Thai Progressive Rock Community

ThaiProg => Treasure Boxes => ข้อความที่เริ่มโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 17 กรกฎาคม 2015 | 09:18:00 AM



หัวข้อ: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 17 กรกฎาคม 2015 | 09:18:00 AM
รู้สึกประทับใจหรือมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับอัลบั้มแต่ละชุดที่มีอยู่ในคอลเล็คชั่นของท่าน ขออนุญาตเปิดเวทีนี้ไว้ให้ท่านได้คอมเมนต์ จะสั้นก็ได้ จะยาวก็ดี ถ้ามีรูปมาลงด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ เชิญครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 17 กรกฎาคม 2015 | 09:32:54 AM
ขออนุญาตนำคอมเมนต์ของคุณ eric camen มาลงให้ดูเป็นตัวอย่างครับ

1.Darryl Way's Wolf - Night Music ผมมีความสงสัยมานานแล้วว่า หลายๆท่านชอบชุดนี้น้อยกว่า 2 ชุดแรก เมื่อได้ฟังแล้วผมพบว่าคำตอบน่าจะอยู่ที่ เพลงท้ายๆในหน้าที่ 2 ครับ

2.Rare Bird - As Your Mind Files By - ผมละชอบดนตรีแนวนี้จริงๆ ครับ โดยเฉพาะเสียงออร์แกนที่โดดเด่นมากๆ ครับ

3.Ekseption - Beggar Julia's Time Trip - สำหรับชุดนี้ผมซื้อไว้ได้เกือบ 2 ปี แต่พึ่งได้ฟังครั้งนี้ ทั้งนี้ ผมประทับใจดนตรีที่มีเป็นคำบรรยายประกอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ผมจะชอบในส่วนนี้ แต่ในส่วนที่นำดนตรีคลาสสิคมาบรรเลงนั้น ผมไม่ชอบเอาเสียเลยครับ

4.Barclay James Harvest - Live Tapes - ผมมีความรู้สึกว่าหลายๆ เพลงของ BJH เมื่อมาเล่นสดจะมีพลัง ชุดนี้คงไม่ต้องกล่าวอะไรกันมากครับ

5.David Sylvian - Brilliant Trees - มีหลายๆท่านทั้งชอบทั้งหลงใหลเสียงและสไตล์การร้องเพลงของเขา และก็คงมีอีกหลายๆ ท่านที่ไม่ประทับเลย สำหรับผมแล้วมีทั้ง 2 อย่างผสมปนกันไปครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 31 กรกฎาคม 2015 | 01:55:11 PM
Anyone's Daughter - Adonis (1979)

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/22/cover_37132432014_r.jpg)

Adonis ผลงานชุดแรกของ Anyone's Daughter เห็นนักฟังและนักวิพากษ์ที่เมืองนอกจำนวนไม่น้อยชื่นชมอัลบั้มชุดนี้ เช่น ในเว็บ progarchives บางคนให้สี่ดาว บางคนก็ให้ห้าดาว แต่เจ้าของเว็บ vintageprog ไม่ชอบอัลบั้มชุดนี้ เพราะเห็นว่าเป็น symphonic prog ที่น่าเบื่อและเย็นชืด โดยเฉพาะ title track ที่มีความยาว 24 นาทีกว่า ส่วนผมค่อนข้างจะเห็นพ้องกับ vintageprog เพราะฟังผลงานชุดนี้มาหลายครั้งแล้วและพยายามทำใจให้ชอบและหลงใหลได้ปลื้มกับมัน แต่ก็ขอสารภาพว่า "รักได้ไม่สนิทใจ" โดยส่วนตัวเห็นว่าผลงานชุดนี้อยู่ในระดับเพียงแค่พอฟังได้ ไม่ถึงกับจืดชืดเย็นชา แต่อืดอาดและลากยาวไปหน่อย โดยเฉพาะเพลง title track ผมฟังแผ่นเสียงถึงตอนท้ายเพลงแล้วรู้สึกว่าดูเหมือนมันจะจบ (เพราะเราอยากจะให้มันจบ) แต่ก็ไม่จบเสียที ยังมีโผล่ขึ้นมาอีก และสำเนียงร้องเป็นภาษาอังกฤษของมือเบสส์และนักร้องนำก็ออกเบลอร์ ๆ ไม่ชัดเจน ถ้าไม่มีเนื้อร้องพิมพ์ไว้หลังปกก็เสร็จเลย โดยส่วนตัวผมให้แค่ 3 จาก 5 ดาวครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 03 สิงหาคม 2015 | 01:14:39 PM
Omega - Time Robber (1976)

ภาพจาก www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/708/cover_185113332007.jpg)

Omega สุดยอดวงพร็อกที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศฮังการี ก่อตั้งกันมาตั้งแต่ปลายยุค 60's มีผลงานมากมายเอกอุ จนถึงยุคปัจจุบันก็ยังมีผลงานออกมาอยู่เรื่อย ๆ แต่ที่เป็น prog ชัดเจนมีอยู่เพียงไม่กี่ชุดที่ออกในยุค 70's อัลบั้ม Time Robber (1976) ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ผลงานชุดนี้มีความยาวรวมเพียง 35 นาทีกว่า ๆ เพลงในอัลบั้มส่วนใหญ่เป็นแนวฮาร์ดร็อคและจะมีบางเพลงที่มีเสียงร้องออกไปในแนวไซคีเดลิกคล้าย พิงค์ ฟลอยด์ ยุคต้น เช่น เพลง Don't Keep Me Waitin' ซึ่งถือเป็นเพลงเด่นเพลงหนึ่งในอัลบั้ม โดยความเห็นส่วนตัว House of Cards I - Time Robber - House of Cards II เพลงเปิดอัลบั้มซึ่งมีความยาวเกือบ 13 นาที แค่เพลงนี้เพลงเดียวก็คุ้มที่จะมีอัลบั้มชุดนี้ไว้ในครอบครองแล้ว เพราะเป็นเพลงที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกสง่างาม ดนตรีเข้มข้นและทรงพลัง เสียง moog riff ประทับจิต เป็นอัลบั้ม progressive rock ชุดหนึ่งที่มีคุณภาพการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม เปี่ยมไปด้วยพลกำลังและไดนามิค โดยเฉพาะเสียงกลองนั้นหนักแน่นและทรงพลัง แผ่นเสียงมือสองโดยสังกัด Bacillus/Bellaphon ยังพอมีให้หาได้ในราคาไม่แพงนัก ขอแนะนำครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 07 สิงหาคม 2015 | 01:04:34 PM
Jonathan - Jonathan (1978)

ภาพจาก www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_band/2112.jpg)

Jonathan วงดูโอ electronic progressive rock ปลายยุค 70's ประกอบด้วยนักดนตรีชาวเยอรมันจำนวนสองคน คนหนึ่งเล่นกลองและเพอร์คัสชั่น ส่วนอีกคนหนึ่งเล่นคีย์บอร์ด ออกผลงานชื่อเดียวกับวงเมื่อปี 1978 เป็นเพลงบรรเลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ทั้งอัลบั้มซึ่งใช้เครื่องดนตรีจำพวกคีย์บอร์ดและซินธ์ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซินธ์รุ่นใหม่หรือแบบดิจิตอล) ตลอดจนกลองและเพอร์คัสชั่น สไตล์ดนตรีในชุดนี้เอนเอียงไปในยุค 80's บางเพลงมีลักษณะเป็นฟิวชั่นแจ๊สส์ที่ให้ความคึกคักกระฉับกระเฉง โดยรวมแล้วเป็นผลงานที่มีโทนดนตรีสดใสและมีสีสัน พอฟังได้เพลิน ๆ แต่ไม่ถึงกับทำให้ติดอกติดใจเป็นพิเศษครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 17 สิงหาคม 2015 | 01:41:01 PM
Amenophis - Amenophis (1983)

ภาพจาก www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/15/cover_1156131492007.jpg)

ผลงานแนว symphonic prog ชุดแรกของ Amenophis วง progressive rock เยอรมัน ซึ่งออกเผยแพร่ในยุคมืดแห่งดนตรี prog (ตั้งแต่ยุค 80's เป็นต้นมา) ผมมีแผ่นเสียงชุดนี้อยู่ในมือ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นแผ่นปั๊มแรกหรือรุ่นหลัง ปกแผ่นเสียงอ่อนยวบไม่แข็งแรง เหมือนไม่ใช่งานฝีมือระดับมืออาชีพ อ่านบทวิจารณ์ของเมืองนอก ผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันชื่นชมผลงานชุดนี้ (เหมือนในกรณีผลงานชุด Adonis ของ Anyone's Daughter) แต่ยกเว้นผม เพราะผมรู้สึกกับผลงานของ Amenophis ชุดนี้เหมือนที่รู้สึกต่อผลงานของ Anyone's Daughter ดนตรีในอัลบั้ม Amenophis เป็น symphonic progressive ในแบบที่ผมไม่ค่อยชอบนัก เพราะโทนดนตรีโดยรวมออกไปในทางเยือกเย็นเกือบจะแห้งแล้งไปเสียด้วยซ้ำ บันทึกเสียงมาดีแต่เหตุไฉนฟังดูแล้วมิติดนตรีค่อนข้างแบน ภาคคีย์บอร์ดผมได้ยินแต่เสียงเปียโนเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นก็น่าจะเป็นจำพวกสตริงซินธ์ (สงสัยจริง ๆ ว่าเหตุใดหนอพวกวงเยอรมันจึงชอบใช้สตริงซินธ์กันนัก) บางคนว่าวงนี้เล่นคล้าย Camel ผมก็ว่าจริงในแง่คล้ายผลงานห่วย ๆ ของ Camel ในยุค 80's เอาไปสามดาวก็พอครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 20 มกราคม 2016 | 11:54:05 AM
Epidaurus - Earthly Paradise (1977)

(http://i321.photobucket.com/albums/nn367/paiboonp/My%20LP%20Collection/DSC00962.jpg)

ไม่อาจหาญพอที่จะบอกว่าผลงานชุด Earthly Paradise ของ Epidaurus วง symphonic prog เยอรมัน ซึ่งออกเมื่อปี 1977 นั้น เป็นผลงาน progressive rock ในแบบ symphonic ที่ "ดีที่สุด" แต่เอาเป็นว่าผลงานชุดนี้ได้ทำให้ยุคทองแห่ง progressive rock (ที่กำลังสั่นคลอนใกล้จะล่มสลายเพราะดนตรี new wave) ณ ห้วงเวลานั้น "มีความหมายมากที่สุด" ก็แล้วกัน คนฟังทางเมืองนอกเขาให้คำนิยมแก่อัลบั้มชุดนี้เพียงสั้น ๆ ว่า "symphonic prog at its best" แต่จะ best แค่ไหน คนฟังเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน โดยส่วนตัว ผมให้ค่าผลงานชุดนี้อยู่ในระดับเดียวกันกับ Ocean ซึ่งเป็นมาสเตอร์พีซของ Eloy และออกจำหน่ายในปีเดียวกัน วง Epidaurus มีมือคีย์บอร์ดสองคน และมีนักร้องนำเป็นผู้หญิง ซึ่งมีลีลาการร้องในลักษณะคล้ายโอเปร่าและผมมิอาจจับความหมายของเนื้อร้องได้เลยว่าเธอกำลังร้องหรือรำพันอะไรอยู่ แต่โชคดีที่ในอัลบั้มจำนวนห้าเพลง เธอร้องเพียงสองเพลงแรกเท่านั้น ส่วนอีกสามเพลงที่เหลือเป็นเพลงบรรเลงในแนว instrumental มีบางคนบอกว่าบางช่วงในอัลบั้มชุดนี้คล้าย Eloy ในยุค 80's แต่ผมเห็นตรงข้าม เนื่องจากอัลบั้มของ Eloy ที่ออกตั้งแต่ปี 1980 เช่น Colours, Planets และ Time To Turn นั้น ล้วนออกหลัง Earthly Paradise ทั้งสิ้น (ขอให้ลองฟัง Mitternachtstraum ซึ่งเป็นเพลงปิดท้ายอัลบั้มชุดนี้ดู) เมื่อหักคะแนนเสียงนักร้องหญิงของวงนี้แล้ว (ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่ค่อยประทับใจนัก) ผมให้คะแนนผลงานชุดนี้สี่ดาวจากห้าดาวเต็มครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 07 มีนาคม 2016 | 10:56:39 AM
Omega - Time Robber (original LP) แนะนำไปแล้วในกระทู้ก่อน

