ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
การค้นหาขั้นสูง

149643 กระทู้ ใน 4435 หัวข้อ- โดย 847 สมาชิก - สมาชิกล่าสุด: axlrose

29 มีนาคม 2024 | 08:17:50 PM
Thai Progressive Rock CommunityThaiProgKeep TalkingMellotron Scratch - The Story of Mellotron
หน้า: [1] 2 3 4
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: Mellotron Scratch - The Story of Mellotron  (อ่าน 46117 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Layla F Mulder
Administrator
Blackfield
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 3604


Without appreciation, the music isn't worth.

basnaphon@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 10:09:17 PM »

Mellotron Scratch - The Story of Mellotron

Written by Agent Fox Mulder



บทนำ
คอโปรแกรสสีฟหลายๆ ท่าน คงจะรู้จักเครื่องดนตรีชิ้นนี้กันเป็นอย่างดี มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในดนตรีโปรแกรสสีฟอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะกับวงดนตรีโปรแกรสสีฟชั้นแนวหน้าอย่าง The Moody Blues, King Crimson, Genesis และ Yes พอพูดอย่างนี้แล้วหลายๆ คนคงนึกถึงแทร็กโปรดประจำวงของที่ได้กล่าวมา แน่นอนว่ามันเป็นเครื่องดนตรีที่น่าทึ่งและน่าพิศมัยเหลือเกิน ถึงกระนั้นก็มีข้อมูลที่เขียนเกี่ยวกับมันไว้น้อยนิด โดยเฉพาะในรูปแบบของภาษาไทย วันนี้ได้ฤกษ์ดีเป็นช่วงวันหยุดสงกรานต์ ประกอบกับผมใช้เวลาทำการบ้านมาบ้างพอสมควร จึงได้ลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาเสียที เพื่อหวังว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้จักเครื่องดนตรีชิ้นนี้มากขึ้น และฟังเสียงเมโลตรอนได้สนุกสนานยิ่งขึ้นกว่าเดิมครับ

เมโลตรอนคืออะไร?
ความจริง จะเรียกเมโลตรอนว่าเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ก็คงจะใช่ แต่แท้ที่จริงแล้ว เมโลตรอนคือเครื่องเล่นเทปแม่เหล็กชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในรูปแบบของคีย์บอร์ด หรือจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษให้ชัดเจน มันคือ Tape Replay Keyboard กล่าวคือคีย์บอร์ดชนิดนี้ ใต้ของคีย์ทุกคีย์จะมีหัวอ่านเทปและสายเทปอยู่ เมื่อเรากดคีย์ใดคีย์หนึ่งหัวเทปก็จะทำการอ่านสายเทปออกมาเพื่อให้เกิดเป็นเสียงตามสายเทปเส้นนั้นๆ ซึ่งจากคุณสมบัตินี้ทำให้มันสามารถทำงานคล้ายๆ กับคีย์บอร์ดประเภทเปียโน และออร์แกน แต่สามารถให้เสียงออกมาเป็นเครื่องดนตรีสารพัดชนิดตามแต่ Tape Set ที่ถูกบรรจุอยู่ภายในนั่นเอง

มันสำคัญอย่างไร?
ย้อนกลับไปเมื่อกลางยุค 60's ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างดนตรี "New Rock" กับ Oldies Music ในยุคสมัยนั้น เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดที่ใช้ในการบันทึกเสียงหลักๆ มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เปียโน ออร์แกนและตู้ลำโพงเลสลี่ ออร์แกนไฟฟ้า เปียโนไฟฟ้า เครื่องดนตรีประเภทซินธิไซเซอร์ที่เป็น Monophonic เพิ่งถูกพัฒนาขึ้น และเริ่มต้นนำมาใช้กับดนตรี Popular Music ทำให้ข้อจำกัดของเครื่องดนตรีประเภทนี้ยังมีอยู่มาก หากใครต้องการเสียงของเครื่องสาย ไวโอลิน เชลโล เสียงของวงเครื่องสาย เสียงของเครื่องเป่าทองเหลือง หรือเสียงประสานแบบไควร์ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือคุณต้องออกไปหานักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้ มาบันทึกเสียงจริงๆ ซึ่งมันยุ่งยากและเต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล การมาถึงของเมโลตรอน เครื่องดนตรีที่เป็นลักษณะของ Sample-Playback ชิ้นแรกของโลก รวมถึงเป็นคีย์บอร์ดประเภท Polyphonic ชิ้นแรกของโลกอีกด้วย ทำให้ข้อจำกัดที่กล่าวมาทั้งหมด ถูกทำลายจนหมดสิ้น ด้วยคีย์บอร์ดเครื่องนี้เครื่องเดียว คุณสามารถสร้างเสียงไวโอลิน เชลโล เครื่องเป่าทองเหลือง เครื่องเป่าลมไม้ เสียงประสานไควร์ และอื่นๆ ได้ด้วยนักดนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น ด้วยความที่มันสะดวกสบายและเป็นเครื่องดนตรีที่ล้ำยุค (ในสมัยนั้น) ทำให้มีศิลปินมากมายนำมันไปใช้กับงานดนตรีของตนเอง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่ศิลปินคลาสสิคร็อคมากมายในช่วงปลายยุค 60's จนไปพีคเต็มที่กับศิลปินโปรแกรสสีฟร็อคในยุค 70's และศิลปินบางส่วนก็ยังนำเมโลตรอนมาใช้ในงานดนตรีจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเนื่องจากความคลาสสิคของเครื่องดนตรีชนิดนี้ไม่เคยเสื่อมคลายลง เช่นวงอย่าง Anekdoten ยังใช้เมโลตรอนเป็นเครื่องดนตรีหลักในการบันทึกเสียงและออกทัวร์อยู่เสมอ


- Nicklas Barker นักร้องนำ/มือกีตาร์/มือคีย์บอร์ดของวง Anekdoten กำลังเล่นเมโลตรอนในคอนเสิร์ตงาน Melloboat 2008 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี 2008


- Tony Banks บนเวทีคอนเสิร์ตในช่วงยุค 70's กับเมโลตรอนรุ่น M400 ตัวสีขาวที่วางอยู่ทางด้านซ้ายมือของเขา (ตัวล่าง)


- ภาพที่อยู่ภายในของ Booklet อัลบั้ม The Six Wives of Henry VIII ของ Rick Wakeman ซึ่งภาพนี้แสดงให้เห็นถึงคีย์บอร์ดหลายชนิดที่เขาใช้ในการเล่นบันทึกเสียงในอัลบั้มนี้ สังเกตดีๆ จะเห็นเมโลตรอนรุ่น M400 สีขาวสองตัววางอยู่ใต้ Minimoog ทางด้านขวามือของริก


- Paul McCartney, John Bradley และ Martin Smith กับเมโลตรอนรุ่น FX Console


- Mike Pinder กับเมโลตรอนรุ่น Mark II ในช่วงยุคแรกเริ่มของวง Moody Blues

มันแตกต่างจากเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดอื่นๆ อย่างไรบ้าง?
เจ้าเมโลตรอนนี้เป็นเครื่องดนตรีประเภท Sampler ชิ้นแรกของโลก ซึ่่งมันทำงานด้วยระบบกลไลแบบแมคคานิคล้วนๆ ต่างจากคีย์บอร์ดประเภท Sampler ที่ใช้กันอยู่ดาษดื่นในยุคสมัยนี้ ซึ่งการทำงานจะขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิตอลทั้งหมด อุปกรณ์ภายในเป็น Chipset ไดโอด ทรานซิสเตอร์ คาปาซิสเตอร์ เมมโมรี่ต่างๆ ในขณะที่เมโลตรอนนั้น จะมีก็แค่สายเทป หัวอ่าน ล้อหมุน และระบบกลไกแมคคานิคที่ทำงานเพื่อใ้ห้สายเทปสามารถสัมผัสกับหัวอ่านได้ สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนจึงมีหลายประการ ประการแรกคือเสียงของเมโลตรอน จะมีลักษณะขุ่นและไม่นิ่งเหมือนกับคีย์บอร์ด Sampler ในยุคปัจจุบัน เปรียบเทียบได้กับเสียงที่เล่นจากแผ่นซีดีกับเสียงที่เล่นจากแผ่นเสียง ซึ่งซีดีจะให้เสียงที่คมชัด สดใส และแน่นอน ในขณะที่เสียงจากแผ่นเสียงจะมีความอุ่น มีเสียงสั่นและเสียงรบกวนเล็กน้อย เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถเจาะจงได้หรอกครับว่า เสียงแบบไหนที่ดีกว่ากัน เสียงของเมโลตรอนที่ขุ่นและสั่น สามารถให้ความอภิรมย์กับผู้ฟังในแบบที่คีย์บอร์ดปัจจุบันทำไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากคุณต้องการความสดใสและชัดเจนของตัวโน๊ต คีย์บอร์ด Sampler ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าครับ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของความเสถียร เนื่องจากระบบการทำงานเป็นกลไกแมคคานิคแทบทั้งหมด ปัญหาต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้จากการสึกหรอ การกระแทก หรือแม้แต่อุณหภูมิ ซึ่งจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในหัวข้อต่อไป

ข้อจำกัดและปัญหาของเมโลตรอน?
การขนย้ายเมโลตรอนเพื่อใช้ในการนำไปเล่นออกทัวร์ถือเป็นฝันร้ายอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ปัญหาหลัีกๆ ของมันมีอยู่ด้วยกันสามประการด้วยกัน ประการแรกคือเนื่องจากกลไกทางแมคคานิคของมัน การขนย้ายจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ใ้ห้เกิดการกระแทก ทำให้เมโลตรอนเสียหาย แต่ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่เบาที่สุด เมื่อเทียบกับสองปัญหาสองอย่างที่เหลือ ปัญหาต่อมาของมันคือขนาดและน้ำหนัก เมโลตรอนรุ่นแรกๆ อย่างรุ่น Mark I/II หรือ M300 มีน้ำหนักมากกว่าหนึ่งร้อยกิโลกรัมต่อตัว โดยเฉพาะรุ่นแรกๆ มีน้ำหนักถึง 150 กิโลกรัมเลยทีเดียว ทำให้การขนย้ายเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหลังจากรุ่น M400 เป็นต้นมา น้ำหนักของมันก็ลดลงเหลือเพียงประมาณ 50 กิโลกรัม แต่ถึงกระนั้นมันก็ถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีน้ำหนักมากอยู่ดี สำหรับ Mark I/II หรือ M300 เป็นรุ่นที่มักจะถูกใช้งานในสตูดิโอเท่านั้น ไม่เหมาะกับการเคลื่อนย้าย ในขณะที่รุ่นหลังๆ อย่าง M400 เป็นต้นมา สามารถพอที่จะเคลื่อนย้ายไปใช้ในการออกทัวร์ได้

ปัญหาอย่างสุดท้ายคือเรื่องของความไวต่ออุณหภูมิของมัน เนื่องจากสายเทปอาจจะยืดได้ เมื่อตัวเมโลตรอนอยู่ในอุณหภูมิที่สูงมากๆ เป็นเวลานาน (คล้ายๆ กับเทปเพลงยืด) และเมื่อตัวสายเทปยืด มันจะส่งผลให้ Pitch ของเสียงผิดเพี้ยนไป ทำให้เมื่อเวลาเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ จะเพี้ยน หรือสายเทปอาจจะยืดจนไม่สามารถใช้เล่นเลยก็เป็นได้ Blue Weaver มือคีย์บอร์ดของวง Strawbs กล่าวว่า ในคอนเสิร์ตหนึ่งของวง Strawbs เขาเตรียมเครื่องดนตรีทิ้งไว้บนเวทีแต่เนิ่นๆ บนเวที เมโลตรอนถูกวางแช่ทิ้งไว้ตากแดดตั้งแต่ตอนช่วงบ่ายๆ เมื่อคอนเสิร์ตเริ่มขึ้น เขาเดินขึ้นไปบนเวที แสงไฟค่อยๆ ฉายมาที่เขา และเขาก็กดคอร์ดลงบนเมโลตรอน แต่ว่าสายเทปยืดเสียแล้ว ทำให้เสียงออกมาเพี้ยนไปหมด ทำให้เขารู้สึกอับอายเป็นอันมาก มือคีย์บอร์ดของวง Tangerine Dream กล่าวว่า เมโลตรอนเป็นเครื่องดนตรีที่เพี้ยนง่ายมาก ทำให้ต้องจูนมันบ่อยๆ แทบจะเป็นสิบครั้งต่อหนึ่งรอบการแสดง ภายในเวลาสองชั่วโมง ส่วนวง King Crimson นั้นเคยขนเมโลตรอนออกทัวร์ไปด้วยถึงห้าตัวด้วยกัน แต่สุดท้ายมันก็เสียหายจนใช้การไม่ได้ทั้งหมด


- ภาพถ่ายของ Robert Fripp กับเมโลตรอนรุ่น M400 ในช่วงปี 1972

ประวัติความเป็นมาและการพัฒนาเมโลตรอนในช่วงแรกเริ่ม
ในช่วงปลายยุค 40's ในแคลิฟอเนียร์ บุรุษนาม Harry Chamberlin ได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรีชนิดแรกที่ใช้หลักการของเทปบันทึกเสียง เครื่องดนตรีชิ้นนี้มีชื่อโมเดลว่า 100 Rhythmate ซึ่งมันประกอบไปด้วยเทปที่บันทึกเสียงลูปของแพทเทิร์นกลองในหลายๆ แพทเทิร์นเอาไว้ เจ้าเครื่องนี้เองอาจถือเป็นบรรพบุรุษของเครื่องดนตรีประเภท Sampler และ Drum Machine ในปัจจุบัน และในรุ่นโมเดลต่อมา 200 ไม่ได้ใช้แค่เพียงเทปบันทึกเสียงเท่านั้น แต่มันยังมีตัวแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งสามารถให้เสียงได้หลากหลายทั้ง ฟลุ๊ต ไวโอลิน ไวบราโฟน และอื่นๆ และในรุ่นโมเดลต่อๆ มา (300/350, 400, 600/660...) ได้นำเอาเทปขนาด 3/8 นิ้ว จำนวนสามแทร็คมาใช้ เนื่องด้วยเทปขนาดเฉพาะนี้เองทำให้ Harry Chamberlin ได้กลายมาเป็นผู้จำหน่ายเทปในขนาดเฉพาะเพื่อใช้กับเครื่องดนตรีของเขาเท่านั้น ในรุ่นโมเดล 600 Music Master ต่อมา ถือเป็นรุ่นที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมโลตรอน เนื่องจากเป็นโมเดลแรกที่มีคีย์บอร์ดจำนวนข้างละ 35 คีย์ ถูกแบ่งแยกออกเป็นซ้ายและขวา โดยคีย์ทางฝั่งขวาจะใช้สำหรับเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ (เช่น ฟลุ๊ต, ไวโอลิน..) ส่วนฝั่งซ้าย ใช้สำหรับควบคุมภาคจังหวะ (เช่น บอซซ่า โนว่า, ชะ ชะ ช่า...) และระบบเดียวกันนี้เองถูกนำมาใช้ในอีกไปกี่ปีต่อมา กับเมโลตรอนรุ่นแรก Mark I

การผลิตอย่างจริงจังของ Chamberlins เริ่มต้นในช่วงต้นยุค 50's Harry Chamberlin ว่าจ้างชายคนหนึ่งที่ชื่อ Bill Fransen มาเป็นพนักงานขายเครื่องดนตรีของเขา หน้าที่ของ Bill คือช่วยเพิ่มยอดขายของสินค้า แต่อย่างไรก็ตามระบบการทำงานของเครื่องดนตรีของเขาก็ยังไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก เนื่องจากตัวกลไกยังไม่มีความเสถียรมากพอ และการผลิตก็ยังทำแบบที่เป็นสเกลขนาดเล็กอยู่ Bill Fransen จึงได้นำเอาเครื่อง Chamberlins 600 Music Master จำนวนสองตัว ไปที่ประเทศอังกฤษ เพื่อหาบริษัทหรือโรงงานผลิตที่สามารถจัดการกับหัวเทป Replay Head จำนวน 70 หัวเทปได้ Bill ได้พบกับพี่น้อง Bradley (Frank, Norman และ Leslie) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท Bradmatics ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงปี 30's ผู้เชี่ยวชาญในด้านแมคคานิค แอมพลิฟลายด์ และหัวเทป Replay Head หลังจากตกลงกันแล้ว Bradmatics ก็ได้สร้างหัวเทป Replay Head จำนวน 70 หัวเทป ตามความต้องการของ Bill ได้สำเร็จ แต่พี่น้อง Bradley ก็ยังคงสงสัยว่าหัวเทปเหล่านี้จะถูกนำไปใช้งานยังไง Bill จึงได้แสดงเครื่อง Chamberlins สองเครื่องให้พวกเขาดู และก็เสนอให้พวกเขาช่วยเข้ามาพัฒนาเครื่องดนตรีชิ้นนี้ให้มีความเสถียรมากขึ้นและทำให้มันกลายเป็นสินค้าแบบ Mass Product พี่น้อง Bradley ตอบตกลงในทันที โดยที่ Bill ไม่รู้ว่าพวกพี่น้อง Bradley กำลังพยายามที่จะ "ขโมย" ดีไซน์และไอเดียต่างๆ ของ Harry Chamberlin ไป และหนึ่งปีหลังจากนั้น Chamberlin เริ่มรู้ข่าวและเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษ ท้ายที่สุดเขาตกลงขายดีไซน์และไอเดียของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ให้กับพี่น้อง Bradley ด้วยราคา 30,000 ปอนด์


- Bill Fransen (ซ้าย) และ Norman Bradley (ขวา)


- สามพี่น้องตระกูล Bradley เริ่มจาก Norman (ซ้าย), Frank (กลาง) และ Leslie (ขวา)

ประวัติและรายละเอียดของเมโลตรอนรุ่นต่างๆ


ในปี 1963 เมโลตรอนรุ่นแรก Mark I ไำด้ถือกำเนิดขึ้น โดยชื่อของ "Mellotron" นำมาจากคำว่า "MELOdy ElecTRONics" มันใช้ระบบการทำงานเดียวกับเครื่อง Chamberlin แป้นคีย์บอร์ดถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ด้านหนึ่งใช้สำหรับเป็นเสียงเครื่องดนตรีนำ ส่วนอีกด้านใช้สำหรับเสียงที่ให้จังหวะอื่นๆ ส่วนเทปที่ใช้เป็นเทป 3 แทร็คขนาด 3/8 นิ้ว

