spacer.png, 0 kB
John McLaughlin and Mahavishnu Orchestra (AFM)
Top Ten Songs from Genesis (Analog Kid)
5 Greatest Major Fusion Jazz Albums from 70's (AFM)
The Red Stratocaster and EMGs (AFM)
Diggin' Deeper "Shine On You Crazy Diamond - Pink Floyd" (AFM)
Roger Waters - Amused to Death (AFM)
Porcupine Tree - Fear of a Blank Planet (Parid)
Top Ten Songs from Yes (Analog Kid)
Top Ten Songs from King Crimson (Analog Kid)
Aviv Geffen - Blackfield : Part I (Parid)
The Rise and Fall of Queensryche (Lilium)
13 Essential Albums of “Extreme Progressive Metal” (Lilium)
Eloy Albums Guide (PSLK)
13 Greatest Rhythm Section Albums (AFM)
Robert Fripp's Soundscapes Technique (AFM)
Penguin Cafe Orchestra (Panyarak)
Penguin Cafe Orchestra & Simon Jeffes (Polotoon)
Mike Oldfield (Panyarak)
John Cale (Panyarak)
Philip Glass - Part I (Panyarak)
Philip Glass - Part II (Panyarak)
Van der Graaf Generator (Panyarak)
Sally Oldfield (Panyarak)
Family (Panyarak)
Renaissance & Annie Haslam (Panyarak)
Strawberry Fields Forever by George Martin (Winston)
Syd Barrett (Panyarak)
Peter Gabriel (panyarak)
Telecasters plus Les Paul Goldtop & Gretsch Duo Jet (AFM)
7 Phases in Prog Heads Life (Analog Kid)
Aviv Geffen - Blackfield : Part II (Parid)
Aviv Geffen - Blackfield : Part III (Parid)
Pink Floyd's Back Up Role
Ayreon - 01011001 (Parid)
Roger Waters – Amused to Death (Parid)
Snowy White & His Guitar : Interview (AFM)
Rick Wakeman (panyarak)
Coldplay - Viva la Vida (parid)
Jeff Beck - Blow By Blow & Wired (AFM)
Interview with \"Dredg\" (Lilium)

spacer.png, 0 kB
spacer.png, 0 kB
Home arrow Rick Wakeman (panyarak)
Rick Wakeman (panyarak) PDF Print E-mail
Written by Agent Fox Mulder   
Saturday, 21 June 2008

Rick Wakeman

Written by Panyarak Poolthup
Transcribed by Agent Fox Mulder
จากนิตยสาร Starpics (1988)



แม้วงดนตรีที่ Rick Wakeman เป็นสมาชิกอยู่ในปี 1972 จะมีความมั่นคงทั้งด้านการเงินและชื่อเสียง แต่ปัจจัยเหล่านี้หาได้เป็นกำแพงขวางกั้นความตั้งใจของ Rick ที่จะออกผลงานเดี่ยวในนามของตนเอง เพราะเขาเชื่อมั่นว่าผลงานในนาม Rick Wakeman จะเป็นผลงานดนตรีที่ไม่ได้เิดินย่ำอยู่บนความสำเร็จของ Yes วง Progressive Rock ชื่อดังในทศวรรษที่ 1970 ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่

จากบรรดาผลงานเดี่ยวทั้งหลายของ Rick จะสังเกตได้ว่าตัว Rick นั้นมีความสนใจในหลายๆ ด้าน เช่น ประวัติศาสตร์ กีฬา
สิ่งลึกลับ นิยายวิทยาศาสตร์ ฯลฯ และเขาก็นำสิ่งที่เขาสนใจเหล่านี้มาเสนอต่อสาธารณชนในรูปของดนตรีที่บรรยายสิ่งที่เขามี
ความสนใจตามทรรศนะส่วนตัวของเขา



1. The Six Wives of Henry VIII (1972)

เขาใช้เวลาว่างจากวง Yes มาทำผลงานส่วนตัวชุดแรกนี้โดยมีสมาชิกจาก Yes ทั้งหมดยกเว้น Jon Anderson มาช่วยเล่นดนตรีให้ นอกจากนี้ยังมีอดีตสมาชิกวง Strawbs บางคนมาช่วยด้วย อัลบั้มชุดนี้เป็นการบรรยายบุคลิกลักษณะของชายาทั้ง 6 ท่านของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ของอังกฤษด้วยเสียงดนตรีตามที่ตัว Rick มีความรู้สึกต่อบุคคลเหล่านั้น

