ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
การค้นหาขั้นสูง

149690 กระทู้ ใน 4435 หัวข้อ- โดย 847 สมาชิก - สมาชิกล่าสุด: axlrose

07 พฤษภาคม 2024 | 06:13:59 PM
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: Miles Davis  (อ่าน 4355 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Shineon
Global Moderator
Fragile
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 417


chopang_11@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: 09 ธันวาคม 2007 | 06:08:04 PM »

Miles Davis – The Prince of Darkness ที่ไม่อาจมีใครปฏิเสธ

   “ไมล์ส เดวิส” หากพูดถึงชื่อนี้แล้ว เชื่อว่าคงจะมีน้อยคนเหลือเกินที่ไม่รู้จัก มิจำเป็นว่าจะต้องเป็นคอแจ๊ซเท่านั้นถึงจะรู้จัก หากแต่ชื่อเสียงของเขามันกว้างไกลกว่านั้น !

   ไมล์ส เป็นพลังผลักดันที่สำคัญทางดนตรีในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20  เจ้าชายแห่งความลึกลับผู้มักจะครุ่นคิดและสันโดษยามอยู่บนเวทีแสดง  ผ่านโมงยามแห่งเฮโรอีนและโคเคนมาก็มาก  หากจะพูดว่า ไมล์ส เป็นราชันย์แห่งดนตรีสมัยใหม่ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเขาจะเดินล้ำหน้าคนอื่นอยู่เสมอ โดยไม่คำนึงถึงกลุ่มคนฟัง แม้กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพลง นักวิจารณ์ หรือนักดนตรีไซด์แมน ต่างก็ให้ความชื่นชมและชื่นชอบ ไมล์ส เสมอมา

   ไมล์ส เป็นบุคคลที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะคุณจะสามารถเสาะหาเรื่องราวเกี่ยวกับเขาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือบนอินเตอร์เน็ต  แต่ ณ ที่นี้ เราจะมาคุยกันถึงผลงานแต่ละช่วงของ ไมล์ส และดนตรีที่ยิ่งใหญ่เหนือมวลมนุษยชาติ  เราจะกล่าวถึงผลงานสำคัญของ ไมล์ส ที่นี่แน่นอน  ตามอ่านกันได้เลย  

ไมล์ส และ The All-Stars

   Miles Dewey Davis เป็นลูกชายของหมอฟัน เกิดเมื่อปี 1926  ฝีมือการบรรเลงทรัมเป็ตของ ไมล์ส นั้น มีเอกลักษณ์มาตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่เขากลับต้องเริ่มต้นเล่นดนตรีอาชีพช้ากว่าความน่าจะเป็น เนื่องจากว่าถูกแม่บังคับให้เรียนหนังสือจนจบมัธยมปลายเสียก่อน  ในปี 1945 ไมล์ส ก้าวเข้าสู่โรงเรียนดนตรีชื่อดัง Julliard School of Music แต่ในที่สุด ไมล์ส กลับเลือกที่จะเดินออกมาจากหลักสูตรการเรียนการสอนเหล่านั้น เพื่อที่จะกรุยทางสู่ความเป็นตำนาน ด้วยการโดดลงมาศึกษาวิชาดนตรีกับ Charlie Parker นักแซ็กโซโฟนระดับตำนาน  จนกลายมาเป็นทั้ง “รูมเมต” และไซด์แมนของ พาร์คเกอร์  ชีวิตและงานดนตรีของ พาร์คเกอร์ นั้นซับซ้อน รวดเร็ว  แต่กระนั้น ไมล์ส ก็ยังคงสามารถอยู่ร่วมกับ พาร์คเกอร์ และเรียนรู้ได้ในระยะที่ไม่ห่างชั้นกันนัก  และคงต้องขอเสียงปรบมือให้กับ พาร์คเกอร์ คนนี้ ที่เป็นผลักดันให้ ไมล์ส มีความกล้าหาญ จนกระทั่งสามารถออกมาหาที่ทางเป็นของตัวเองในโลกแห่งแจ๊ซ

   ช่วงปี 1949 ไมล์ส เล่นอยู่กับ Gil Evans และปีถัดมาเขาก็สร้างผลงานที่โลกไม่อาจจะลืม  นั่นก็คือ  Birth of the Cool (ซึ่งตรงกันข้ามกับงานเพลงของ Jelly Roll Morton หรือ Louis Armstrong หรือพวกสวิง บิ๊กแบนด์ที่มีอยู่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองในอเมริกา)  ผลงานชุดนี้เองที่เป็นแรงผลักดันสู่ยุคสมัยของ West Coast และ Cool Jazz  นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า ไมล์ส เริ่มต้นสร้างสรรค์งานที่มีรูปแบบออกมาจนประสบความสำเร็จ แต่แล้วก็ผละไปรังสรรค์งานชิ้นอื่นที่ท้าทายต่อไป โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะต้องอยู่กับความสำเร็จแบบนั้นไปตลอด ซึ่งก็เปรียบเสมือนการย่ำเท้าอยู่กับที่

   ในปี 1953 และ 1954  ไมล์ส ได้สร้างสรรค์ผลงานซีรีส์ให้กับค่าย Prestige  ร่วมกับดาวรุ่งดวงใหม่และใหญ่ยักษ์ อย่าง Sonny Rollins (เทเนอร์ แซ็กโซโฟน), Thelonious Monk, John Lewis และ Horace Silver (เปียโน), Milt Jackson (ไวบราโฟน), Percy Heath และ Charles Mingus (เบส) และมือกลองที่มีความสามารถพิเศษอย่าง Art Blakey, Kenny Clarke และ Max Roach
  
   4 อัลบัมในยุคที่ ไมล์ส ออกกับเพรสทีจนั้นเป็นอัลบัมที่สำคัญต่อวงการเเจ๊ซทีเดียว นั่นก็คือ Miles Davis All Stars-Walkin’, Blue Haze, Miles Davis and the Modern Jazz Giants และ Bag’s Groove กับดิ ออล สตาร์ส ซีรีส์ 4 อัลบัมนั้นสร้างความตื่นตกใจให้กับประวัติศาสตร์แจ๊ซหน้าหนึ่งทีเดียว แล้วก็มีอัลบัม Walkin’ กับ Blue n’ Boogie  เซสชัน (Session) กับ เธลอเนียส มังค์ (อัลบัม Modern Jazz Giants และ Bag’s Groove) ก็เป็นช่วงที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แจ๊ซเช่นเดียวกัน  อัลบัมนี้บันทึกในช่วงก่อนคริสต์มาสปี 1954 ประกอบไปด้วยริธึ่มเซ็คชันจาก MJQ ผนวกกับการปะทะฝีมือของ เธลอเนียส กับ ไมล์ส ซึ่ง ไมล์ส ต้องการให้ เธลอเนียส คลออยู่หลังการโซโลของเขา  แต่ระดับ เธลอเนียส หรือจะยอมเป็นไก่รองบ่อนตลอดไป  สงครามปะทะฝีมือทางดนตรีก็เริ่มบังเกิดขึ้น เมื่อเสียงเปียโนของ เธลอเนียส สอดเสริมเข้ามาในช่วงโซโลของ ไมล์ส (ในเทคที่สองของ Bag’s Groove ฝีมือการประพันธ์ของมิลต์ แจ็คสัน) มันช่างดุเด็ดเผ็ดมัน ไม่แพ้การเชียร์มวยอยู่ตรงที่นั่งริงไซด์ก็ไม่ปาน

   สิ่งที่ ไมล์ส พัฒนาให้ผลงานเหล่านี้มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น มีความเป็นตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเสียงทรัมเป็ตของเขา  การเป่าที่แสดงออกถึงอารมณ์แห่งท่วงทำนองหวานไหว ขณะเดียวกันก็มีลีลาสวิงอยู่ในที  แน่นอนว่ามีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบ ของอย่างนี้มันลางเนื้อชอบลางยา ห้ามกันไม่ได้  ใครชอบก็ชอบไป อย่าไปเกะกะกวนใจก็แล้วกัน  ซึ่ง ไมล์ส เองก็ไม่แคร์สักเท่าไร เพราะเขาเองไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมากังวลถึงสิ่งนี้อีกแล้ว  ไมล์ส เพียงแต่ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุดในการทำงานแต่ละครั้งเท่านั้น  ในช่วงนี้ขอแนะนำอัลบัม Dig ที่เขาเล่นกับ ซันนี รอลลินส์  บันทึกในปี 1954  Collectors Items ผลงานจากช่วงปี 1953 (กับ ซันนี และ พาร์คเกอร์ ซึ่งใช้ชื่อว่า Charlie Chan) และ 1956 (กับ ซันนี เช่นกัน)