ในเดือนกันยายน เมโลตรอนถูกนำไปลงในสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อที่จะหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมให้กับการผลิต Eric Robinson ผู้นำของวงออเครสตร้า, David Nixon นักมายากล และนักธุรกิจอีกบางส่วน ได้ร่วมกันมาลงทุนในธุรกิจเมโลตรอนนี้

พี่น้อง Bradley ได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง Bimingham เพื่อเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นั่น และตั้งชื่อโรงงานและกิจการใหม่ว่า Streetly Electronics

ในขณะเดียวกัน Eric Robinson ก็ได้เิปิดสำนักงานขายในลอนดอนในชื่อ Mellotronics เขายังรับหน้าที่ในการบันทึกเสียงมาสเตอร์เทปที่ใช้กับเมโลตรอนอีกด้วย เครื่องโอนถ่าย-แปลงเทป ถูกสร้างขึ้นสองเครื่องเพื่อที่จะโอนถ่ายเทปให้กลายเป็นเทปขนาด 3/8 นิ้ว เพื่อใช้สำหรับเครื่องเมโลตรอน โดยตัวหนึ่งอยู่ที่ร้าน Mellotronics ในลอนดอน ส่วนอีกตัวหนึ่งอยู่ที่โรงงาน Streetly Electronics

ถึงแม้ว่าเมโลตรอน Mark I จะเป็นรุ่นปรับปรุงของเครื่อง Chamberlin แต่มันก็ยังคงไม่ค่อยมีความเสถียรมากเท่าที่ควร


ในปี 1964 รุ่น Mark II ก็ได้ออกวางจำหน่าย ซึ่งมันก็คือเวอร์ชั่นปรับปรุงของรุ่น Mark I นั่นเอง
ในช่วงเวลานี้ Mike Pinder ได้ทำงานอยู่ที่โรงงาน Streetly Electronics เป็นเวลาทั้งสิ้น 18 เดือนด้วยกัน หน้าที่ของเขาคือคอยตรวจสอบและควบคุมคุณภาพในการผลิตเมโลตรอน รวมไปถึงการทดสอบเครื่องเมโลตรอนด้วย ในที่สุดเขาก็ตกหลุมรักเสียงของเมโลตรอน และตัดสินใจนำมันไปใช้กับวงดนตรีที่เขาฟอร์มขึ้นมาหลังจากที่เขาออกจาก Streetly Electronics วงนี้คือวง The Moody Blues เพลงฮิตที่พวกเขาบันทึกเสียงด้วยเมโลตรอนเป็นเพลงแรกคือเพลง Love and Beauty ในปี 1967 และเมโลตรอนก็ได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับดนตรีของ The Moody Blues ภายในเวลาต่อมา

Mike Pinder มีไอเดียที่จะนำเทปเสียงของเครื่องดนตรีนำแบบที่อยู่ื่ทางแป้นคีย์บอร์ดฝั่งขวา ไปใส่เพิ่มแทนเทปเสียงที่ให้จังหวะทางแป้นคีย์บอร์ดทางฝั่งซ้าย ผลลัพธ์ที่ได้คือมันสามารถให้เสียงของเครื่องดนตรีหลายชนิดรวมกันได้ 36 ชนิดเครื่องดนตรี

Mike Pinder ยังเป็นผู้แนะนำวงเดอะบีทเทิลส์ให้รู้จักกับเมโลตรอนด้วย หลังจากที่เขาพบกันครั้งแรกกับ จอห์น, พอล, จอร์จ และริงโก้ พวกเขาก็มีเมโลตรอนประจำเป็นของพวกเขาเอง เพลงของเดอะบีทเทิลส์ที่โด่งดังที่สุดที่มีการนำเมโลตรอนมาใช้งานคือเพลง Strawberry Fields Forever ในปี 1967 ซึ่งมีอินโทรเป็นเสียงของฟลุ๊ตที่เล่นด้วยเมโลตรอนด้วยฝีมือของพอล แมคคาร์ทนี่ย์

ในปี 1965 วง Graham Bond Organization ถือเป็นวงดนตรีแรกที่บันทึกเสียงซิงเกิ้ล Lease on Love และอัลบั้ม There's a Bond Between Us ด้วยเมโลตรอน อีกซิงเกิ้ลที่มีการนำเมโลตรอนมาใช้ในช่วงยุคแรกๆ เป็นของ Manfred Mann's Semi-Detached ในปี 1966 และต่อมาภายหลัง ก็มีวงดนตรีชื่อดังอีกหลายวงที่นำเอาเมโลตรอนไปใช้ในการบันทึกเสียง เช่น The Rolling Stones, The Kinks และ Pink Floyd

ถือเป็นครั้งแรกที่เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวสามารถให้เสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงของวงเครื่องสาย วงเครื่องเป่าทองเหลือง ไวบราโฟน และอื่นๆ ได้ และยิ่งไปกว่านั้น เสียงของมันถือเป็นเสียงประเภท Polyphonic ล้วนๆ ซึ่งในขณะนั้นคีย์บอร์ดประเภทอื่นๆ ก็จะมีแค่ ออร์แกนไฟฟ้า (Hammond, Vox, Farfisa,...) เปียโนอคูสติกและเปียโนไฟฟ้า (Rhodes, Wurlitzer,...) และซินธิไซเซอร์แบบ Monophonic รุ่นแรกๆ เท่านั้น


แม้แต่ BBC ก็ยังมีความสนใจในเมโลตรอน จึงได้มีการผลิตเมโลตรอนรุ่น FX Console ขึ้นมาในปี 1965 โดยมันเป็นเวอร์ชั่นที่มีการปรับปรุงทางเทคนิคเพิ่มขึ้นไปอีกจากรุ่น Mark II มันสามารถให้เสียงซาวน์เอฟเฟคต์ได้มากถึง 1260 เสียง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้ให้เสียงประกอบในรายการทางวิทยุและโทรทัศน์


ในปี 1968 โมเดลใหมรุ่นต่อมาได้ถือกำเนิด M300 เมโลตรอนรุ่นนี้มีแป้นคีย์บอร์ดทั้งหมด 52 คีย์ และไม่ได้ถูกแบ่งส่วนเป็นสองฝั่งดังเช่นรุ่นก่อนๆ ทั้งสองส่วนร่วมกันเป็นส่วนเดียว มันมี Library เทปชุดใหม่ซึ่งให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าเดิม ถึงแม้ว่ามันดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเมโลตรอนรุ่นเก่าที่แสนจะจุกจิกและมีน้ำหนักมากอย่างรุ่น Mark II แต่ M300 ก็จะยังมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมากอยู่ดี (137 กิโลกรัม!) ซึ่งลำบากต่อการขนย้าย และยิ่งไปกว่านั้น มันมีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับระบบกรอเทป ทำใ้ห้เกิดปัญหาตามมามากมาย และในท้ายที่สุดมันถูกผลิตออกมาเพียงแค่ 60 ตัวเท่านั้น


ในปี 1970 เป็นปีแห่งการมาถึงของรุ่น M400 เมโลตรอนรุ่นที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดของบริษัท Streetly Electronics เมโลตรอนรุ่นนี้ถือเป็นเมโลตรอนรุ่นแรกที่มีความเหมาะสมกับการขนย้ายได้ และทางกลไกก็มีความซับซ้อนน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ และเสียงของมันก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ชุดเทป Library ที่ติดตั้งมากับตัวเครื่องอีกต่อไป เนื่องจากมันใช้ระบบ Tape Frame ที่สามารถถอดเปลี่ยนชุดของเทปได้ โดยแต่ละ Tape Frame สามารถให้เสียงที่แตกต่างกันได้ 3 เสียง ถ้าหากต้องการเปลี่ยน Library สิ่งที่ต้องทำก็คือทำการเปลี่ยน Tape Frame และท้ายที่สุดคือปัญหาเรื่องความไม่เสถียรของระบบก็ถูกแก้ไขให้หมดไปแทบหมด

ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 60's เป็นต้นมา เมโลตรอนถูกนำมาใช้งานแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะกับวงอย่าง Genesis, Yes และ King Crimson ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวงที่กำลังอยู่ใน Trend ของแนวดนตรีแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า "Progressive Rock" และด้วยความที่เมโลตรอนเป็นเครื่องดนตรี Polyphonic ซาวน์ของมันทั้งให้อารมณ์เคลิบเคล้ม เศร้าโศก เต็มไปด้วยเสน่ห์น่าหลงไหล และมีความเป็น Dramatic ทำให้เสียงของเมโลตรอนเข้ากันกับดนตรีแนวนี้ได้เป็นอย่างดี

และด้วยความสำเร็จของมันทำให้เมโลตรอนถูกนำไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1972 ด้วย โดยบริษัท Dallas Arbiter (ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Dallas Music Industries)


ในปี 1975 เมโลตรอนรุ่น Mark V ออกว่าจำหน่าย ซึ่งมันคือเมโลตรอนรุ่น M400 สองตัวที่ถูกจับรวมเข้ากันไว้ในตู้ใบเดียว และเพิ่ม Spring Reverb เข้าไป

และด้วยสาเหตุปัญหาทางด้านการเงิน Dallas Arbiter ได้ล้มละลายไปในปี 1977 และนำมาซึ่งการปิดตัวของ Mellotronics ที่กรุงลอนดอนในเวลาต่อมา และเนื่องด้วยปัญหาทางด้านกฎหมายในการแย่งชื่อของเมโลตรอนกัน Streetly Electronics จึงต้องยอมเสียชื่อเมโลตรอนไป และในภายหลังได้ทำการผลิตเมโลตรอนออกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อใหม่ "Novatron" ในขณะที่เจ้าของเก่าของบริษัท Dallas Arbiter นาม Bill Eberline ได้สร้างบริษัทที่ชื่อ Sound Sales ขึ้นมาใหม่และดำเนินการขายเครื่องดนตรีชนิดนี้ต่อไปภายใต้ชื่อ "Mellotron" !   


ในปี 1981 เมโลตรอนรุ่น 4 Track ซึ่งเป็นเมโลตรอนสัญชาติอเมริกันตัวแรกได้เปิดตัวขึ้น โดยใช้คอนเซปต์เดียวกันรุ่น M400 โดยรุ่น 4 Track มีการปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มันก็ไม่ค่อยรุ่นที่ดีนัก สาเหตุเนื่องมาจากเทปบันทึกเสียงที่มีคุณภาพแย่ของมัน

ในช่วงต้นยุค 80's เครื่องดนตรีประเภท Electric Sampler ชนิดแรกถือกำเนิดขึ้น ชื่อของมันคือ Fairlight หรือ Emulator II แต่ถึงแม้ว่ามันจะแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากในยุคนั้น แต่คุณภาพเสียงของมันก็อยู่ในระดับแย่ และมันก็สามารถบันทึกเสียงได้เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น อย่างไรก็ตามการพัฒนาของมันก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเครื่องดนตรีประเภทนี้ขึ้นมาใหม่อีกมากมาย ที่มีคุณภาพเสียงที่ดีกว่า และราคาถูกลงไปอีก (Akai, Roland,...) ซึ่งนั้นทำให้เมโลตรอนและโนวาตรอนมาถึงจุดจบในที่สุด และ Streetly Electronics ก็ปิดตัวลงในปี 1986

ในปี 1990 David Kean ได้ทำการซื้อชิ้นส่วนอะไหล่และเทปของ Mellotronics ไปทั้งหมด รวมถึงซื้อลิขสิทธิ์ของชื่อ "Mellotron" ไปด้วย เพื่อสร้าง Mellotron Archives สำหรับช่วยเหลือแฟนๆ ของเครื่องดนตรีชนิดนี้ ปัจจุบัน Mellotron Archives ตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา

ภายหลังในอีกไม่กี่ปีต่อมา ในชานเมืองของ Birmingham ลูกชายของ Leslie Bradley นาม John Bradley ได้เปิดบริษัท Streetly Electronics ขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อเดียวกับโรงงานแรกที่ผลิตเมโลตรอนในอดีต ร่วมกับเพื่อนของเขาที่ชื่อ Martin Smith ซึ่งบริษัทนี้รับซ่อมแซม ฟื้นสภาพ และขายอุปกรณ์อะไหล่และเทปสำหรับเมโลตรอนทุกรุ่น

Leslie Bradley ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเมโลตรอน เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี 1997


ในปี 1998 David Kean เจ้าของ Mellotron Archives กับเพื่อนชาวสวีเดนของเขาที่ชื่อ Markus Resch ได้ประดิษฐ์คิดค้นเมโลตรอนรุ่นใหม่ออกมาในชื่อ Mark VI โดยใช้ระบบการทำงานเดียวกับรุ่น M400 แต่มีการปรับปรุงต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย เช่น เปลี่ยนจากปรีแอมป์ที่เป็นทรานซิสเตอร์มาเป็นปรีแอมป์หลอด ตัวเคสไม้ที่มีน้ำหนักเบาลง และมีระบบความคุมสปีดสองระดับของมอเตอร์ด้วย


เมโลตรอนรุ่นที่เป็นแป้นคีย์บอร์ดแบบสองด้านโดยใช้เมโลตรอนรุ่น Mark V มาวางคู่กันในกล่องไม้กล่องเดียวกลับมาอีกครั้ง เมโลตรอนแบบแป้นคีย์บอร์ดคู่นี้ออกวางจำหน่ายในชื่อ Mark VII


เป็นเวลา 20 ปี หลังจากที่การผลิตเมโลตรอนหยุดลงไปในปี 1986 Streetly Electronics เปิดตัวโมเดลใหม่ในเดือนพฤษภาคมของปี 2007 ในชื่อ M4000 โดยที่ M4000 เป็นโมเลตรอนรุ่นแรกในรอบ 40 ปีที่มีระบบวงจรเทปที่หมุนเป็นรอบวงกลม ซึ่งเป็นระบบแบบที่มีในเมโลตรอนรุ่นเก่าๆ เช่น Mark I, Mark II, SFX และ M300 โดยระบบวงจรเทปที่หมุนเป็นรอบวงกลมนี้ถูกเลิกใช้งานไปในรุ่น M400 ในปี 1970 และเมโลตรอนแบบแป้นคีย์บอร์ดคู่ออกวางจำหน่ายตามมาในชื่อ M5000
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 กรกฎาคม 2008 | 10:02:00 PM โดย Agent Fox Mulder » บันทึกการเข้า

 
Tsundere (ツンデレ?) (pronounced /(t)sʌnˈdɪə(r)/ in English or /t͡sun.de.ɽe/ in Japanese) is a Japanese concept of a character archetype which describes a person with a conceited, irritable, and/or violent personality that suddenly becomes modest and loving when triggered by some sort of cause (such as being alone with someone)
Layla F Mulder
Administrator
Blackfield
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 3604


Without appreciation, the music isn't worth.

basnaphon@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 10:09:54 PM »

หลักการทำงานของมันเป็นอย่างไร?
Jean Michel Jarre ได้บอกเล่าถึงการทำงานของมันให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า เมโลตรอนนั้นก็มีลักษณะการทำงานเหมือนเปียโน เพียงแต่เปลี่ยนจากสายในเปียโนมาเป็นสายเทป และเปลี่ยนจาก Hammer ในเปียโนมาเป็น Tape Head เท่านั้นเอง แต่สำหรับหลักการทำงานของมันอย่างละเอียดของมันขออธิบายในส่วนด้านล่างดังต่อไปนี้

ระบบของการทำงานโดยทั่วไปของเมโลตรอนทุกรุ่นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยเมโลตรอนรุ่น M400 จะเป็นรุ่นที่เราใช้ในการอธิบายเป็นหลักในบทความชิ้นนี้ เนื่องด้วยความซับซ้อนของกลไกของมันค่อนข้างน้อยและมันสามารถสื่อให้เข้าใจถึงการทำงานได้ง่ายที่สุด



ระบบการทำงานของมันคล้ายกับเครื่องเล่น-บันทึกเสียงเทป ใต้ของคีย์ทุกๆ คีย์ จะมีสายเทปและหัวอ่านเทปแม่เหล็ก Magnetic Head ในรุ่น M400 นี้จะมีคีย์ทั้งหมด 35 คีย์ ดังนั้นมันจึงจะมีเทป 35 เส้น และหัวอ่าน 35 ตัว เทปแต่ละเส้นจะมี 3 แทร็ค ซึ่งให้เสียงสามแบบที่แตกต่างกัน โดยสวิทซ์เลือกแทร็คจะเป็นตัวบังคับให้เลือกเล่นในแทร็คที่ต้องการ (A, B, C) และหากสวิทซ์ถูกเลือกไว้ตรงกึ่งกลางระหว่างสองแทร็ค เสียงของสองแทร็คก็จะถูกเล่นพร้อมๆ กันได้ ซึ่งสามารถทำให้ผู้เล่นผสมเสียงได้ตามที่ต้องการในการเล่นไปพร้อมๆ กัน เช่น A+B หรือ B+C

โดยเสียงของเทปแต่ละเส้นจะสามารถให้เสียงค้างยาวได้นาน 8 วินาที ถ้าหากเทปถูกเล่นจะหมดเส้นแล้ว คุณจะต้องปล่อยนิ้วอีกจากคีย์เพื่อที่จะสามารถเล่นโน๊ตจากเทปเส้นนั้นได้อีกครั้งหนึ่ง



เมื่อเปิดสวิทซ์การทำงานของตัวเครื่อง มอเตอร์ซึ่งถูกเชื่อมด้วยสายพาน จะส่งกำลังไปที่ตัว Capstan (1) ให้มันเกิดการหมุน และมันจะหมุนไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาที่เครื่องถูกเิปิดอยู่

และเมื่อกดลิ่มคีย์ลงไป (2) ตัวเทปก็จะมาสัมผัสกับหัวอ่าน Replay Head ด้วยแรงกดของตัว Flet Pressure Pad (4) และด้วยการสัมผัสของตัว Capstan กับตัว Pinch Roller (5) ที่ถูกดันลงมาให้สัมผัสกับสายเทปเช่นกัน สายเทปจะถูกดึงไปด้านหน้า จึงทำให้สายเทปถูกเล่นได้

นานเท่าที่ลิ่มคีย์ถูกกดไว้ เทปจะถูกดึงให้เคลื่อนไปด้านหน้าและเล่นเสียงได้เป็นเวลาแปดวินาที จนกว่าเทปจะหมด และเมื่อสายเทปถูกดึงไปด้านหน้า มันจะไปกองพักอยู่ในกล่องไม้ด้านหน้า (6)

เมื่อลิ่มคีย์ถูกปล่อยออก เทปจะถูกดึงกลับไปยังสภาพเดิมของมันด้วยแรงสปริง (7)