จากอัลบั้มชุดนี้จะเห็นได้ว่าแนวทางของ Rick และ Yes แตกต่างกันอย่างชัดเจน การร่วมงานกับ Yes นั้น Rick แทบจะไม่ได้แต่งเพลงเลยจนดูเหมือนว่าบทบาทของเขาเป็นเพียงตัวช่วยเสริมให้ดนตรีของ Yes มีความละเมีียดละไมปราณีตและล้ำลึกให้สมกับเป็นวง Progressive Rock ชั้นแนวหน้าเท่านั้น ในขณะที่ผลงานเดี่ยวส่วนใหญ่เป็นผลงานการประพันธ์ของ Rick เองแทบทั้งสิ้นจะมีที่หยิบยืม (และบางทีก็ขโมย) มาจากของคนอื่นบ้างประปรายซึ่งบางครั้ง Rick ก็ให้เครดิตไว้และบางครั้งเขาก็เพิกเฉย สำหรับในชุดนี้เขาหยิบยืม
"The Day Thou Gavest Lord Hath Ended" ของ E.J. Hopkins มาเรียบเรียงใหม่แล้วก็ผนวกเข้าไว้ตอนท้ายเพลง Anne Boleyn โดยมีการให้เครดิต E.J. Hopkins ไว้หลังปก

เพลงที่เด่นที่สุดในอัลบั้มนี้คงไม่พ้น Catherine of Aragon ที่แฟนเพลง Rick คงรู้จักกันดี ซึ่ง Rick ก็อุตส่าห์นำเพลงนี้ไปเล่นในการแสดงสดของ Yes โดยมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมบางท่อนให้ฟังดูยิ่งใหญ่สมกับเป็นเพลงโชว์การเดี่ยว Keyboard ของมือคีย์บอร์ดระดับโลก



2. Journey To The Center Of The Earth (1974)

Rick ไม่เสียทีที่เคยเป็นสมาชิกของ Royal Academy Of Music อยู่ เขาจึงไปชักชวน London Symphony Orchestra และ English Chamber Choir มาร่วมงานด้วยอย่างง่ายดาย ชุดนี้เป็นบันทึกการแสดงสดจาก Royal Festival Hall กรุงลอนดอนที่ Rick นำนิยายของ Jules Verne ชื่อเดียวกับอัลบั้มมาทำเป็นนิยายวิืทยาศาสตร์ประกอบดนตรี ซึ่งดำเนินเรื่องในศตวรรษที่ 17 เมื่อศาสตร์ตราจารย์ Lindinbrook และ Axel หลานชายค้นพบแผ่นจารึกตัวหนังสือที่แทรกอยู่ในหนังสือจากศตวรรษที่ 12 ชื่อ Heims Kringla หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์สมัยที่องค์ชายจากนอร์เวย์ปกครองไอชแลนด์อยู่ แผ่นหนังจารึกเมื่อนำมาถอดรหัสเป็นภาษาละตินและแปลโดย Axel แล้วพบว่าเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นโดยนักเล่นแร่แปรธาตุในศตวรรษที่ 16 ความว่า "เมื่อเคลื่อนลงไปในปล่องไฟของ Sneffels Yokul ซึ่งมีเงาของ Scataris พาดผ่าน Kalends Of July นักเดินทางผู้กล้าหาญรวมทั้งตัวท่านจะเข้าถึงใจกลางของโลกซึ่งข้าฯ ได้พิชิตมาแล้ว" จากนั้นการเดินทางผจญภัยอันน่าตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจก็เริ่มขึ้น

การแสดงสดในชุดนี้มีทั้งการเล่าเรื่องแบบบรรยาย ดนตรีที่ดำเนินเรื่องและบทร้องซึ่งแต่งเป็นกลอนที่มีสัมผัสสวยงาม แต่พอเอามาร้องเป็นเพลงแล้วฟังดูแปร่งๆ ในชุดนี้ Rick ขโมยเอาบางท่อนของ Hall Of The Mountain King ของ Grieg มาด้วย แต่ตอนนั้น Rick ยังไม่หน้าด้านพอที่จะละเลยการให้เครดิตไว้