ยุคแรกของสุดยอดวงควินเต็ต

   นี่คือยุคที่ ไมล์ส ผันตัวเองจากบุคคลสำคัญมาสู่การเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ กับเพื่อนร่วมวงอีก 4 คน ประกอบด้วย  John Coltrane (เทนเนอร์ แซ็ก), Red Garland (เปียโน), Paul Chambers (เบส), Philly Joe Jones (กลอง)  ไมล์ส ได้รับคำกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากในการว่างจ้างกลุ่มนักดนตรีหนุ่มๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก  อย่าง แชมเบอร์ส ก็ยังเป็นหนุ่มวัยรุ่นอยู่  โคลเทรน ก็ได้ชื่อว่าเป่าแซ็กเสียงแปร่งๆ และยังเป็นมือใหม่อยู่อีกต่างหาก  แต่ว่าก็ว่าเถอะ 6 อัลบัมสำคัญที่ควินเต็ตกลุ่มนี้ทำไว้ก็ต้องยอมรับกันละว่า “เยี่ยมสุด” ไม่ว่าจะเป็น The New Miles Davis Quintet , Relaxin’ ออกตามมาติดๆ , Cookin’, Steamin’ และ Workin’ ออกกับเพรสทีจทั้งหมด  หลังจากนั้นก็ตามด้วย Round About Midnight ซึ่งเป็นผลงานชุดเปิดตัว หลังจากโยกย้ายมาสู่ค่ายโคลัมเบีย

   อัลบัมวงควินเต็ตที่ออกกับเพรสทีจนั้น บันทึกเสียงกันที่ Hackensack รัฐนิวเจอร์ซีย์ กับเอนจิเนียร์ผู้เก่งกาจ รูดี แวนเกลเดอร์  พรั่งพร้อมด้วยวัตถุดิบมากมายจากเซสชันที่เล่นกันยาวนาน เมื่อเดือนตุลาคม 1956  มันไม่มีการซ้อมเลย-เชื่อไหมล่ะ? แน่นอนเทคสองก็ไม่มี  ไมล์ส เห็นว่าการซ้อมนั้นต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแสดงด้วย  อัลบัมควินเต็ตที่ 5 อัลบัมที่ออกกับเพรสทีจนั้น เป็นอัลบัมที่ต้องออกด้วยพันธสัญญาที่ยังเหลืออยู่  แต่ก็ดูเอาเถิดถึงความยิ่งใหญ่ในตัวมันเอง  ตอนนั้นเขาได้บันทึกอัลบัม Round About Midnight กับโคลัมเบียเรียบร้อยแล้วในเดือนตุลาคม 1955 และมิถุนายน 1956!  ช่วงนี้เป็นยุคกลางในการพัฒนาเอกลักษณ์ในการเป่าฮอร์นของตัวเอง  เสียงที่เซ็กซี่ อบอุ่น หวาน บ่อยครั้งที่เขาใช้มิวต์เพื่อให้ได้เสียงอย่างนั้น  ลองฟังได้จากเพลง If I Were A Bell เพลงละคร Guys and Dolls จากอัลบัม Relaxin’

     แต่วงควินเต็ตวงนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งแต่เพลงบัลลาดเท่านั้น  เพลง Airegin ในอัลบัม Cookin’ ที่เล่นกับซันนีเป็นเพลงที่บ่งบอกได้ค่อนข้างชัดเจน  การ์แลนด์ หยอดเปียโนได้หวานยั่วยวน ตามด้วยเสียงฟาดไฮ-แฮตอย่างดุเด็ดของ โจนส์  โคลเทรน ก็เล่นควบคู่กับ การ์แลนด์ แล้ว ไมล์ส ก็ถึงจะเข้ามาร่วมคำรามเสียงทรัมเป็ตคู่กาย โดยมี โคลเทรน เล่นเป็นคู่แข่งอยู่ข้างๆ  เขาเริ่มโซโลในช่วงแรกซึ่งค่อนข้างจะหม่นมัว จนกระทั่งหลังจากช่วงท่อนแยก เมื่อเขากำลังจะโลดแล่นไปกับคอร์ดที่เปลี่ยนทาง ควบคู่ไปกับการตีทอม-ทอมของโจนส์  โคลเทรนตามติดมาด้วยการโซโลอันมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ ไมล์ส เรียกมันว่า “Sheets of Sound”  ส่วนภาคริธึมนั้นก็ไม่มีท่อนโซโลเลย  การ์แลนด์ เคาะเปียโนได้งดงามมากในเพลงนี้ระหว่างที่ โคลเทรน กำลังอิมโพรไวซ์อยู่  แล้วก็เป็นที่น่าสนใจว่า นักวิจารณ์หลายๆ ท่านได้ลงความเห็นเกี่ยวกับตีกลองของ โจนส์ ไว้ว่า “ตีดังเกินไป” แต่จงรำลึกไว้เถิดว่า นั่นแหละคือสิ่งที่ ไมล์ส ต้องการให้เป็น  การแสดงอันเร่าร้อนที่มากจากไซด์แมนของเขาทั้งหมด  

   แล้วความเร่าร้อนนั้นเองที่ผลักดันให้วงควินเต็ตวงนี้กลายเป็นความยิ่งใหญ่ของดนตรีแจ๊ซ  ชายทั้งห้าคนได้สร้างสรรค์งานที่เป็นประวัติศาสตร์เสียยิ่งกว่างานเดี่ยวของตัวเองเสียอีก แล้วงานเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นงานที่อยู่เหนือกาลเวลาไปเสียแล้ว

ร่วมงานกับ Gil Evans

   กิล เอแวนส์ ชื่อนี้แลดูไม่น่าจะควบคู่ไปกับชื่อของ ไมล์ส ไปได้ จนกระทั่งมีคนนำเอาหัวใสคิดนำสองศิลปินที่ยิ่งใหญ่นี้มาร่วมงานกัน  แต่ถึงแม้ว่าจะมาร่วมงานกับ ไมล์ส ก็ตาม แต่ กิล ก็ไม่ได้ห่างหายจากเอกลักษณ์ความเป็นออร์เคสตราของตัวเองเลยแม้แต่น้อย  มันกลับกลายเป็นความยิ่งใหญ่ไปเสียอีกสิ!  โดยเฉพาะ Out Of The Cool ในยุค 1960 ไม่มีใครที่จะไม่แนะนำอัลบัมนี้ให้คุณแน่  อย่างไรก็ตาม เมื่อ กิล และ ไมล์ส ร่วมสร้างทีมกันขึ้นมาแล้วในยุค 1950  ความเป็นอัจฉริยะของทั้งสองที่ผนวกเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดความแปลกใหม่ชนิดที่วงออร์เคสตราที่มีอยู่ในช่วงนั้นดูล้าสมัย เตรียมพร้อมจะเด้งเข้ากรุกันไปหมด

   ผลงานที่ทั้งสองร่วมสร้างสรรค์นั้น ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับอย่างดีตั้งแต่ชุดแรกที่ออกมา นั่นก็คือ The Birth Of The Cool  ในช่วงปี 1949-50 แล้วก็ยังมี Boplicity, Moon Dreams และ Theme (ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ถูกรวบรวมนำมาไว้ในอัลบัม The Complete Birth Of The Cool เป็นที่เรียบร้อย รวมไปถึงเซสชันแสดงสดต่างๆ ที่ได้รับการบันทึกเสียงที่ Royal Roost ในปี 1948) ไมล์ส ได้เข้าเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด Columbia Records ตั้งแต่ปี 1955 ทั้งเขาและ กิล จึงได้บันทึกเสียงผลงานร่วมกันอีกในชุด Miles Ahead ในปี 1957 แล้วก็ตามมาติดๆ ด้วยอัลบัม Porgy And Bess  การตีความบทละครโอเปราชิ้นสำคัญของนักประพันธ์อมตะ George Gershwin แน่นอนว่าต้องมีบทเพลงอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลอย่าง Summertime ด้วย