หลังจากที่เมโลตรอนถูกเล่นไปได้เ็ป็นช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง มันมักจะหยุดทำงานลง เนื่องจากมันจะเริ่มเกิดปัญหาอันมาจากการกรอเทปกลับหรือการเล่นเป็นเวลานาน ทำให้ระดับของสายเทปกับอุปกรณ์ภายในไม่เหมาะสม  ซึ่งต้องมีการจูนระดับของ Pinch Roller และ Pressure Pad ใหม่ ให้สามารถทำงานได้ดีดังเดิม

แต่ละลิ่มคีย์จะมีสกรูสองตัว โดยสกรูแต่ละตัวจะทำหน้าที่ปรับระดับความสูงของ Pinch Roller และ Pressure Pad ให้ได้ระดับสัมพันธ์กับสายเทป


- สกรูตัวแรก (ทางด้านซ้าย) ทำหน้าที่ปรับระดับความสูงของ Pressure Pad
สกรูตัวที่สอง (ทางด้านขวา) ทำหน้าที่ปรับระดับความสูงของ Pinch Roller



นี่เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่ใช้ในการปรับแต่ง(จูน)เมโลตรอนให้สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม ซึ่งเป็นวิธีที่ Streetly Electronics ใช้ในการผลิตเมโลตรอน

เริ่มต้นปรับระดับความสูงของ Pressure Pad โดยกดลิ่มคีย์ค้างไว้ แล้วทำการคลายสกรูตัวแรกจนเสียงของมันหายไป หลังจากนั้นให้ปล่อยคีย์ออก ซึ่งจะทำให้เทปถูกกรอกลับมายังตำแหน่งเริ่มต้น หลังจากนั้นให้กดลิ่มคีย์อีกครั้ง และขันสกรูจนกระทั่งได้เสียงที่ถูกต้อง หลังจากนั้นให้หมุนสกรูจนครบรอบเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรอบ

ต่อไปก็คือปรับระดับความสูงของ Pinch Roller โดยการกดลิ่มคีย์ค้างไว้ แล้วทำการคลายสกรูตัวที่สองจนเสียงของมันหายไป หลังจากนั้นให้ปล่อยคีย์ออก ซึ่งจะทำให้เทปถูกกรอกลับมายังตำแหน่งเริ่มต้น หลังจากนั้นให้กดลิ่มคีย์อีกครั้ง และขันสกรูจนกระทั่งได้สปีดที่ถูกต้อง หลังจากนั้นให้หมุนสกรูจนครบรอบเพิ่มขึ้นอีกสองรอบรอบ

สำหรับการเปลี่ยน Tape Frame เพื่อเปลี่ยน Library ก็ทำได้โดยง่าย เพียงทำการยก Tape Frame ของเก่าขึ้นมา และเปลี่ยนใส่อันใหม่ลงไปเท่านั้นเอง โดยคุณสมบัติการเปลี่ยน Tape Frame ที่ง่ายดายเช่นนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้กับเมลโตรอนรุ่น M400 เป็นต้นมา




- ภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยน Tape Frame ของรุ่น M400 ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ไม่ยุ่งยากเหมือนเมโลตรอนรุ่นก่อนๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมโลตรอนรุ่น M400
เมโลตรอนรุ่น M400 ดูเหมือนจะเป็นรุ่นที่มีความสำคัญต่อวงการดนตรีโปรแกรสสีฟมากที่สุด และมันยังเป็นเมโลตรอนรุ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามมากที่สุดด้วย สาเหตุนั้นมีหลายประการ อย่างแรกคือเนื่องมากจากมันเป็นรุ่นที่ออกในช่วงต้นยุค 70's พอดี ซึ่งตรงกับยุคที่วงการดนตรีโปรแกรสสีฟรุ่งเรืองถึงขีดสุด สาเหตุอีกประการหนึ่งคือมันเป็นการปรับปรุงที่ก้าวกระโดดของเมโลตรอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำหนักที่ลดลงจากเมโลตรอนรุ่นก่อนๆ กว่าครึ่ง การควบคุมที่มีความซับซ้อนน้อยลงกว่าเดิมมาก ทำให้มันใช้งานง่ายและเหมาะแก่การเคลื่อนย้ายนำไปออกทัวร์ด้วยตามสถานที่ต่างๆ อย่างมากที่สุด ทำให้วงโปรแกรสสีฟชั้นแนวหน้าอย่าง Genesis, Yes, King Crimson และวงดังวงอื่นอีกมากมาย นำเมโลตรอนรุ่นนี้ไปใช้ในการบันทึกเสียงและออกทัวร์อย่างกว้างขวาง

ต่อไปนี้คือภาพที่แสดงให้เห็นถึงแผงคอนโทรลควบคุมของเมโลตรอนรุ่นก่อนหน้าต่างๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าค่อนข้างมีความซับซ้อนอยู่มากทีเดียว


- รุ่น Mark I/II


- รุ่น FX Console


- รุ่น M300

ในส่วนของแผงคอนโทรลของรุ่น M400 ค่อนข้างเรียบง่ายมาก มีแค่ Volume, Tone , Pitch Control, สวิทซ์ปิด/เปิด และปุ่มเลือกแทร็คเท่านั้น มีช่องเสียบแจ็คสำหรับวอลลุ่มเพดัลอยู่ทางด้านหน้า ทางด้านหลังมีช่องเอาท์พุตแบบ unbalanced ขนาด 1/4 นิ้ว และในรุ่นหลังๆ ที่ผลิตในช่วงปี 1973/1974 เป็นต้นมาจะมีช่องเอาท์พุต Balanced XLR เพิ่มขึ้นมาด้วย

เมโลตรอนรุ่น M400 มีทั้งหมดด้วยกัน 3 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือเวอร์ชั่นที่เป็นเคสเป็นแผ่นอลูมิเนียมสีขาว อีกเวอร์ชั่นจะเป็นแ่ผ่นอลูมิเนียมสีดำ และเวอร์ชั่นสุดท้ายจะเป็นเวอร์ชั่นที่จำหน่ายโดย Sound Sales ในสหรัฐอเมริกา จากปี 1977 เป็นแผ่นอลูมิเนียมสีดำ และปุ่มควบคุมมีสีเหลือง






- ภาพของแผงควบคุมของรุ่น M400 ในเวอร์ชั่นต่างๆ กัน จะเห็นได้ว่าเรียบง่ายกว่ารุ่นก่อนๆ มาก

ข้อมูลจำเพาะของเมโลตรอนรุ่น M400
  • ปีที่ผลิต : 1970 - 1977 (โนวาตรอน : 1978 - 1986)
  • จำนวนการผลิต : ประมาณ 2,000 ตัว
  • ราคาขาย : 765 ปอนด์ (ในอังกฤษเมื่อปี 1976), โนวาตรอน 1374 ปอนด์ (ในอังกฤษเมื่อปี 1979)
  • ขนาด (cm) หน้ากว้าง x ความสูง x ความลึก : 86 x 86 x 56
  • น้ำหนัก (kg) : 55

เมโลตรอนรุ่น M400 ใช้สายเทปขนาด 3/8 นิ้ว มันมีแป้นคีย์บอร์ดเพียงฝั่งเดียวจำนวน 35 คีย์ ตั้งแต่โน๊ตตัว G ถึงโน๊ตตัว F มันไม่มีส่วนที่เป็น Rhythm หรือเสียงเพิ่มเติมต่างๆ อีกต่อไป มีเพียงแค่เสียงของเครื่องดนตรีหลักเท่านั้น

เมโลตรอนรุ่น M400 ในเวอร์ชั่นแรกใช้คอนโทรลการ์ด CMC-10 ตัวการ์ดต้องมีการวอร์มอัพช่วงหนึ่ง เมโลตรอนถึงจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นการกดลิ่มคีย์ตั้งแต่ 6 หรือ 7 โน๊ตไปพร้อมๆ กันจะทำให้มอเตอร์หมุนได้ช้าลง ซึ่งเป็นผลให้เสียงตัวโน๊ตดร็อปลงไป เมโลตรอนรุ่น M400 ที่ถูกผลิตในช่วง 1973/1974 เปลี่ยนมาใช้การ์ด SMS-2 ซึ่งมีความเสถียรกว่ามาก


- คอนโทรลการ์ดรุ่น CMC-10 (ภาพซ้าย) และรุ่น SMS-2 (ภาพขวา)

เมโลตรอนรุ่น M400 และโนวาตรอนรุ่น 400 เป็นเครื่องแบบเดียวกัน เพียงแต่ชื่อแตกต่างกันเท่าันั้น M400 จะใช้ตู้ที่ทำมาจากไม้ขัดเงาสีขาว ส่วนโนวาตรอน 400 นั้นจะมีทั้งแบบที่เป็นตู้สีขาวและสีดำ


- Patrick Moraz กับโนวาตรอน

สิ่งที่ทำให้เมโลตรอนรุ่น M400 มีระบบการทำงานที่ซับซ้อนน้อยลงกว่ารุ่นเดิมๆ เป็นเพราะตัว Banks ที่บรรจุเสียงต่างๆ ในเมโลตรอนรุ่นเก่าอย่าง Mark II และ M300 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนถูกยกเลิกไป แทนที่ด้วย Removable 35 Tape Frame กรอบเทป 35 เส้นที่สามารถถอดเปลี่ยนได้โดยง่าย โดยที่เฟรมหนึ่งเฟรมจะให้เสียงเทียบเท่ากับ Bank ที่มีสามเสียง ดังนั้นถ้าหากต้องการเปลี่ยน Bank สิ่งที่ต้องทำำก็คือเปลี่ยน Frame โดยเฟรมตัวอื่นก็จะถูกเก็บไว้อยู่ในกล่อง Flightcase

และด้วย Frame ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ทำให้ซาวน์ชนิดต่างๆ ของเมโลตรอนถูกขยายขอบเขตให้กว้างขึ้นมากกว่าเดิม โดยสามารถสั่งซื้อ Frame เสียงเพิ่มได้ เสียงใหม่ๆ ที่ถูกเพิ่มขึ้นมาพร้อมกับรุ่น M400 ก็คือเสียง Choirs ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในซาวน์ตำนานของเมโลตรอนไปแล้ว อีกทั้งยังสามารถนำเสียงที่เราต้องการบันทึกเองลงไปในเทป แล้วนำไปให้ร้าน Mellotronics แปลงมันให้กลายเป็นเทปขนาด 3/8 นิ้ว เพื่อใช้กับเมโลตรอนก็ได้ คุณก็จะมี Sound Frame ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง Steve Hackett บันทึกเสียงของเขาเองแล้วแปลงลงไปเป็น Sound Frame ส่วน Paul McCartney บันทึกเสียง Bagpipe จากเกาะ Mull Island รวมถึงเสียงซาวน์เอฟเฟคต์อื่นๆ อีักด้วย

เมโลตรอนแต่ละตัวจะมาพร้อมกับวอลลุ่มเพดัลและกล่องใส่เพื่อการขนย้าย ที่เรียกว่า Protecta Muff

EMI ได้ทำการซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตเมโลตรอนมาจาก Streetly Electronics และทำการประกอบมันขึ้นมาเองเป็นจำนวนหนึ่งร้อยตัว โดยทาง Streetly Electronics เป็นผู้ส่งชิ้นส่วนให้ โดยตู้ครอบเมโลตรอนทำมาจากไม้ขัดเงา และเมโลตรอนเรานี้จะมีซีเรียลนัมเบอร์เริ่มต้นด้วย E4 ซึ่งเมโลตรอนเหล่านี้ถูกประกอบขึ้นอย่างไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อประกอบออกมาแล้ว แทบจะทุกตัวจะต้องถูกส่งกลับไปประกอบใหม่ที่ Streetly Electronics อีกครั้ง

เมโลตรอนรุ่นสำหรับผู้ที่ถนัดซ้ายถูกทำขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับ Paul McCartney โดยแผงคอนโทรลจะอยู่ทางด้านขวาของคีย์บอร์ด

เมโลตรอนรุ่น M400 FX เป็นเมโลตรอนรุ่นพิเศษที่มาพร้อมกับ Tape Frame 12 ชิ้น ที่ให้เสียงซาวน์เอฟเฟคต์ 105 เสียงในแต่ละเฟรม

เมโลตรอนรุ่น M400 ที่มีตู้ครอบเป็นแก้วอครีลิคใส ถูกผลิตขึ้นโดย Mellotronics เพื่อจัดแสดงในงาน London Music Expo ในปี 1972 ซึ่งเป็นเมโลตรอนแบบ See-Through ทำให้มองเห็นระบบการทำงานภายในของมัน ซึ่งโมเดลนี้ปัจจุบันเป็นของ David Kean เจ้าของ Mellotron Archives และเมโลตรอนแบบใสนี้ถูกผลิตเป็นรุ่นที่สองอีกครั้งโดย Sound Sales ในปี 1977


- ภาพภายในโรงงาน Streetly Electronics ในช่วงยุค 70's เมโลตรอนรุ่น M400 ถูกผลิตขึ้นที่นี่อย่างมากมาย
บันทึกการเข้า

 
Tsundere (ツンデレ?) (pronounced /(t)sʌnˈdɪə(r)/ in English or /t͡sun.de.ɽe/ in Japanese) is a Japanese concept of a character archetype which describes a person with a conceited, irritable, and/or violent personality that suddenly becomes modest and loving when triggered by some sort of cause (such as being alone with someone)
Layla F Mulder
Administrator
Blackfield
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 3604


Without appreciation, the music isn't worth.

basnaphon@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 10:10:42 PM »

Mellotron Scratch - A Collection of Finest Mellotron Moments

Complied by Agent Fox Mulder & Lilium
Cover Design by Lilium
Written by Agent Fox Mulder
Track by Track Comments Written by Agent Fox Mulder & Lilium

สำหรับอัลบั้มรวมเพลงชุดนี้เกิดขึ้นมาจากที่ว่าผมได้คิดที่จะเขียนบทความในส่วนของด้านบน ซึ่งเป็นเนื้อหาในเชิงประวัติศาสตร์และเชิงระบบกลไกล้วนๆ ซึ่งอ่านไปอย่างเดียวแล้วก็คงจะไม่รู้สึกอินกับมันนัก เท่ากับการได้ยินเสียง อีกประการหนึ่งคือผมอยากจะทำการรวบรวมเพลงที่มีการนำเมโลตรอนไปใช้ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามอัลบั้มต่างๆ มากมาย มารวมกันไว้อยู่ที่เดียว เวลาที่อยากฟังเมโลตรอน ก็จะได้ฟังกันได้เต็มอิ่ม เอาให้สำลักสียงเมโลตรอนกันไปเลย

ในตอนแรกก็คิดไว้ว่าจะทำออกมาซักสิบเพลง อยู่ในซีดีแผ่นเดียวได้ แต่พอเลือกเพลงไปเลือกเพลงมา ก็พบว่าคงจะเลือกแค่สิบเพลงออกมาไม่ได้แน่ๆ แถมหลายๆ เพลงก็ยังมีความยาวที่เกินกว่าจะทำให้มันรวมกันถึงสิบเพลงในซีดีแผ่นเดียวได้ จึงคิดว่าควรจะเพิ่มมันออกมาเป็นสองแผ่นดีกว่า โดยจะแยกเพลงออกเป็นเฟสต่างๆ 4 เฟส ซึ่งจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในย่อหน้าต่อไป แต่ก็นั่นแหละ จัดไปจัดมาแล้วก็พบว่าเวลาก็ยังเกินอยู่ดี ก็เลยเพิ่มมันออกเป็นอัลบั้มขนาดสามแผ่น แล้วก็ยังเกิดอาการรักพี่เสียดายน้องอีก จนท้ายที่สุดอัลบั้มรวมเพลงชุดนี้ก็จบลงด้วยความยาวขนาดสี่แผ่นซีดี (ฮา) ด้วยจำนวนแทร็คทั้งหมด 53 แทร็คที่อุดมไปด้วยเสียงเมโลตรอนล้วนๆ เพลงทั้งหมดถูกแบ่งแยกออกเป็นสี่เฟสด้วยกัน

เฟสแรกกินเนื้อที่ช่วงครึ่งแรกของซีดีแผ่นที่หนึ่ง เฟสนี้ถูกเรียกว่า "Early Tron" ซึ่งก็หมายถึงเป็นเพลงที่นำเมโลตรอนมาบันทึกเสียงในยุคแรกๆ ที่ไม่ใช่เพลง Prog ไล่เรียงตั้งแต่เพลงแรกสุดที่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นเพลงแรกที่นำเอาเมโลตรอนมาบันทึกเสียงให้กับ Popular Music อย่าง Baby Can It Be True จากปี 1965 (ซึ่งเป็นเพลงที่หาฟังได้ยากมากทีเดียว) จนไปถึงเพลงดังของสี่เต่าทองอย่าง Strawberry Fields Forever ซึ่งเพลงทั้งหมดจากเฟสนี้จะเป็นเพลงที่บันทึกเสียงในช่วงครึ่งหลังของยุค 60's ทั้งสิ้น จะมีหลุดมาเพลงเดียวก็คือ Space Oddity ของโบวี่ ที่อยู่ในช่วงต้นยุค 70's แต่ผมไม่สามารถนำไปรวมกับเพลงในเฟสอื่นๆ ได้ เนื่องจากไม่เข้าพวก ซึ่งโดยรวมแล้วเพลงในเฟสนี้ทั้งหมดจะสื่อถึงเมโลตรอนในช่วงยุคแรกเริ่ม ว่าการเล่น สำเนียงและการนำไปใช้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง การเล่นเมโลตรอนในยุคที่กำลังพัฒนานั้นเป็นอย่างไร ในช่วงครึ่งหลังของยุค 60's นี้

เฟสที่สองนั้นคือ "Prog Giants" ซึ่งหลายคนคงเดาได้ว่าหมายถึงเพลงโปรแกรสสีฟจากวงพร็อกระดับบิ๊กๆ ของวงการ เพลงดังระดับขึ้นหิ้งที่มีการนำเมโลตรอนไปใช้ได้อย่างโดดเด่นจะถูกรวมมาไว้ที่นี่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวงอย่าง Genesis, Yes, King Crimson และ Moody Blues ถูกจัดอยู่ในเฟสนี้ทั้งหมด ซึ่งเฟสนี้ผมต้องการสื่อถึงยุครุ่งเรืองของเมโลตรอนที่มาพร้อมกับความรุ่งเรืองของดนตรีโปรแกรสสีฟ และเป็นยุคที่การพัฒนาในการเล่นเมโลตรอนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ลงตัวกันในช่วงยุคนี้พอดี ซึ่งความยาวของเฟสนี้ก็จะกินเนื้อที่ถึงหนึ่งแผ่นซีดีครึ่ง ก็หมายความว่ามันสิ้นสุดลงที่แผ่นซีดีแผ่นที่สองพอดี หลายๆ เพลงในเฟสนี้ผมเชื่อว่าคอพร็อกหลายๆ ท่านอาจจะเคยฟังกันมาหมดแล้ว แต่ผมเชื่อว่าคงไม่เคยฟังเพลงที่มีเสียงเมโลตรอนเด่นๆ จากหลายวง ยาวติดกันเป็นชุดขนาดนี้ อีกประเด็นหนึ่งคือสำหรับคนที่อาจจะยังไม่คุ้นกับดนตรีโปรแกรสสีฟในยุค 70's กับเสียงของเมโลตรอน เฟสนี้เองที่จะเปรียบเสมือนประตูบานใหญ่ที่จะเปิดไปสู่โลกอันงดงามของเมโลตรอนและดนตรีโปรแกรสสีฟในยุค 70's ด้วยครับ