3. The Myths And Legends Of King Authur And The Round Table (1975)

ชุดนี้เป็นการเล่าเรื่องพระเจ้าอาเธอร์กับดาบ Excalibur และอัศวินโต๊ะกลมด้วยเสียงเพลง โดยมีวง Orchestra วงใหญ่พร้อมนักร้องประสานเสียงจาก The English Chamber Choir มาร่วมสร้างความยิ่งใหญ่ด้วย ผู้ที่เคยเป็นแฟนรายการ Top Teen Talent คงจะคุ้นเคยกับเพลง Sir Lancelot And The  Black Knight ดี เพลงนี้จังหวะจะโคนเล่นได้กระชับและมันสะใจดีโดยนักร้องชายร้องได้เข้มแข็งดั่งอัศวิน
ในเกราะเหล็กผู้กล้าหาญที่พร้อมจะออกศึก



4. Listzomania (1975)

Rick ทำผลงานชุดนี้ร่วมกับ Roger Daltrey และ Roger ก็แย่งชิงความเด่นทั้งหมดไปไว้เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวจนแทบไม่เหลืออะไรไว้ให้ Rick เลย งานนี้ Rick เข็ดจนตาย



5. No Earthly Connection (1976)

Rick กลับไปหานิยายวิทยาศาสตร์อีก โดยร่วมกับ The English Rock Ensemble นำเสนอการมองดนตรีสมัยใหม่ตามทรรศนะของ Rick ซึ่งมีอยู่คู่กับชีวิตก่อนที่จะมีโลกเกิดขึ้น ชีวิตมนุษย์และชีวิตหลังความตายมาตลอด Rick เชื่อว่าดนตรีเป็นส่วนประกอบที่แยกไม่ออกกับวิญญาณ โดยจะแสดงออกมาตามแต่ละบุคคลที่มันอาศัยอยู่ ดังนั้นร่างของแต่ละบุคคลจะเป็นที่เลี้ยงดูและพัฒนา "สิ่งที่มาจากนอกโลก" นี้เพื่อที่ว่ามันจะหวลกลับมาเข้าร่างที่มีชิวิตขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของมัน

LP ชุดนี้ Rick แต่งทั้งดนตรีและเนื้อร้องเองหมดซึ่งก็ทำออกมาได้ไพเราะแบบ Progressive Rock โดยเฉพาะเพลง The Prisoner ที่มีหลายลีลาน่าแปลกที่หลังจากชุดนี้ไปแล้ว Rick ไม่สามารถแต่งเนื้อร้องที่เป็นเรื่องเป็นราวได้ดีอีกเลย บางชุดก็ต้องไปขอให้คนอื่นมาแต่งเนื้อร้องให้ทั้งชุด



6. White Rock (1976)

ชุดนี้เป็นดนตรีประกอบภาพยนต์ The Innsbruck Winter Games ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงล้วนที่มีคีย์บอร์ดเป็นตัวนำ ถึงแม้จะทำออกมาในรูปแบบดนตรีประกอบภาพยนต์ แต่ความที่มันเป็นดนตรีซึ่งบรรยายหัวใจของกีฬาฤดูหนาวอันประกอบด้วยความวิริยะอุตสาหะ ความอดทน ความบ้าบิ่นและความเร็ว ดนตรีที่ออกมาจึงสนุกสนาน เร้าใจและให้มโนภาพการต่อสู้ของมนุษย์เพื่อเอาชนะคู่แข่งบนพื้นหิมะและลานน้ำแข็งได้ดี ดนตรีชุดนี้จึงเอามาฟังเล่นเพลินๆ ได้สบายโดยไม่ต้องสนใจว่าเคยชมภาพยนต์ดังกล่าวมาก่อนหรือไม่

ในเพลง Montezuma's Revenge มีการนำเอาดนตรีพื้นเมืองของฮังการีมาเรียบเรียงใหม่ประกอบเข้าไปด้วย โดย Rick ไม่ได้ละเลยที่จะให้เครดิตไว้