   ในปี 1960 อัลบัม Sketches Of Spain ก็ออกมา นำกองทัพด้วยบทเพลง Concierto De Aranjuez มีความยาวถึง 16 นาที! เป็นการตีความบทเพลงคลาสสิกของคีตกวีชาวสเปน Joaquin Rodrigo (ผู้ซึ่งถึงแก่มรณกรรมไปเมื่อปี 1999)  บทประพันธ์นี้เป็นคอนแชร์โตสำหรับกีตาร์และวงออร์เคสตรา  แต่ตัวอัลบัมไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จในแง่ของคำวิจารณ์นัก  อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างทำงานในห้องอัด เนื่องด้วยเครื่องดนตรีหลากชิ้น ทำให้ต้องบันทึกเสียงเป็นเซ็คชันไป แต่งานชุดนี้ก็ถือเป็นงานหินที่ ไมล์ส จะต้องใช้กำลังมันสมองมากมายระหว่างที่บันทึกเสียงในสตูดิโอ  หลายๆ ครั้งที่เขาลังเลจะทำสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายในอัลบัมนี้  แต่ด้วยชื่อ ไมล์ส ซะอย่าง  เขาก็จบโปรเจ็กต์นี้ได้โดยปราศจากความลังเลที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวพรรค์นั้น  ตัวโน้ตแต่ละตัวบ่งบอกถึงความกล้าหาญในการตีความของเขาอย่างเอกอุ บางคนก็อาจจะบอกว่า Porgy And Bess ดีกว่า  แต่ในแง่ความเป็นนักเล่าเรื่องแล้ว Sketches Of Spain  ไมล์ส ทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าอย่างแน่นอน

   การแสดงคอนเสิร์ตในปี 1961 (ซึ่งภายหลังออกมาเป็นผลงานแผ่นคู่ชุด Miles Davis At Carnegie Hall) ได้รวบรวมงานเด่นๆ ของ ไมล์ส และ กิล มาแสดงสด  แน่นอนต้องมี Concierto De Aranjuez ด้วย นี่จึงถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ฟังวงใหญ่เล่นกันสดๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ซาวด์ที่ “สมบูรณ์แบบ” อย่างในแผ่นเสียง แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์ของการแสดงสดมิใช่หรือ ทั้ง กิล และ ไมล์ส ก็ยังคงร่วมกันทำงาน โดยที่ กิล ทำหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษาและอะเรนเจอร์ ให้กับ ไมล์ส ในหลายๆ อัลบัม  รวมทั้งอัลบัม Star People ด้วย  จนมาถึงอัลบัม Quiet Nights ซึ่งอัลบัมหลังนี้ไม่ค่อยได้รับเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ในทางบวกมากนัก  แถมยังเป็นอัลบัมที่ร้านขายแผ่นนำเอาแผ่นเสียงมาลดกระหน่ำตอนที่เพิ่งได้รับการเปลี่ยนรูปแบบเป็นซีดีเมื่อปี 1997 อีกต่างหาก  แม้กระนั้นก็ตาม อัลบัมนี้ก็ยังคงทรงคุณค่าเหมือนอย่างอัลบัมที่ผ่านๆ มาของ ไมล์ส อยู่ดี  เขากับ กิล ร่วมกันก้าวข้ามผ่านเสียงแห่งบอสซาโนวา เข้าสู่บทเพลงที่สวยงามของ Quiet Nights อันเหนือกว่า Sketches of Spain เสียด้วย  คุณลองจินตนาการสิว่างานชุดนี้พวกเขาจะใช้เวลาสร้างสรรค์กันนานขนาดไหน

   ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 Quincy Jones บอกให้ ไมล์ส เอาผลงานของ กิล มาแสดงคอนเสิร์ต ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ ไมล์ส ก็ยังคงรักษาระดับคุณภาพงานของเขาเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่งในงานคอนเสิร์ตครั้งนั้น เรียกว่าสมศักดิ์ศรี The Prince Of Darkness ทีเดียว

Modal Miles และ Cannonball

   หลังจากการดับสลายของวง 5 ชิ้นในยุคแรกแล้ว การเข้ามาเสริมทัพของ Julian Cannonball Adderley กับวงที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร  ขณะที่ โคลเทรน โชว์ฝีปากโซโลแบบยาวเหยียด แอดเดอร์ลีย์กลับเป่าไปเรื่อยๆ เคล้าสำเนียงบลูส์ ครวญคราง ไปจนถึงเร็วปรู๊ดปร๊าด  แน่นอน เขาย่อมเป็นหนึ่งในนักแซ็กโซโฟนที่ผู้ฟังชื่นชอบในยุคสมัยนั้น  งานออกคอนเสิร์ตเขามักจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเสมอ อย่างที่เขาเคยได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งที่คอนเสิร์ต 1958 Newport Jazz Festival
 
   การเข้ามาเติมเต็มของแอดเดอร์ลีย์นั้นยังเป็นการส่งเสริมความโดดเด่นให้กับโคลเทรนอีกทางหนึ่ง ด้วยในการโชว์เดี่ยวของแต่ละคน  แน่นอนว่าโคลเทรนสามารถเล่นได้ด้วยพลังแห่งความแม่นยำของความเป็นมืออาชีพ อันยากเหลือเกินที่จะเกิดข้อผิดพลาด  

   นอกจากจะเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์โชติช่วงทางดนตรีของ ไมล์ส แล้ว มันก็ยังเป็นเวลาที่เขาปรับปรุงและพัฒนาทักษะทางการประพันธ์เพลงให้ก้าวสู่แนวหน้าอีกด้วย ซึ่งอัลบัมสำคัญที่เขาได้ร่วมทำกับแอดเดอร์ลีย์ในช่วงปี 1959 ก็คือ Kind Of Blue ซึ่งชี้นำแนวทางใหม่ๆ ให้กับวงการเพลงแจ๊ซ  (ในปี 1958 ก็ยังมีผลงาน Milestones, Somethin’ Else (อัลบัมส่วนตัวของแอดเดอร์ลีย์) และ Live At Newport 1958 อีกด้วย) วงดนตรี 6 ชิ้นของเขาได้บันทึกผลงานเพลง 5 ชิ้น ซึ่ง ไมล์ส ได้นำเสนอต่อลูกวงของเขาไม่กี่ชั่วข้ามคืนก่อนหน้าที่จะบันทึกเสียง  และแน่นอน…อย่างคร่าวๆ ด้วยเจตนาอันแรงกล้าของเขาที่ต้องการความเป็นธรรมชาติในรูปแบบของ Modal Music  ถึงแม้ว่าอะไรๆ จะใหม่ไปหมดก็ตาม บรรดานักดนตรีก็ได้สร้างสรรค์อารมณ์ในการใช้คีตปฏิภาณอันเกินกว่าที่เราจะคาดว่าจะได้ฟัง  ยิ่งไปกว่านั้น Kind Of Blue ยังได้มาถึงจุดสูงสุดของความเป็นดนตรี นั่นคือการที่มันกลายเป็นอัลบัมอมตะนิรันดร์กาลไปแล้ว  ไม่เชื่อลองไปดูการจัดอันดับ 100 อัลบัมประจำปีของแม็กกาซีนต่างประเทศ ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ต้องมี Kind Of Blue เป็น 1 ในร้อยนั้นด้วย และใครก็ตามที่ริจะฟังแจ๊ซ…นี่ก็ต้องเป็นหนึ่งอัลบัมที่เขาคนนั้นจะต้องหามาฟัง ในฉบับรีมาสเตอร์ใหม่ของ Kind Of Blue ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายหลังสุดนี้ ยังเป็นเวอร์ชันที่รวมเอาเทคหลุดๆ อันเกิดจากความผิดพลาดของสปีดในการบันทึกเสียงเอาไว้ด้วย