เฟสที่สามคือ "Hidden Gems" ซึ่งก็คืองานรวมเพลง "ดังน้อย" ที่มีการเล่นเมโลตรอนไว้อย่างเฉียบขาดและโดดเด่น แฟนเพลงพร็อกที่ไม่ใช่ระดับฮาร์ดคอร์หลายคนอาจจะไม่รู้จักผลงานของศิลปินเหล่านี้ อย่างเช่น Greenslade, Edgar Froese และ Harmonium รวมถึงเพลงที่ "ดังน้อย" ที่มาจากศิลปินระดับบิ๊กๆ ด้วย อย่างเช่นเพลง The Rain Song ของ Led Zeppelin หรือเพลงอย่าง Ladytron ของวง Roxy Music สิ่งที่เพลงเหล่านี้มีเหมือนกันคือการเล่นเมโลตรอนที่งดงาม และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ สำหรับเฟสนี้น่าจะเป็นที่ถูกใจสำหรับคนที่เบื่อเพลงของวงระดับบิ๊กๆ แล้ว ก็ลองมาฟังงานเจ๋งๆ ที่ถูก "ซ่อน" อยู่กันดีกว่าครับ สำหรับเฟสนี้ผมต้องการจะสื่อว่า ยังมีเพลงเจ๋งๆ ที่เล่นด้วยเมโลตรอนอีกมากมายที่เราอาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เคยฟังมันมาก่อน เพลงส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในช่วงยุครุ่งเรืองไปจนถึงยุคเสื่อมของวงการพร็อก คือตั้งแต่ต้นยุค 70's ไปจนถึงปลาย 70's เลยครับ สำหรับเนื้อที่ก็จะกินความยาวไปทั้งหมดหนึ่งแผ่นซีดีกว่าๆ ซึ่งตอนแรกกะว่าจะอยู่ที่ซีดีแผ่นเดียว แต่เนื่องจากมีเพลงที่มีความยาวมากๆ อยู่หลายเพลง เลยทำให้ต้องเีบียดเพลงในเฟสนี้ล้นไปจนถึงช่วงต้นของซีดีแผ่นที่สี่เลยครับ

และเฟสที่สี่เป็นเฟสสุดท้ายที่ชื่อของมันตรงข้ามกับเฟสแรก ซึ่งก็คือ "Modern Tron" ซึ่งเป็นเพลงจากวงดนตรีในยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ช่วง 90's เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่ศิลปินเหล่านี้ยังคงนำเอาเมโลตรอนมาใช้ในการบันทึกเสียงของพวกเขาอยู่ ซึ่งเพลงในเฟสนี้ก็จะมีทั้งเพลงจากวง Brit-Pop อย่าง Oasis จนไปถึงเพลงจากวงโปรแกรสสีฟเมทัลอย่าง Opeth กันเลยทีเดียว รวมถึงวงดนตรีที่บ้าเมโลตรอนที่สุดในขณะนี้อย่าง Anekdoten ก็ไม่พลาดที่จะถูกรวบรวมไว้ในเฟสนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกเพลงล้วนงดงามด้วยเสียงของเมโลตรอนทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของเฟสนี้ก็คือต้องการที่จะสื่อให้เห็นว่าในปัจจุบันเมโลตรอนก็ยังไม่ได้หายไปไหนจากวงการดนตรี และสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของมันก็ยังไม่มีอะไรที่มาแทนได้จนถึงทุกวันนี้ครับ ทิ้งท้ายด้วยโบนัสแทร็กอีกหนึ่งเพลงที่ไม่ได้เป็นเพลงที่นำเมโลตรอนมาใช้ในการบันทึกเสียงแต่อย่างใด แต่ก็เป็นเพลงที่มีเนื้อหาและชื่อเพลงเกี่ยวกับเมโลตรอน ซึ่งก็คือเพลงที่ผมนำมาใช้เป็นชื่อบทความและอัลบั้มรวมเพลงชิ้นนี้นั่นเองครับ

สำหรับอัลบั้มรวมเพลงขนาดใหญ่ยักษ์ชุดนี้ผมใช้เวลาในการเลือกเพลงเป็นเวลาเกือบร่วมสองเดือน ทำการศึกษาข้อมูลให้แน่ชัด ก่อนที่จะนำมารวมกับเพลงอื่นๆ จัดเฟสให้กับมัน ตัดเพลงที่ควรตัดออกเพื่อให้ไม่ล้นออกมาเกินความยาวของซีดีสี่แผ่น ซึ่งผมก็ได้น้องเหม่งมาร่วมช่วยในด้านของการเสนอเพลง และช่วยกันเลือกเพลง รวมถึงการเขียน Track by Track Comments อีกด้วย ทำให้งานผมเบาลงไปเยอะทีเดียว ซึ่งในส่วนของ Track by Track Comments นี้เป็นคอมเมนต์ถึงเพลงทุกเพลงในอัลบั้มอย่างสั้นๆ รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในแต่ละเพลง ที่สำคัญคือจะมีรายละเอียดของเพลงนั้นๆ บอกไว้ว่า เพลงนี้มาจากอัลบั้มใด ในปีไหน  ผู้เล่นเมโลตรอนคือใคร ใช้เมโลตรอนรุ่นอะไร รวมถึงว่า Tape Set ที่ถูกใช้ในเพลงนั้นคือ Tape Set ชนิดไหนด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ผมได้ทำการรีเสิร์ชมาจากเว็บไซต์ planetmellotron ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีครบถ้วนทุกเพลง ก็ต้องขออภัยด้วย เพราะผมเองไม่อยากใช้การเดา ซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลผิดพลาดได้ครับ

ส่งท้าย
สุดท้ายนี้ผมเองก็หวังว่างานเขียนชิ้นใหม่ของผมนี้ คงจะสร้างความสนุกสนานในการฟังเสียงเมโลตรอนของทุกท่านให้เพิ่มมากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ และที่ผมภูิมิใจเป็นพิเศษก็คือการเจาะลึกเมโลตรอน เครื่องดนตรีมหัศจรรย์ชิ้นนี้กันอย่างหมดเปลือก ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าในเมืองไทยยังไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือเกร็ดความรู้ที่ทุกท่านอยากทราบ แต่หาอ่านกันได้ยากเย็นเหลือเกิน ก็ได้กลายมาเป็นรูปแบบภาษาไทยให้อ่านกันได้ง่ายๆ สบายๆ เสียที ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจกับงานเขียนและแปลชิ้นนี้มากนะครับ จริงๆ ยังมีเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดที่ผมอยากจะเขียนเจาะลึกอีกหลายชนิดมากมาย ทั้ง Moog, เปียโนไฟฟ้าชนิดต่างๆ, ออร์แกนและตู้ลำโพงเลสลี่ แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจเขียนเรื่องเกี่ยวกับเมโลตรอนออกมาก่อน เพราะเดาว่าหลายๆ คนคงสนใจเครื่องดนตรีชิ้นนี้กันอย่างมากที่สุดในบรรดาคีย์บอร์ดชนิดต่างๆ ไว้ถ้าว่างจริงๆ ก็คงมีไฟและแรงฮึดเขียนออกมาอีก อาจจะเป็นช่วงสงกรานต์ปีหน้าก็ได้ใครจะไปรู้ (ฮา) จบจากฝึกงานในเดือนหน้าแล้ว ผมก็มีเวลาพักอีกเพียงอาทิตย์เดียวก็เปิดเทอมอีกแล้ว ผมจะกลายเป็นนิสิตปี 4 ที่ต้องเรียนวิชาโหดๆ ยากๆ หลายตัวพร้อมๆ กัน รวมถึงยังมีเรื่องของโปรเจ็คจบที่จะมารุมเร้าจิดใจอีก ก็คงจะไม่ได้มีเวลาว่างแบบนี้ไปอีกนานเลยครับ ก็รอกันหน่อยแล้วกันครับ ถ้าใครอยากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชิ้นไหนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกีตาร์และคีย์บอร์ด สามารถโทรมาคุยเล่นกับผมได้เลยนะครับ ผมยินดีพูดให้ฟังกันจนหูชาเลยทีเดียว (ไม่เชื่อถามน้องๆ ในเว็บกันดูสิครับ) และเช่นเคย เนื่องจากบทความชิ้นนี้มีความยาวและรายละเอียดเยอะมาก ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ขอบคุณทุกท่านมากครับ เจอกันใหม่โอกาสหน้าในบทความชิ้นต่อไปของผมนะครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ (สำนวนแบบข่าวบันเทิงช่อง 7 ช่วงกลางคืนเลยนะเนี่ย)

Disc 1
Early Tron
1. Baby Can It Be True - The Graham Bond Organization
2. Semi-Detached, Suburban Mr. James - Manfred Mann
3. Strawberry Fields Forever - The Beatles
4. Phenominal Cat - The Kinks
5. 2000 Light Years From Home - Rolling Stones
6. The Countinuing Story Of Bungalow Bill - The Beatles
7. World - Bee Gees
8. Julia Dream - Pink Floyd
9. Space Oddity -  David Bowie
Prog Giants
10. Night in White Satin - The Moody Blues
11. Watcher of the Skies - Genesis
12. Tears - Rush
13. Wonderious Strories - Yes
14. She Said - Barclay James Harvest
15. Three Friends - Gentle Giant
16. Entangled - Genesis
17. Have You Heard Part I - The Moody Blues
18. The Voyager - The Moody Blues
19. Have You Heard Part II - The Moody Blues
Total Running Time 80:56
Disc 2
Prog Giants
1. Dancing With The Moonlight Knight - Genesis
2. Catherine Of Aragon - Rick Wakeman
3. Appena Un Po' - Premiata Forneria Marconi
4. The Poet / After The Day - Barclay James Harvest
5. Epitaph - King Crimson
6. Watching and Waiting - The Moody Blues
7. New World - Strawbs
8. Early Morning - Barclay James Harvest
9. Starless [Abridged] - King Crimson
10. Pantagruel's Nativity - Gentle Giant
11. And You and I - Yes
12. Hero and Heroine - Strawbs
13. Spectral Mornings - Steve Hackett
Total Running Time 80:34
Disc 3
Hidden Gems
1. Bedside Manners Are Extra - Greenslade
2. Darkness/Earth In Search of A Sun - Jan Hammer
3. Epsilon in Malaysian Pale - Edgar Froese
4. Equinoxe Part IV - Jean Michel Jarre
5. Ladytron - Roxy Music
6. Three Piece Suite - England
7. The Rain Song - Led Zeppelin
8. Storm and Thunder [Single Version] - Earth & Fire
9. Histoires Sans Paroles - Harmonium
Total Running Time 81:15
Disc 4
Hidden Gems
1. Sysyphus Part I - Pink Floyd
2. Capitaine Coeur de Miel - Ange
Modern Tron
3. Wonderwall - Oasis
4. Exit Music (For A Film) - Radiohead
5. Sad Rain - Anekdoten
6. Hours of Wealth - Opeth
7. The Future of Speech - Katatonia
8. Kung Bore - Anglagard
9. Richochet - Anekdoten
10. Isolation Years - Opeth
11. Not Too Late - Norah Jones
Bonus Track
12. Mellotron Scratch - Porcupine Tree
Total Running Time 77:54
สามารถดาวน์โหลดได้โดยกดที่ลิงค์ตรงคำว่า Disc 1, Disc 2, Disc 3 และ Disc 4 ได้เลยนะครับ

สำหรับลิงค์ดาวน์โหลดจะถูกแยกออกไปเป็นสี่ลิงค์ สี่ไฟล์ ในรูปแบบของไฟล์ rar ตามแผ่นซีดี โดยแต่ละไฟล์จะมีขนาดประมาณ 100 MB นิดๆ ซึ่งฟอร์แมทต์จะเป็น MP3 Variable Bitrate ที่ 128~192 kbps ซึ่งไฟล์ทั้งหมดเหล่านี้โดยรวมแล้วมีขนาดประมาณสี่ร้อยเม็กกะไบต์กว่าๆ ผมได้อัพโหลดขึ้นไปไว้ในเซอร์ฟเวอร์ของเราทั้งหมด เพื่อสะดวกทั้งในการอัพโหลดและดาวน์โหลด แต่ผมกลัวผลข้างเคียงที่จะตามมาคือ เว็บอาจล่ม ผมจึงจำเป็นต้องลบพวกไฟล์ MP3 เก่าๆ ออกให้หมด เืพื่อลดโอกาสในการเิกิดปัญหาตรงนี้ให้น้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตามปัญหาก็อาจจะยังเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาอะไรก็ขอให้แจ้งเข้ามาแล้วกันครับ จะแจ้งที่ผมหรือน้องๆ ก็ได้ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ผมจะได้ย้ายไฟล์ไปไว้ที่อื่น ซึ่งจริงๆ แล้วผมได้ลองอัพโหลดไฟล์ไปไว้ที่เว็บไซต์ File Hosting หลายๆ เจ้าแล้ว ปรากฎว่าไม่ค่อยเวิร์คเท่าที่ควรครับ พยายามเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เลยต้องขอลองใช้วิธีนี้ไปก่อน ซึ่งก็เป็นข้อดีด้วยตรงที่มันจะโหลดง่ายมากๆ เลยครับ ยังไงถ้ามีปัญหาตามมาในภายหลังก็จะจัดการแก้ไขให้แล้วกันนะครับ



โหลดแล้วอย่าลืมเมนต์กันด้วยนะครับ ใครไม่เมนต์ระวัง หนูมิยาบิ หนูโมโมโกะ หนูริซาโกะ และหนูยูรินะ (คนสุดท้ายนี่แฟนผมเอง) จะงอนเอานะครับ ถ้าน้องๆ เค้างอนล่ะก็ ผมไม่รู้ด้วยนะ อิอิ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 เมษายน 2008 | 10:18:53 PM โดย Agent Fox Mulder » บันทึกการเข้า

 
Tsundere (ツンデレ?) (pronounced /(t)sʌnˈdɪə(r)/ in English or /t͡sun.de.ɽe/ in Japanese) is a Japanese concept of a character archetype which describes a person with a conceited, irritable, and/or violent personality that suddenly becomes modest and loving when triggered by some sort of cause (such as being alone with someone)
Layla F Mulder
Administrator
Blackfield
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 3604


Without appreciation, the music isn't worth.

basnaphon@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 10:11:19 PM »

Mellotron Scratch : Track by Track Comments - Disc 1


Baby Can It Be True - The Graham Bond Organization
From "There's A Bond Between Us" 1965
Mellotronist - Graham Bond (Mark II : Flute & 3 Violins)
นี่คือเพลงหนึ่งที่ผมตามหามันมาอย่างยากลำบากเพื่อที่จะนำมาใส่ในอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งก็ตามหามานานมาก ก็ยังไม่เจอซะที แต่ท้ายที่สุดน้องเหม่งก็มาช่วยผมหาเพลงนี้ได้สำเร็จ เพลงนี้เป็นเพลงที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมโลตรอนเป็นอันมาก เนื่องด้วยเป็นเพลงจากอัลบั้มแรกที่มีการนำเมโลตรอนเข้ามาใช้บันทึกเสียงในดนตรี Popular Music การเล่นเมโลตรอนทำได้อย่างงดงามและลงตัวด้วยการประสานกันระหว่างเสียงฟลุ๊ตและไวโอลิน (แม้ว่าจะดูแข็งๆ ทื่อๆ ไปซักนิด) ในช่วงกลางเพลงมีเสียงของออร์แกนเข้ามาเสริมและขโมยซีนของเมโลตรอนอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่เมโลตรอนจะกลับมาทวงความโดดเด่นอีกครั้ง ถ้าหากฟังท่อนอินโทรของเพลงนี้ดีๆ จะสามารถสัมผัสได้ถึงเสียงกดลิ่มของเมโลตรอนด้วยครับ
- Agent Fox Mulder


Semi-Detached, Suburban Mr. James - Manfred Mann
Single 1966
Mellotronist - Manfred Mann (Mark II : Flute & Brass)
นี่คือซิงเกิ้ลฮิตเพลงแรกที่มีการบันทึกเสียงด้วยเมโลตรอน จากวง Manfred Mann วงดนตรีแนว Pop R&B จากยุค 60's ซึ่งเน้นออกซิงเกิ้ลเป็นหลัก มากกว่าการออกอัลบั้ม แบบวงป๊อบตามยุคสมัยนั้น มือเบสชื่อดังสองคนอย่าง Jack Bruce (Cream) และ Klaus Voorman (ผู้เล่นเบสให้กับงานเดี่ยวของจอห์น เลนนอนในยุคแรกๆ และเป็นผู้วาดภาพปกอัลบั้ม Revolver ให้กับวงสี่เต่าทอง) ก็เคยร่วมงานกับวงนี้มาแล้ว ส่วนซิงเกิ้ลนี้เป็นเพลงป๊อบจังหวะกลางชวนให้ขยับเท้าตาม เสียงฟลุ๊ตจากเมโลตรอนเล่นได้สนุกสนานและน่ารักมาก ในช่วงท้ายๆ เพลงมีการใช้เสียง Brass เข้ามาเสริมด้วยครับ
- Agent Fox Mulder