(http://i321.photobucket.com/albums/nn367/paiboonp/omega_time_robber_zpsbvzvtgrg.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 13 กรกฎาคม 2016 | 05:20:02 PM
Ramses วงร็อคจากเมืองฮันโนเวอร์ เยอรมนี เก็บเกี่ยวองค์ประกอบดนตรีจากวงร็อคอื่นที่โด่งดังในยุคนั้น เช่น Jane, Eloy, Uriah Heep แล้วเขย่าส่วนผสมออกมาเป็นผลงานชุดแรก La Leyla (1975) ซึ่งบรรจุเพลงอยู่ทั้งสิ้นหกเพลง ดนตรีเล่นได้หนักแน่นดี มีอยู่หลายเพลงที่กระเดียดไปทางฮาร์ดร็อค วงนี้มีนักร้องสองคน คนหนึ่งร้องนำอย่างเดียว ส่วนอีกคนหนึ่งทั้งร้องและเล่นคีย์บอร์ดด้วย เสียงร้องในบางเพลงฟังแล้วเหมือนเสียงผู้หญิง แต่เมื่อพลิกดูเครดิตนักดนตรีกลับไม่พบชื่อนักร้องที่เป็นผู้หญิงหรือแขกรับเชิญเลย อัลบั้มชุดนี้โปรดิวซ์โดย Klaus Hess (สมาชิกของ Jane) และ Conny Plank และเอ็นจิเนียร์โดย Conny Plank (R.I.P.) ซึ่งรับประกันว่ามีคุณภาพเสียงยอดเยี่ยมและมีอิทธิพลที่ชวนให้นึกถึงดนตรี krautrock ในยุคนั้นอย่างวง Jane ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น แผ่นเสียงที่ผมมีอยู่เป็นแผ่น original ซึ่งออกโดยตรา Sky เยอรมนี รหัสหมายเลข Sky 002 แต่ยังมีแผ่นเวอร์ชั่นที่ออกในอเมริกาโดย Annuit Coeptis ด้วยเช่นกัน แสดงว่าในยุคนั้นคงมีคนอเมริกันฟังผลงานของ Ramses อยู่บ้างครับ

เครดิตภาพ www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/1050/cover_3161926122008.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: lunar ที่ 17 กรกฎาคม 2016 | 06:40:15 PM
มาตอบกระทู้ครับ นานเเล้วไม่ได้เข้า มา เพียงอยากมาบอกว่า รีวิวดีมาครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 20 กรกฎาคม 2016 | 11:29:03 AM
มาตอบกระทู้ครับ นานเเล้วไม่ได้เข้า มา เพียงอยากมาบอกว่า รีวิวดีมาครับ

>>> ดีใจที่ได้เห็นสมาชิกอย่างคุณ lunar มาร่วมแจม แม้จะนาน ๆ ทีก็ยังรู้สึกยินดีครับ :)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 มิถุนายน 2017 | 01:23:27 PM
เรวัต พุทธินันทน์ และวงคีตกวี - เรามาร้องเพลงกัน (2525)

ขอยืมภาพปกเทปมาจาก www.oknation.net

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/261/3261/images/kitakawee1.jpg)

ปี 2530 ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งอยู่ปี 4 เขาเรียนดนตรี (เปียโน) อยู่ที่โรงเรียนดนตรีศศิลิยะ (ซึ่งมีอาจารย์ดนู ฮันตระกูล เป็นผู้อำนวยการ) เห็นผมบ้าฟัง progressive rock จึงเอาเทปคาสเสทอัลบั้มชุด "เรามาร้องเพลงกัน" โดยเรวัต พุทธินันทน์ และวงคีตกวี มาให้ผมลองฟังดู ผมก็ฟังอยู่หลายเที่ยวแบบค่อย ๆ ซึมซาบ เป็นอัลบั้มเพลงไทยที่คนฟังในยุคนั้นอาจเรียกว่าเป็นแนวทดลอง (experimental) หรือบางคนที่ฟัง progressive ก็อาจเรียกว่าเป็นแนว progressive ก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่ที่แน่ ๆ คือ คนดนตรีกลุ่มนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีจากวง Butterfly ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับโรงเรียนดนตรีศศิลิยะ) มีหัวการทำเพลงที่ "ก้าวหน้า" และ "มาก่อนเวลา" และอาจเรียกได้ว่าถึงขั้น "ผิดเวลา" ก็ได้ เพราะยอดขายผลงานชุดนี้ ทั้งเทปคาสเสทและแผ่นเสียง ไม่ดีเลย รุ่นพี่คนที่ให้ผมยืมเทปเล่าว่า (ตอนนั้น) เทปและแผ่นเสียงอัลบั้มชุดนี้เหลือสต็อกค้างอยู่ที่โรงเรียนฯบานตะไท เพราะขายไม่ค่อยออก (แต่ปัจจุบัน มีคนถามหากันมากมาย เขาว่าราคาซื้อขายแผ่นเสียงชุดนี้ในตลาดมือสองว่ากันเป็นหลักหมื่นบาท) ผมคืนเทปม้วนนั้นให้รุ่นพี่ไปและไปหาซื้อเทปมาฟังเป็นของตนเองจากร้านโดเรมี สยามสแควร์ ในยุคนั้น ในความเห็นของผม ดนตรียอดเยี่ยมทั้งในแง่เนื้อร้องและการเล่นและเรียบเรียงดนตรี แต่โปรดักชั่น "บอบบาง" เหมือนอย่างที่ฝรั่งเขาว่า thin production รายละเอียดเกี่ยวกับอัลบั้ม (เนื้อร้อง เครดิตคนทำเพลง ฯลฯ) แทบไม่มีให้อ่านเลย เกือบจะเหมือนเทป Peacock ยังไงยังงั้น รู้จากปากคำบอกเล่าของรุ่นพี่ของผมว่า นอกจากคุณเต๋อ (RIP) ซึ่งเป็นนักร้องนำแล้ว วงคีตกวีก็ประกอบด้วยอาจารย์ดนู ฮันตระกูล, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ (RIP), อัสนี โชติกุล, ธนวัฒ (อนุวัฒน์) สืบสุวรรณ, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, จิรพรรณ อังศวานนท์ เป็นต้น คุณภาพการบันทึกเสียงเหมือนมือสมัครเล่น ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมีงบประมาณในการทำไม่มากนักก็ได้ เพลงในชุดนี้ไม่ใช่ในแบบฉบับ progressive ทั่วไปที่เราคุ้น ๆ กันอย่างของ Yes, Genesis, Pink Floyd, ELP แต่มันเป็นเหมือนหม้อต้มจับฉ่ายที่รวมเพลงหลากหลายแนวไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวโฟล์คร็อค พ็อพ ไซคีเดลิก เฮฟวี่เมทัล นิวเอจ เป็นต้น เนื้อหาบทเพลงลึกซึ้ง อิงหลักปรัชญาและศาสนา บางครั้งอาจต้องอาศัยการตีความ ซึ่งก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับคอ progressive rock น่าเสียดายที่ผลงานชุดนี้มาก่อนเวลามากเกินไป แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นผลงานที่ไร้ซึ่งกาลเวลา (timeless) อย่างแน่นอน แผ่นเสียงใช้แล้วในท้องตลาด ถ้าไม่มีเงินเป็นหลักหมื่นก็อย่าไปพูดถึง บางครั้งถึงแม้มีเงินก็ใช่ว่าจะหาซื้อมันได้ เทปคาสเสทที่ผมเคยมีก็หายไปไหนไม่รู้นานแล้ว ดีใจมากที่ได้อัลบั้มชุดนี้กลับมาอีกครั้งใน Collection Box Set ชุด Alive ของคุณเรวัต พุทธินันทน์ ซึ่งมีคุณภาพเสียงดีกว่าที่เคยได้ยินในเทปคาสเสทครับ

เครดิตภาพ www.thaiticketmajor.com

(http://www.thaiticketmajor.com/shopping/images/rewat-boxset/rewat-1.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 15 ตุลาคม 2018 | 04:19:24 PM
Faithful Breath วง progressive rock สัญชาติเยอรมัน ซึ่งออกผลงานมาได้สองชุดเมื่อปี 1973 และ 1978 (แต่ผลงานชุดนี้ได้ออกวางจำหน่ายจริงเมื่อปี 1980) ก่อนจะหันเหไปเป็นวงเฮฟวี่เมทัลเต็มตัวในยุค 1980's (ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้วงและศิลปินดี ๆ ต้องเสียผู้เสียคนหรือ "เป๋" มานักต่อนักแล้ว) ผลงานชุดแรกชื่อ Fading Beauty ออกเมื่อปี 1973 ผมไม่มีแผ่นเสียง original (ซึ่งคาดว่าน่าจะแพงพอสมควร) แต่มีแผ่นญี่ปุ่น (ซึ่งตัวแผ่นไวนิลทำในเยอรมนี และมีโอบิ) แผ่นรีอิชชู่ซึ่งออกโดย Amber Soundroom และ Garden of Delights สรุปคือแผ่นทั้ง 3 รุ่นนี้เป็นแผ่นรีอิชชู่ทั้งหมด ที่ซื้อมาฟังก็เพราะไม่ได้หลงใหลอะไรวงนี้หรอกครับ เพียงแต่เห็นหน้าปกแล้วชอบ จึงซื้อ ดนตรีก็... ผมว่าเป็นความทะเยอทะยานของวงนี้นะครับที่จะทำดนตรียาว ๆ แบบเพลง suite หรือมหากาพย์ แต่เมื่อเทียบกับฝีมือ ความสามารถทางดนตรีและผลลัพธ์ที่ออกมาแล้ว ยังไม่ถึงขั้นผลงาน progressive rock ที่ดี เพราะดนตรีฟังแล้วออกอืด ๆ เนิบ ๆ เฉื่อย ๆ ไม่ค่อยมีความซับซ้อนเท่าที่ผลงาน progressive rock ที่ดีชุดหนึ่งจะพึงเป็น แม้จะอุดมไปด้วยเสียงคีย์บอร์ด เช่น ออร์แกนและเมลโลทรอน ก็ตาม เมโลดี้ก็ไม่ชวนให้ติดหู เสียงร้องนำหรือก็... ไม่รู้สิครับ... ผมว่าเป็นเสียงร้องที่ไม่เพราะ (ภาษาอังกฤษสำเนียงเยอรมัน, แต่อย่าไปว่าเขาเลย ถ้าเราร้องเองบ้าง เขาก็คงว่าเราร้องภาษาอังกฤษสำเนียงไทยล่ะครับ 555) ผลงานชุดนี้นาน ๆ หยิบมาฟังทีละก็พอได้ ฟังได้พอเพลิน แต่แทบไม่มีโมเมนต์ที่เร้าใจ ผลงานชุดที่สองของพวกเขาน่าจะดีกว่า แต่ผมยังฟังไม่ละเอียด เอาไว้ถ้าทำการบ้านดีแล้วค่อยมาเม้นต์ให้ฟัง (อ่าน) ครับ

เครดิตภาพ www.vintageprog.com

(http://www.vintageprog.com/faithful.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 18 ตุลาคม 2018 | 02:16:23 PM
Tangerine Dream บอกลาทศวรรษ 1970's ด้วยผลงานชุด Force Majeure (1979) และก้าวย่างเข้าสู่ทศวรรษ 1980's พร้อมกับการมาของโยฮันส์ ชเมิลลิ่ง (Johannes Schmoelling) ซึ่งประเดิมงานแรกกับวงโดยขึ้นเวทีแสดงสดที่ Palast Der Republik (Palace of the Republic อาคารที่ตั้งของรัฐสภาเยอรมนีตะวันออก ต่อมาได้ถูกรื้อถอน) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1980 โดยเล่นเพลง Quichotte Part 1 & Part 2 ซึ่งต่อมาได้ถูกบันทึกเป็นอัลบั้มแสดงสดชื่อ Quichotte โดยตราแผ่นเสียง Amiga และชื่อ Pergamon โดยตราแผ่นเสียง Virgin อัลบั้มชุดนี้เป็นผลงานบันทึกการแสดงสดลำดับที่สามของ Tangerine Dream ถัดจากชุด Ricochet และ Encore (double LP) นอกจากการมาเยือนของสมาชิกใหม่แล้ว ในผลงานชุด Quichotte หรือ Pergamon นี้ TD ยังใช้คีย์บอร์ดและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ประเภท digital synthesizers and sequencers เป็นส่วนใหญ่ และเน้นการเล่นในแบบ jamming และ improvisation ระหว่างสมาชิกทั้งสามคนบนเวที และทำออกมาได้ดีมาก Quichotte Part 1 ขึ้นต้นด้วยเสียงเปียโนที่มีท่วงทำนองไพเราะ สวยสดงดงาม กระจ่าง สว่างสดใส และประเทืองอารมณ์ โดยฝีมือของ Johannes Schmoelling โดยมี theme และเมโลดี้ที่จะไปปรากฏอยู่ในผลงานชุด Tangram และ Wavelength (อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์) ในเวลาต่อมา และโดยความเห็นส่วนตัว ไม่มีอินโทรท่อนใดในอัลบั้มอื่นไม่ว่าชุดใดของ TD ที่จะไพเราะและสวยงามเท่าช่วงขึ้นต้นของ Quichotte Part 1 ในผลงานชุดนี้อีกแล้ว และใน Quichotte Part 2 นับแต่นาทีที่ 6-8 เป็นต้นไป เราจะได้ยิน Edgar Froese เล่นลีดกีตาร์ไฟฟ้าที่ถูกปรับแต่งเสียงให้มีลักษณะผิดเพี้ยน (distorted) กราดเกรี้ยว แต่ทว่าฟังดูเท่และเก๋ไก๋อยู่ในที ค่อย ๆ สร้างอารมณ์คนฟังให้เครียดเขม็งขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งค่อย ๆ ผ่อนคลายและสงบลงในตอนท้าย สรุปว่าชุดนี้เป็นบันทึกการแสดงสดที่ยอดเยี่ยมและคงเส้นคงวาตั้งแต่แรกยันจบอีกชุดหนึ่งของ Tangerine Dream ครับ