   อัลบัมน่าฟังที่รวมอยู่ในยุคนี้ด้วยก็เห็นจะเป็น Someday My Prince Will Come (1961) เล่นโดย โคลเทรน (เทเนอร์ แซ็ก), Hank Mobley (แซ็กโซโฟน), เคลลี (เปียโน), แชมเบอร์ส (เบส) และ ค็อบบ์ (กลอง) แนะนำให้ฟังเพลงไตเติลแทร็ก ซึ่งถือว่าเป็นท่อนโซโลที่ดีที่สุดของโคลเทรนท่อนหนึ่งทีเดียว


The Second Great Quintet

   และแล้ว ไมล์ส ก็ได้มาถึงจุดเลี้ยวอันสำคัญอีกครั้งหนึ่งในอาชีพการงานของเขา นั่นคือเมื่อ โคลเทรน ตัดสินใจลาออกจากการเป็นไซด์แมนของวง  แต่ยังดีที่ได้ Wayne Shorter นักเทเนอร์แซ็กหนุ่มไฟแรงเข้ามาแทนที่ แต่ก็ดีได้ไม่นาน เพราะ ชอร์เทอร์ ก็มีพันธกิจอื่นที่ต้องไปทำต่อ  จึงได้มาลงตัวที่ George Coleman เข้ามารั้งตำแหน่งนี้แทน และ โคลแมน แสดงให้เห็นว่าเขาก็สามารถที่บรรเลงแซ็กได้ร้อนแรงไม่แพ้ โคลเทรน เช่นกัน  หลักฐานอยู่ในอัลบัม The Complete Concert 1964 เพลง So What  ไมล์ส เรียกกระแสบวกจากบรรดานักวิจารณ์อย่างล้นหลาม (ลองฟังเขาโซโลในอัลบัม Walkin’) กลายเป็นแชมป์รุ่นเฮฟวีเวตที่ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะมาท้าชิง!!  ทั้งยังกลายเป็นนักทรัมเป็ตมือวางอันดับต้นๆ ที่กล้าเล่นพลิกแพลงกับเครื่องดนตรีของตัวเอง  แล้วเราก็เพิ่งได้ตระหนักว่า ไมล์ส ได้ถูกรายล้อมไปด้วยบรรดาไซด์แมนไฟแรงที่พร้อมจะย่างก้าวอันเร่าร้อนไปด้วยกัน!

หมายเหตุ
เครดิด http://www.thaiavclub.org/forums/index.php?topic=1970.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ธันวาคม 2007 | 09:02:53 PM โดย kongbei » บันทึกการเข้า

Shineon
Global Moderator
Fragile
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 417


chopang_11@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 ธันวาคม 2007 | 06:08:29 PM »

Tony Williams ไซด์แมนวัย 18 ปีที่เข้ามาร่วมวงกับ ไมล์ส ในฐานะมือกลองที่มีลีลาร้อนแรง วิลเลียมส์ มีพลังแห่งวัยหนุ่มอย่างมหาศาล ซึ่งอำนวยต่อลูกวงที่เหลือในการก้าวข้ามไปสู่การเป็น Free Bop ซึ่งไม่มีรูปแบบที่ตายตัวขอของธรรมเนียมนิยม และยังสามารถจะแทรกรูปแบบของสวิงเข้าไปได้อีกในเวลาเดียวกัน  Ron Carter รับหน้าที่เล่นเบส  คาร์เทอร์จบการศึกษามาจากโรงเรียนดนตรี Rochester เป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดในการคีตปฏิภาณอย่างกว้างขวาง  คนถัดมา Herbie Hancock มือเปียโนที่ต่อมาไม่นาน เขาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในหัวหอกคนสำคัญในการรังสฤษฎ์แจ๊ซแนวใหม่  โน้ตเพียงไม่กี่ตัวจากเปียโนของเขา มันช่างงดงามเกินกว่าจะปฏิเสธ (ฟังจากเพลง Seven Steps To Heaven ในคอนเสิร์ตปี 1964 ถ้าคุณอยากพิสูจน์!)

   อัลบัมบันทึกการแสดงสดชิ้นต่อมาของทางวง (ซึ่งก็คือ The Complete Live At The Plugged Nickel 1965 อัลบัมสำคัญสุดยอดชุดหนึ่งที่ควรมีไว้เป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณทางต้นสังกัดที่อุตส่าห์ออกอัลบัม Hilights ออกมาอีกรอบเพื่อเอาใจแฟนเพลงเบี้ยน้อยหอยน้อยด้วย) Wayne Shorter ผู้ซึ่งเข้ามาเป็นมือแซ็กอย่างเป็นทางการ ได้รังสรรค์เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร รวมทั้งทักษะในการเล่นอันเยี่ยมยอดทั้งโซปราโนและเทเนอร์แซ็ก  (ชอร์เทอร์ได้สร้างสมเครดิตในการเล่นของตัวเองมาแล้วในการร่วมวงกับ Maynard Ferguson และ Joe Zawinul รวมไปถึงวงของ Art Blakey ด้วยเช่นกัน) และในตอนนั้น ไมล์ส ก็ได้ตระหนักถึงการเล่นอันเกินจะบรรยายของชอร์เทอร์ (ลองฟังวลีเริ่มต้นของเพลง Milestones จากแผ่นที่ 3 ของอัลบัม The Complete Live At Plugged Nickel 1965 ดูก็จะรู้เลย) ทำให้ ไมล์ส ได้ชื่อว่าเป็นกูรูแห่งดนตรีแจ๊ซอย่างแท้จริง ทั้งด้วยตัวของเขาเองและลูกวงฝีมือจัดจ้านแต่ละคนที่เขาได้ปลุกปั้นสรรหามา
 
   อัลบัม E.S.P. (บันทึกในต้นปี 1965) ทางวงได้ตัดสินใจที่จะเลิกนำเพลงสแตนดาร์ดมาบันทึกเสียง โดยพวกเขาเลือกที่จะแต่งเพลงใหม่ๆ ออกมาบันทึกเสียงมากกว่า  อัลบัมนี้เป็นเหมือนภาคต่อของ Kind Of Blue ที่ขยับขยายขอบเขตของการจินตนาการออกไปอีกด้วยผลงานการประพันธ์ 2 ชิ้นของ ชอร์เทอร์  3 ชิ้นของ คาร์เทอร์  ไมล์ส มีส่วนในการออกเค้าโครงไอเดียด้วย 2 เพลง และอีกหนึ่งจาก แฮนค็อก  E.S.P. ปรากฏโฉมออกมาด้วยการใช้โหมดอันหลากหลายในทางดนตรี  อย่างเพลง Eighty-One เขาและ ชอร์เทอร์ สร้างเสียงที่หลอกหลอนด้วยความคิดสร้างสรรค์และความเข้าขากันของพวกเขา ในการคิดแนวทางทำนอง ประกอบกับลูกเคาะลูกตีของ วิลเลียมส์ และเสียงดีดสายเบสของคาร์เทอร์

   ตุลาคม 1966 วงดนตรี 5 ชิ้นวงนี้ก็กลับเข้าสตูดิโออีกรอบ เพื่อบันทึกเสียงอัลบัม Miles Smiles ชอร์เทอร์มีส่วนร่วมในอัลบัมนี้ถึงครึ่งหนึ่ง  พวกเขาได้ก้าวมาสู่จุดสูงสุดที่พึงจะก้าวขึ้นมาได้ เสียง 5 เสียงจากชาย 5 คน  เล่นสอดประสานกันอย่างลงตัวด้วยจิตวิญญาณของการเป็นนักดนตรี เหมือนกับที่ ไมล์ส บอกไว้ในเพลง Circle ว่า “ดูสิว่าคุณรู้สึกยังไงกับเพลงพวกนี้”
 
   Sorcerer คืออัลบัมต่อมา ชอร์เทอร์โชว์ฝีมือไว้ถึง 4 เพลงด้วยกัน ซึ่งเปรียบเสมือนภาคต่อของอัลบัมที่แล้ว  มันเต็มไปด้วยความขรึม ขลัง จริงจังอย่างสุดโต่ง  แฮนค็อกเล่นเปิดในหลายเพลงด้วยท่วงทำนองที่สละสลวย อันเป็นผลมาจากการเจริญรอยตามเสียงทรัมเป็ตของ ไมล์ส  เมื่อลองฟัง Sorcerer แล้ว ราวกับจ้องมองภาพวาดญี่ปุ่น ที่ลวงตาคุณจากเส้นสายธรรมดาให้กลายเป็นภาพหลากมิติ ที่สามารถดึงความสนใจของคุณได้