Strawberry Fields Forever - The Beatles
From "Magical Mystery Tour" 1967
Mellotronist - Paul McCartney (Mark II : Flute)
เพลงสุดดังที่ใครๆ หลายคนต้องรู้จัก และมันยังโด่งดังในฐานะเพลงที่มีการนำเอาเมโลตรอนมาใช้บันทึกเสียงเป็นช่วงแรกๆ ด้วย ท่อนอินโทรของเพลงนี้เล่นเมโลตรอนเป็นเสียง Flute ด้วยฝีมือของพอล ซึ่งเป็นวิธีการเล่นฟลุ๊ตที่พิลึกพิลั่น ยากที่จะที่หาคนที่เป่า Flute จริงๆ มาเล่นให้เป็นสำเนียงสไตล์นี้ได้ เสียง Flute ถูกแพนไปอยู่ทางลำโพงด้านซ้ายในช่วงต้นเพลง และหายไปในช่วงท่อนกลาง และแน่นอนว่าเพลงนี้ถือเป็น Milestone สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีภายในวง The Beatles อีกด้วย สำหรับข้อมูลของเพลงนี้อย่างละเอียด สามารถหาอ่านได้จากบทความของพี่หมอวินส์ในส่วนของ Articles ที่หน้าเว็บครับ
- Agent Fox Mulder


Phenomenal Cat - The Kinks
From "Village Green Preservation Society" 1968
Mellotronist - Ray Davies (Mark II : Flute)
ถ้าพูดถึง The Beatles, The Rolling Stones หรือ The Who แล้วล่ะก็ จะขาด The Kinks ไปก็ดูจะไม่ยุติธรรมนัก หนึ่งในวงดนตรีที่โด่งดังมาในช่วงยุค British Invasion เหมือนกัน สำหรับ Village Green Preservation Society ก็ถือเป็นอัลบั้มมาสเตอร์พีซชุดหนึ่งของวง และก็ถือเป็นคอนเซปต์อัลบั้มเสียด้วย เมโลตรอนในเพลง Phenomenal Cat นี้ Ray Davies เล่นได้แพรวพราวและน่ารักเอาการเลยทีเดียว ในช่วงอินโทรหากลองฟังดีๆ จะสัมผัสได้ถึงการกดลิ่มคีย์เช่นเดียวกับเพลง Baby Can It Be True เลยครับ
- Agent Fox Mulder


2000 Light Years From Home - Rolling Stones
From "Their Satanic Majesties Request" 1967
Mellotronist - Brian Jones (Mark II : Violins)
เพลงจากวงหินกลิ้งในช่วงยุคบุฟผาชนกำลังเบิกบาน และดนตรีมีกลิ่นตลบอบอวนด้วยไซคิเดลิค Brian Jones มือกีตาร์ของวงที่เสียชีวิตไปในปี 1969 เป็นผู้เล่นเมโลตรอนในเพลงนี้ ความจริงเขาก็เป็นมือกีตาร์ที่เล่นเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดมากในงานของ The Stones อินโทรของเพลงนี้เปิดด้วยเสียงเปียโนแปลกๆ และเสียงของ Reverse Tape ตามด้วยริฟฟ์กีตาร์และเสียงไวโอลินจากเมโลตรอนที่มีกลิ่นออกไปทางดนตรีภารตะ เสียงของ Mick Jagger ค่อนข้างฟังดูดีผิดหูผิดตา และร้องได้นุ่มนวลกว่าปรกติอยู่สักหน่อย ในท่อนก่อนที่ดนตรีจะหยุดลงไปในช่วงกลางเพลง เมโลตรอนเล่นได้งดงามมากทีเดียว เป็นอีกเพลงที่เมโลตรอนถูกนำไปใช้งานด้วยสำเนียงที่แปลกประหลาด แต่ก็เล่นได้ยอดเยี่ยม และทำให้ตัวเพลงโดดเด่นขึ้นมาจริงๆ
- Agent Fox Mulder


The Countinuing Story Of Bungalow Bill - The Beatles
From "White Album" 1968
Mellotronist - ?? (Mark II : Classical Guitar, Mandolin & Trombone)
คงมีน้อยคนนักที่จะทราบว่าเสียงกีตาร์สายเอ็นเป็นเวลา 8 วินาทีในช่วงอินโทรของเพลงแปลกๆ ใน White Album ของวงสี่เต่าทองเพลงนี้ เป็นเสียงที่เล่นมาจากเมโลตรอน ซึ่งตามประวัติเห็นว่ามีใครไปบันทึกเสียงของกีตาร์สายเอ็นไปทำเป็น Tape Set ของเมโลตรอนเข้า ทางสี่เต่าทองเลยนำเอาเสียงนี้มาใช้เล่นซะเลย (ถ้าใช้ีกีตาร์สายเอ็นจริงๆ มาเล่นจะง่ายกว่าไหมเนี่ย?) พูดถึงเพลงนี้แล้วต้องบอกว่ารู้สึกมันจะแปลกๆ ชอบกล แต่เสียงจอห์นในท่อนแยกนี่ไพเราะจริงๆ นะครับ เสียง Mandolin จากเมโลตรอนก็ถูกนำมาใช้ในท่อนแยกที่จอห์นร้องนี้แหละ ส่วนเสียง Trombone ถูกใช้ในช่วงเอาต์โทรของเพลงครับ
- Agent Fox Mulder


World - Bee Gees
From "Horizontal" 1968
Mellotronist - Maurice Gibb?? (Mark II : Violins)
เพลงในช่วงยุคต้นของวงทรีโอป๊อบขวัญใจของใครหลายๆ คน การผสมผสานของเสียงเครื่องสายจากเมโลตรอนและเปียโนทำได้อย่างไพเราะ งดงาม และลงตัวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเสียงของเมโลตรอนที่ให้กลิ่นออกไปทางซาวน์โบราณมากๆ ไลน์เปียโนโดดเด่นเหลือเกิน อีกอย่างที่น่าสนใจในเพลงนี้ก็คือการเดินเบส ที่ชวนให้นึกไปถึงสไตล์การเล่นเบสของพอล แมคคาร์ทนี่ย์ สุดท้ายคือการเรียบเรียงในเพลงนี้ถือว่าอยู่ในระดับเข้าขั้นมาสเตอร์พีซจริงๆ ครับ เป็นอีกเพลงเด่นของวงบีจีส์ที่ไม่ควรมองข้ามจริงๆ
- Agent Fox Mulder


Julia Dream - Pink Floyd
Single 1968
Mellotronist - Richard Wright (Mark II : Flute)
เพลงที่ออกป๊อบ-ไซคิเดลิคในช่วงยุคแรกๆ ของฟลอยด์ จากฝีมือการประพันธ์โดยโรเจอร์ ร้องนำโดยเดฟ และร้องแบ๊คกิ้งโดยริก เพลงนี้มีเสียงเมโลตรอนฝีมือริกที่เล่นเป็นเสียงฟลุ๊ตหวานๆ นุ่นมวลชวนฝัน ริกถือเป็นมือคีย์บอร์ดที่นำเอาเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดหลากชนิดมาใช้ผสมผสานในงานของตัวเองได้ค่อนข้างมากมายคนหนึ่ง เรียกว่าเครื่องดนตรีที่คนอื่นๆ เค้าใช้กัน ริกก็เคยนำมาใช้ในการเล่นแทบจะหมดแล้ว เพียงแต่ว่าริกนำมันมาใช้อย่างไม่ค่อยโดดเด่นและเชี่ยวชาญนัก ซึ่งตรงกันข้ามกับริก เวคแมนที่สามารถผสมผสานทุกอย่างมากมายออกมาได้โดดเด่นและลงตัว แต่เสียงเมโลตรอนกับเสียงร้องของริกในเพลงนี้ก็ไพเราะน่าฟังใช่ย่อยเลยทีเดียว
- Agent Fox Mulder


Space Oddity -  David Bowie
From "Space Oddity" 1969
Mellotronist - Rick Wakeman (Mark II : Violins)
อีกหนึ่งเพลงสุดดังของเดวิด โบวี่ กับเนื้อหาที่สุดล้ำยุคในสมัยนั้น กับอัลบั้มที่ออกอยู่้ตรงกลางระหว่างอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสองชุด คือ Hunky Dory และ Ziggy Stardust ตัวดนตรีในอัลบั้มออกไปทางโฟล์คร็อคที่ติดกลิ่นของไซคิเดลิคมาอ่อนๆ ตามแบบฉบับของดนตรีในยุคสมัยนั้น เมโลตรอนในเพลงนี้มาจากฝีมือของริก เวคแมน โดยก่อนที่ริกจะไปเ้ข้าร่วมกับวง Yes นั้น เขาได้เคยทำงานเป็นมือปืนรับจ้างในห้องอัดมาก่อนและฝากฝีมือไว้กับผลงานของศิลปินมากมาย รวมถึงเพลงดังอย่าง Changes จาก Hunky Dory ด้วย เมโลตรอนในเพลงนี้ให้อารมณ์ที่อ้างว้าง ยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือนเดินทางอยู่ในอวกาศตามเนื้อหาของเพลงยังไงอย่างนั้นเลยครับ เป็นอีกหนึ่งเพลงที่สำแดงให้เห็นถึงฝีมือของริก เวคแมนตั้งแต่ยุคต้นๆ ก่อนที่ริกจะไปเป็นสมาชิกของวง Yes
- Agent Fox Mulder


Night in White Satin - The Moody Blues
From "Days Of Future Passed" 1967
Mellotronist - Mike Pinder (Mark II : Violins)
ไมค์ พินเดอร์คือ Master of the Mellotron ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งวงการดนตรี ด้วยความที่เขาเคยทำงานในโรงงาน Streetly Electronics มาก่อน (อยู่แผนกควบคุมคุณภาพซะด้วย) ทำให้เขาเป็นบุคคลที่รู้ตื้นลึกหนาบางของเครื่องดนตรีชิ้นนี้เป็นอย่างดี ไมค์บอกว่า ตอนที่เขาได้เห็นเมโลตรอนเป็นครั้งแรก เขารู้สึกได้เลยว่า มันคือ "Portal to the Future" ซึ่งตรงนี้เองทำให้การเล่นเมโลตรอนของเขาทำได้เต็มศักยภาพอย่างแท้จริง และเขาคนนี้เองเป็นคนแรกๆ ที่มีอิทธิพลในด้านของการนำเอาเมโลตรอนมาใช้กับดนตรีโปรแกรสสีฟในยุคต่อๆ มา อัลบั้ม Days Of Future Passed เป็นอัลบั้มชุดแรกที่มีการนำเครื่องสายและเครื่องเป่าทองเหลือง รวมถึงเมโลตรอน มาใช้กับดนตรีร็อคได้อย่างโดดเด่นและเป็นแม่แบบให้กับวงดนตรีรุ่นหลังต่อๆ มา สำหรับไลน์ของไวโอลินในเพลงนี้ ไมค์ พินเดอร์ ได้บอกว่าเขาแต่งมันขึ้นมาในหัวก่อนที่จะนำเอาไปเล่นกับเมโลตรอนจริงๆ เสียอีก ซึ่งมันเป็นอะไรที่หยดย้อย และงดงามมากๆ ไลน์ของไมค์ พินเดอร์เหมือนกับว่ามาจากนักเรียงเรียงเสียงเครื่องสายจริงๆ ซึ่งไมค์ก็ได้บอกอีกว่าเมโลตรอนสามารถทำให้เขากลายเป็น Orchestrator ได้ ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมและละเอียดอ่อน นี่คือเจ้าตำหรับตัวจริงเลยครับ
- Agent Fox Mulder


Watcher of the Skies - Genesis
From "Foxtrot" 1972
Mellotronist - Tony Banks (Mark II : Violins, Brass & Accordion)
เพลงเปิดอัลบั้มจากอัลบั้มมาสเตอร์พีซชุดหนึ่งของวงเจเนซิส ซึ่งเพลงนี้ถือเป็น Greatest Mellotron Introduction อย่างแท้จริง ท่อนอินโทรของเพลงนี้สื่อถึงสำเีนียงและซาวน์ของเมโลตรอนอย่างเด่นชัด อีกทั้งมันยังมีไลน์เครื่องสายและเครื่องเป่าทองเหลืองที่สุดจะยอดเยี่ยม ในช่วงแรกของเพลงเมื่อเข้าสู่ท่อนร้องเสียงของออร์แกนก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ช่วงท้ายเพลงมีการเล่นกันของภาคจังหวะระหว่างเบส,กลอง และเมโลตรอน ก่อนจบเพลงที่ดนตรีจะลดสปีดลงและกลับมายังไลน์ในแบบเดียวกับท่อนอินโทร ปิดท้ายด้วยเมโลตรอนเพราะๆ อีกท่อนอันแสนจะงดงาม
- Agent Fox Mulder


Tears - Rush
From "2112" 1976
Mellotronist - Hugh Syme (M400)
ในยุคนั้นเป็นยุคที่ทางวงยังเล่นเพลงที่้มีกลิ่นอายฮาร์ดร็อคแบบดิบๆอยู่มาก และแทบจะไม่มีซาวนด์ของคีย์บอร์ดอยู่ในเพลงเลย แต่ในเพลง Tears นี้ ทางวงต้องการจะทำเพลงบัลลาดออกมาให้มีความไพเราะและซึ้งสมชื่อเพลง จึงได้นำเสียงของเมโลตรอนมาใส่ไว้ในเพลงด้วย ผลลัพท์ก็คือมันกลายเป็นบัลลาดชั้นเยี่ยมที่อ่อนไหวที่สุดของวง และด้วยเสียงของเมโลตรอนอั่นสั่นไหว จึงทำให้ฟังดูเหมือนกำลังร้องไห้อยู่จริงๆครับ Hugh Syme เป็นผู้เล่นเมโลตรอนในเพลงนี้ ไม่ใช่ Geddy Lee นะครับ โดยเขามีชื่อปรากฎอยู่ในเครดิตของอัลบั้ม 2112 ในฐานะนักดนตรีรับเชิญด้วย
- Lilium


Wonderous Strories - Yes
From "Going For The One" 1977
Mellotronist - Rick Wakeman (M400 : Violins)
อีกหนึ่งแทร๊คสุดไพเราะจากวง Yes ด้วยฝีมือการเล่นเมลโลตรอนของริค เวคแมนที่งดงามพริ้วใหว บวกกับเสียงร้องที่งดงามราวกับเทพบุตรของจอน แอนเดอร์สัน เพราะฉะนั้นเวลาฟังเพลงนี้จึงรู้สึกเหมือนล่องลอยสู่สวรรค์จริงๆ เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เมลโลตรอนเพื่อเพิ่มความงดงามสดใส ตรงข้ามกับเพลง Starless ของ King Crimson โดยสิ้นเชิงครับ
- Lilium


She Said - Barclay James Harvest
From "Once Again" 1971
Mellotronist - Woolly Wolstenholme (M300)
Barclay James Harvest ยุคแรกๆนั้นจัดเป็นอีกวงที่เข้าข่าย "บ้า" เมลโลตรอนเอามากๆเลยทีเดียว ซึ่งทางวงก็ได้นำเมลโลตรอนมาใช้ตั้งแต่อัลบั้มแรกกันเลย โดยเสียงของเมลโลตรอนนั้นสามารถเข้ากันได้ดีกับภาคดนตรีที่ติดดิน อ่อนโยนละเมียดละไม และแฝงกลิ่นอายแบบบ้านๆอังกฤษแบบนี้เอามากๆ ด้วยความที่มันสามารถสร้างความอบอุ่นละมุนให้กับซาวนด์ได้ แต่ก็ไม่หวานช้อยจนเกินไป ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากเพลง She Said นี่แหละครับ
- Lilium


Three Friends - Gentle Giant
From "Three Friends" 1972
Mellotronist - Kerry Minnear (M400)
เพลงจากอัลบั้ม "สามเกลอ" และเป็นอัลบั้มชุดที่สามของวง "ยักษ์สุภาพ" วงดนตรีที่มีการการเล่นดนตรีสุดที่จะซับซ้อนวงนี้ ว่าแต่เพลงนี้ยังดูไม่ค่อยซับซ้อนเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆ ของพวกเขา เปิดด้วยการดวลกันของเสียงเปียโนไฟฟ้าพ่วง Wah-Wah กับเสียงกีตาร์ในจังหวะคึกคักสนุกสนาน ในช่วงกลางเพลงมีทั้งออร์แกนและเมโลตรอนเสียงไวโอลินมาช่วยเพิ่มรสชาติ ซึ่งออร์แกนและเมโลตรอนก็เล่นได้เข้าขากันดีเหลือเกิน เสียงร้องของ Derek Shulman ก็ไพเราะเสียจริงๆ ในช่วงท้ายเพลงมีท่อนบรรเลงที่งดงามไม่เลวทีเดียว
- Agent Fox Mulder


Entangled - Genesis
From "A Trick Of The Tail" 1976
Mellotronist - Tony Banks (M400 : Choir)
ตัวอย่างที่ดีของการนำเสียงไควร์เข้ามาช่วยโอบอุ้มเมโลดี้ของเพลง ให้มีอารมณ์ที่ลึกลับ มีมนต์ขลัง และยิ่งใหญ่ไปในเวลา่เดียวกัน นี่คือเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า โทนี่ แบงส์ ไม่ใช่มือคีย์บอร์ดที่มีฝีมือในการเล่นที่ดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกช่วงเวลาในการสอดใส่เสียงต่างๆ ลงในเพลงได้อย่างลงตัว ถูกที่ถูกเวลา และสำคัญคือถูกชนิดของเสียงด้วยครับ เรียกว่าเป็นการเล่นเพื่อส่งเสริมบทเพลง ไม่ใช่เพื่อการโชว์ออฟอย่างเดียวเหมือนใครบางคนครับ เมโลดี้ของเพลงนี้ไพเราะจริงๆ เสียงร้องของฟิล คอลลินส์ในเพลงนี้ก็พิสูจน์ว่าทางวงไม่จำเป็นต้องหานักร้องนำคนใหม่มาแทนปีเตอร์ แกเบรียลแต่อย่างใด เสียงกีตาร์ทั้งกีตาร์ไฟฟ้าและกีตาร์อคูสติกก็ไพเราะไม่แพ้กัน
- Agent Fox Mulder


Have You Heard Part I/The Voyage/Have You Heard Part II - The Moody Blues
From "On The Threshold Of A Dream" 1969
Mellotronist - Mike Pinder (Mark II : Brass & Violins)
นี่คือคอมโบเซ็ตเพลงของ Moody Blues ที่ผมภูิมิใจนำเสนอเป็นอย่างยิ่ง อัลบั้ม On The Threshold Of A Dream ก็เป็นอีกอัลบั้มหนึ่งของวง Moody Blues ที่ขึ้นชื่อในด้านของการใช้เมโลตรอน สำหรับสามแทร็คเซ็ตนี้เป็นสามแทร็คสุดท้ายที่ใช้ในการปิดอัลบั้ม ด้วยเพลงร้องเสียงนุ่มๆ ของ Justin Hayward ใน Have You Heard ที่ท่วงทำนองอ่อนช้อยงดงามเหลือเกิน เสียงของเมโลตรอนก็ให้บรรยากาศที่หอมกรุ่น ราวกับได้ทานขนมปังปิ้งร้อนๆ ซักแผ่นในยามเช้าอันแสนจะอบอุ่น ซึ่งเพลงทั้งสองภาคถูกคั่นกลางด้วยเพลงบรรเลงอารมณ์สกอร์ประกอบภาพยนต์อย่าง The Voyage ซึ่งมีการเรียบเรียงสไตล์วงออร์เครสตร้าที่ยิ่งใหญ่ ให้อารมณ์ที่ลึกลับน่าค้นหาไปด้วยในตัว เสียงเปียโนในช่วงท้ายเพลงก็ไพเราะและมีเสน่ห์มาก ถือเป็นเพลย์ลิสต์ที่ลงตัวอย่างมากๆ ถ้าหากคุณฟังมันแยกกัน ความไพเราะจะถูกลดลงประมาณครึ่งหนึ่งทันที
- Agent Fox Mulder
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 มิถุนายน 2008 | 06:21:00 PM โดย Agent Fox Mulder » บันทึกการเข้า