7. Criminal Record (1977)

Rick พยายามทำอัลบั้มชุดนี้เป็นแฟ้มประวัติอาชญากรรมในรูปแบบดนตรี แต่ชื่อเพลงที่บรรจุในอัลบั้มนี้ดูยังไงก็ไม่เห็นจะเข้าข่ายอาชญากรรมเท่าไหร่คือมีอยู่ 5 เพลง เริ่มด้วยเพลงเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ ตามมาด้วยห้องที่จำลองมาจากคุก Bastille ซึ่งมีบรรยากาศชวนสยองขวัญ มีเพลงที่ 3 ที่เข้าข่ายคือเป็นเรื่องของนาย Robert Stroud ซึ่งเป็นคนรักนกและได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับโรคนกที่ประสบ แต่เขาถูกยัดเข้าคุก Alcatraz ในข้อหาฆ่าคนตาย ส่วนอีก 2 เพลงนั้นเพลงนึงเกี่ยวกับเครื่องทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจซึ่งตำรวจอเมริกันนิยมใช้ อีกเพลงนึงเป็นเรื่องราวของ Judas ซึ่งทรยศต่อพระเยซู

ดนตรีในชุดนี้มีความไพเราะมาอีกทั้งยังมีกลุ่มนักร้องประสานเสียงจากเมือง Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาช่วยขับกล่อมด้วย ฟังทั้งแผ่นแล้วก็เกือบยกนิ้วให้ Rick มาสะดุดใจก็ตรงเพลง The Breathalyser ซึ่งฟังเผินๆ ก็ไพเราะดี แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่ามันไพเราะก็เพราะมีบางท่อนที่ Rick ถือวิสาสะหยิบยืมมาจากเพลง Pop ชื่อดัง Up, Up And Away โดยไม่ได้รับอนุญาตนั่นเอง

อัลบั้มชุดนี้ออกมาในปีที่ Rick กลับไปร่วมงานกับ Yes อีกครั้งจึงมีสมาชิกจาก Yes คือ Chris Squire กับ Alan White มาช่วยเล่นให้หลายเพลง



8. Rhapsodies (1979)

น่าเสียดาย (เงิน) ที่อัลบั้มชุดนี้ผลิตออกมาเป็นแผ่นคู่ ฟังดูแล้วก็ยังงั้นๆ Rick เอาเพลง Classic ของ Gershwin คือ Rhapsody In Blue และของ Tchaikovsky คือ Swan Lake มาทำลายเสียย่อยยับไม่มีชิ้นดี โดยเอามาทำออกมาเป็นเพลง Rock กระจอกๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าฝีมืออย่าง Rick จะทำผลงานชุ่ยส่งแบบเลวหมดทุกเพลงอย่างนี้ออกมา



9. 1984 (1981)

คราวนี้ Rick มาแปลกที่ให้ Chaka Khan มาร้องให้บางเพลง ชุดนี้เป็น Concept Album เกี่ยวกับนิยายชื่อดังเรื่อง 1984 โดยมี Tim Rice นักประพันธ์เนื้อร้องชื่อดังสำหรับละครเวทีของ Andrew Lloyd Webber มาประพันธ์เนื้อร้องทั้งหมดให้ นอกจากนี้ยังมีวง Orchestra วงใหญ่เล่นสนับสนุนให้ฟังดูยิ่งใหญ่อีกด้วย

ฟังชุดนี้แล้วก็ช่วยให้ลืมความไม่เข้าท่าที่ Rick ได้ทำไว้ในอัลบั้มชุดที่แล้วไปได้ เพราะแม้ชุดนี้จะเป็น Concept แต่แต่ละเพลงก็ไม่ได้เล่นติดกันเป็นพรืดและยังมีความโดดเด่นสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเองในแต่ละเพลงอีกด้วย

นักร้องอีก 3 คนที่มาช่วยขับกล่อมก็มี Jon Anderson, Time Rice และ Steve Harley และเพลงร้องที่ไพเราะมากๆ ก็มีอยู่ 2 เพลงคือ Julia ร้องโดย Chaka Khan และ The Hymn ร้องโดย Jon Anderson เมื่อฟังโดยรวมแล้วนี่คือหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของ Rick