เครดิตภาพ www.gnosis2000.net

(http://www.gnosis2000.net/pics/pergamon.jpg) (http://www.gnosis2000.net/pics/tdquichotte.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 21 พฤษภาคม 2019 | 03:28:51 PM
Los Canarios - Ciclos (1974, 2LP) ผลงานร็อคที่ยิ่งใหญ่ชุดหนึ่งในโลกดนตรี progressive rock ซึ่งดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ The Four Seasons ของ Vivaldi และเล่นโดยนักดนตรีที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษหรืออเมริกันที่คนฟังทั่วไปมักคุ้น หากแต่เป็นชาวสเปน ดนตรีแน่นและซับซ้อน แม้จะดูเชยไปบ้างตามกาลเวลา ใช้คีย์บอร์ดและซินธ์อะนาล็อกสารพัดชนิดเท่าที่หาได้ในยุคนั้น รวมทั้ง theremin และ effects ต่าง ๆ กลุ่มนักร้องประสานเสียง เสียงร้องโอเพร่าโดย รุดมินี สุขมาวตี (บุตรีอดีตประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย) กีตาร์ กลองและเพอร์คัสชั่นที่เต็มไปด้วยเทคนิคและลวดลาย คอนเส็พท์ยิ่งใหญ่ มีขึ้นต้น และมีบทสรุป ฯลฯ ผมรู้จักและฟังผลงานชุดนี้มาตั้งแต่ประมาณปี 2546 และแต่ละครั้งที่ฟัง พบว่าจับได้รายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงนั้นมันไม่ปล่อยรายละเอียดเหล่านั้นออกมาหมดเสียทีเดียว เป็นผลงานที่โดยส่วนตัวแล้วสุดยอดจริง ๆ ครับ

เครดิตภาพ www.vintageprog.com

(http://www.vintageprog.com/canarios.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 22 พฤษภาคม 2019 | 03:10:59 PM
Triana หรืออีกชื่อหนึ่งคือ El Patio ผลงานชุดแรกที่ออกเมื่อปี 1975 ของ Triana วง progressive rock สเปน คำจำกัดความสั้น ๆ สำหรับผลงานชุดนี้คือ เป็น progressive rock ที่ผสมผสานดนตรีฟลาเมงโก หรือระบำพื้นเมืองของชาวสเปน ซึ่งฟังดูสนุกกระชับ ตื่นเต้น และเย้ายวนใจ เว็บดนตรี Spanish progressive rock แห่งหนึ่งให้เรทติ้ง (จากผลโหวตของบรรดาแฟน ๆ และผู้ชมเว็บที่โหวตเข้าไป) ผลงานชุดนี้อยู่ในอันดับหนึ่ง และ Ciclos ของ Los Canarios อยู่ในอันดับที่สอง แต่ผมไม่เห็นด้วยครับ

เครดิตภาพ www.gnosis2000.net

(http://www.gnosis2000.net/pics/trianaelpatio.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 09 ธันวาคม 2019 | 11:34:18 AM
Eternity Rise (1978) ผลงานชุดที่สองของ Ramses วง progressive rock ชาวเยอรมัน ซึ่งดูเหมือนจะมาสูตรเดียวกับผลงานชุดแรกของพวกเขา (ชื่อชุด La Leyla (1976)) ไม่ว่าในเรื่องจำนวนเพลงทั้งอัลบั้มซึ่งมีหกเพลง สูตรการเล่นดนตรี (ซึ่งเพลงส่วนใหญ่เน้นท่อนอินโทรที่ค่อนข้างยาว) และการจัดวางเพลง อัลบั้มชุดนี้แตกต่างจากชุดแรกเพราะมีเพลงบรรเลงอยู่หนึ่งเพลงในหน้าที่สองของแผ่นเสียง (ในขณะที่อัลบั้มชุดแรกเป็นเพลงร้องทั้งชุด) มีอยู่เพลงหนึ่งซึ่งเป็นแทร็คที่สองในหน้าแรก ชื่อเพลง Only Yesterday ฟังแล้วนึกถึง Yes เลย ส่วนเพลงที่ผมชอบที่สุดคือ Time ซึ่งเป็นแทร็คสุดท้ายในหน้าแรก คุณภาพดนตรีโดยรวมดีพอใช้ (พอฟังได้) คุณภาพการบันทึกเสียงดี แต่โดยความเห็นส่วนตัว สู้ผลงานชุดแรกไม่ได้ครับ

เครดิตภาพ www.progarchives.com

(https://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/1050/cover_4961926122008.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 08 มกราคม 2020 | 03:08:30 PM
The Strands Of The Future (1977) ผลงานลำดับที่สองของ Pulsar วง progressive rock ชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีพัฒนาการจากชุดแรกมากพอสมควร ที่โดดเด่นที่สุดคือ การเพิ่มชนิดของคีย์บอร์ดที่ใช้เล่น เช่น mellotron, moog (ในขณะที่ชุดแรกมีเพียง organ, piano และ ARP synthesizer) เพื่อให้ดนตรีสวยงาม อลังการและสุนทรีย์ยิ่งขึ้น แฟนเพลงทั่วไปมักคิดว่าวงนี้ได้รับอิทธิพลดนตรีจาก Pink Floyd แต่ผมว่าจริงเพียงบางส่วน เพราะในผลงานชุดนี้ผมได้ยินทั้งดนตรีในแนวของ Pink Floyd ในช่วงผลงานชุด Wish You Were Here บางครั้งผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึง Camel โทนดนตรีและบรรยากาศโดยรวมดูออกจะหม่น ๆ ทึม ๆ และเศร้าสร้อย เพราะเสียงร้องชวนให้มีอารมณ์ไปในทางนั้นจริง ๆ แม้จะฟังดูหม่นหมองและซึมเศร้า แต่นัยของดนตรีก็บอกว่าชีวิตยังมีความหวัง ซึ่งผมคิดอย่างนั้นนะครับ (ใครที่คิดไม่เหมือนผม ไม่เป็นไร) เป็นผลงานที่ดีพอประมาณ โดยเฉพาะเพลง title track ที่กินความยาวทั้งหน้าแรกของแผ่นเสียง แต่รู้สึกน่าเบื่อ อืดอาดและซ้ำซากในหน้า 2 โดยเฉพาะเพลงช่วงท้าย ๆ ครับ

เครดิตภาพ www.vintageprog.com

(http://www.vintageprog.com/pulsar2.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 ตุลาคม 2020 | 01:15:37 PM
Le Orme - Uomo Di Pezza (1972)

ผลงานที่ผู้ฟังซึ่งไม่คุ้น ไม่เคยฟัง หรือมีความรู้น้อยที่สุดเกี่ยวกับดนตรี Italian progressive rock อาจจะต้องชอบหรือหลงรักเมื่อได้ฟังจบลง เพราะอัดแน่นไปด้วยเพลงที่มีเมโลดี้ไพเราะ ติดหูง่าย ฟังสบาย ไม่ต้องใช้ความสามารถและประสบการณ์มาก และความยาวแต่ละเพลงกำลังดี และใครที่เป็นสาวกของ ELP ก็อาจตกหลุมรักผลงานชุดนี้ได้ไม่ยาก เผลอ ๆ อาจฟังง่ายกว่าผลงานของ ELP เสียด้วยซ้ำ ส่วนผม, นี้คือผลงาน "ขึ้นครู" และประตูนำไปสู่ขุมทรัพย์ดนตรี Italian progressive rock อีกมากมายในเวลาต่อมา ขอแนะนำ สำหรับใครที่สนใจและอยากลองเก็บผลงาน progressive rock ของอิตาลี ต้องฟังผลงานชุดนี้เป็นชุดแรกหรืออันดับต้น ๆ ครับ

เครดิตภาพ www.vintageprog.com

(http://www.vintageprog.com/orme3.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 19 มิถุนายน 2021 | 10:54:25 AM
เพลงไทยเดิม ชาโดว์ประยุกต์ - กระแต กลองยาว สุพรรณหงษ์ - เรียบเรียงเสียงประสานโดยจักริน รสนา, ขบวน มุกดา และนพรัตน์ ทิพยโอสถ - วงดนตรี พี.เอ็ม. พ็อคเก็ตมิวสิค และจอนนี่ส์ กีตาร์ - แผ่นเสียงตราศรีกรุง ไม่ทราบข้อมูลปีที่ผลิต (น่าจะราวปี 2515-2516)

เราเคยเห็นศิลปินตะวันตกนำบทเพลงคลาสสิกของพวกเขามาประยุกต์เล่นใหม่ด้วยเครื่องดนตรีทันสมัยในแนวร็อคและ progressive rock เช่น Emerson Lake & Palmer ได้นำบทเพลง Pictures At An Exhibition ของคีตกวีรัสเซีย Mussorgsky มาดัดแปลงเล่นสดและออกเป็นอัลบั้มชุด Pictures At An Exhibition (1971) Los Canarios วงร็อคชาวสเปน นำโดย Teddy Bautista ก็เคยนำบทเพลง The Four Seasons ของ Vivaldi มาดัดแปลงเล่นใหม่ในสไตล์ progressive rock ในอัลบั้มคู่ชุดสุดท้ายของพวกเขา Ciclos (1974) ส่วนของไทยเราผมว่าไม่น้อยหน้านักดนตรีชาติตะวันตก เพราะในอดีตก็เคยมีคนนำเพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นเพลงตับหรือเพลงเถา อาจจะฟังดูยืดยาดเยิ่นเย้อ ฟังแล้วชวนหลับ ถ้าเล่นในแบบดั้งเดิม มาเรียบเรียงใหม่โดยนำเอาแนวดนตรีฝรั่งในยุคนั้นซึ่งเรียกกันว่า "ชาโดว์" ประยุกต์เล่นใส่เข้าไปด้วย โดยเพิ่มสีสันของคีย์บอร์ดอีเล็คโทนเข้าไป จึงได้สำเนียงดนตรีไทยเดิมแนวใหม่ที่ผสมดนตรีตะวันตกที่เล่นด้วยเครื่องไฟฟ้าหรือที่เรียกกันว่า ชาโดว์ (ซึ่งประกอบด้วยลีดกีตาร์ ริธึ่มกีตาร์ เบสส์ และกลอง) โดยได้รับอิทธิพลมาจากวง The Shadows ของอังกฤษที่โด่งดังมากในช่วงยุค 1960s ทำให้เป็นดนตรีที่สั้น กระชับ สนุกสนาน ฟังง่าย และมีเมโลดี้ที่ไพเราะของดนตรีไทย ผมรู้จักเพลงเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล น่าจะสักประมาณปี 2515-2516 เพราะพ่อได้อัดเพลงเหล่านี้จากแผ่นเสียงของคนอื่นใส่เทปไว้ พอโตขึ้นมาหน่อยจึงทราบว่า บทเพลงไทยเดิมชาโดว์ประยุกต์มีจัดทำไว้เป็นแผ่นเสียง เท่าที่ทราบเป็น LP มีชุด "กระแต กลองยาว สุพรรณหงษ์" ส่วนอีกชุดหนึ่งชื่อ "มโนราห์ลุยไฟ" ส่วน LP ชุดอื่นนอกเหนือจากสองชุดนี้ ผมไม่ทราบและไม่มีข้อมูล นอกนั้นเพลงในอัลบั้มเหล่านี้ยังถูกซอยออกเป็นแผ่น EP 7 นิ้ว สปีด 45 แผ่นเสียงตรา Rosana อีกด้วย (เข้าใจว่า Rosana คงจะมาจากนามสกุลของจักริน รสนา นักจัดรายการเพลงวิทยุในยุคนั้น ปัจจุบัน เขาเสียชีวิตไปนานแล้ว) LP ที่ผมมีเป็นชุด "กระแต กลองยาว สุพรรณหงษ์" ตามตัวอย่างที่ยกมาให้ดูในลิงค์ของ YouTube ข้างล่างนี้ นอกจากเพลงกระแต กลองยาว สุพรรณหงษ์ แล้ว ใน LP ชุดนี้ยังมีเพลงอื่นที่น่าสนใจอีกหลายเพลง เช่น สร้อยแสงแดง สีนวล มอญกละ ลาวเจริญศรี ฯลฯ สภาพแผ่นเสียงไม่ค่อยน่าเล่น เพราะดูด้วยตาเปล่ามีรอยค่อนข้างมาก แต่พอเปิดเล่นจริง ๆ กลับสอบผ่าน เสียงรบกวนไม่มากอย่างที่คิด เสียดายอยู่อย่างหนึ่งคือ ผมไม่ทราบว่าทำไมแผ่นเสียงของไทยในยุคเก่าที่เห็นมาหลายแผ่นจึงไม่แจ้งข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ (all rights reserved) ปีที่ผลิตและหรือเผยแพร่ รายละเอียดเครดิตของผู้ทำดนตรี ฯลฯ เอาไว้ที่ปกหรือ label กลางแผ่น ทำให้คนรุ่นหลังไม่ทราบข้อมูลบางอย่างที่ต้องการจะทราบเพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผลงานชุดนั้น ๆ ผิดกับแผ่นเสียงของฝรั่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีแจ้งไว้ชัดเจนแทบจะ 100% ผมกำลังตามหาชาโดว์ประยุกต์ชุด "มโนราห์ลุยไฟ" อยู่อีกชุดหนึ่ง ถ้าได้ชุดนี้มา ก็เป็นอันครบในสิ่งที่ผมต้องการ สำหรับเพลงไทยชาโดว์ประยุกต์ที่เคยได้ยินได้ฟังมาในอดีตครับ