 
Tsundere (ツンデレ?) (pronounced /(t)sʌnˈdɪə(r)/ in English or /t͡sun.de.ɽe/ in Japanese) is a Japanese concept of a character archetype which describes a person with a conceited, irritable, and/or violent personality that suddenly becomes modest and loving when triggered by some sort of cause (such as being alone with someone)
Layla F Mulder
Administrator
Blackfield
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 3604


Without appreciation, the music isn't worth.

basnaphon@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 10:11:53 PM »

Mellotron Scratch : Track by Track Comments - Disc 2


Dancing With The Moonlight Knight - Genesis
From "Selling England by the Pound" 1973
Mellotronist - Tony Banks (M400 : Cello, Violins & Choir)
เพลงเปิดอัลบั้มจากอัลบั้มที่สมบูรณ์แบบที่สุดของวงเจเนซิส ในช่วงที่ฝีมือของแต่ละคนกำลังพีคเต็มที่ และบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในอัลบั้มนี้ก็สมดุลกันดี โดยเฉพาะภาคดนตรี สำหรับเพลงนี้ดูเหมือนว่ากีตาร์ของสตีฟแฮกเกตกับคีย์บอร์ดของโทนี่ แบงส์จะดูโดดเด่นเป็นพิเศษ เิปิดด้วยท่อนร้องของปีเตอร์ เกเบรียล ควบคู่ไปกับเสียงกีตาร์ที่เล่นอเพคจิโอ และเปียโนเสียงหวานๆ ก่อนที่จะมีการเร่งจังหวะขึ้นมา สอดแทรกด้วยเสียงไควร์จากเมโลตรอน มีท่อนโซโล่กีตาร์จากแฮกเกตที่แฮกเกตเล่นด้วยเทคนิคแทปปิ้งและ Sweep-Picking ไว้อย่างไร้เทียมทาน นี่คือหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่า Eddie Van Halen ไม่ใช่มือกีตาร์คนแรกสุดที่มีการนำเอาเทคนิคแทปปิ้งมาใช้อย่างแน่นอน อีกเทคนิคที่แฮกเกตใช้เล่นในเพลงนี้คือการ Fade เสียงหรือการ Swell เสียงกีตาร์ด้วยวอลลุ่มเพดัล ซึ่งแฮกเกตก็ถือเป็นมือกีตาร์คนแรกๆ ที่นำเทคนิคนี้มาใช้เช่นกัน หลังจากนั้นก็กลับเข้าสู่ท่อนร้องอีกครั้ง เสียงไควร์จากเมโลตรอนยังคงโอบอุ้มตัวเพลงได้อย่างอลังการและมีเสน่ห์ ทิ้งท้ายด้วยการดวลกันระหว่างเสียงโซโล่ซินธ์จาก ARP Pro-Soloist ของแบงส์กับเสียงกีตาร์ของแฮกเกต ปิดท้ายด้วยเสียงฟลุ๊ตและกีตาร์อคูสติกงามๆ ถูกโอบอุ้มด้วยเสียงไวโอลินและเสียงไควร์จากเมโลตรอน ถือเป็นเพลงเปิดอัลบั้มโปรแกรสสีฟร็อคชั้นเยี่ยมอีกชุดหนึ่งที่ทำได้ลงตัวและไพเราะจริงๆ ครับ
- Agent Fox Mulder


Catherine Of Aragon - Rick Wakeman
From "The Six Wives of Henry VIII" 1973
Mellotronist - Rick Wakeman (M400)
เพลงเปิดอัลบั้มจากงานเดี่ยวชุดที่ดีที่สุดของริก เวคแมน ซึ่งออกในช่วงที่เขากำลังอยู่ในช่วงพีคได้ที่กับวง Yes ซึ่งออกหลังจากอัลบั้ม Close to the Edge มาหมาดๆ ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และฝีมือ Six Wives เป็นอัลบั้มที่มีคอนเซปต์เกี่ยวกับนางสนมหกคนของกษัตริย์ Henry ที่แปด ซึ่งก็มีไล่เรียงกันไปตามชื่อเพลงทั้งหกเพลงเลย สำหรับ Catherine Of Aragon น่าจะเป็นเพลงที่เด่นที่สุดแล้วในอัลบั้มนี้ สิ่งที่เวคแมนสามารถทำได้โดดเด่นเหนือมือคีย์บอร์ดคนอื่นๆ คือนอกจากเขาจะมีเทคนิคการเล่นที่ไพเราะและฝีมือระดับชั้นเซียนแล้ว เขายังสามารถนำคีย์บอร์ดหลายๆ ชนิดมาผสมผสานกันอย่างมากมายและสร้างออกมาเป็นเพลงที่ลงตัวกลมกล่อมได้ เสียงจากคีย์บอร์ดทุกประเภทสามารถทำได้โดดเด่นและน่าตื่นเต้นได้ตลอดทั้งเพลง เพลง Catherine Of Aragon นี้คือตัวอย่างที่ชัดเจน ด้วยการผสมคีย์บอร์ดมากมายทั้ง เปียโนที่สื่อสำเนียงออกไปทางความหรูหราโอ่อ่าตามสไตล์ของเวคแมนอย่างเด่นชัด ออร์แกน Hammond C-3 เสียงของ Minimoog เสียงไวโอลินจากเมโลตรอนที่ถูกต่อผ่านเข้ากับเอฟเฟคต์ Phaser ซึ่งตลอดทั้งเพลงความยาวเกือบๆ สี่นาทีนั้น เสียงคีย์บอร์ดแต่ละประเภทจะสลับกันโดดเด่นอยู่ตลอด และสิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษคือเปียโนในเพลงนี้ที่ริกเล่นได้สำเนียงหรูหราจริงๆ
- Agent Fox Mulder


Appena Un Po' - Premiata Forneria Marconi
From "Per Un Amico" 1973
Mellotronist - Flavio Premoli (Mark II : Vibes & Violins)
เพลงดังจากอัลบั้มเด่นของวงโปรแกรสสีฟซิมโฟนิคร็อคชื่อดังจากอิตาลี ด้วยสไตล์ดนตรีที่เหมือนกับวง Genesis, Yes และ King Crimson แต่ผสมผสานด้วยความอ่อนหวาน ท่วงทำนองจากเครื่องดนตรีไวโอลิน ฟลุ๊ตและปิคาโล บวกกับความเป็นอิตาลี ทำให้ดนตรีของพวกเขาเป็นซิมโฟนิคที่ฟังค่อนข้างง่ายและสบายหูมาก Appena Un Po'เปิดด้วยเสียงเมโลตรอนกับเสียงของฮาร์ป ตามต่อด้วยกีตาร์คลาสสิคสไตล์สแปนนิช เสียงฟลุ๊ต เสียงฮาร์ปซิคอร์ด ออร์แกน เบสเดินได้โดดเด่นและน่ารักดี ก่อนจะ Shift จังหวะมาเข้าสู่ท่อนกลองที่เป็นร็อคมากขึ้น เสียงเครื่องดนตรีหลากชนิดผลัดกันทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม Flavio Premoli ร้องได้อย่างอ่อนหวานและไพเราะ เสียงประสานก็งดงามเกินบรรยาย ก่อนจะเบรคด้วยท่อนไวโอลินจากเมโลตรอนที่สุดแสนจะอลังการ เคียงคู่ไปกับเสียง Brass ตลอดทั้งเพลงมีการ Shift จังหวะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอด ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ตัวเพลงเกิดอาการสะดุดแต่อย่างใด ตอนท้ายเพลงมีการเร่งเร้าจังหวะและเปียโนก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีมากๆ ในช่วงท้ายนี้ สิ่งที่ผมโปรดปรานเป็นพิเศษในเพลงนี้มีหลายอย่างด้วยกัน เสียงฟลุ๊ตของ Mauro Pagani, เสียงเมโลตรอนของ Flavio Premoli, เสียงร้องของ Flavio Premoli ที่อ่อนหวานไพเราะเหลือหลาย และฮาร์โมนี่ของเพลงนี้ที่มีอยู่มากมายเต็มไปหมดแล้วก็งามๆ ทั้งนั้นเลยครับ
- Agent Fox Mulder


The Poet / After The Day - Barclay James Harvest
From "Barclay James Harvest and other short stories" 1971
Mellotronist - Woolly Wolstenholme (M300)
นี่เป็นอีกเพลงที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้เมลโลตรอนประกอบเพลงของวงนี้ โดยเพลงนี้เหมือนจะตั้งใจให้เราเปรียบเทียบระหว่างเสียงของเครื่องสายจริงๆกับเสียงเมลโลตรอนกันเลย โดยช่วงครึ่งแรกของเพลงนั้นจะใช้เสียงจากเครื่องสายแท้ๆ ที่ให้ความงดงาม อ่อนช้อยและคมชัด ส่วนในท่อนเร่งและท่อนท้ายๆของเพลงนั้นก็ได้ใช้เสียงของเมลโลตรอนที่ให้อารมณ์อุ่นๆและค่อนข้างจะ Obscure มากกว่า แต่ก็ยังให้ความงดงามได้เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการจะเปรียบเทียบเสียงเครื่องสายแท้ๆกับเสียงเครื่องสายที่ถูก Sample ด้วยเมลโลตรอนก็ต้องเพลงนี้เลยครับ 
- Lilium


Epitaph - King Crimson
From "In the Court of the Crimson King" 1969
Mellotronist - Ian McDonald (Mark II : Violins & Brass)
เพลงนี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักฟังโปรเกรสสีฟอยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเพลงที่มีการเล่นเมลโลตรอนได้อย่างงดงามและสมบูรณ์แบบที่สุด เป็นเพลงที่เสียงเมลโลตรอนได้ถูกนำมาใส่อย่างถูกที่ถูกเวลาและมีความลงตัว ตัวเพลงเป็นเพลงเศร้าหดหู่ที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกสับสนในจิตใจ เมื่อนำเสียงสวยๆของเมลโลตรอนมาผสมด้วยแล้ว จึงทำให้เพลงนี้เป็นที่จดจำและยังคงหลอนหูนักฟังมาอย่างยาวนานไม่เสื่อมคลายจนถึงทุกวันนี้
- Lilium
เพลงเด่นอีกเพลงจากวง King Crimson ซึ่งอัลบั้มแรกของ King Crimson ชุดนี้ถือเป็นอีกก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของวงการดนตรีโปรแกรสสีฟเหมือนกับอัลบั้ม Days Of Future Passed ของวง Moody Blues เลยทีเดียว ด้วยเพลงทั้งหมดในอัลบั้มที่ให้อารมณ์ไปในโทนเดียวกันหมดคือความหม่นหมอง เพลงนี้ถือเป็นเพลงเด่นมากๆ ในอัลบั้มชุดนี้ สำเนียงเมโลตรอนในเพลงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการสื่อถึงความเศร้าโศกที่เป็นเสียงแคแร็คเตอร์ของเมโลตรอนได้อย่างชัดเจน รวมถึง "Flavour" หรือ "รสชาติ" ของเสียงเมโลตรอนที่เป็นลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวเมื่อใช้กับเพลงช้าเศร้าๆ อย่างนี้ เสียงร้องของ Greg Lake ให้ทั้งความหงอยเหงาและทรงพลังไปในเวลาเดียวกัน นี่คืออีกหนึ่งเพลงระดับตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของดนตรีโปรแกรสสีฟเลยครับ
- Agent Fox Mulder


Watching and Waiting - The Moody Blues
From "To Our Children's Children's Children" 1969
Mellotronist - Mike Pinder (M300B : Violin)
หลังจากตัดสินใจอยู่พักหนึ่งว่าระหว่างเพลงนี้กับ Legend of A Mind ว่าควรจะเลือกเพลงไหนดี แต่ควรจริงอย่างจะใส่มาทั้งคู่เลย แต่กลัวว่าจะไปเบียดโควตาของศิลปินท่านอื่นๆ เอา ผมเลยตัดสินใจเลือกจากความโดดเด่นของเมโลตรอนเป็นหลัก มากกว่าที่จะไปมองเรื่องตัวเพลงโดยภาพรวม นี่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งจากฝีมือเมโลตรอนของไมค์ พินเดอร์ การผสมผสานระหว่างเสียงของเครื่องสายและเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองได้อย่างลงตัว นุ่มนวล อ่อนหวาน ราวกับเป็นเสียงสวรรค์ ซึ่งซาวน์ลักษณะนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของวงนี้ บวกกับเสียงร้องนุ่มๆ ของ Justin Hayward แล้วล่ะก็ เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากๆ เป็นหนึ่งในเพลงช้าที่ไพเราะที่สุดของวง Moody Blues เลยทีเดียว
- Agent Fox Mulder


New World - Strawbs
From "Grave New World" 1972
Mellotronist - Blue Weaver (M400)
เพลงดังจากวง Strawbs ด้วยฝีมือเมโลตรอนจาก Blue Weaver เิปิดด้วยเสียงคอร์ดจากกีตาร์อคูสติก ตามด้วยไลน์เครื่องสายและเครื่องเป่าทองเหลืองที่ออกกระแทกกระทั้นอยู่ซักหน่อย เสียงร้องของ Dave Cousins ไพเราะและมีพลังอย่างมาก โดยเฉพาะในท่อนคอรัสที่เขาแผดเสียงได้สะใจดีจริงๆ เสียงของไวโอลินจากเมโลตรอนในเพลงนี้มีลวดลายและสีสันมาก โดยเฉพาะตรงท่อน Bridge ที่เชื่อมระหว่างท่อนต่างๆ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเพลงนี้เมโลตรอนจะโดดเด่นตรงที่เป็นการเล่นเมโลตรอนที่ทำได้ทรงพลังและขึงขังมาก (ส่วนของ Brass นี่ชัดเจนมาก) แล้วยิ่งมาเจอกับเสียงร้องของ Dave Cousins ด้วยแล้วก็ทำให้เพลงนี้ทรงพลังมากขึ้นไปอีก สำหรับเพลงนี้เขาว่ากันว่าเป็นเพลงแรกของวง Strawbs ที่การเรียบเรียงและการเล่นดนตรีของพวกเขาสื่อว่าเป็นดนตรีโปรแกรสสีฟอย่างเด่นชัดครับ
- Agent Fox Mulder


Early Morning - Barclay James Harvest
From "Early Morning Onwards" 1972
Mellotronist - Woolly Wolstenholme (M300)
อีกหนึ่งเพลงสุดเพราะพริ้งจาก Barclay James Harvest เป็นเพลงที่นำเสียงขุ่นๆของเมลโลตรอนมาใช้เพิ่มความอบอุ่นของเพลงโดยเฉพาะ ซึ่งมันก็ทำให้ตัวเพลงนั้นฟังดูเอิบอิ่มใจ งดงาม ให้บรรยากาศของความรักภายใต้แสงแดดอุ่นๆยามเช้า ซึ่งเสียงของเครื่องสายแท้ๆนั้นคงจะไม่ให้ความรู้สึกที่กรุ่นอย่างนี้แน่นอนครับ (ผมว่าเพลงในยุคแรกๆคงวงนี้ ถ้าเปรียบเทียบเป็นสมัยนี้ผมก็มักจะนึกถึง Blackfield ทุกทีครับ แม้แนวดนตรีจะไม่เหมือนกัน แต่ความรู้สึกที่อบอุ่น เรียบง่ายแต่ยังรู้สึกได้ถึงชั้นเชิงนั้นเหมือนกันครับ)
- Lilium


Starless [Abridged] - King Crimson
Originally from "Red" 1974, Abridged Version taken from "Sleepless: The Concise King Crimson" 1993
Mellotronist - Robert Fripp (M400 : Violins)
เพลงนี้เป็นเพลงที่คุ้นหูกันดีและน่าจะเป็นที่ชื่นชอบกันแน่นอนในหมู่นักฟังเพลงโปรเกรสสีฟ ด้วยการนำเมลโลตรอนมาใช้สร้างบรรยากาศเพลงที่ทำให้เกิดอารมณ์ที่เศร้าสร้อยแฝงความหมองหม่น (ยุคนี้เป็นยุคที่ King Crimson บ้าเมลโลตรอนมากที่สุดด้วย)ซึ่งเวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นทีี่่ตัดท่อนบรรเลงตอนกลางออกไป ทำให้ได้ฟังท่อนเมลโลตรอนกันอย่างเต็มอิ่มครับ ซึ่งผลงานนี้น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้เมลโลตรอนเพื่อแฝงความเศร้าสร้อยให้แก่วงรุ่นใหม่อย่าง Opeth ด้วยครับ
- Lilium
เพลงปิดอัลบั้มจากอัลบั้ม "แดงเดือด" อัลบั้มชุดสุดท้ายในเฟสที่สองของวง King Crimson อัลบั้มที่ผมชื่นชอบที่สุดของวง King Crimson ช่วงต้นของเพลงนี้จะให้ความรู้สึกที่ตัดกับเพลงอื่นๆ ในอัลบั้มค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นเพลงช้าอารมณ์หงอยเหงา เสียงเศร้าๆ ของเมโลตรอน ผสมกับเสียงอัลโตแซ็กโซโฟนที่เป่าโดย Ian McDonald บวกกับเสียงกีตาร์จากฟริปป์ ให้อารมณ์ของเพลงช้าที่แตกต่างจากเพลงช้าที่เราได้ยินได้ฟังกันทั่วไป ตอนแรกผมกังวลกับเพลงนี้พอสมควร เนื่องจากเวอร์ชั่นเต็มจากอัลบั้ม Red นั้นมีความยาวถึงสิบสองนาที และมีท่อนแจมในช่วงหลังที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับเสียงเมโลตรอนเท่าไหร่ น้องเหม่งจึงได้แนะนำเวอร์ชั่นจากอัลบั้มรวมเพลง Sleepless: The Concise King Crimson มา ซึ่งความยาวของมันลดลงไปครึ่งนึง เหลือเฉพาะช่วงที่เป็นเมโลตรอนช้าๆ ในช่วงแรก
- Agent Fox Mulder


