชั่นมาฟังด้วยล่ะครับ

จบแล้วครับ เหนื่อยจังเลย นั่งพิมพ์ทั้งวันเข้าไปได้ไงเนี่ยเรา!


Last Updated ( Sunday, 23 March 2008 )
spacer.png, 0 kB
spacer.png, 0 kB
spacer.png, 0 kB
Top 10 Best Sellers in Clothing for 2017 Top 10 Best Sellers in Clothing Sellers in Clothing