ป.ล. วงดนตรี พี.เอ็ม. พ็อคเก็ตมิวสิค สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นดนตรีสตริงคอมโบ้ในยุคนั้นก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น พี.เอ็ม. ไฟว์ ต่อมาภายหลัง โดย พี.เอ็ม. คือชื่อย่อภาษาอังกฤษของครูพยงค์ มุกดา วง พี.เอ็ม. พ็อคเก็ตมิวสิค จึงเป็นวงดนตรีฉบับกระเป๋าหรือฉบับย่อของครูพยงค์ มุกดา นั่นเอง (ข้อมูลผิดถูกอย่างไร ต้องขออภัย) ส่วนข้อมูลวง จอนนี่ส์ กีตาร์ นั้น ผมไม่ทราบ ถ้าใครมีข้อมูลวงนี้ ช่วยแจ้งให้ทราบหน่อยก็ดีครับ

https://www.youtube.com/watch?v=oo-L68Q0NwE


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 19 มิถุนายน 2021 | 02:08:45 PM
แผ่น EP สปีด 45 rpm ชุด "กระแต" ตามลิ้งค์ข้างล่างนี้ ผมเองก็มีอยู่ครับ label ตรา Rosana (รสนา) ผมได้รับมรดกมาจากคนอื่นนานมาแล้ว สภาพแผ่นออกจะโทรม จึงแค่เก็บไว้ดูเล่น แผ่นนี้สมัยนั้นราคา 35 บาท มีราคาระบุไว้ชัดเจนบนซองนอกครับ

https://www.discogs.com/%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%96-%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99-%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2-Johnny-Guitar-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%95/release/14231703


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 16 ตุลาคม 2021 | 01:30:24 PM
"เปรียว" แผ่นเสียงอัลบั้มประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เปรียว" (2526)

ประเมินดูแล้ว คอมเมนต์เกี่ยวกับอัลบั้มชุดนี้ท่าทางจะไม่สั้น จึงขอแบ่งออกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และส่วนที่เกี่ยวกับเพลง (อัลบั้มหรือแผ่นเสียง)

ขอพูดถึงภาพยนตร์ก่อน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี 2526 นำแสดงโดย วิชชุ วัชรพันธ์ (หรือ วสุ แสงสิงแก้ว หรือจิ๊บ ร.ด.) และเบญจวรรณ ภูษณะพงษ์ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ดาราทั้งคู่นำแสดง ปัจจุบัน วิชชุ วัชรพันธ์ หรือวสุ แสงสิงแก้ว เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและเป็นนักร้องและนักแสดง เคยมีผลงานเพลงกับวงดนตรีต่าง ๆ ในอดีต เช่น วงพลอย และมีผลงานการแสดงภาพยนตร์และละครมากพอสมควร ส่วนเบญจวรรณ ภูษณะพงษ์ เมื่อภาพยนตร์เรื่อง "เปรียว" ออกฉาย เธอมีอายุเพียง 14 ปี เคยเป็นภรรยาของเจ้าสัวผู้บริหารใหญ่ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเธอหย่าและทำธุรกิจส่วนตัว

กำกับภาพยนตร์โดย "บุญรักษ์" ซึ่งก็คือบุญรักษ์ นิลวงศ์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "บุญญรักษ์") ตัวจริงของตำนาน "ตั้มกับโอ๋" ในภาพยนตร์เรื่อง "วัยอลวน" และ "รักอุตลุด" โดยบุญรักษ์ นิลวงศ์ เคยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ ต่อมาเขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "เปรียว" เอง และเป็นผู้แต่งภาคเนื้อร้องของเพลงในอัลบั้มประกอบภาพยนตร์ด้วย ปัจจุบัน บุญรักษ์ หรือ บุญญรักษ์ นิลวงศ์ เสียชีวิตแล้ว

ผมเรียนอยู่ชั้นม.ปลาย ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย จำได้ว่า วสุ แสงสิงแก้ว ในชื่อของ วิชชุ วัชรพันธ์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของผมที่เตรียมอุดมศึกษา พญาไท ตอนนั้นเขาดังและเนื้อหอมมากในโรงเรียน เพราะหน้าตาหล่อเหลา หุ่นดี เรียนเก่ง เป็นเชียร์ลีดเดอร์ และดังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ประสบผลสำเร็จและแทบไม่อยู่ในใจผู้ดูภาพยนตร์ไทยแนววัยรุ่นนักเรียนนักศึกษา ผมไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงหรอกครับ เพิ่งมีโอกาสได้ดูครั้งหนึ่งจาก YouTube แล้วต่อมาก็ดูใน YouTube ไม่ได้อีกเลย สงสัยคงโดนถอดออกไปแล้ว เรื่องย่อของหนังไม่มีอะไรมาก พระเอกในเรื่องชื่อ ป๋อง (วิชชุ วัชรพันธ์) ซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ทำงานช่วยแม่และครอบครัวโดยการขี่จักรยานส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านต่าง ๆ ในตอนเช้า แล้วเผอิญไปแอบปิ๊งลูกสาวเจ้าของบ้านที่ตัวเองส่งหนังสือพิมพ์หลังหนึ่ง (เบญจวรรณ ภูษณะพงษ์) แล้วจึงพยายามจะทำความรู้จักและจีบเธอ แต่ถูกนางเอกและเพื่อน ๆ ผู้หญิงกลั่นแกล้งสารพัด และในที่สุดก็เข้าใจกัน โดยในระหว่างเรื่องก็มีตัวละครหนึ่งเป็นตัวสนุ้กหรืออุปสรรคในรักของคนทั้งสอง ซึ่งก็คือนักศึกษาชายรุ่นพี่ของนางเอกและเขาก็รักนางเอกอยู่แล้วด้วย (นำแสดงโดยเอกลักษณ์ ยลระบิล ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) พล็อตเรื่องคร่าว ๆ ก็มีอยู่เท่านี้ เป็นหนังแนววัยรุ่นวุ่นรักในยุค 1980s ดูสบาย ๆ ไม่ซีเรียส มีเพลงประกอบเพราะ ๆ ทั้งเรื่องอยู่หลายเพลง ซึ่งผมจะพูดถึงในโอกาสต่อไปครับ

(https://1.bp.blogspot.com/-wEBtouCnMSs/XhcnAG8LP3I/AAAAAAAAEYE/Yqw_latXbaIwp1mmJrek8B0tuwOJSclpwCLcBGAsYHQ/s320/Untitled-1.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 ตุลาคม 2021 | 09:43:38 AM
แผ่นเสียงชุด "คนเขียนเพลง บรรเลงชีวิต" โดย ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
แผ่นเสียง 180 กรัม สีดำ ผลิตในประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2020 โดยบริษัท CAPMUSIC International จำกัด
Catalog No. CAP-LP023
Limited Edition No. 018
เจ้าของลิขสิทธิ์ คุณวิโรจน์ ปรีชาว่องไวกุล

"คนเขียนเพลง บรรเลงชีวิต" ผลงานลำดับที่สองของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ผมเคยซื้อเทปคาสเสทของ ONPA มาฟัง เมื่อครั้งที่ผลงานชุดนี้ออกวางตลาดใหม่ ๆ เมื่อปี 2530 จำได้ว่าตลับเทปเป็นสีน้ำเงิน น่าจะถือได้ว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของเขา ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มนักดนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกวงแม็คอินทอชและวงตาวันในยุคนั้น ผลงานชุดนี้เป็น concept album ซึ่งแสดงทรรศนะมุมมองของคน ๆ หนึ่งต่อชีวิต ความสัมพันธ์ของผู้คน ความสับสนวุ่นวายของชีวิต สอดแทรกปรัชญาคำสอนทางศาสนาอยู่บ้าง เช่น เรื่องความทุกข์จากความโลภ เรื่องความรักซึ่งเอาชนะได้ทุกสิ่ง พูดง่าย ๆ ว่า ในอัลบั้มชุดนี้ เรื่อง รัก โลภ โกรธ หลง มีครบ ซึ่งก็คือกิเลสมนุษย์นั่นเอง พร้อมกับตั้งคำถามว่าใครลิขิตชีวิตเรา -- ตัวเราเอง หรือชีวิตเราถูกลิขิตมาล่วงหน้าแล้ว

่ว่ากันว่าเจ้าของผลงานได้รับแรงบันดาลใจจากผลงาน progressive rock ที่โด่งดังร่วมยุคสมัย คือ The Wall ของ Pink Floyd แต่ผมคิดว่าผมได้ยินเฉดสีบาง ๆ ของดนตรีแนว The Alan Parsons Project, The Cars, The Moody Blues ยุค 1980s ช่วงผลงานชุด The Present (1983) แต่งเติมสีสันให้ผลงานชุดนี้ด้วย

นอกจากเทปคาสเสทแล้ว ผมไม่เคยเห็นผลงานนี้ออกเป็นซีดี มีแผ่นเสียงโปรโมท แต่มีเพลงไม่ครบเต็มแผ่น แม้เพลงไม่ครบเต็มอัลบั้ม แต่ทำไมหวงกันจัง และซื้อหากันด้วยราคาแพง ถ้าเป็นผม ผมไม่เอาหรอกครับ อัลบั้มมีเพลงไม่ครบเต็ม

และในที่สุดก็มีแผ่นเสียงที่มีเพลงครบเต็มผลิตออกมาจนได้ (ดูรายละเอียดข้างต้น) ปก gatefold ทำมาดี หนาและแข็งแรง ซองในที่ใช้ใส่แผ่นเสียงเป็นกระดาษสีขาวมี 2 ชั้น แทรกอยู่ตรงบานพับปกเปิด ซึ่งภายในปกมีรายละเอียดเครดิตคนทำดนตรี เนื้อเพลง และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามที่ผมเคยเห็นในปกเทปคาสเสทที่เคยมีสมัยก่อน และมีรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมมาเล็กน้อย ตามสถานะของการผลิตล่าสุด (ปี 2020)

มาตรฐานการผลิตโดยรวมถือว่าดีทีเดียว คุณภาพเสียงก็ดี เสียงเนียนแฟลต ชัดเจน ไม่อับทึบ อย่างน้อยก็ได้ยินเสียงพึมพำค่อย ๆ เมื่ออินโทรเพลงแรก เพราะตอนที่ผมเคยฟังจากเทปคาสเสท อินโทรเพลงช่วงนี้เสียงไม่ค่อยชัด แต่นี่ ฟังจากแผ่นเสียง เสียงชัดแล้ว ผมไม่แน่ใจว่ารีมาสเตอร์ต้นฉบับด้วยหรือเปล่า หรือเพียงแค่ใช้ต้นฉบับเดิมผลิตเป็นแผ่นเสียงออกมาเลยโดยไม่ผ่านกระบวนการรีมาสเตอร์ ไวนิลมีเสียงรบกวนแทบจะเป็นศูนย์ เสียงเงียบมาก ทำให้ได้ยินรายละเอียดดนตรีมากขึ้นจากที่เคยฟังเทปคาสเสทเมื่อราว 30 กว่าปีก่อน (หรือจะเอาให้ชัดเมื่อนับถึงปี 2564 ก็คือ 33 ปี) ประเทศเยอรมนีถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ผลิตแผ่นเสียงที่มีคุณภาพมาช้านานแล้ว เชื่อถือในเรื่องนี้ได้เลยครับ

สรุปว่าพอใจและดีใจ ถึงแม้ราคาแผ่นเสียงจะแพงไปนิด รู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนเก่าอีกครั้ง นับแต่ที่ไม่ได้เจอ (ฟัง) มาร่วม 30 ปี หลังจากที่เทปคาสเสทของผมได้หายไป ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปี 1990s ถ้าผมเจอแผ่นเสียงชุดนี้อีกในราคาเท่ากันหรือต่ำกว่า ผมจะซื้อไว้เป็นแผ่นสำรองอีก 1 copy ครับ