Pantagruel's Nativity - Gentle Giant
From "Acquiring The Taste" 1971
Mellotronist - Kerry Minnear (M400 : Violins)
เพลงจากอัลบั้มชุดที่สองของวง "ยักษ์สุภาพ" มีการใช้เครื่องดนตรีหลากหลายชนิดอยู่พอสมควร เสียง Moog ทำได้ดูลึกลับดี ส่วนเสียงกีตาร์ของ Gary Green ก็ดิบหยาบได้ใจ เข้ากับเสียงไวโอลินจากเมโลตรอนได้ดีจริงๆ การร้องของ Derek Shulman มีความซับซ้อนอยู่มากมาย แถมให้อารมณ์ประมาณเสียงของนักร้องโอเปร่า(หญิง) เสียด้วย ในช่วงกลางๆ เพลงมีการเล่นโซโล่ด้วย Vibraphone เสียงใสกังวาลดีจริงๆ ครับ ตลอดทั้งเพลงมีเสียงของเครื่องดนตรีแปลกๆ อยู่มากที่ผมเองก็ระบุไม่ได้ว่ามันคือเสียงอะไรบ้าง ถึงจะเป็นเพลงที่ดูแปลกๆ ไปหน่อย เมื่อเทียบกับเพลงของวงดนตรีซิมโฟนิคร็อคอื่นๆ เนื่องด้วยความซับซ้อนของดนตรีจากวงนี้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเพลงซิมโฟนิคชั้นยอดอีกเพลงที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งเลยครับ
- Agent Fox Mulder


And You and I - Yes
From "Close to the Edge" 1972
Mellotronist - Rick Wakeman (M400 : Violins)
เพลงระดับอภิมหาใหญ่ยักษ์แห่งวงการดนตรีโปรแกรสสีฟ จากวงชั้นเทพอย่าง Yes และมาจากอัลบั้มชั้นเทพอย่าง Close to the Edge นี่คือตัวอย่างของเพลงที่สมบูรณ์แบบไปในทุกด้าน รวมถึงงานเมโลตรอนที่ยอดเยี่ยมจากฝีมือของริก เวคแมน จากผลโหวตเพลงที่ใช้เมโลตรอนได้ยอดเยี่ยมที่สุดจากเว็บไซต์ planetmellotron ผลปรากฎออกมาว่าเพลงนี้แหละครับได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง มันไม่เพียงเป็นเพลงที่เล่นเมโลตรอนได้ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ียังรวมถึงเป็นเพลงที่ผสมผสานระหว่างเสียงของ Minimoog กับเมโลตรอนได้อย่างลงตัวชนิดที่ไม่เคยมีใครหน้าไหนทำได้ยอดเยี่ยมกว่านี้อีกแล้ว โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเพลงนี้คือเพลงหนึ่งที่สามารถดึงศักยภาพของเสียงเมโลตรอนมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด สำเีนียงการกดคอร์ดของเวคแมนนั้นให้อารมณ์ที่ยิ่งใหญ่ อลังการเหนือคำบรรยายจริงๆ เสียง Minimoog ก็เล่นได้อย่างมีเสน่ห์เหลือเกินครับ นอกนั้นองค์ประกอบอื่นๆ ก็ยอดเยี่ยมลงตัวทั้งสิ้น เสียงร้องราวเทพใจดีของจอน แอนเดอสัน กีตาร์ไฟฟ้าต่อผ่านตู้ลำโพงเลสลี่ของสตีฟ ฮาว ภาคจังหวะที่ทั้งหนักแน่นและมีสีสันจากคริสต์ สไควร์และบิล บรูฟอร์ด ถ้าพูดถึงเพลงระดับ Epic ที่สื่อถึงสำเนียงเมโลตรอนได้อย่างชัดเจน คงไม่มีเพลงไหนจะเหมาะสมเท่ากับเพลงนี้อีกแล้วครับ
- Agent Fox Mulder


Hero and Heroine - Strawbs
From "Hero and Heroine" 1974
Mellotronist - John Hawken (M400)
อีกครั้งกับเพลงที่ทำได้ทรงพลังและโดดเด่นด้วยท่อนริฟฟ์สุดเข้มแข็ง ด้วยเสียงของเมโลตรอน และภาคจังหวะที่ทำหน้าที่ได้ดี ทั้งเบสและกลอง แม้มือเมโลตรอนจะเป็น John Hawken ไม่ใช่ Blue Weaver คนเก่าแต่อย่างใด ก็เขาก็เล่้นได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ช่วงกลางเพลงมีท่อนที่เล่นด้วยเสียงจาก Church Organ และเสียงไควร์จากเมโลตรอนที่ชวนให้นึกไปถึงเพลง Close to the Edge ของวงเยส เสียงของอคูสติกกีตาร์ที่เล่นฟิงเกอร์สไตล์ปิ๊คกิ้งให้เสียงคล้ายๆ กันแมนโดลินเลยครับ (หรือมันอาจเป็นเสียงแมนโดลินจริงๆ ก็ได้นะ)จุดที่น่าสนใจของเพลงนี้ที่ผมอยากให้สังเกตกันคือการนำเมโลตรอนมาใช้กับภาคจังหวะที่ขึงขังและเข้มแข็งได้อย่างโดดเด่น
และลงตัวมากๆ ครับ
- Agent Fox Mulder


Spectral Mornings - Steve Hackett
From "Spectral Mornings" 1979
Mellotronist - Nick Magnus (Novatron M400 : Violins)
สตีฟ แฮกเกตเป็นมือกีตาร์ฝีมือดีมากๆ คนหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้ามเขาไป เขามีสไตล์ที่เฉพาะตัวมาก และเป็นผู้นำเทคนิคในการเล่นหลายๆ อย่างมาใช้ ทั้งในด้านของการเล่นและเรื่องของการสร้างซาวน์ อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขา Voyage of the Acolyte ถือเป็นอัลบั้ม "A Must Have" ของดนตรีแนวโปรแกรสสีฟอีกชุดหนึ่ง ด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพและการเล่นดนตรีระดับเซียน แต่โดยส่วนตัวผมชอบอัลบั้มที่ออกถัดมาหน่อยอย่าง Spectral Mornings มากกว่า เนื่องด้วยซาวน์ดูอิ่มและอบอุ่นกว่า ไม่แห้งแล้งเหมือนอย่าง Voyage of the Acolyte สำหรับเพลงนี้เป็นไตเติ้ลแทร็คของอัลบั้มที่เป็นเพลงบรรเลงสวยๆ ที่ให้บรรยากาศของรุ่งอรุณยามเช้า ซึ่งใช้โนวาตรอนที่เป็นเมโลตรอนที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงปลายยุค 70's มาบรรเลง เสียงของโนวาตรอนอบอุ่น และให้บรรยากาศสว่างสดใส และคอยอุ้มเสียงกีตาร์ของแฮกเกตให้ไหลไปตามเมโลดี้ได้ง่ายขึ้น ไลน์เมโลดี้กีตาร์ที่แฮกเกตเล่นในเพลงนี้ไพเราะ้จริงๆ ครับ โดยเฉพาะกับเทคนิคการ Swell อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา นี่คืองานโซโล่ที่ดีที่สุดของแฮกเกตในสายตาผมเลยครับ
- Agent Fox Mulder
บันทึกการเข้า

 
Tsundere (ツンデレ?) (pronounced /(t)sʌnˈdɪə(r)/ in English or /t͡sun.de.ɽe/ in Japanese) is a Japanese concept of a character archetype which describes a person with a conceited, irritable, and/or violent personality that suddenly becomes modest and loving when triggered by some sort of cause (such as being alone with someone)
Layla F Mulder
Administrator
Blackfield
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 3604


Without appreciation, the music isn't worth.

basnaphon@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 10:12:23 PM »

Mellotron Scratch : Track by Track Comments - Disc 3


Bedside Manners Are Extra - Greenslade
From "Bedside Manners Are Extra" 1973
Mellotronist - Dave Greenslade (M400)
เพลงจากวงโปรแกรสสีฟร็อคอายุสั้นจากประเทศอังกฤษ นี่คือไตเติ้ลแทร็คจากอัลบั้มชุดที่สองของวงในปี 1973 ซึ่งในยุค 70's นั้น พวกเขาออกอัลบั้มมาตั้งแต่ปี 1972 จนถึง 1975 เป็นจำนวนแค่สองชุดเท่านั้นเองครับ Dave Greenslade เล่นทั้งเปียโน, Minimoog และเมโลตรอนได้อย่างแสนจะงดงามสุดๆ ในช่วงต้นเพลง เสียงร้องของ Dave Lawson ก็หวานซะ อย่าบอกใคร น่าจะไปร้องเพลงป๊อบหากินได้สบายๆ เลยทีเดียว ช่วงกลางเพลงมีเสียงโซโล่เปียโนไฟฟ้าที่ถูกต่อผ่านตู้ลำโพงเลสลี่ด้วย ให้ซาวน์ที่แปลกใหม่น่าสนใจทีเดียว รับรองเลยครับว่าหลังจากฟังเพลงนี้จบแล้วคุณจะตกหลุมรักวงนี้เข้าอย่างจังแน่ๆ ครับ อ้อ ปกอัลบั้มนี้ออกแบบและวาดโดยฝีมือของ Roger Dean ด้วยนะครับ
- Agent Fox Mulder


Darkness/Earth In Search of A Sun - Jan Hammer
From "First Seven Days" 1975
Mellotronist - Jan Hammer (Mark V : Violins)
Jan Hammer เป็นมือคีย์บอร์ดฝีมือฉกาจอีกคนหนึ่ง ในช่วงเริ่มต้นเขามือชื่อเสียงในนามมือคีย์บอร์ดวง Mahavishnu Orchestra ซึ่งนำโดย John McLaughlin และหลังจากวงมหาวิษณุแตกไปแล้วเขาก็ออกผลงานเดี่ยวในนามของตัวเองออกมา และมีงานอัลบั้มคู่กับมือไวโอลินของวงมหาวิษณุ Jerry Goodman อีกด้วย สำหรับอัลบั้มนี้ถือเป็นโซโล่อัลบั้มชุดแรกจริงๆ ของเขา ซึ่งมีคอนเซปต์เกี่ยวกับการสร้างโลกของพระเจ้าภายในเวลาเจ็ดวัน อัลบั้มนี้เต็มไปด้วยเสียงซินธิไซเซอร์มากมาย โดยเฉพาะ Minimoog ซึ่งการเล่น Minimoog ของเขาค่อนข้างร้อนแรงและดุเดือดมาตั้งแต่สมัยอยู่วงมหาวิษณุแล้ว โดยการเล่นของเขาจะให้อารมณ์คล้ายๆ กับการลีดกีตาร์ไฟฟ้ามาก ถึงกระนั้นในแทร็คนี้ก็ยังมีเสียงของเครื่องสายจากเมโลตรอนที่ให้ความยิ่งใหญ่ และเพิ่มความเป็น Dramatic เข้าไปให้ตัวเพลงกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น หลังจาก Jan Hammer ได้ออกบินเดี่ยวไปซักพักแล้วเขาก็ตั้งวงดนตรีของตนเองที่ชื่อว่า The Jan Hammer Group และร่วมงานกับ Jeff Beck ออกทัวร์และบันทึกเสียงมาเป็นอัลบั้มแสดงสด Jeff Beck with the Jan Hammer Group Live ในปี 1977 อีกด้วย และในภายหลัง Jan Hammer ก็ลงไปจับงานทางด้านทำสกอร์ประกอบละครโทรทัศน์และภาพยนต์เป็นหลัก ที่โด่งดันเป็นพิเศษเห็นจะเป็นงานสกอร์ประกอบรายการโทรทัศน์ทางอเมริกา Miami Vice
- Agent Fox Mulder


Epsilon in Malaysian Pale - Edgar Froese
From "Epsilon In Malaysian Pale" 1975
Mellotronist - Edgar Froese (Mark V : Flute, Violins, Choir & Cello)
เนื่องจากผมไม่ได้ส่งเพลงของวง Tangerine Dream เข้าประกวด งานนี้ก็เลยขอส่งเพลงจากงานเดี่ยวของมือคีย์บอร์ดจากวง Tangerine Dream เข้าประกวดแทนครับ ซึ่งนาย Edgar Froese นี้ก็ถือเป็น Master of the Mellotron อีกคนหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งงานของเขาจะกระเดียดออกไปทาง Progressive Electronic, Ambient จนออกกลิ่นอายของดนตรี New Age เลยทีเดียว เพลงนี้เ็ป็นเพลงบรรเลงขนาดยาว 17 นาที ที่อุดมไปด้วยเสียงของเมโลตรอนล้วนๆ และแถมยังมีซาวน์ที่หลากหลายทั้งฟลุ๊ต ไวโอลิน ไควร์ และเชลโล ให้อารมณ์เหมือนอยู่ในห้วงอะไรซักอย่าง (อาจเป็นป่าไม้ธรรมชาติเหมือนในปกอัลบั้มก็เป็นได้) ในช่วงครึ่งหลังของเพลง ดนตรีขยับมาเป็นจังหวะเร้าใจมากขึ้น และผสมผสานเสียงซีเควนเซอร์ซินธ์ลงไปร่วมด้วย ทำให้บรรยากาศออกแฟนตาซีมากขึ้น ก่อนจะกลับไปเป็นบรรยากาศล่องลอยอีกครั้งในช่วงท้ายเพลง เสียงฟลุ๊ตไพเราะมากจริงๆ เป็นอีกผลงานชิ้นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามจาก Edgar Froese
- Agent Fox Mulder


Equinoxe Part IV - Jean Michel Jarre
From "Equinoxe" 1978
Mellotronist - Jean Michel Jarre (M400 : Violins)
หนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทางดนตรีอีเล็กโทรนิก้าอย่าง Jean Michel Jarre มักจะมีไอเดียใหม่ๆเสมอในการแปลงเสียงซินธิไซเซอร์ให้น่าฟังและมีความล้ำสมัย ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้ที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาการเล่นซินธ์ของตน แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้ง Vintage Keyboard สุดคลาสสิคอย่างเมลโลตรอน เพราะซาวนด์อนาล๊อกแบบที่หาไม่ได้จากคีย์บอร์ดชนิดอื่นๆ ได้ช่วยส่งเสริมดนตรีอีเล็กโทรนิก้าของเขาให้ขลังขึ้นหลายเท่าตัว และนี่ก็คือเพลง Equinoxe IV ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เมลโลตรอนในงานศิลปะเพลงอีเล็กโทรนิกส์กึ่งพาณิชย์ครับ
- Lilium
หมายเหตุ - โดยส่วนตัวจากที่ได้ยินได้ฟังเสียงจากเพลงนี้แล้ว ผมมีความรู้สึกว่าเสียงของเครื่องสายในเพลงนี้ มันดูนิ่งและคมชัดเกินไปกว่าที่จะเป็นเมโลตรอน เรียกว่าถ้าผมไม่ได้ดูข้อมูลอะไรมาก่อน ผมก็ขอฟันธงแน่ๆ เลยว่า นี่ไม่ใช่เสียงของเมโลตรอน แต่หลังจากน้องเหม่งได้เสนอเพลงนี้ลงมา ผมก็ลองไปค้นข้อมูลจากเว็บ planetmellotron พบว่ามีข้อมูลว่าใช้เมโลตรอนในเพลงนี้จริงๆ ถึงกระนั้นผมก็ยังไม่แน่ใจกับข้อมูลตรงนี้มากนัก เพราะรู้สึกว่าหูผมมันบอกกับผมว่า นี่ไม่ใช่เสียงของเมโลตรอนเ็ด็ดขาด
- Agent Fox Mulder


Ladytron - Roxy Music
From "Roxy Music" 1972
Mellotronist - Bryan Ferry (M400 : Violins, Brass, ...)
อีกเพลงเยี่ยมจากอัลบั้มชุดแรกของวง Roxy Music ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองข้ามไปให้ความสนใจ Virginia Plain กับ Re-Make/Re-Model กันหมด ไบรอัน เฟอร์รี่เป็นผู้เล่นเมโลตรอนในเพลงนี้ แทนที่จะเป็นไบรอัน อีโนอย่างที่เราเข้าใจกัน ท่อนอินโทรเป็นเสียงเมโลตรอนที่ให้บรรยากาศเหมือนเพลงคลาสสิคยังไงหยั่งงั้น โดยเฉพาะความ Lo-Fi ของมันยิ่งทำให้ดูโบราณไปกันใหญ่ เสียงร้องของเฟอร์รี่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ตามสไตล์ของเขา ท่อนโซโล่กลางเพลงก็ให้อารมณ์โบราณเหมือนกันกับท่อนอินโทรนั่นแหละ เสียดายที่เพลงนี้มีเมโลตรอนไม่เยอะเท่าไหร่นัก ความจริงฝีมือของนายเฟอร์รี่ก็ไม่เลวทีเดียวนะ อยากฟังมากกว่านี้จังเลย ซาวน์ Brass จากเมโลตรอนในเพลงนี้บวกกับความ Lo-Fi นี่ช่างเข้า่กันได้ดีเยี่่ยมจริงๆ
- Agent Fox Mulder


Three Piece Suite - England
From "Garden Shed" 1977
Mellotronist - Robert Webb/Frank Holland (Mark II : Violins & Brass)
แทร็คยาว 13 นาทีของวงซิมโฟนิคโปรแกรสสีฟอายุสั้นอีกวงหนึ่ง ที่หลายคนบอกว่าเหมือนเป็นวงโคลนที่ผสมระหว่าง Yes กับ Genesis เอาไว้อย่างละครึ่ง วงนี้ออกอัลบั้มมาได้เพียงชุดเดียวเท่านั้นในยุค 70's และก็เป็นอัลบั้มมาสเตอร์พีซเสียด้วย Robert Webb โชว์ฝีมือเล่นทั้งเมโลตรอนและออร์แกนในเพลงนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน ในช่วงกลางเพลงมีการเล่นเมโลตรอนเสียงไวโอลินเป็นโน๊ตสั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะการเล่นที่หาฟังได้ยากพอสมควร ปิดท้ายด้วยท่อนโซโล่ออร์แกนที่มีเสียงไวโอลินจากเมโลตรอนคอยโอบอุ้มอยู่ เสียดายแทนวงนี้จริงๆ ที่พวกเขาออกอัลบั้มมาแค่ชุดเดียว หลังจากนั้นก็หายเข้ากลีบเมฆไปเลย สำหรับอีกประเด็นที่ต้องพูดถึงเกี่ยวกับ Robert Webb ก็คือ เขาเป็นผู้ใช้เมโลตรอนตัวพิเศษที่มีชื่อเล่นว่า Half-a-Tron หรืออีกชื่อหนึ่งว่า The Black Melly ซึ่งเป็นเมโลตรอนรุ่น Mark II ที่ถูกผ่าครึ่งออกเป็นสองส่วน เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้าย และเพื่อที่จะได้นำเอาคีย์บอร์ดชนิดอื่นมาวางซ้อนไว้ข้างบนได้ง่ายและสะดวกขึ้น (สงสัยเป็น Minimoog แน่ๆ เลย)
- Agent Fox Mulder