   และความสำเร็จก็มาเยือนพวกเขาอย่างสง่างาม ด้วยอัลบัมต่อมา Nefertiti  สิ่งที่เราคาดหวังจากเพลงชื่อเดียวกับอัลบัมก็น่าจะเป็นเพลงเพราะๆ เมโลดีงามๆ สักเพลง แต่เมื่ออ่าน Liner Notes ของ Bob Belden ในแผ่นเวอร์ชัน Reissue ปี 1998 เขาเขียนไว้อย่างเลอเลิศว่า สิ่งที่ออกมาจากงานของ ไมล์ส แผ่นนี้คือการเล่นที่เยี่ยมยุทธ์ และการเล่นที่เยี่ยมยุทธ์นั้น นำมาซึ่งงานประพันธ์!!  ตลอดทั้งอัลบัม โทนี วิลเลียมส์ โชว์ฝีมือการตีกลองอย่างน่าทึ่ง แน่นอน เขาไม่ได้โชว์เดี่ยวแน่ ยังคงมีวลีเด็ดๆ จาก ไมล์ส ในเพลง Fall หรือวลีพลิ้วๆ จาก แฮนค็อก ในเพลงเดียวกัน  โดยมี ไมล์ส และ ชอร์เทอร์ ปูพื้นคลออยู่ข้างหลังตลอด  และ ชอร์เทอร์ ยังปล่อยโซโลเด็ดของอัลบัมในเพลง Madness อีกต่างหาก

   ด้วยความไฟแรงและความสร้างสรรค์ทั้งหลายแหล่อันพึงจะมีในตัวของ ไมล์ส ก่อให้เกิดรูปแบบและทิศทางใหม่ ก็ปรากฏออกมาเป็นอัลบัม Bitches Brew สันปันน้ำของแนวดนตรีที่เรียกว่า “แจ๊ซร็อค”

ก่อนจะเป็น Bitches Brew

   แล้วความเปลี่ยนแปลงก็มาเยือน เมื่อ ไมล์ส คิดริเริ่มที่จะทำงานหินขึ้น เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง จึงได้เกิดอัลบัม In A Silent Way (1969) ขึ้นมา หลังจากที่ในปี 1968 มีอัลบัม Filles De Kilimanjaro และ Miles In The Sky เป็นการปูทางเริ่มต้น  ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของวง 5 ชิ้นวงนี้ของ ไมล์ส  Circle In The Round และ Directions อัลบัมรวมผลงานของเขาที่ออกมาในยุค 70 อันเป็นช่วงพักผ่อนนั้น ก็ได้รวมเอาเพลงที่บันทึกเสียงในช่วงนี้เข้าไป คุณจะได้ฟังเสียงกีตาร์สะกดอารมณ์จาก Joe Beck ในเพลง Circle In The Round ซึ่งบันทึกในช่วงปี 1967 (หลังจากนั้นอีกเดือนครึ่ง George Benson ก็เข้ามาบรรเลงกีตาร์เพลง Paraphenalia ในอัลบัม Miles In The Sky) ประกอบกับอีก 2 หน่อคือ แฮนค็อก และ วิลเลียมส์  ซึ่งกระหน่ำฟังค์และอาร์แอนด์บีในเพลง Stuff เพลงเปิดของอัลบัมนี้ และมีความยาวถึง 16 นาทีทีเดียว!

   ในเดือนมิถุนายน 1968 Filles De Kilimanjaro ก็ออกมาเป็นอัลบัม โดยมี Chick Corea และ Dave Holland มาเล่นแทนที่ แฮนค็อก และ คาร์เทอร์ 2 เพลง (กรุณาตั้งอกตั้งใจฟัง Mademoiselle Mabry เพลงสุดท้ายของอัลบัม ที่เปรียบเหมือนประตูที่พาเอาธารแห่งดนตรีไหลหลากออกมาอย่างไม่บันยะบันยัง  ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1969 ที่บันทึกอัลบัม In A Silent Way John McLaughlin ได้สร้างตำนานมหากพย์แจ๊ซร็อคและฝากฝีมือกีตาร์ของเขาไว้ด้วยพร้อมๆ กัน  ยังไม่พอแค่นั้น ไมล์ส ยังได้สร้าง 3 เสือแห่งเปียโนไฟฟ้าประกอบไปด้วย แฮนค็อก, คอเรีย และ Josef Zawinul อีก ทั้ง 4 คนนี้ก็ได้สร้างตำนานในวงการแจ๊ซร็อคต่อยอดออกไปอีกในยุค 70 ด้วยการสรรค์สร้างวงใหม่ๆ อย่าง The Mahavishnu Orchestra, Headhunters, Return To Forever และ Weather Report ตามลำดับ) และด้วยการทำงานกับ ไมล์ส คนนี้ พวกเขาก็สามารถที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของคนทั้งโลกมาหาตัวเองได้ไม่ยากเลย

ยุคพีคกับงานแอ็บแสตร็ก Bitches Brew และอื่นๆ

   ไม่ว่า ไมล์ส จะบรรเลงอัลบัมใด เจ๋งแค่ไหนมาก่อนก็ตาม แต่เมื่อ Bitches Brew มา…. หลบไปซะ แล้วอัลบัมนี้ก็เป็นอัลบัมเดียวที่ ไมล์ส สามารถพามันปีนป่ายสู่อันดับ Billboard Top 40 ได้ในปี 1970 สถานีดนตรีร็อคก็เล่นเพลงจาก Bitches Brew ได้ไหลลื่นยังกับว่ามันเป็นเพลงร็อคยังไงยังงั้น  ครั้งแรกที่ได้ฟังนั้นเป็นเพลง Miles Runs The Voodoo Down จากสถานีวิทยุเพลงใต้ดินท้องถิ่น และดีเจเล่นเพลงนี้ต่อจากเพลง Machine Gun ของ Jimi Hendrix!! ไมล์ส คงชอบใจมากเลยหากรู้เรื่องการจับคู่เพลงของดีเจคนนี้!!

   Bitches Brew เริ่มต้นด้วย Pharoah’s Dance จากการสนับสนุนของ ซาวีนัล ชวนให้รำลึกถึง In A Silent Way เสริมด้วยเสียงเบสคลาริเน็ตของ Bennie Maupin แล้ว ไมล์ส ก็เริ่มร่ายมนตร์มายาด้วยทรัมเป็ตของเขา ด้วยแนวทำนองที่จะทำให้คุณตกตะลึงพรึงเพริดจนลืมสิ่งรอบข้าง  แล้วยังมีลูกวงคนอื่นๆ มาร่วมสร้างความอะเมซซิงด้วยกัน  และวงวงนี้เองกระมังที่แทบจะกล่าวได้ว่า เป็นที่รวบรวมนักดนตรีสุดยอดฝีมือมากที่สุดเอาไว้ด้วยกันเท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา   ในปี 1998 มีอัลบัมรวมเซสชัน The Complete Bitches Brew Sessions ออกมา ซึ่งได้เก็บรวมรวมเอาแทร็คเล็กแทร็คน้อยที่บันทึกในช่วงนั้นเข้าไว้ด้วยกัน

   เพลงที่สองมีความยาว 27 นาที แสดงให้เห็นถึงทักษะการใช้เสียงสะท้อนในการเป่าทรัมเป็ตของ ไมล์ส ได้อย่างดี  รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่ตามยุคตามสมัย และไม่ล้าในเรื่องเทคโนโลยี  เมื่อเพลงเริ่มบรรเลงไปราว 4 นาที โทนเพลงเริ่มเปลี่ยนไปเป็นฟังกี้ เจือจังหวะบลูส์!! เปิดโอกาสให้ ไมล์ส ได้แสดงการเป่าแตรคู่ชีพด้วยเป็นช่วงยาว  ที่น่าสนใจคือมีบางคนบอกว่า “นี่แหละ ไมล์ส แบบเดิมๆ” แสดงให้เห็นได้ชัดเลยว่า ถ้าหากมีใครสักคนเอาเสียงอิเล็คทรอนิกส์ในอัลบัมนี้ออกไป เขาคนนั้นก็จะได้ท่อนฮุคท่อนฮิตในเพลงของตัวเองอีกเพลง  อย่าง My Funny Valentine เป็นต้น  ทั้งหมดที่อยากจะบอกคือไม่น่าพลาดอัลบัมนี้ด้วยประการทั้งปวง หากคุณรักที่จะฟัง ไมล์ส 