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 03 พฤศจิกายน 2021 | 08:57:44 AM
แผ่นเสียงชุด "เรามาร้องเพลงกัน" โดย เรวัต พุทธินันทน์ และวงคีตกวี
แผ่นเสียง 180 กรัม สีดำ ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย GMM Grammy
Catalog No. -
เจ้าของลิขสิทธิ์ (เดิม): โรงเรียนดนตรีศศิลิยะ
เจ้าของลิขสิทธิ์ (ใหม่): GMM Grammy

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา บางที สิ่งที่เราเคยหวังว่าจะได้จะมี แต่สิ่งนั้นยังไม่มาเสียที ก็อาจต้องใช้เวลารอ แล้ววันนั้นก็อาจจะมาถึงในที่สุด อย่างแผ่นเสียงชุด "คนเขียนเพลง บรรเลงชีวิต" ที่ผมเคยรอแบบไม่มีความหวังว่า เขาคงไม่ทำแผ่นเสียงที่มีเพลงเต็มออกมาหรอก แล้ววันนี้เขาก็ทำออกมาจนได้ เช่นเดียวกับแผ่นเสียงชุด "เรามาร้องเพลงกัน" โดยเรวัต พุทธินันทน์ และวงคีตกวี ซึ่งปัจจุบัน GMM Grammy ได้ทำแผ่นเสียงรีอิชชู่ 180 กรัมออกจำหน่ายแล้วโดยสั่งผลิตที่อเมริกา และทำแลคเกอร์และรีมาสเตอร์โดย Bernie Grundman

เช้าวันนี้ผมตื่นมาตอนตีสี่เพื่อฟังแผ่นเสียงชุดนี้ที่เพิ่งได้มา พบว่าฟังแล้วไม่ผิดหวัง เพราะเสียงดี รายละเอียดดี เสียงเรียบแฟลตเป็นธรรมชาติและมีชีวิตชีวา ถ้าอัลบั้มชุดนี้มี production ที่"แน่น" กว่านี้เสียหน่อย ก็จะดีมากถึงขั้นเป็นมาสเตอร์พีซของ progressive rock เมืองไทยชุดหนึ่งเลยที่เดียวก็ว่าได้ กับราคาเท่านี้ก็ถือว่าดีกว่าซื้อแผ่น original ซึ่งราคาแพงมากในตลาดแผ่นเสียงใช้แล้ว happy listening ครับ :D


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 ธันวาคม 2021 | 10:09:19 AM
เรวัต พุทธินันทน์ และวงคีตกวี - เรามาร้องเพลงกัน แผ่นเสียง reissue ปก gatefold

(https://sv1.picz.in.th/images/2021/12/29/n0RHof.md.jpg)

(https://sv1.picz.in.th/images/2021/12/29/n0RsH1.md.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 ธันวาคม 2021 | 10:12:38 AM
ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ - คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต
แผ่นเสียงเต็มอัลบั้ม ปก gatefold

(https://sv1.picz.in.th/images/2021/12/29/n0Rtcu.md.jpg)

(https://sv1.picz.in.th/images/2021/12/29/n0R1yI.md.jpg)

(https://sv1.picz.in.th/images/2021/12/29/n0RAfW.md.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 06 มิถุนายน 2022 | 09:01:22 AM
Esperanto - Last Tango (1975)

Esperanto เป็นวงร็อคอังกฤษ มีนักร้อง 2 คน เป็นชายและหญิง และมีกลุ่มเครื่องสาย ประกอบด้วยคนเล่นไวโอลิน 2 คน และเชลโลอีก 1 คน ดนตรีในอัลบั้มชุดนี้หนักแน่น ทรงพลังชนิดที่เรียกว่า high energy และมีสีสันฉูดฉาดจากเครื่องสายคือไวโอลินและเชลโลซึ่งสีกันได้มันส์หยด เสียงนักร้องและสไตล์ดนตรีอาจไม่ต้องรสนิยมของคนฟัง progressive rock บางคนหรือหลายคน คนที่สนใจอาจต้องทำความคุ้นเคยกับมันหลายเที่ยวแล้วจึงจะรู้ว่า นี่คือของดีที่ไม่สมควรพลาด ถ้าฟังเพลงแรก Eleanor Rigby (เพลงเก่าของ The Beatles ที่วงนี้นำมาเรียบเรียงใหม่) ผ่าน ก็น่าจะไปต่อยังเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มชุดนี้ด้วย โดยเฉพาะเพลงสุดท้าย Last Tango ซึ่งเปรียบเสมือนไฮไลต์ของอัลบั้ม ผมฟังแล้วรู้สึกมันส์และเท่มาก ๆ ขอย้ำว่าผลงานชุดนี้อาจไม่ต้องจริตของทุกคน แต่ถ้าฟังแล้วชอบหรือเห็นคุณค่า แสดงว่าท่านได้พบของดีอีกชิ้นหนึ่งเข้าแล้ว แผ่นเสียงที่ผมมีอยู่ มีทั้งแผ่นอเมริกาและแผ่นญี่ปุ่น (Japan + Obi) ครับ

เครดิตภาพ http://www.esperanto-rock-orchestra.com

(http://www.esperanto-rock-orchestra.com/images/lasttango.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 20 มิถุนายน 2022 | 09:14:27 AM
Seventh Sojourn (1972) ในสายตาของผม เป็นผลงานที่ดีที่สุดชุดสุดท้ายในกลุ่มผลงานของ The Moody Blues ซึ่งออกในช่วงปลายยุค 1960s ถึงต้นยุค 1970s หลังจากนั้น The Moody Blues ก็พักร้อนยาว สมาชิกต่างพากันมีผลงานส่วนตัวกันในช่วงนี้ จนกระทั่งปี 1978 จึงกลับมารวมตัวกันอีกและมีผลงานออกมาชุดหนึ่งคือ Octave ซึ่งฟังดูอีหลักอีเหลื่อและไม่ค่อยมีประจุความขลังดังเช่นผลงานชุดก่อน ๆ ทั้ง ๆ ที่สมาชิกทีมเดิมก็ยังอยู่ครบ

ขอกลับมาที่ผลงานชุด Seventh Sojourn ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผมต้องฟังผลงานชุดนี้ทั้งอัลบั้มเหมือนผลงาน progressive rock ชุดอื่น ๆ แต่ไม่มีเพลงใดในผลงานชุดนี้ที่ผมชื่นชอบเท่าเพลง New Horizons และ For My Lady แถมสองเพลงนี้ยังเป็น track ที่อยู่ติดกันเสียด้วย ถ้า New Horizons จบก็ต่อด้วย For My Lady เลย ส่วนเพลงที่เหลือก็งั้น ๆ พอฟังได้ ยกเว้น Isn't Live Strange ที่เขียนและร้องโดย John Lodge ซึ่งแฟน The Moody Blues หลายคนคงชื่นชอบเพลงนี้ แต่สำหรับผม เพลงนี้ฟังดูเอื่อยเฉื่อยและซ้ำซากน่าเบื่ออย่างไรไม่ทราบ ต้องทนฟังจนจบเพลงและจบหน้าแรก พอ ๆ กับเพลง I'm Just A Singer (In A Rock 'N Roll Band) เพลงนี้ก็น่าเบื่อเช่นกัน และเป็นเพลงปิดหน้า 2 ของแผ่นเสียงเสียด้วย

สรุปว่าสำหรับผลงานชุด Seven Sojourn มีแค่เพลง New Horizons และ For My Lady สองเพลง ผมก็พอใจแล้วครับ

เครดิตภาพ http://vintageprog.com

(http://vintageprog.com/mood7.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 มิถุนายน 2022 | 11:03:45 AM
Pink Floyd - The Piper At The Gates Of Dawn (1967)

อัลบั้มชุดแรกของ Pink Floyd ที่ถือกันว่าเป็นแบบฉบับและต้นธารแห่ง psychedelic progressive และเป็นผลงานที่ยังมี Syd Barrett (RIP) ร่วมเล่นอยู่ด้วย มีเพลงหัวหอกอย่างเช่น Astronomy Domine และ Interstellar Overdrive ผมได้ฟังผลงานชุดนี้ความรู้สึกแรกคือเป็นดนตรีร็อคปลายยุค 1960s อย่าง The Beatles หรือวง beat rock ที่เล่นจังหวะ uptempo ที่เร็วและรุกเร้าขึ้นมาหน่อยอะไรทำนองนี้แล้วอัดด้วยแนว psychedelic จากเสียงออร์แกนแบบหลอน ๆ ผสมความดิบของริธึ่มเซ็คชั่น เพลงแต่ละเพลงมีขนาดความยาวมาตรฐานทั่วไปตามสไตล์เพลงร็อคในยุคนั้น ยังไม่ยาวมากเหมือนเพลงในผลงานบางชุดต่อมา และผมรู้สึกอยู่อย่างหนึ่งว่า วงรุ่นน้องที่ตามหลังมาหลายวงใช้สำเนียงจากผลงานชุดนี้เป็น guidelines หรือแนวทางสำหรับผลงานของตนเองครับ

เครดิตภาพ www.gnosis2000.net

(http://www.gnosis2000.net/pics/pinkfloydpiper.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 มิถุนายน 2022 | 01:25:43 PM
คณะพราว (proud) - เปรียว (เพลงประกอบภาพยนตร์)

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/06/29/VjHtjf.md.jpg)

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/06/29/VjHZUz.md.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 01 กรกฎาคม 2022 | 09:13:35 AM
คราวก่อนผมได้พูดถึงอัลบั้มประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เปรียว" (2526) ของคณะพราว (proud) ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไปแล้วคร่าว ๆ

ก่อนจะไปต่อในส่วนของดนตรี ผมขอเปิดประวัติของนักดนตรีสมาชิกคณะพราวเท่าที่ทราบ เพราะมีข้อมูลอยู่น้อยมาก และหาตามอินเทอร์เนตก็แทบจะไม่เจอเลย สมาชิกคณะพราว (proud) ประกอบด้วย

จรวยพร จิตตรีญาติ (ชื่อเล่นว่า ติ๋ว) - ร้องนำ
คุณจรวยพรเป็นนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงสังกัดวงพ็อพ ดิสโก้ และสตริงในยุค 1970s และ 1980s และมีผลงานส่วนตัวออกมาด้วย จนถึงปัจจุบัน เข้าใจว่าเธอยังรับงานร้องเพลงและอยู่กับวงการเพลง

นพดล กมลวรรณ - คีย์บอร์ด, ร้อง ทำนอง และเรียบเรียงดนตรี
คุณนพดล กมลวรรณ ฉายา "ปีศาจสวรรค์" ที่คุณวิทูร วทัญญู ตั้งให้ เคยเป็นมือคีย์บอร์ดของ เดอะ ฟ็อกซ์ ที่ลือลั่น และต่อมาเป็นสมาชิกวง The Bless ซึ่งตอนนั้นมีคุณอิทธิ พลางกูร ร่วมเล่นอยู่ด้วย ปัจจุบัน คุณนพดลอยู่ประเทศอังกฤษ ตามที่มีผู้ใหญ่บางท่านได้ให้ข้อมูลผมมา

วิธาน ธุวัชชัย - เบส
ปัจจุบัน คุณวิธาน ธุวัชชัย (ชื่อเล่นว่า อ้วน) เปลี่ยนชื่อเป็น พงศ์พิธาน ธุวัชชัย เป็นนักดนตรีและนักเรียบเรียงเสียงประสานที่ยังเคลื่อนไหวและคร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลง

วิทูร ธุวัชชัย - กลอง
วิทูร ธุวัชชัย อดีตสมาชิกวงเซเลเบรชั่น (Celebration) ซึ่งเป็นวงสตริงไทยในยุค 1980s ที่มีเอกลักษณ์คือแต่งชุดและคลุมหน้าสีขาวกันทั้งวง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งในยุคนั้นว่า วงคนชุดขาว ซึ่งในวงนี้ยังมีสมาชิกอีก 2 คนที่ปัจจุบันเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน และโปรดิวเซอร์ผู้มีชื่อเสียง ได้แก่ คุณติ๊ก ชีโร่ (กลอง) และคุณอภิชัย เย็นพูนสุข (คีย์บอร์ด)

ศิริพงศ์ แก้วพลอย - กีตาร์
ผมแทบไม่พบประวัติของสมาชิกวงคนนี้เลย แต่มีคนชื่อ "ศิริพงษ์ แก้วพลอย" ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นนักดนตรี มีถิ่นพำนักอยู่ที่จังหวัดลพบุรี จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นคนเดียวกันกับศิริพงศ์ แก้วพลอย ซึ่งเป็นมือกีตาร์ของคณะพราวหรือไม่

ประวัติย่อของสมาชิกวงเท่าที่ผมทราบก็มีเท่านี้ ต่อไปผมจะพูดถึงภาคดนตรีครับ

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/06/29/VjHtjf.md.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 04 กรกฎาคม 2022 | 01:36:20 PM
มัม - ขอเพียง..เข้าใจ (2528)

ใครไม่พูดถึงผลงานชุดนี้ แต่ "ปีศาจลายคราม" พูดครับ ถ้าเสิร์ชอากู๋ google รับรองเจอข้อมูลแน่นอน 5555 :D