10. The Burning (1981)

นี่เป็นเพลงประกอบภาพยนต์ประเภทเลือดท่วมจอและสับเป็นชิ้นๆ ที่มีโครงเรื่องไม่ค่อยแตกต่างจากพวก Friday The 13th มากนัก ดนตรีที่ Rick ทำก็ไม่แตกต่างไปจากดนตรีประกอบภาพยนต์แนวนี้ของรายอื่นๆ เท่าไหร่ แต่ก็พอฟังได้เล่นๆ โดยไม่คิดอะไรมากได้ ท่อนที่ไพเราะมีแค่ 2 ท่อนคือเพลง Theme เฉพาะท่อนที่เล่นด้วยเปียโนอย่างเดียว พอมีเสียงคีย์บอร์ดกับกลองเข้ามาก็เละเลย อีกเพลงคือ Devil's Creek Breakdown ซึ่ง Rick ไม่มีส่วนร่วมด้วยเลย เพลงนี้มี Banjo แลพ Fiddle เป็นตัวชูโรงแบบเพลง Bluegrass ทั่วไป

ส่วนเพลงที่ใช้ชื่อว่า Campfire Story เป็นท่อนที่ยกมาจากในหนังเลยโดยเป็นการเล่านิทานรอบกองไฟเกี่ยวกับนาย Cropsy จอมโหดซึ่งเคยเป็นผู้คุมแคมป์ที่ถูกเผาทั้งเป็นแต่ไม่ตาย โดยขณะที่ถูกเผาเขาประกาศก้องว่าจะกลับมาล้างแค้นพวกเด็กๆ ที่เผาเขาซึ่งก็คือผู้คุมแคมป์คนปัจจุบันที่กำลังเล่าเรื่องอยู่ พอเล่าไปสักพักเด็กคนหนึ่งที่นั่งฟังอยู่รอบกองไฟก็ถูกฆาตกรหน้าเละใช้มีดเล่มใหญ่แทง แต่ปรากฎว่าเป็นเพียงการละเล่นเท่านั้น พอฆาตกรปลอมถอดหน้ากากออกเพลง Theme ของ Rick ก็ขึ้นทันที ดูเหมือนว่ามีช่วงนี้ในหนังเท่านั้นที่ดูแล้วดนตรีของ Rick ได้รับการสอดใส่เข้าไปอย่างถูกกาละเทศะที่สุด



11. G'ole (1983)

ชุดนี้เป็นดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นเป็นทางการสำหรับภาพยนต์การแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1982 ซึ่ง Rick ทำออกมาธรรมดามาก



12. Cost Of Living (1983)

นี่เป็นการร่วมงานกันอีกครั้งระหว่าง Rick กับ Tim Rice และก็เป็นอัลบั้มยอดเยี่ยมอีกชุดของ Rick ในเพลง Twij กับ
Gone But Not Forgotten Rick เล่นเปียโนได้ไพเราะมาก Twij คือชื่อเล่นของ Jemma ลูกสาวคนเล็กของ Rick มีอยู่เพลงนึงที่น่าตำหนิมากคือ Pandamonia ซึ่ง Rick ขโมยดนตรี Peter Gunn ของ Henry Mancini มาทั้งเพลงอย่างหน้าตาเฉยโดยให้ Tim Rice ใส่เนื้อร้องเข้าไปแล้วบอกแต่เพียงว่าแต่งโดย Wakeman & Rice ในชุดนี้นักร้องนำคือ Hereward Kaye ซึ่งร้องเพลงมันๆ ได้ดีมาก

Concept ของอัลบั้มชุดนี้เป็นเรื่องของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เพลง Twij ก็คือการเกิดของลูกสาวคนเล็กของเขา และเพลงสุดท้ายในแผ่นคือ Elegy-Written In A Country Churchyard ซึ่งเป็นคำไว้อาลัยคนตายประกอบเสียงดนตรีอันแสนไพเราะ คำไว้อาลัยในเพลงนี้เขียนโดย Thomas Gray และอ่านโดย Robert Powell