   เมษายน ปี 1997 สังกัดโคลัมเบียปล่อยอัลบัมนี้ออกขายในอเมริกา แผ่นบันทึกการแสดงสดของวงดนตรี 6 ชิ้นของ ไมล์ส  ใช้ชื่ออัลบัมว่า Black Beauty – Miles Davis At Fillmore West  ในอัลบัมนี้มีการสอดแทรกเวอร์ชันออร์เคสตราในเพลง Bitches Brew ด้วย Steve Grossman มาแทนที่ ชอร์เทอร์ ส่วน คอเรีย และ ฮอลแลนด์ ยังคงอยู่เป็นลูกวง โดยมี Jack DeJohnette (กลอง) และ Airto Moreira (เพอร์คัสชันนานาชนิด) มาช่วยเติมเต็มให้กับวงในภาคริธึ่ม  และมันก็ถูกเติมเต็มอีกครั้ง ด้วยการเข้ามาร่วมวงของ Keith Jarrett ในตำแหน่งออร์แกน  จาร์เร็ตต์เคยสะกดคนฟังมาแล้วจากการเป็นสมาชิกวงของ Charles Lloyd Quartet 2-3 ปีก่อนหน้านี้ และเขาก็สามารถเล่นเข้ากับแนวทางวงของ ไมล์ส ได้เป็นอย่างดี    ไมล์ส เล่นอย่างดุเดือดในงานชุดนี้ แต่ก็ถูกเกลาอีกครั้งก่อนที่จะบันทึกออกมาให้ฟังกัน โดยฝีมือของ Teo Macero แต่จริงๆ แล้วอยากจะฟังเวอร์ชันแบบดิบๆ บนเวทีคอนเสิร์ตมากกว่า

   ถัดมา A Tribute To Jack Johnson เพลงประกอบภาพยนตร์ที่ไม่เคยมีใครได้ชมมาก่อน  แต่คงไม่มีใครสนแล้วหละ เพราะเพลงมันน่าสนกว่าเยอะ!! อัลบัมนี้บันทึกกัน 2 เซสชันในช่วงปี 1970 และเป็นงานที่เพลงร็อคที่ ไมล์ส ต้องการทำมาตั้งนานแล้วตั้งแต่เริ่มเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่ไม่สามารถทำได้ จนกระทั่งเขาลดขนาดวงจนเหลือขนาดเล็กเท่าวงร็อควงหนึ่ง  แม็คลอฟลินทำหน้าที่ของเขาได้ดีมาก จนแทบจะพูดได้ว่าเขาเป็นฮีโร่ของอัลบัมก็ว่าได้  ส่วน Billy Cobham มือกลองก็หวดเต็มที่ผ่านปลายไม้  Michael Henderson ก็กระแทกเบสฟังค์ได้เจ๋งไม่หยอก  แฮนค็อกเล่นออร์แกน คนนี้คงไม่ต้องพูดถึงฝีมือเขากันแล้ว  กรอสแมนคนนี้น่าจับตามองในฝีมือการเป่าแซ็ก ขณะเป็นลูกวงให้กับ ไมล์ส 

   8 วันหลังจากบันทึกเสียงเพลง Right Off ในอัลบัม A Tribute To Jack Johnson แม็คลอฟลินก็มาทัวร์คอนเสิร์ตกับวงของ ไมล์ส ที่ Cellar Door ในวอชิงตัน ซึ่งก็ได้ก่อกำเนิดเป็นอัลบัม Live Evil ที่มีเพลงจาก Bitches Brew ที่บันทึกในช่วงหลังๆ มาเล่นด้วย  นับเป็นอัลบัมแสดงสดที่ทรงคุณค่าอีกอัลบัมหนึ่งของ ไมล์ส

Funky Funky Miles

   อัลบัมแจ๊ซร็อค Bitches Brew ได้รับเสียงชื่นชมกันอย่างหนาหูจากทั้งแฟนเพลงและนักวิจารณ์  แต่ก็นั่นแหละ หลังจากนั้นก็ยังคงไม่มีใครเดาออกว่างานชิ้นต่อไปของ ไมล์ส จะออกมาอีท่าไหน  เขาบอกในตอนนั้นว่าอยากจะทำ “ดนตรีคนดำ” และแล้วสิ่งที่เขาทำออกมาก็คือดนตรีแร็ป จังหวะหนัก เคลือบเคล้าด้วยฟังกี ในอัลบัม On The Corner และอัลบัมนี้ก็ยังคงความคลาสสิกเรื่อยมาจนถึงยุค 2000 ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะได้รับคำวิจารณ์ไม่ถึงกับดีมากก็ตาม อัลบัมเปิดตัวด้วยเสียงกีตาร์จังหวะกลางๆ ของ John McLaughlin พร้อมๆ กับ Billy Hart หรือไม่ก็ Jack DeJohnette (หรือทั้งคู่!) กระหน่ำหนังกลองยังกับรัวปืน แล้วก็ยังทะบลาของ Badal Roy ซีตาร์ของ Collin Walcott และเสียงเครื่องเคาะของ Don Alias ส่วน Herbie Hancock กับ Chick Corea ก็อยู่ในวงนั้นด้วยเช่นกัน ในตอนที่อัลบัมนั้นออกวางจำหน่าย นักดนตรีทุกคนที่ร่วมวงไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในปกแผ่นเลย ปล่อยให้ทั้งแฟนเพลงและทั้งนักวิจารณ์งงไปตามๆ กันว่าใครมาร่วมสังฆกรรมกับ ไมล์ส ในงานชุดนี้บ้าง  แต่อย่างน้อยฝีมือกีตาร์ของจอห์น แม็คลอฟลินก็โดดเด่น มีเอกลักษณ์จนไม่น่าที่จะเดาผิดว่าเป็นเขา และแล้วในสัปดาห์ถัดมา นักดนตรีเซ็ตนี้ก็บันทึกเพลง Ife (มีอยู่ในอัลบัมคู่ Big Fun) เพลงที่กินความยาวกว่า 21 นาที อาจจะด้วยความเข้าขากันของบรรดานักดนตรีเหล่านี้ คุณจะได้ยินเสียงหลอกหลอนของทรัมเป็ต – แน่นอน เป่าโดย ไมล์ส เจ้าเก่าควบคู่คละเคล้าไปกับเสียงให้จังหวะของนักดนตรีแบบนานาชาติ อย่าง Al Foster, บิลลี ฮาร์ต, บะดัล รอย และ Mtume