โดยนิสัยส่วนตัวผมเป็นคนชอบเพลงสนุก เพลงมันส์ ๆ ฟังอยู่คนเดียวก็ลุกขึ้นมาเต้นหน้าเครื่องเสียงได้ (อั๊ยยะ ;D) แผ่นเสียงอัลบั้มชุดนี้จึงตอบโจทย์ได้ชะงัด เพราะมีแต่เพลงสนุกเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นเพลงที่ 3 ในหน้าแรก ชื่อ "อย่าโกรธฉันเลย" และเพลงที่ 2 ในหน้า 2 ชื่อ "ผิวปากฝากลม" ซึ่งเป็นเพลงโรแมนติคหวาน ๆ น่ารัก และจังหวะกำลังพอเหมาะ บวกกับเสียงหล่อ ๆ เท่ ๆ ของคุณมัม วัลลภ มณีคุ้ม ฟังแล้ว นอกจากสนุกกับเพลงส่วนใหญ่แล้วใจยังต้องวาบหวิวเคลิบเคลิ้มไปกับบรรยากาศแห่งความรัก และต้องอัดโวลลู่มแอมป์แรง ๆ จึงจะรู้สึกมันส์ ฟังแล้วนึกถึงกระแสดนตรี new wave และ techno pop / synth pop ของอังกฤษและยุโรปในยุค eighties เช่น Duran Duran, Ultravox, Human League, Peter Schilling etc. และยังมีเพลง cover ผลงานของคาราบาว คือเพลง "วณิพก" ฉบับของมัมแถมมาด้วย รับรองถ้าเปิดในเธคหรือผับ เป็นต้องมีคนได้ดิ้นกระจายแน่นอน หากนับถึงปัจจุบัน (2565) ผลงานชุดนี้มีอายุ 37 ปี แล้ว แต่ดนตรีฟังดูยังไม่ล้าสมัย ผมนึกถึงตอนเป็นวัยรุ่น กำลังเรียนอยู่ ม.ปลายที่เตรียมอุดมฯ (ปีที่ผลงานชุดนี้ออกเผยแพร่และจำหน่าย) พร้อมกับบรรยากาศสีสันของสถานบันเทิงยุคนั้นคือดิสโก้เธคซึ่งมีดีเจคอยเปิดเพลงให้คนที่ไปเที่ยวได้เต้นรำกัน (ได้แต่ฟังโฆษณา อยากไปเที่ยวเธค แต่ผู้ปกครองไม่ยอมให้ไป จึงได้แต่ร้องไห้ฮือ ๆ (พูดเล่นไปตามอารมณ์ครับ 5555)) ผลงานชุดนี้ทำโปรดักชั่นและใช้นักดนตรีห้องอัดที่ประเทศอังกฤษโดย WEA ไนท์สปอต และมีคุณนุภาพ สวันตรัจฉ์ และคุณอัสนี โชติกุล อยู่เบื้องหลังการทำงานด้วยครับ

หน้า 1
1. วันที่มาไม่ถึง (The Day That Won't Come)
2. สุข...สุดหัวใจ (They Understand Us)
3. อย่าโกรธฉันเลย (Don't Be Mad At Me)
4. ชีวิตกับบทเพลง (Life)
5. เปิดหัวใจ (Sing Your Heart Out)

หน้า 2
1. วณิพก (Wandering Beggar)
2. ผิวปากฝากลม (Whispering With The Wind)
3. จากใจ ดี.เจ. (From A D.J.'s Heart)
4. ขอเพียง..เข้าใจ (Please Understand)

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/07/04/VCnPqV.md.jpg)

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/07/04/VCnsHQ.md.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 04 กรกฎาคม 2022 | 05:21:37 PM
ขออนุญาตหมายเหตุไว้สักนิด เกรงว่าบางท่านอ่านที่ผมเขียนไว้ข้างต้นแล้วจะสงสัย ว่าสมัยก่อนมีการโฆษณาดิสโก้เธค บาร์ ไนท์คลับ ฯลฯ กันด้วยหรือ? ก็ขอตอบว่า "มีครับ" โดยเฉพาะสปอตโฆษณาคั่นรายการเพลงวิทยุ มีให้ได้ยินอยู่เรื่อย เช่น เดอะไนน์ ไนท์คลับ เธคนั้น เธคนี้ เดอะ พาเลซ, นาซ่า สเปซี่โดรม (ตรงแยกคลองตันสมัยโน้น) ฯลฯ เยอะแยะไปหมด แล้วต้องโฆษณาด้วยนะว่าดีเจที่เปิดเพลงคืนวันนั้นคืนวันนี้เป็นใคร สมัยก่อนดีเจคนที่ผมได้ยินออกประกาศบ่อย ๆ ก็มีคุณแซม ยุรนันท์ คุณจิรวดี อิศรางกูร เป็นต้น โฆษณาคอนเสิร์ตแสดงดนตรีวงสตริงซึ่งจัดตามสถานที่โน้นนี้ในกรุงเทพมีให้ได้ยินออกบ่อย เช่น คอนเสิร์ต ท.ท.บ. 5 ลานโลกดนตรี โดย 72 โปรโมชั่น คอนเสิร์ตแดนเนรมิต คอนเสิร์ตรวมวงสตริง ณ สวนลุมพินี (เที่ยงวันยันเที่ยงคืน บัตร 40 บาท เหมือนเดิ๊ม... (เสียงเหน่อ ๆ แบบสุพรรณ) อันนี้เป็นคำโฆษณาจากรายการ "จิ๊กโก๋ยามบ่าย" ของคุณนฤชา เพ่งผล นะครับ ผมไม่ได้คิดเอง 5555) สมัยก่อนสถานที่และสวนสาธารณะบางแห่งในกรุงเทพยังให้เปิดจัดคอนเสิร์ตได้ ไม่เหมือนสมัยนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ โควิด-19 มาเยือน เราจะมีโอกาสได้สนุกสนาน ได้บันเทิงเริงใจกันอีกเหมือนก่อนไหมครับ? ขอตอบได้เลยครับว่า "ยาก" หรือไม่ก็ "อีกนาน" ถึงตอนนั้นรูปแบบการบันเทิงก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ส่วนอดีตที่หวานชื่นมันผ่านไปแล้ว ไม่มีอีกแล้วจริง ๆ ขอบ่นตามประสาคน (ชักจะเริ่ม) แก่ครับ 5555 :D


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 05 กรกฎาคม 2022 | 08:06:50 AM
ขอเลือกแทร็คที่ 4 ในหน้าแรกของแผ่นเสียงชุด "ขอเพียง..เข้าใจ" คือ "ชีวิตกับบทเพลง (Life)" มาฝาก ซึ่งนอกจากเสียงหล่อ ๆ เท่ ๆ ของคุณมัมแล้ว backing track ยังน่าสนใจ เพราะเป็นดนตรีสไตล์ยุค eighties แท้ ๆ เครื่องดนตรีหลักประกอบด้วยคีย์บอร์ด อิเล็กทรอนิกส์ แซ็กโซโฟน และ drum machine ไม่น่าเชื่อว่าเกือบ 40 ปีผ่านไป sound ของบทเพลงยังฟังดูทันสมัยอยู่เลย ขอบคุณ YouTube ที่เป็นสื่อกลางของดนตรีครับ

https://www.youtube.com/watch?v=GmaC8ezYCsU


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 05 กรกฎาคม 2022 | 01:59:43 PM
เครดิตผู้แต่งเพลงร่วมในทุกเพลง (ยกเว้นเพลง "วณิพก" ซึ่งแต่งโดย ยืนยง โอภากุล) มีคนชื่อ "ไซมอน" ปรากฏอยู่ ท่านอาจสงสัยว่าคือใคร เท่าที่ผมเคยเห็นจากปกเทป "ขอเพียง..เข้าใจ" "ไซมอน" ผู้นี้เป็นนักดนตรีห้องอัดชาวอังกฤษในยุคนั้น มีชื่อเต็มว่า Simon Tittley และเขามีเว็บไซต์ของตัวเองอยู่ด้วยครับ

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/07/04/VCnPqV.md.jpg)

http://www.simontittley.co.uk/

(http://www.simontittley.co.uk/st_site_images/simon_1.png)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 กรกฎาคม 2022 | 02:07:47 PM
The Moody Blues - This Is The Moody Blues (1974, 2LP compilation album)

ปกติผมพยายามจะไม่พูดถึงผลงานรวมเพลง เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าไม่มีอะไรใหม่ ส่วนใหญ่ก็เป็นการรวมเพลงเด่นเพลงฮิตจากผลงานชุดเก่า ๆ แต่สำหรับอัลบั้มคู่รวมเพลงชุด This Is The Moody Blues ผมต้องขออนุญาตพูดสักนิดว่า นอกจากจะรวมเพลงเด็ด ๆ จากผลงานทั้ง 7 อัลบั้ม ตั้งแต่ชุด Days Of Future Passed (1967) ไล่ไปจนถึงชุด Seventh Sojourn (1972) โดยแทบไม่มีการตกหล่นแล้ว การเดินเพลงยังต่อเนื่องกันแบบที่เรียกว่าไร้รอยต่อกันเลยทีเดียว ซึ่งให้อารมณ์ต่อเนื่องดีมาก แสดงให้เห็นถึงกึ๋นของโปรดิวเซอร์ ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตามที่อยากทำความรู้จัก The Moody Blues ในยุคแรกหรือยุค psychedelic แต่ยังไม่อยากลงทุนเก็บเป็นรายอัลบั้มให้เปลืองเงิน ฟัง This Is The Moody Blues ให้ซาบซึ้งทุกแทร็คแล้วค่อยไปตามเก็บอัลบั้มเต็มทีละชุดก็ยังไม่สายครับ

เครดิตภาพ www.moodybluestoday.com

(https://www.moodybluestoday.com/wp-content/uploads/2013/09/ThisIsTheMoodyBlues_Thu.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 29 สิงหาคม 2022 | 02:10:23 PM
Barclay James Harvest - Live Tapes (2LP, 1978)

รวมสุดยอดบันทึก (เทป) การแสดงสดของ Barclay James Harvest (BJH) ต่างกรรมต่างวาระในประเทศอังกฤษ ในห้วงเวลาที่ถือได้ว่าวงกำลังพุ่งถึงขีดสุด ทั้งในแง่ฝีมือ ผลงานและความนิยม หลังจากออกอัลบั้ม Gone To Earth (1977) ก็ยังนำบางเพลงจากอัลบั้มชุดนี้มาเล่นแสดงสดด้วย เช่น Hard Hearted Woman, Hymn โดยเฉพาะเพลงหลังนี้อาจถือได้ว่าเป็นเพลง anthem เพลงหนึ่งของวง ซึ่งมักจะเป็นเพลงที่เล่นปิดการแสดง โดยส่วนตัว ผมว่าทุกเพลงที่เล่นสดและถูกนำมารวมไว้ในอัลบั้ม Live Tapes นั้น เล่นได้สด กระชับ และมีพลังกว่าเวอร์ชั่นในสติวดิโออัลบั้ม เช่นเพลง Rock N Roll Star, Hard Hearted Woman และ Hymn โดยเฉพาะเพลง Hymn ซึ่งเป็นเพลงปิดท้าย เสียงซินธ์ที่คลอตลอดเพลงไปจนถึงไคลแม็กซ์ช่วงท้ายนั้นเล่นได้งดงาม อุดม และอลังการมาก ผมเคยอ่านเจอข้อมูลมาว่า วัตถุดิบของ Live Tapes ถูกนำมา overdubbed และขัดเกลาปรุงแต่งกันในสติวดิโออีกที ไม่ใช่วัตถุดิบจากการแสดงสดเพียว ๆ แต่จะแคร์อะไรเล่าในเมื่อบันทึกการแสดงสดโดยมากในยุคนั้นก็มักจะทำกันแบบนี้ทั้งนั้น โดยสรุป Live Tapes คือบันทึกการแสดงสดที่ยอดเยี่ยมชุดหนึ่งของโลกดนตรีร็อค โดยอยู่ในลำดับชั้นเดียวกันกับผลงานการแสดงสดชุด Playing The Fool ของ Gentle Giant, Live At Home ของ Jane, The Concerts In China ของ Jean-Michel Jarre, Eloy Live ของ Eloy เป็นต้น ขอแนะนำสำหรับคนที่อยากรู้จักผลงานของ BJH เพื่อนำไปต่อยอด โดยเฉพาะผลงานของพวกเขาในยุคที่อยู่สังกัด Polydor ครับ