13. Silent Nights (1985)

คราวนี้ Rick มาพร้อมกับนักร้องนำคนใหม่ Gordon Neville ชุดนี้ Rick กลับมาแต่งเนื้อร้องเองซึ่งฝีมือเขาตกไปเยอะเหมือนกัน นอกจากนี้การที่เขานำเพลง Evergreen ซึ่งเป็น Love Theme จาก A Star Is Born มาเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงบรรเลงชื่อ Elgin Mansions แล้วใส่ชื่อว่าตนเองเป็นผู้แต่ง ก็ยิ่งช่วยลดคุณค่าของอัลบั้มชุดนี้ให้ด้อยค่ายิ่งขึ้น โดยรวมแล้วชุดนี้มีเพลงที่ไพเราะอยู่เพียง 2 เพลงคือเพลงที่ขโมยเอา Evergreen มาทั้งดุ้นซึ่งมีความไพเราะอยู่ในตัวเองอยู่แล้วกับ Ghost Of A Rock And Roll Star ซึ่งเป็นเพลง Pop ที่ไพเราะตามสไตล์ของ Rick นอกจากนี้ก็มีปกที่ออกแบบได้สวยงามดี



14. Live At Hammersmith (1985)

นี่คืออัลบั้มบันทึกการแสดงสดที่นำอัลบั้ม 3 ชุดแรกมายำใหญ่เสียเกือบเละในการออกทัวร์เพื่อสนับสนุนอัลบั้ม Silent Nights โดยใช้นักดนตรีจากอัลบั้มชุดดังกล่าวโดยไม่มีวง Orchestra เหมือนใน 3 ชุดแรก ในอัลบั้มบอกว่ามีเพียง 4 เพลงคือ Arthur, Three Wives, Journey และ Merlin ซึ่งจริงๆ แล้วแต่ละเพลงเหล่านี้ประกอบด้วยเพลงย่อยๆ มากมาย แต่ Rick จับเอามารวบรัดให้สั้นลงอย่าง Journey ที่ประกอบด้วยทุกเพลงในอัลบั้มชุดที่ 2 แต่ Rick ก็ใช้ความสามารถในการตัดดนตรีที่ยืดเยื้อออกโดยรักษาท่อนร้องไว้อย่างครบถ้วน

ข้อเสียของบันทึกการแสดงสดชุดนี้คือการนำนักดนตรีสำหรับผลงานยุคหลังๆ ของ Rick มาเล่น ผลงานเพลงชุดแรกๆ ซึ่งเคยมีวง Orchestra เล่นสนับสนุนอยู่ ทำให้ฟังดูหลวมๆ ชอบกลและออกไปทาง Rock ธรรมดาๆ มากกว่าจะเป็น Classical Rock

อัีลบั้มชุดนี้เท่าที่เคยเห็นมีปก 2 แบบ แบบหนึ่งคือที่เห็นอยู่นี้ อีกแบบหนึ่งก็คล้ายๆ กัน แต่เป็นรูป Rick เต็มตัวซึ่งถ่ายมาไม่ดีเลย ดูแล้วเหมือนนั่งอยู่ในกล่อง



15. Country Airs (1986)

เมื่อ New Age เกิด Boom ขึ้นมา Rick ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและช่ำชองในการพรมนิ้วบนเีปียโนอันไร้เทียมทานก็ขอทำอัลบั้ม New Age กับเขาบ้าง ชุดนี้ Rick กระโดดไปร่วม Project ของบริษัท Coda ใน Series ชุด Landscape ซึ่งเน้นที่ดนตรี New Age สำหรับพรรณนาภูมิประเทศที่สวยงาม ผลก็คืออัลบั้มดนตรี New Age ที่มีความไพเราะมากที่สุดชุดหนึ่ง ฟังแล้วให้บรรยากาศสายน้ำไหลผ่านแก่งหินในป่าใหญ่อันร่มรื่น ดังภาพบนปก นอกจากนี้ชื่อเพลงแต่ละเพลงก็เป็นใจช่วยให้เกิดมโนภาพของความสงบ เยือกเย็น ภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติได้ดีเยี่ยม มีบางคนฟังชุดนี้แล้วบอกว่า มีหลายเพลงที่ทำนองคุ้นหู ยังกะไปขโมยบางท่อนจากเพลง Classic ดังๆ มา ดังเช่นที่เขาเคยปฏิบัติมาเป็นนิสัยอยู่เป็นประจำ