   ไม่นานหลังจากนั้น ไมล์ส ก็ออกตะลอนทัวร์ คราวนี้เป็นทัวร์ใหญ่กว่าที่เคยบันทึกในงาน Live-Evil เสียอีก และออกมาเป็นอัลบัม Miles Davis In Concert บันทึกเสียงในเดือนกันยายน 1972 ที่ฟิลฮาร์มอนิก ฮอล ในเมืองนิวยอร์ก ที่นี่เองที่ ไมล์ส ใช้วาห์วาห์เพื่อให้เกิดเสียงเอฟเฟ็กต์ตลอด เช่นเดียวกับ Reggie Lucas มือกีตาร์ ดังนั้นอัลบัมนี้เลยกลายเป็นผจญภัยในวาห์วาห์ไปเลย เฮนเดอร์สัน กับ บะดัล รอย ยังคงเล่นประจำเครื่องเล่นของตนเองคือเบสกับทะบลา Khalil Barakrishna เล่นซีตาร์ไฟฟ้า อัล ฟอสเตอร์ กับกลอง และ ทูม กับเครื่องเคาะ  Cedric Lawson ช่วยแต่งแต้มเสียงสังเคราะห์ประหลาดๆ กับซินธิไซเซอร์ของเขา และคนสุดท้าย Carlos Garnett กับโซปราโนแซ็กโซโฟน เป็นวงที่มีประสิทธิภาพมากเลยทีเดียว ฟังก์กันเข้าไส้! ถ้าอยากจะฟังอัลบัมแสดงสดที่ได้รสชาติ งานในยุคนี้น่าจะสนองความต้องการได้มากโข  มีอยู่ 2 เพลงเท่านั้นที่บันทึกในปี 1973 คือ Calypso Frelimo และ Red China Blues ซึ่งอยู่ในอัลบัม Get Up With It เพลง He Loved Him Madly กับ Calypso Frelimo เวอร์ชันยาวก็ถือว่าเป็นเพลงสำคัญที่ต้องฟังเหมือนกัน ที่เหลือก็คืออัลบัมสะสม 3 อัลบัม Dark Magus, Agharta และ Pangaea (สองลำดับหลังเป็นงานที่บันทึกเสียงในวันเดียว….ไม่รู้ทำได้ไง….แล้วก็เป็นที่ท้ายๆ ที่ ไมล์ส เล่นเคอนเสิร์ตก่อนที่เขาจะหยุดพักยาว) เป็นอัลบัมที่ควรค่าแก่การฟังด้วยความที่มันอัดแน่นไปด้วยคุณภาพในงานของ ไมล์ส เอง และยังเป็นงานที่เต็มไปด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ในการเป่าทรัมเป็ตนำของเขาอีกด้วย สิ่งที่หายไปคือการทดลองอะไรใหม่ๆ ตามประสา ไมล์ส แต่สิ่งที่ได้มาคือการบรรลุถึงเป้าหมายสุดยอดของอัลบัม On The Corner ที่คุณต้องหามาฟังไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม


ไมล์ส กับชีวิตที่ฟื้นคืน

   หลังจากยุคฟังก์กระจายในอัลบัม Pangaea ยังจะมีอะไรอีกไหมหนอที่ ไมล์ส จะสรรค์สร้าง นอกจากการพักผ่อน? ความเงียบจากตัวเขาเองดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ชัดที่สุด ไมล์ส พักยาวไปหลายปีด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการกรำงานที่ผ่านมา ทั้งไม่แต่งเพลง ไม่บันทึกเสียง และก็ไม่แสดงดนตรีที่ไหนอีก  สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ไมล์ส ไม่พูดไม่ทำอะไรสักอย่างกับใคร ทุกคนก็เลยอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเดาใจเขา นี่มันถึงจุดจบแล้วหรือ?
 
   ป่วยการจะมานั่งเดา ในระหว่างนั้น อัลบัมรวมงานเพลงต่างๆ ของ ไมล์ส ก็ทยอยไหลอกมาเป็นสายน้ำ อย่าง Circle In The Round และ Directions รวมงานที่ไม่เคยออกวางจำหน่าย  ในช่วงนั้นก็ข่าวต่างๆ นานาว่าเขาป่วย บางแหล่งบอกว่าเขาได้รับอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้ข้อเท้าหัก จากนั้นเขาก็เงียบหายไป แล้วก็ต้องมาผ่าตัดตะโพกข้างหนึ่ง แต่เสียงข่าวลือข่าวเล่าก็ต้องจางหายไป เมื่อ ไมล์ส ปรากฏตัวออกมาพร้อมกับอัลบัม The Man With The Horn ในปี 1981 แฟนเพลงต่างพาตกตะลึงกับการกลับมาครั้งนี้ ไม่ใช่ตะลึงแค่ที่เขากลับมาเท่านั้น  แต่งานเพลงสิที่เปลี่ยนไป ความกระตือรือร้น กระหายแบบวัยหนุ่ม อย่างในช่วงกลางยุค 70 มันเหือดหาย แต่สิ่งที่ทดแทนก็คือความสุภาพ สุขุม นุ่มลึก บางทีเหตุผลของการนอกคอกเมื่อวัยหนุ่ม ก็นำมาซึ่งความสุขุมเมื่อก้าวต่อมา

   ระหว่างที่ ไมล์ส เงียบหายไป แน่นอนว่าเทคโนโลยีหรืออะไรต่างๆ นานามันก็ต้องก้าวหน้า พัฒนาขึ้นตามลำดับ ซับซ้อน หรูหรา อลังการมากกว่าเก่า เขาคงรู้สึกเหมือนกับเด็กน้อยในร้านขายขนมยังไงยังงั้น  ยังไงก็ตาม The Man With The Horn ก็เป็นงานที่มีรสชาติชวนชิม มีนักดนตรีลูกหม้อเก่าคนเดียวเท่านั้นที่มาร่วมงานต่อ นั่นคือ อัล ฟอสเตอร์ นอกนั้นมี Barry Finnerty เล่นกีตาร์ Bill Evans (คนละคนกับมือเปียโนเจ้าของอัลบัมอมตะ Waltz For Debby) เป่าโซปราโนแซ็ก ไมล์ส ดูสงบนิ่ง บางทีเขาเป่าเบาบางไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์เดิมของตัวเองได้ดี

   We Want Miles แผ่นคู่แสดงสดในช่วงก่อนหน้านั้นก็ได้ออกมาด้วย และก็ยังตามด้วยอัลบัมที่ดีเยี่ยม มันได้รับรางวัลแกรมมีในปี 1982 ในสาขา Best Jazz Instrumental Performance By Soloist  ต่อมา Star People ก็ออกมาในปี 1983 อิ่มเอิบไปด้วยอิเล็คทรอนิก บลูส์ มี Mike Stern กับ John Scofield มาร่วมเล่นกีตาร์ นี่เป็นทีมเสริมที่ดีที่สุดของ ไมล์ส ในช่วงยุค 80 ทีเดียว นี่เป็นอีกอัลบัมที่สมควรอย่างยิ่งแก่การสะสม

   อีกสองอัลบัมที่ตามมา ปี 1984 กับอัลบัม Decoy และปี 1985 กับ You’re Under Arrest นำเสนอด้านที่นุ่มนวลกว่าของ Star People แม้ว่า ไมล์ส , เอแวนส์, สโกฟิลด์ และ ฟอสเตอร์ ยังคงพอใจที่จะเล่นกัน ก็ยังมี Branford Marsalis มาช่วยใน 3 เพลง คือ Decoy, Code M.D. และ That’s Right แม้ว่าบางคนอาจจะบอกว่า You’re Under Arrest นั่นมันอ่อนหวานเหลือเกิน ทั้งยังมีการนำเพลงร่วมสมัยอย่าง Human Nature และ Time After Time มาถอดความใหม่ สำหรับความคิดคำนึงในช่วงบั้นท้ายชีวิตของเขาแล้ว ใครล่ะจะกล้าบ่น?

   ปลายยุค 80 ไมล์ส ย้ายจากโคลัมเบียที่เคยอยู่มา 30 ปี หันมาซบอกวอร์เนอร์ และออกอัลบัม Aura (บันทึกเสียงในปี 1985 แต่วางขายในปี 1989), Tutu (1986) และ Amandla (1989) 3 สตูดิโออัลบัมสุดท้ายของเขา  งานชุด Aura เป็นอัลบัมที่เอานักดนตรียุโรปอย่าง Palle Mikkelborg มาร่วมเล่น แจมด้วย จอห์น แม็คลอฟลิน งานชุดนี้เป็นอีกชุดหนึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในงานที่ดีของเขา ถึงแม้ว่าฟังครั้งแรกอาจจะไม่ชอบ แต่การฟังครั้งต่อๆ ไปจะมีความหมายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการประพันธ์ของมิกเกลบอร์ก แล้วคุณจะหลงรักเพชรเม็ดนี้ของ ไมล์ส อีกทั้งมันยังได้รับรางวัลแกรมมีสาขา Best Jazz Instrumental Performance By A Soloist On A Jazz Recording ส่วน Tutu และ Amandla (โดยเฉพาะ Tutu) ได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากนักดนตรีหนุ่มไฟแรงอย่าง Marcus Miller งาน Tutu เป็นการเรียงลำดับทางอารมณ์ เสียงออเคสตราสังเคราะห์ที่สรรเสริญภาวะครุ่นคำนึงในภาวะปัจจุบันของ ไมล์ส  ถึงแม้ว่าความบ้าบิ่นในอดีตจะจางหาย แต่ยังไงก็ตามสัญลักษณ์เสียงทรัมเป็ตที่หลอกหลอนนั้นยังคงอยู่ ชุดนี้ได้รับรางวัลแกรมมี สาขา Best Jazz Instrumental Performace งาน Amandla เป็นงานที่นำเสนอความหลากหลายของดนตรีและการโซโลเดี่ยวของ Kenny Garrett กับอัลโตเเซ็กของเขา (ยังมีอัลบัมที่เป็นงานช่วงท้ายๆ ของ ไมล์ส อยู่อย่าง Siesta เล่นกับมิลเลอร์ Doo-Bop งานที่บางครั้งก็น่าสนใจ บางทีก็อยากจะโยนทิ้ง มันผสมผสานดนตรีฮิปฮอปลงไปด้วย ชุดนี้เสร็จหลังจากที่ ไมล์ส ได้เสียชีวิตลงไปแล้ว แต่ยังไงก็ตาม อัลบัมชุดนี้ก็ได้รับรางวัลแกรมมี สาขา Best Rhythm & Blues Instrumental Performance และเพลง Fantasy ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี สาขา Best Jazz Instrumental Solo)