เครดิตภาพ www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/655/cover_54591421122011_r.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 30 สิงหาคม 2022 | 08:36:02 AM
เสริม หรือ add up แผ่นลองเพลย์ Live Tapes ด้วย EP ขนาดเจ็ดนิ้ว ซึ่งมีเพลง Rock 'N' Roll Star (ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นโชว์เดียวกันกับใน Live Tapes เพราะฟังเทียบกันแล้ว เพลงเหมือนกันเลย) และเพลง Medicine Man Part I & II ซึ่งเพลงนี้เมื่อนำออกเล่นสดกลายเป็นเพลงยาวที่เต็มไปด้วยการโซโล แจมมิ่ง และ improvisation (ต่างจากสติวดิโอเวอร์ชั่นมาก) จนต้องใช้พื้นที่แผ่น EP ทั้งสองด้าน คนฟังต้องพลิกกลับแผ่นเสียงไปอีกด้านเพื่อเล่นต่อ Part II ทำให้เสียอารมณ์ความต่อเนื่อง (แต่ในอัลบั้มรวมเพลงชุด Endless Dreams เพลง Medicine Man ทั้ง Part I และ Part II นี้ถูกเชื่อมต่อกันสนิทเป็นเพลงเดียวกัน ฟังแล้วไม่เสียอารมณ์) ที่ผมต้องพูดถึงเพลง Medicine Man แสดงสดนี้เป็นพิเศษก็เพราะเพลงนี้เป็นการแสดงความสามารถบนเวทีของสมาชิกวงแต่ละคนในช่วงที่พวกเขาทำการ jamming & improvisation ว่าพวกเขานั้นมีความสามารถกันขนาดไหน โดยเฉพาะ Stuart "Woolly" Wolstenholme (RIP) มือคีย์บอร์ด ซึ่งโชว์ทักษะการเล่น mellotron และอนาล็อกคีย์บอร์ดชนิดอื่น ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม และเพลง Medicine Man นี้ นอกจากจะเป็นโชว์ของปี 1977 แล้ว ยังมีโชว์ของปี 1974 ซึ่งอยู่ในชุด Live (2LP, 1974) ด้วย ซึ่งก็เล่นดีไม่แพ้กัน เผลอ ๆ อาจจะดีกว่าด้วยครับ ขอให้ไปลองฟังเปรียบเทียบกันดู

เครดิตภาพ www.bjharvest.co.uk

(https://www.bjharvest.co.uk/jpg/liveep.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 30 สิงหาคม 2022 | 04:39:31 PM
เมื่อปี 2006 มีซีดี Live Tapes รีอิชชู่ออกจำหน่ายโดย Eclectic ภายใต้ catalog no. ECLCD 1048 ซึ่งในซีดีชุดนี้มีเพลง bonus tracks เพิ่มมาอีก 3 เพลง ได้แก่ The World Goes On, Medicine Man และ Hymn For The Children และมีข้อมูลและรูปภาพเพิ่มเข้ามาในส่วนหน้าปกอีกเพียบ ผมเองก็เพิ่งทราบ เดี๋ยวจะลองหาดูว่ายังพอมีหลงเหลืออยู่ในตลาดบ้างหรือเปล่านะครับ

https://www.discogs.com/release/3709569-Barclay-James-Harvest-Live-Tapes

Revised track listing on Eclectic remaster (2006):

Disc One:
1. Child Of The Universe
2. Rock 'N' Roll Star
3. Poor Man's Moody Blues
4. Mockingbird
5. Hard Hearted Woman
6. One Night
7. The World Goes On (bonus track)
8. Medicine Man (previously unreleased bonus track)

Disc Two:
1. Taking Me Higher
2. Suicide?
3. Crazy City
4. Polk Street Rag
5. Hymn For The Children (previously unreleased bonus track)
6. Jonathan
7. For No One
8. Hymn


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 31 สิงหาคม 2022 | 08:50:38 AM
Yes - 90125 (1983)

อัลบั้มชุดนี้ของ Yes ตอนที่ออกจำหน่ายใหม่ ๆ เมื่อปี 1983 โดนนักวิจารณ์และแฟนเพลงทั่วโลกในยุคนั้นถล่มยับ อาจเป็นเพราะคุ้นชินกับดนตรีในรูปแบบดั้งเดิมของ Yes ที่เคยทำไว้ในอดีต แล้วมาเจอดนตรีแนวใหม่ในทศวรรษใหม่ของวงดนตรีที่เคยได้รับการยกย่องในอดีตว่าเป็นสุดยอดของ progressive rock จึงทำใจรับไม่ได้ หาว่าเป็น "ขยะ" หรือ "สวะ" ไปซะงั้น ผมโตทันผลงานชุดนี้ ตอนนั้นเรียนอยู่ ม.ปลาย แล้ว ไปซื้อเทปอัลบั้มชุดนี้ที่คลองถมมาฟัง ผมว่าผมชอบเพลงในอัลบั้มชุดนี้เกือบทุกเพลงเลยก็ว่าได้ ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับวงดนตรีวงหนึ่งซึ่งเมื่อคำนึงถึงกระแสดนตรีในขณะนั้นพวกเขาอาจจะคิดทำอะไรที่ฉีกแนวออกไปจากที่เคยเป็นอยู่เดิม ก็ไม่ต้องไปว่าพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาทำหรอกครับ เหรียญมีสองด้านเสมอ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องฟังหรือซื้อผลงานมาเก็บ แต่โดยส่วนตัว ผมชอบผลงานชุดนี้นะครับ เพราะปกติก็ชอบดนตรีที่มัน ๆ สนุกสนานอยู่แล้ว ไม่คิดมากครับ 5555

เครดิตภาพ www.gnosis2000.net

(http://www.gnosis2000.net/pics/yes90125.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 31 สิงหาคม 2022 | 06:20:48 PM
เพื่อนร่วมรุ่นปีเดียวกัน (1983) กับ 90125 ของ Yes มีอัลบั้มชุดใดบ้าง? ผมพอจะนึกได้จำนวนหนึ่ง และท่านอาจจะช่วยผมนึกด้วยก็ได้ เอาเป็นว่าขอลิสต์เอาไว้ก่อน ว่าง ๆ ไม่มีอะไรจะเล่น เดี๋ยวจะมาเม้นสั้น ๆ ครับ 5555 :D

Mike Oldfield - Crises
Asia - Alpha
Barclay James Harvest - Ring Of Changes
The Moody Blues - The Present
Marillion - Script For A Jester's Tear
Eloy - Performance


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 15 กันยายน 2022 | 07:48:59 AM
Barclay James Harvest - Turn Of The Tide (Polydor, 1981)

ผลงานลำดับที่สองของ Barclay James Harvest นับตั้งแต่ที่ Stuart "Woolly" Wolstenholme มือคีย์บอร์ด ได้ลาออกจากวงไป และเป็นผลงานชุดที่สองของการก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ในช่วงปี 1980s (ผลงานก่อนหน้านี้ซึ่งออกเมื่อปี 1980 คือชุด Eyes Of The Universe) อีกทั้งยังเป็นสติวดิโออัลบั้มลำดับที่ 11 ของวงด้วย คนฟังส่วนใหญ่ รวมทั้งแฟนเพลงชาวไทย รู้จัก BJH ด้วยเพลง Hymn จากอัลบั้ม Gone To Earth (1977) แต่ผมนี่แปลก รู้จักวงนี้เพราะเพลง In Memory Of The Martyrs ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม Turn Of The Tide โดยมีอินโทรเพลงด้วยเสียงซินธ์ที่โหยหวนและยืดยาว จึงคิดต่อไปว่าวงนี้ต้องเป็น progressive แน่นอน แล้วก็ไปหาเทปคาสเสทมาฟัง (ตามประสาคนที่ยังไม่มีแผ่นเสียง) คนขายเทปลองเปิดเพลงแรก Waiting On The Border Line ให้ฟัง ก็โดนใจผมเลย และผมชอบเพลงในอัลบั้มนี้ (แทบจะ) ทุกเพลงเลยก็ว่าได้ นอกจาก Waiting On The Border Line แล้ว ก็ยังมี How Do You Feel Now ซึ่งมีเสียงแซ็กโซโฟนที่ไพเราะเล่นโดย McAlea เพลง Back To The Wall, Echoes And Shadows, I'm Like A Train, Life Is For Living รวมไปถึง In Memory Of The Martyrs ซึ่งเป็นเพลงปิดท้ายอัลบั้ม ถึงแม้ดนตรีในอัลบั้มชุดนี้จะอ่อนด้อยในความเป็นร็อคตามสไตล์ของ BJH ในยุค 1970s โดยหันไปหาความเป็น pop rock และ AOR มากขึ้นในยุค 1980s แต่ดนตรีของพวกเขาก็ยังคงมาตรฐานความเป็นร็อคที่ลึกซึ้งละเมียดละไมในแบบฉบับร็อคอังกฤษและภาคพื้นยุโรป ปราศจากสากเสี้ยนของดนตรีบลูส์อเมริกันดังเช่นที่วงร่วมสมัยอื่น ๆ นิยมเล่นกัน และที่สำคัญในความเห็นของผม สำเนียงคีย์บอร์ดในอัลบั้มชุดนี้สวยงามมาก ซึ่งตอนแรกผมนึกว่า Wolstenholme สมาชิกดั้งเดิม เป็นคนเล่น แต่อันที่จริง Wolstenholme ลาออกจากวงหลังจากออกอัลบั้มชุด XII ส่วนคนที่เล่นคีย์บอร์ดในอัลบั้ม Turn Of The Tide คือนักดนตรีมือปืนรับจ้าง Kevin McAlea และ Colin Browne ครับ

เครดิตภาพ www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/655/cover_4231421122011_r.jpg)

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/09/15/ae1uDW.md.jpg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2023 | 04:48:05 PM
มาว่ากันต่อให้จบถึงอัลบั้มลองเพลย์ประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เปรียว" (2526) โดย คณะพราว (proud) ที่ผมติดค้างอยู่

คราวก่อนผมได้พูดถึงสมาชิกของคณะพราวไปแล้ว คราวนี้ขอพูดถึงเพลงในอัลบั้มชุดนี้ ตามที่ได้ยินได้ฟังจากรายการวิทยุเมื่อช่วงปี 2526-2528 ข้ามมาราว 4 ทศวรรษจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งได้แผ่นเสียงมาเก็บ บอกตรง ๆ นะครับ สมัยก่อนบางเพลงในอัลบั้มชุดนี้ เช่น "จากวันนั้นถึงวันนี้", "ซิพรูด", "วอนดาว" ถูกเปิดกรอกหูผมทุกวันจนรู้สึกเอียนคนจัดรายการ ว่าจะโปรโมทอะไรกันนักกันหนา ทั้ง ๆ ที่หนังก็เลิกฉายในโรงไปนานแล้ว แต่พอเวลาผ่านไปก็ชักคิดถึงเพลงพวกนี้แฮะ... ท่านเคยรู้สึกอย่างนี้บ้างหรือเปล่าครับ  

คำร้องของเพลงในอัลบั้มชุดนี้เขียนโดยบุญรักษ์ (บุญญรักษ์) นิลวงศ์ ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "เปรียว" ด้วย ส่วนทำนองเขียนโดยนพดล กมลวรรณ ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัว คุณบุญรักษ์ นิลวงศ์ แต่งคำร้องโดยใช้ภาษาที่ค่อนข้างสละสลวย น่าฟัง และน่าประทับใจมากกว่าผลงานเพลงสตริงในยุคนั้นและในปัจจุบันมากมายนัก ส่วนฝีมือการเล่นคีย์บอร์ดในระดับแถวหน้าของคุณนพดล กมลวรรณ ก็ช่วยเพิ่มสีสันให้กับอัลบั้มชุดนี้ บางเพลงก็ปริ่ม ๆ มีกลิ่นอายของดนตรี progressive เจืออยู่บาง ๆ พอสวยงาม

มาดูกันเป็นรายเพลงดีกว่า เริ่มตั้งแต่เพลงแรกในหน้า A เลยครับ...

A
1. จากวันนั้นถึงวันนี้
ร้องนำโดยจรวยพร จิตตรีญาติ เป็นเพลงที่ถูกเปิดโปรโมทมากที่สุดในอัลบั้มชุดนี้ และอยู่ในความทรงจำของผู้ฟังจำนวนมากนานข้ามทศวรรษถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ยังมีรายการวิทยุบางสถานีเปิดเพลงนี้ออกอากาศอยู่

2. ซิพรูด
"ซิพ ซิพ ซิพ ซิพ ซิพ รูด
ซูด ซูด ซูด ซูด ซูด ริพ
ซิพ ไม่รูด
ซูด ไม่ริพ
ซิพไม่ใช่กระดุม
คอยคุมซิพไว้ให้ดี
รูด ๆ ระวังซิพหนีบ
รีบ ๆ ซิพหนีบเจ็บจี๋
ซิพแตกขายหน้าทันที
เสร็จจากสุขาอย่าเพิ่งสุขี
เสร็จจากสุขาอย่าเพิ่งสุขี
ตรวจดูอีกที อย่าลืมรูดซิพ
............................."