16. Crimes Of Passion (1986)

Rick ยังคงใช้นักดนตรี (เว้นนักร้อง) ชุดเดียวกับ Silent Nights ในการทำอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนต์ชุดนี้ ชุดนี้มีเพลงร้องเพลงเดียวคือ It's A Lovely Life โดย Maggie Bell เพลงบรรเลงที่เหลือก็หนวกหูโฉ่งฉ่างมาก ยกเว้นเพลง Joanna ซึ่ง Rick ไปขโมยท่อน Largo ที่แสนเศร้าจาก New World Symphony ของ Dvorak มาอย่างหน้าไม่อาย โดยเอามาเรียบเรียงใหม่ให้จังหวะเร็วขึ้นเล็กน้อยแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่พร้อมกับใส่ชื่อตนเองว่าเป็นผู้แต่งแต่ผู้เดียว ก็แปลกอยู่เหมือนกันที่ไม่ยักมีใครฟ้องศาลแบบรายอื่นๆ



17. The Family Album (1987)

เมื่อ Rick เห็นว่าชุด Country Airs ไปได้สวย เขาจึงหันมาเอาดีทางดนตรี New Age อีกครั้ง ซึ่งเป็นการบรรยายถึงสิ่งที่เขารักที่สุดในชีวิต นั่นคือครอบครัวของเขาอันประกอบด้วยพ่อ แม่ ภรรยา (ที่ไม่ใช่คนแรก) ลูก 5 คนแล้วก็สัตว์เลี้ยงทั้งหมา แมว และกระต่าย

อัลบั้มชุดนี้จึงเป็นเหมือนสมุดภาพ (ทางดนตรี) ของครอบครัวของเขาซึ่งเขาแต่งแต้มสีสันด้วยเสียงดนตรีอันแสนไพเราะ ชื่อเพลงแต่ละเพลงก็เป็นชื่อสมาชิกในครอบครัวของเขานั่นเอง ความแตกต่างระหว่างชุดนี้กับ Country Airs ก็คือในชุดก่อนนี้
Rick เล่นแต่ Grand Piano อย่างเดียว เสียงที่ออกมาจึงฟังดูเป็นธรรมชาติ แต่ในชุดนี้เขาใช้แต่คีย์บอร์ด ซึ่งฟังแล้วเหมือน Rick จับแต่แง่มุมด้านความร่าเริง สนุกสนานของตัวละครมาบรรยาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของคนสามัญทั่วไปที่จะไม่นำความระทมทุกข์ภายในครอบครัวของตน
ออกมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้

หลังจากชุดนี้แล้ว Rick ก็ได้ทำดนตรีประกอบภาพยนต์สยองขวัญเรื่อง Creepshow 2 แต่ก็ยังไม่เคยเห็นทำเป็นแผ่นออกมา ซึ่งถ้าทำออกมาก็คงไม่น่าสนใจนัก เพราะถ้าเป็นแผ่น Soundtrack ของ Rick โดยเฉพาะในระยะหลัง เขามักจะทำออกมาแบบขอไปที ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการทำดนตรีประกอบภาพยนต์ทำให้เขาไม่สามารถแสดงจินตนาการออกมาได้เต็มที่ โดยถูก Frame ภาพจำกัดขีดความสามารถเอาไว้

ที่จริง Rick เคยทำ Ep. ชื่อ Piano Variations ออกมาก่อนอัลบั้มชุดแรก นอกจากนี้ Rick ยังมี Single ที่ออกเฉพาะในประเทศอังกฤษอีกมากมายซึ่งหลายเพลงก็ไม่เคยปรากฎในอัลบั้มใดๆ เลย คิดว่า Rick ยังคงออกผลงานเดี่ยวไปได้เรื่อยๆ จนแก่ และเขาคงไม่คิดไปร่วมวงกับใครอีก เพราะถึงแม้บางครั้งเขาจะจนปัญญาหาเพลงใส่ให้เต็มแผ่นไม่ได้ เขาก็ไปตู่เพลงของคนอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นเพลงของตนได้อย่างสบายๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว


Last Updated ( Saturday, 21 June 2008 )
spacer.png, 0 kB
spacer.png, 0 kB
spacer.png, 0 kB
Top 10 Best Sellers in Clothing for 2017 Top 10 Best Sellers in Clothing Sellers in Clothing