บทสุดท้ายของ ไมล์ส เดวิส

   งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา ชายผู้สิ้นสุดอายุขัยกับดนตรีที่ไม่มีวันตาย ความตายของ ไมล์ส ยังผลให้ชาวโลกตกตะลึงเมื่อโรคปอดบวม ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และโรคลมมาคร่าชีวิตของเขาไป

   งานอย่างเป็นทางการชิ้นสุดท้ายที่แนะนำให้ฟังคือ Live Around The World งานรวมบันทึกการแสดงสดก่อนกน้าที่ ไมล์ส จะเสียชีวิต แล้วก็ยังวงแบ็คอัพที่เยี่ยมยอด ไซด์แมนดีๆ อย่าง เคนนี การ์เร็ตต์, โฟลีย์ และ Ricky Wellman เพลงส่วนมากมาจากอัลบัมหลังๆ ของ ไมล์ส โดยมีเพลง In A Silent Way เปิดอัลบัม เพลงอื่นๆ ก็ค่อนข้างสดทีเดียว การมีอิทธิพลซึ่งกันและกันของกลุ่มนักดนตรี บ่งบอกให้เห็นว่าพวกเขาสนุกกับการเล่นดนตรีกับ ไมล์ส ขนาดไหน แม้ว่าการเล่นบนเวทีจะบิดผันความเป็นต้นฉบับที่แท้จริงที่คุ้นเคยออกไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพลง Humnan Nature ความยาวเกือบ 13 นาทีก็เป็นเพลงที่น่าชื่นชอบอีกเพลง ไมล์ส เป่าทรัมเป็ตโซโลได้ยาวเหยียด แล้วยังมีช่วงดวลกับการ์เร็ตต์อีกด้วย หลังจบเพลงนี้เขาเรียกการ์เร็ตต์ออกมารับเสียงปรบมือสรรเสริญของผู้ชม

   อัลบัม Panthalassa ออกมาเมื่อปี 1998 กับการตีความบทเพลงของ ไมล์ส ใหม่โดย Bill Laswell ตั้งแต่เพลงในปี 1969-1974 (แล้วในปี 1999 ลาสเวลก็ทำออกมาอีกอัลบัม ร่วมกับ DJ Cam, King Britt, Doc Scott, Philip Charles และ Jamie Myerson) ฟังเสียงกีตารหลอนๆ ของจอห์น แม็คลอฟลินในเพลง In A Silent Way แล้ว ต้องซูฮก แต่อีกเพลงที่ไม่น้อยหน้าคือ He Loved Him Madly เพลงเอามาจาก Get Up With It ที่เพิ่งทำออกมาใหม่ (ณ ตอนนั้น) มีพัฒนาการออกมาจากเพลงต้นฉบับอย่างโดดเด่น เหมือนอยู่ในฝัน สงบนิ่ง แล้วเสียงทรัมเป็ตของ ไมล์ส ก็ฉีกเข้ามาในห้วงคำนึง ทุกโน้ตสมบูรณ์แบบ ลื่นไหลอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

   อัลบัมสุดท้ายที่อยากจะแนะนำ Tribute To Miles ออกในปี 1992 เป็นการกลับมารวมตัวกันของซูเปอร์สตาร์ที่เคยร่วมงานกันในยุค 60 อย่าง แฮนค็อก, ชอร์เตอร์, คาร์เตอร์ และ วิลเลียมส์ ร่วมด้วย Wallace Roney เป่าทรัมเป็ต เพียงแค่ชื่อของคนเหล่านี้ แน่ใจได้เลยว่าคุณจะไม่ผิดหวังในตัวงานแน่นอน

   อย่างไรก็ตาม ไมล์ส เดวิส ก็จะยังคงอยู่ในใจของคนฟังเพลงแจ๊ซในทุกยุคทุกสมัย เชื่อได้เลยว่า คนเพิ่งเริ่มหัดฟังแจ๊ซ ยังไงก็ต้องเริ่มด้วยงานของ ไมล์ส ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ตาม เหมือนที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรีเคยกล่าวเอาไว้ว่า

   “ชีวิตคนนั้นสั้น แต่งานศิลปะนั้นยืนยาว” ไม่ผิดกับ ไมล์ส และงานดนตรีที่ไม่มีวันตายของเขา ฉันใดก็ฉันนั้น.

หมายเหตุ
เครดิด http://www.thaiavclub.org/forums/index.php?topic=1970.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ธันวาคม 2007 | 06:16:46 PM โดย Shineon » บันทึกการเข้า

kongbei
Administrator
The Snow Goose
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 6534


ขงปี่

pink_floyd@thaiprog.net
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 09 ธันวาคม 2007 | 06:33:32 PM »

ไปเจอมาใน Thai-AV เป็นกระทู้ที่ดีมากครับ สมควรเก็บไว้
บันทึกการเข้า
Floydian_Oak
Global Moderator
Fragile
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 385


Webmaster


ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: 09 ธันวาคม 2007 | 06:34:33 PM »

เพลงของเขาดีจริงๆครับ ฟังแล้วลืมร๊อคไปเลย
บันทึกการเข้า

ขอบคุณสมาชิกและผู้เยี่ยมชมเว็บทุกท่าน ที่ให้การตอบรับเว็บไซต์ของเราด้วยดีเสมอมาครับ
The child is grown, the dream is gone.
kongbei
Administrator
The Snow Goose
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 6534


ขงปี่

pink_floyd@thaiprog.net
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 09 ธันวาคม 2007 | 06:36:16 PM »

เพลงของเขาดีจริงๆครับ ฟังแล้วลืมร๊อคไปเลย

ลืม กิ๊ฟ ด้วยเปล่า
บันทึกการเข้า
Floydian_Oak
Global Moderator
Fragile
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 385


Webmaster


ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: 09 ธันวาคม 2007 | 06:38:09 PM »

เพลงของเขาดีจริงๆครับ ฟังแล้วลืมร๊อคไปเลย

ลืม กิ๊ฟ ด้วยเปล่า
ลืมครับ อายุยังน้อย ดนตรีต้องมาก่อน ฮ่าๆ
บันทึกการเข้า

ขอบคุณสมาชิกและผู้เยี่ยมชมเว็บทุกท่าน ที่ให้การตอบรับเว็บไซต์ของเราด้วยดีเสมอมาครับ
The child is grown, the dream is gone.
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป:  

ThaiProg.net Ver 4.0 by tisanai,Shineon,kongbei
Top 10 Best Sellers in Kindle eBooks Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers In Automotive Parts And Accessories Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers in Tools and Home Improvement Under $10, Reviewer 2016
Top 10 Best Sellers in Clothing for 2017 Top 10 Best Sellers in Clothing Best Sellers in Clothing
Top 10 Best Sellers in Books reviewer 2017 Top 10 Best Sellers in Books Best Sellers in Books
Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Reviewer 2017 Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Best Sellers In Grocery