เพลงในลักษณะหนุ่มแหย่สาว สาวแหย่หนุ่ม ผลัดกันแซวกันไปแซวกันมา ตอนที่ผมได้ยินเพลงนี้ใหม่ ๆ คิดในใจว่า เพลงอะไรน่าเกลียดพิลึก พอฟังดูดี ๆ มันก็แต่งได้มีศิลปะดีแฮะ อย่างเช่น มีการเล่นคำผวนในตอนต้นเพลง (ซิพรูด ซูดริพ) ฝ่ายชาย (นพดล) กับฝ่ายหญิง (จรวยพร) ผลัดกันร้องตอบโต้ เพลงนี้ดูเหมือนจะถูกโปรโมทรองลงมาจากเพลง "จากวันนั้นถึงวันนี้"

3. วีต... บุม!
เพลงรักของวัยหนุ่มสาวซึ่งสบสายตาและมีมิตรจิต มิตรใจ ให้แก่กัน ร้องโดยนพดล กมลวรรณ ไอเดียเพลงนี้คงได้มาจากเพลงเชียร์ของนักเรียนนักศึกษา เป็นแทร็คที่ในยุคนั้นถูกเปิดเล่นเพื่อโปรโมทค่อนข้างบ่อย น่าจะรองจากเพลงลำดับถัดไป

4. วอนดาว
"...............................
อยากโผผิน บินขึ้นไปในท้องฟ้า
มองค้นหาว่าเธออยู่แห่งไหน
ได้แต่วอนดวงดาวพราวฟ้าไกล
ช่วยบอกทีได้ไหม ว่าฉันคิดถึงเธอ"

คำร้องท่อนสุดท้ายของเพลง "วอนดาว" เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณบุญรักษ์แต่งเพลงได้สละสลวยเพียงใด เพลงนี้เป็นเพลงจังหวะค่อนข้างช้าและโรแมนติค ถ้าเป็นในหนังท่านจะได้เห็นพระเอกกำลังนั่งมองท้องฟ้ายามราตรีและคิดถึงนางเอก

5. อยากให้ถึงวันนั้นเร็ว ๆ
เพลงจังหวะบั๊มพ์สนุก ๆ กระชึ่กกระชั่ก ร้องโดยนพดล กมลวรรณ ผมเพิ่งรู้จักเพลงนี้เมื่อฟังจากแผ่นเสียง แสดงว่าเพลงนี้ในยุคนั้นแทบไม่ค่อยถูกเปิดออกอากาศเพื่อโปรโมท อนึ่ง เสียงร้องของคุณนพดลฟังดูหล่อ ๆ เท่ ๆ คล้ายเสียงร้องของคุณดอน สอนระเบียบ อยู่พอสมควรครับ

เพลงหมดหน้า A พลิกแผ่นเสียงมาหน้า B

B
1. เปรียว
เพลงไทเทิลแทร็ค ความยาว 7 นาทีกว่า แต่ไม่ค่อยถูกเปิดเล่นออกอากาศบ่อยนักในยุคนั้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความยาวของเพลงก็ได้ เพลงนี้เปิดฉากอลังการด้วยเสียงคีย์บอร์ด ซินธ์และเสียงเอฟเฟ็คเฟี้ยวฟ้าว เร่งจังหวะขึ้นเป็นร็อคที่เดินจังหวะด้วยกลอง เบสส์ และลีดกีตาร์มันส์ ๆ ร้องนำโดยนพดล กมลวรรณ

2. เปลวเทียน
"เธอทิ้งฉันไป
เหมือนถูกกระชากดวงใจ
กลัดกลุ้มรุ่มร้อนทรวงใน
เหมือนดังไฟแผดเผาใจ
มอดไหม้เป็นจุณ
ชีวิตฉันคงแตกคงดับ
เธอพัง พังชีวิตฉันยับ
ทำลายรักที่มอบให้เธอ
สุดหัวใจ สุดหัวใจ สุดหัวใจ
..................................."

เนื้อร้องอินโทรเพลง "เปลวเทียน" ซึ่งเป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้มชุดนี้ และอาจโดนใจจิ๊กโก๋อกหักทั้งหลายด้วยก็ได้ เป็นเพลงที่มีลักษณะกึ่ง ๆ progressive คำร้องไม่มาก ร้องวนไปมา ดนตรีเล่นสอดรับกันดี คีย์บอร์ดเด่น

3. โอ๊ะ เอ๊
เพลงสไตล์ทะเล้น ราวกับเป็นเพลง "ซิพรูด" ภาคสองยังไงยังงั้น เพราะจบด้วยเนื้อเพลงว่า
"ก็เธอลืมรูดซิพ
อุ๊ อุ๊ อิ๊ อุ๊ อิ๊ อุ๊ อ่า"


4. จากวันนั้นถึงวันนี้ (บรรเลง)

5. เปลวเทียน (บรรเลง)

ด้วยไม่อยากให้อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ชุดนี้ต้องสูญหายไปตามกาลเวลาและไม่มีใครพูดถึง ผมจึงขอบันทึกบทวิพากษ์และความเห็นของคนฟังเพลงคนหนึ่งที่มีต่อผลงานชุดนี้ไว้ ณ ที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจครับ

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/06/29/VjHtjf.md.jpg)

(https://sv1.picz.in.th/images/2022/06/29/VjHZUz.md.jpg)

ฟังอัลบั้มประกอบภาพยนตร์ชุดนี้จาก YouTube ครับ

https://www.youtube.com/watch?v=WBv2UFXD3CE


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2023 | 08:54:03 AM
ปีนี้ภาพยนตร์เรื่อง "เปรียว" บรรจบครบรอบ 40 ปีพอดี (2526-2566) ผมไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ในโรง แต่เคยดูผ่าน YouTube ที่เคยมีคนมาปล่อยไว้ครั้งเดียว พอจะเข้าไปดูอีกก็ไม่เจอแล้ว เจอแต่กากฟิล์ม ภาพยนตร์คงอาจถูกถอดออกไปด้วยเหตุผลบางประการ แต่จะคอยดูอยู่เรื่อย ๆ ครับว่ามีใครเอามาปล่อยให้ดูอีก ฮ่า! ;D

วสุ แสงสิงแก้ว ซึ่งเล่นเป็นพระเอกในเรื่องนี้ ตอนนั้นใช้ชื่อในการแสดงว่า "วิชชุ วัชรพันธ์" ครับ

https://thaimovie.org/titles/2577/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2023 | 10:27:25 AM
Patrick Moraz - Future Memories - Live on TV (Keyboards' Metamorphoses) (1979)

ผลงานแสดงสดออกทีวี ณ กรุงเจนีวา เมื่อปี 1979 โดยอดีตมือคีย์บอร์ดของ Mainhorse, Refugee, Yes และกำลังจะเป็นสมาชิกของ The Moody Blues ในอีกหนึ่งหรือสองปีถัดไป (ในขณะนั้น) สไตล์ดนตรีแนว electronic progressive / experimental หากจะให้เทียบเคียงก็คงคล้ายกับดนตรีของ Tangerine Dream ต้นยุค 1980s และผลงานร่วมสมัยของ Jean-Michel Jarre เช่น Magnetic Fields เป็นต้น Patrick Moraz คุมสรรพคีย์บอร์ด synthesizers และเครื่องสร้าง sound effects นานาชนิด และบรรเลงออกมาในลักษณะ improvisation ซึ่งหากสังเกตดูดี ๆ Moraz เองก็ถนัดในการเล่นคีย์บอร์ดสไตล์แจ๊สส์ ซึ่งเน้นการด้นกลอนสดหรือ improvise อยู่แล้ว และอัลบั้มชุดนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการโชว์ทักษะของเขาในลักษณะที่ว่านี้ ดนตรีที่บรรเลงมีสำเนียงแห่งโลกอนาคตหรือ futuristic sound จำเนียรกาลผ่านไป เมื่อถึงพ.ศ.นี้ อัลบั้มชุดนี้มีอายุร่วม 44 ปีแล้ว แต่ sound ยังฟังดูไม่ค่อยล้าสมัยเท่าไรนัก และยิ่งถ้าได้ดูคลิปวีดิโอเพลง Metamorphoses ที่ Moraz เล่นออกทีวีในยุคนั้น เมื่อ 44 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดบรรยากาศรายล้อมให้ดูล้ำสมัย มีรูปหัวหุ่นยนต์ซึ่งมีแสงไฟกะพริบที่ตา ฯลฯ สมัยนี้คงจะดูเชยไปแล้ว แต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ภาพที่เห็นคงน่าตื่นตาตื่นใจ ผมมีแผ่นเสียงที่ออกโดย Carere ฝรั่งเศส ในขณะที่แผ่นเสียงชุดนี้ที่ทำในอเมริกาก็มีด้วยเช่นกัน ชื่อเสียงของ Patrick Moraz อาจไม่ได้มีคนรู้จักมากมายหรือกว้างขวางดังเช่นมือคีย์บอร์ดระดับโลกคนอื่น ๆ แต่ฝีมือของเขาไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นสมาชิกของ Yes และเคยออกทัวร์ร่วมกับ Yes มาแล้วครับ

เครดิตภาพ www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/1454/cover_25922822014_r.jpeg)


หัวข้อ: Re: คอมเมนต์สั้น ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มในคอลเล็คชั่นของท่าน
เริ่มหัวข้อโดย: ปีศาจลายคราม ที่ 10 มีนาคม 2023 | 03:34:39 PM
Emerson Lake & Palmer - The Best of Emerson Lake & Palmer (1980)

อีกหนึ่งอัลบั้มรวมเพลงที่ผมขอพูดถึงสักหน่อย แม้ว่าปกติไม่อยากจะพูดถึงเท่าใดนัก

นานมาแล้ว ผมเคยอ่านเจอคำเตือนที่ไหนสักแห่งว่าให้หลีกเลี่ยงผลงานรวมเพลงของ ELP ในทุกกรณี เพราะเป็นการกระทำของคนที่เห็นแก่ได้ หวังประโยชน์ทางการค้า ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ก็ไม่ทราบว่าคนเตือนเขาด่าวงดนตรีหรือบริษัทแผ่นเสียงหรือด่าทั้งสองฝ่ายกันแน่ ผมเองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกครับ เพราะตอนนั้นเพิ่งได้ยินชื่อ ELP และยังไม่ได้ฟังผลงานของ ELP เลยด้วยซ้ำ มาเข้าใจภายหลังว่าน่าจะเป็นเพราะผลงานของ ELP โดยมากเป็นเพลงยาว เมื่อนำเอาเพลงเด็ด ๆ มารวมกันเป็นอัลบั้ม โดยเฉพาะเป็นอัลบั้มเดี่ยวอย่างผลงาน The Best Of... ชุดนี้ บางเพลงที่ยาวก็ถูกหั่นให้สั้นลง อาจทำให้เสียอรรถรสของแฟน ๆ ที่ต้องการเพลงที่ครบเต็มไป เช่น เพลง Fanfare For The Common Man จากชุด Works I ซึ่งถูกหั่นช่วงท้ายที่ Emerson โซโลคีย์บอร์ดออกไป (แต่ก็น่าหั่นอยู่หรอกครับ เพราะผมเห็นว่าเป็นการโซโลคีย์บอร์ดที่น่าเบื่อมากของ Emerson) อันที่จริงอัลบั้มรวมเพลงชุดนี้ผมว่าสั้นไปนิด เพราะมีความยาวรวมแค่ 38 นาทีกว่า ๆ น่าจะขยายออกไปได้ถึง 40 กว่านาที เหตุผลที่ผมชอบอัลบั้มชุดนี้คือ หนึ่ง, หน้าปกอัลบั้ม ซึ่งทำได้อย่างมีศิลปะและอารมณ์ขันในตัว สอง, เพลงเด็ด ๆ ที่ประสบความสำเร็จทางการค้า (ซึ่งโดยมากเป็นเพลงสั้น ๆ) และติดหูติดใจประชาชน ต่างรวมอยู่ในชุดนี้ เช่น Hoedown, Lucky Man, Still... You Turn Me On, Jerusalem สาม, เพลงแรกของอัลบั้ม The Best Of... คือ Hoedown จากอัลบั้ม Trilogy ไม่เคยไพเราะและฟังมันส์ในอารมณ์เท่ากับที่ได้ยินจาก The Best Of... เพราะ Hoedown ใน Trilogy ถูกวางไว้เป็นเพลงลำดับสุดท้ายในหน้าแรกของแผ่นเสียง และคุณภาพเสียงออกไปในทาง laid back และเสียงออกบาง ๆ แต่พอ Hoedown มาอยู่ในร่องแรกของ The Best Of... ผมว่านี่แหละครับ ใช่เลย Hoedown ที่มันส์สะใจและเคยเป็นเพลงเปิดรายการ Top Teen Talen ของคุณวิทูรย์ วทัญญู (ซึ่งแกอาจจะใช้ Hoedown จาก The Best Of... เปิดเป็น jingle ของรายการก็ได้) และ สี่, Trilogy เพลงยาวปิดท้าย The Best Of... ซึ่งผมว่าเหมาะสมดีแล้ว โดยสรุป The Best Of Emerson Lake & Palmer ถือเป็นผลงานรวมเพลงในรูปแผ่นเสียงที่น่าสนใจสำหรับใครก็ตามที่อยากทำความรู้จักกับ ELP ในเบื้องต้นเพื่อทำการต่อยอดไปหาอัลบั้มเต็มมาฟังในภายหลังครับ

เครดิตภาพ www.progarchives.com

(http://www.progarchives.com/progressive_rock_discography_covers/94/cover_1131101112008.jpg)