- ภาพของ Robert Webb กับเมโลตรอนตัวพิเศษ Half-a-Tron


The Rain Song - Led Zeppelin
From "Houses of the Holy" 1973
Mellotronist - John Paul Jones (Mark II : Violins & Cello)
เพลงเยี่ยมอีกเพลงจากอัลบั้ม Houses of the Holy ของแซปปลิน เป็นอีกเพลงโปรดสุดๆ ของผมที่ผมคัดมาในอัลบั้มรวมเพลงชุดนี้เลยครับ เมโลตรอนเล่นเสียงไวโอลินและเชลโล ผสมผสานกันได้อ่อนหวาน และมีมนต์ขลังสุดๆ จากฝีมือของ จอห์น พอล โจนส์ มือเบสที่เล่นคีย์บอร์ดได้เก่งที่สุดในโลก (ฮา) ดนตรีในเพลงนี้งดงามไปทุกส่วนจริงๆ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมาจากวงดนตรีฮาร์ดร็อคอย่างเลด แซปปลิน คอร์ด Voicing จากกีตาร์อคูสติกและกีตาร์ไฟฟ้า 12 สายของจิมมี่ เพจ งดงามเกินกว่าจะบรรยายได้ จอห์น บอนแฮมสัมผัสฉาบและแฉอย่างแผ่วเบาและให้อารมณ์ออเครสตร้า (ตีแบบนี้ก็เป็นด้วยเหรอเนี่ย?) ส่วนเมโลตรอนของจอห์น พอล โจนส์ก็เรียบเรียงหวานหยดย้อย ในระดับเดียวกับไมค์ พินเดอร์แห่งวง Moody Blues กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะเสียงของเชลโลที่เคียงคู่ไปกับเสียงไวโอลินนั้น มันให้ความรู้สึกเหมือนได้นักเรียบเรียงเสียงของวงเครื่องสายมาทำให้เลย โดยส่วนตัวผมว่า จอห์น พอล โจนส์เล่นคีย์บอร์ดได้ยอดมาก ไม่แพ้มือคีย์บอร์ดดังๆ แห่งวงการพร็อกคนอื่นๆ เลย เพียงแต่ว่าดูเหมือนเขาจะไม่ค่อยได้มีโอกาสแสดงฝีมือทางด้านคีย์บอร์ดเด่นนัก เนื่องจา่กหน้าที่หลักของเขาคือเล่นเบส แต่เพลงนี้เขาโชว์ฝีมือไว้อย่างสุดยอดจริงๆ ขอคารวะหนึ่งกะละมังเลยครับ
- Agent Fox Mulder


Storm and Thunder [Single Version] - Earth & Fire
From "Song Of The Marching Children" 1971
Mellotronist - Gerard Koerts (M300A : Violins)
เพลงจากวงดนตรีซิมโฟนิคร็อคจากประเทศเนเธอร์แลนด์ จากอัลบั้มที่สอง Song Of The Marching Children ซึ่งเวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นที่ตัดเป็นซิงเกิ้ลเพื่อลดความยาวของเพลงลง เพลงนี้โดดเด่นด้วยเสียงร้องใสคมของนักร้องสาว Jerney Kaagman ซึ่งชวนให้นึกถึงเสียงของ Kate Bush เสียงออร์แกนกับเมโลตรอนเข้ากันได้ดีทีเดียว และในภายหลังนักร้องสาว Jerney Kaagman คนนี้ได้ไปแ่ต่งงานกับ Bert Ruiter มือเบสยุคก่อตั้งวงแห่งวง Focus ด้วยครับ นี่ถือเป็นอีกเพลงที่ไพเราะ ฟังง่ายและงดงามไปในเพลงเดียวกัน
- Agent Fox Mulder


Histoires Sans Paroles - Harmonium
From "Si on avait besoin d'une cinquième saison" 1975
Mellotronist - Serge Locat (M400 : Violins)
นี่ก็เป็นอีกเพลงขนาดยาวในอัลบั้มรวมเพลงชุดนี้ ซึ่งตอนแรกก็ลังเลที่จะใส่มันลงมาเนื่องจากความยาว 17 นาทีของมัน แต่หลังจากฟังซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบแล้วก็ต้องขอบอกเลยครับว่า จะขาดเพลงนี้ไปไม่ได้เด็ดขาด เพลงนี้เป็นของวง Harmonium วงดนตรีสไตล์ซิมโฟนิคร็อคจากแคนาดา ที่โดดเด่นด้วยสำเนียงกีตาร์อคูสติก เสียงเปียโน เสียงฟลุ๊ต อันไพเราะอ่อนหวาน และที่สำคัญเลยคือเสียงจากเมโลตรอนอันแสนงดงาม โดยในอัลบั้ม Si on avait besoin d'une cinquième saison จะมีทั้งหมด 5 แทร็ค ซึ่งแต่ละแทร็คจะนำเสนอเรื่องราวของ "ฤดูกาล" ต่างๆ และในแทร็คสุดท้ายของอัลบั้ม Histoires Sans Paroles เพลงนี้แหละครับ ที่สื่อความหมายถึง "ฤดูกาลที่ 5" ที่ไม่ใช่ฤดูร้อน, ฤดูหนาว, ฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูใบไม้ร่วง และแน่นอนว่าแทร็คที่คือแทร็คที่ยาวที่สุดในอัลบั้้ม และน่าจะไพเราะโดดเด่นที่สุดด้วย เปิดด้วยเสียงกีตาร์อคูสติกเบาๆ ที่เคียงคู่ไปเสียงฟลุ๊ตแท้ๆ (ไม่ได้มาจากเมโลตรอนนะครับ) และผสมผสานด้วยเสียงไวโอลินจากเมโลตรอนและเปียโนอันแสนจะไพเราะ ในช่วงกลางเพลงมีเสียงร้องจาก Judi Richards สลับไปกับเสียงเปียโนและเมโลตรอน เป็นอีกเพลงที่ไพเราะและแสนจะงดงาม ฟังแล้วลองจินตนาการถึงฤดูกาลที่ 5 กันดูแล้วกันครับ ว่ามันจะน่าอยู่และบรรยากาศดีขนาดไหน
- Agent Fox Mulder
บันทึกการเข้า

 
Tsundere (ツンデレ?) (pronounced /(t)sʌnˈdɪə(r)/ in English or /t͡sun.de.ɽe/ in Japanese) is a Japanese concept of a character archetype which describes a person with a conceited, irritable, and/or violent personality that suddenly becomes modest and loving when triggered by some sort of cause (such as being alone with someone)
Layla F Mulder
Administrator
Blackfield
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 3604


Without appreciation, the music isn't worth.

basnaphon@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 10:13:31 PM »

Mellotron Scratch : Track by Track Comments - Disc 4


Sysyphus Part I - Pink Floyd
From "Ummagumma" 1969
Mellotronist - Richard Wright (Mark II : Violins & Brass)
เพลงสั้นๆ แค่ประมาณ 1 นาทีจากฝีมือของริก ไรท์ ที่อยู่ในส่วนสตูดิโออัลบั้มของ Ummagumma เพลงนี้ เป็นการเล่นด้วยเมโลตรอนทั้งหมด ซึ่งในส่วนสตูดิโอของอัลบั้มชุดนี้ จะเป็นผลงานที่แต่งเดี่ยวของสมาชิกแต่ละคน มาจับแยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นกันว่า เพลงนี้เป็นของสมาชิกคนใด และต่างคนก็จะต่างเล่นเครื่องดนตรีของตัวเองและร้องไปเพลง Sysyphus Part I เป็นเพลงบรรเลงเมโลตรอนที่ให้บรรยากาศมืดมน ลึกลับ ออกแนวเหมือนเป็นซาวน์แทร็คประกอบหนังสยองขวัญ-ระทึกขวัญในยุคโบราณเลยครับ นี่ก็พิสูจน์ได้ว่า เมโลตรอนสามารถสร้างเสียงที่น่าสะพรึงกลัวได้เหมือนกันนะ ไม่ใช่แค่เสียงโทนอบอุ่น สดใสเพียงอย่างเดียว
- Agent Fox Mulder


Capitaine Coeur de Miel - Ange
From "Guet-Apens" 1978
Mellotronist - Francis Decamps (M400 : Male Choir)
พูดถึง Ange แล้ว นักฟังรุ่นใหญ่กหลายๆคนน่าจะรู้จักวงนี้อย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ก็ต้องขอท้าวความไว้ก่อนเลยว่า วงนี้คือวงซิมโฟนิคพร๊อกที่มีชื่อเสียงที่สุดของฝรั่งเศสครับ ซึ่งจริงๆแล้วอัลบั้มก่อนๆของวงนี้ก็ไม่เคยมีการใช้เมลโลตรอนมาก่อนนะครับ เพิ่งจะมาใช้ก็ตอนชุด Guet-Apens นี่เอง ซึ่งเพลงที่เลือกมานี้เป็นเพลงที่โดดเด่นตรงการใช้เสียงเมลโลตรอนที่เป็นเสียงไควร์ (เสียงประสาน) ของผู้ชายในช่วงกลางเพลงที่ให้อารมณ์ลึกลับ ซึ่งเป็นท่อนเปลี่ยนจากอารมณ์สดใสในช่วงตันเพลงมาเป็นอารมณ์มืดมน ลึกลับในช่วงท้ายของเพลงครับ
- Lilium


Wonderwall - Oasis
From "(What's The Story) Morning Glory?" 1995
Mellotronist - Noel Gallagher/Paul Arthurs (Mark II converted FX Console with custom tapes : Cello)
ถ้าเอ่ยถึงอิทธิพลของวงอย่าง Oasis แล้ว แน่นอนว่าอิทธิพลที่สำคัญที่สุดในการทำดนตรีของเขาก็คือ The Beatles อย่างแน่นอน และเมื่อกระนั้นแล้ว มีหรือที่วงอย่าง Oasis จะพลาดการใช้เครื่องดนตรีอย่างเมลโลตรอน ซึ่งทางวงก็ได้นำเมลโลตรอนมาใช้ประกอยในเพลงหลายต่อหลายเพลงรวมถึงเพลงสุดดังอย่าง Wonderwall นี้ด้วย โดยทางวงต้องการที่จะใส่เสียงแบบเชลโลเพื่อเพิ่มความงดงามในเพลง แต่คาดว่าคงไม่ต้องการความหยดย้อยมากนัก และต้องการคงความเป็นโลไฟเอาไว้ ซึ่งการใช้เมลโลตรอนนี้เป็นการตอบโจทย์ได้อย่างดี ผลลัพท์ที่ออกมาคือเมลโลตรอนได้เพิ่มความอบอุ่นงดงามให้กับเพลงขึ้นมาก ซึ่งถ้าใช้เครื่องสายของจริงก็คงจะไม่ออกมากรุ่นไอรักอย่างนี้แน่นอน เป็นอีกหนึ่งการเลือกใช้เมลโลตรอนอย่างชาญฉลาดครับ
- Lilium


Exit Music (For A Film) - Radiohead
From "OK Computer" 1997
Mellotronist - Jonny Greenwood (M400 : 8 Voices Choir)
Radiohead เป็นวงรุ่นใหม่สุึดล้ำที่ไม่ปฏิเสธคีย์บอร์ดอนาล๊อก เพราะฉะนั้นเมื่อจะทำเพลงช้าๆเศร้าๆทั้งที เมลโลตรอนจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับวงเพื่อจะนำมาใช้ประกอบเพลงอย่างแน่นอน และแน่นอน ผลที่ได้ออกมาคือเพลงช้างดงามสุดเศร้าระทมที่กัดเซาะด้วยเสียงเมลโลตรอนสั่นใหวและเสียงร้องที่รวดร้าวของ Thom Yorke เป็นเพลงเศร้าที่เพอร์เฟคต์ที่สุดของ Radiohead อย่างแท้จริงครับ
- Lilium


Sad Rain - Anekdoten
From "Venom" 1993
Mellotronist - Nicklas Berg/Anna Sofi Dahlberg (Mark II : Brass, 3 Violins, Clarinet, Flute, Viola & Cello)
วงดนตรีสุดบ้าเมโลตรอนจากสวีเดน ที่ใครๆ หลายคนกำลังตกหลุมรักเข้าอย่างจัง (ผมล่ะคนหนึ่งเลยครับ) เนื่องจากในช่วงก่อตั้งวง ทางวงเป็นวนดนตรีที่เล่นคัฟเวอร์เพลงของ King Crimson เป็นหลัก ทำให้อิทธิพลของวง King Crimson หยั่งรากลึกมากับดนตรีของวงนี้มาตลอด โดยเฉพาะสไตล์การนำเมโลตรอนมาใช้ที่คล้ายคลึงกันมาก แต่จะต่างกันเสียที่ว่าวง Anekdoten นำเมโลตรอนมาใช้ได้โดดเด่นมากกว่านัก โดยเฉพาะวิธีการนำเอาเมโลตรอนมาใช้เป็นตัวเดินเมโลดี้ และโซโล่เป็นชุดยาวๆ อย่างที่วงดนตรีอื่นๆ ไม่เคยใช้บทบาทกับเมโลตรอนมากขนาดนี้มาก่อน ที่สำคัญคือวิธีการเล่นเมโลตรอนที่ใช้การอัดเสียงหลายๆ ไลน์ หลายๆ เครื่องดนตรีมาเรียงซ้อนๆ กันจนเกิดเป็นชั้นเสียงของเมโลตรอนขึ้นมา ซึ่งเป็นเสียงที่น่าอรรศจรรย์เสียจริง สำหรับเพลง Sad Rain นี้เป็นโบนัสแทร็คจากอัลบั้ม Venom ซึ่งผมเองก็งงว่าทำไมเพลงดีๆ แบบนี้ถึงไปอยู่เป็นโบนัสแทร็คกันได้เนี่ย ตัวเพลงเป็นเพลงจังหวะกลางๆ ค่อนไปทางช้า เสียงของ Nicklas Berg ให้อารมณ์หม่นหมอง เสียงไวโอลินจากเมโลตรอนเล่นคลอกับเสียงร้องไปอย่างนุ่มนวล และทีเด็ดของเพลงนี้คือท่อนบรรเลงดนตรีที่เต็มไปด้วยเสียงเมโลตรอนมากมายหลาย Tape Set อย่างเช่นเสียงของ Clarinet ที่หาฟังได้ยากพอสมควร การใช้เมโลตรอนทำได้อย่างรวยรุ่มและแพรวพราวมาก โดยเฉพาะในช่วงกลางเพลง ส่วนช่วงปิดท้ายเพลงที่จังหวะดนตรีเร่งเร้าและกลองกับเบสเล่นกับภาคจังหวะนั้น เสียงเมโลตรอนในช่วงนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็น "พายุเมโลตรอน" เลยทีเดียว
- Agent Fox Mulder


Hours of Wealth - Opeth
From "Ghost Reveries" 2005
Mellotronist - Per Wiberg/Mikael Åkerfeldt (??)
สำหรับแนวดนตรีหนักๆอย่างเมตัลนั้น คงเป็นการยากที่จะได้เห็นการใช้เครื่องดนตรีอย่างเมลโลตรอน แต่กระนั้นก็ยังมีวงโปรเกรสสีฟ/เดธเมตัลอย่าง Opeth ที่ยังคงนำเมลโลตรอนมาใช้เพื่อเพิ่มบรรยากาศของเพลงอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะ Mikael Akerfeldt แกนนำของวงเปิดเผยว่าได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีโปรเกรสสีฟร๊อคยุค 70's มามาก
(โดยเฉพาะวง Camel ที่เชาชื่นชอบเป็นพิเศษ) ซึ่งเพลงที่เลือกมานี้ก็เป็นเพลงกึ่งอคูสติกช้าๆเหงาๆที่เปิดโอกาสให้เมลโลตรอน
ได้สร้างบรรยากาศที่ลึกลับระคนเศร้าสร้อยอย่างเต็มที่ ทำให้เข้าใจได้ว่า ถึงแม้ว่าเมลโลตรอนจะเป็นเครื่องดนตรียุคเก่าแต่ก็ยังสามารถสร้างบรรยากาศให้กับดนตรีรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัวและไม่เคอะเขินเลยจริงๆ
- Lilium


The Future of Speech - Katatonia
From "Last Fair Deal Gone Down" 2001
Mellotronist - Anders Nyström (??)
เสียงสั่นไหวของเมโลตรอนมันช่างรัญจวนใจและบางทีก็ชวนให้เศร้าสลด ฉะนั้นวง Katatonia ที่ได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นวงร็อคที่เล่นดนตรีได้หดหู่และกดดันจิตใจสุดๆ ก็ไม่พลาดที่จะนำเสียงของเมโลตรอนมาเพิ่มบรรยากาศความหดหู่ของบทเพลง ซึ่งเพลง The Future of Speech นั้นเป็นร็อคจังหวะปานกลางหนักหน่วงมืดมน ซึ่งเมื่อเพิ่มเสียงเมโลตรอนเข้าไปแล้ว บรรยากาศของมันก็ขมขื่นมากขึ้นเต็มประดา สร้างบรรยากาศความทรงจำภาพซีเปียเก่าๆ หมองๆ เข้ากับปกอัลบั้มได้ดีนักล่ะ
- Lilium


Kung Bore - Anglagard
From "Hybris" 1992
Mellotronist - Tomas Jonson/Johan Högberg (M400)
Anglagard เป็นวงโปรเกรสสีฟรุ่นหลังที่้มีอายุค่อนข้างสั้นมาก แต่ก็สามารถสร้างสีสันให้กับวงโปรเกรสสีฟได้ดีทีเดียว โดยการเป้นวงยุค 90's ที่ยังสนใจทำดนตรีซิมโฟนิคพร๊อกแบบเก่าอยู่ และทำได้ดีมากเสียด้วย ซึ่งก็แน่นอนที่คีย์บอร์ดที่ใช้จะต้องเป้น Vintage Keyboard และก็ต้องไม่พลาดที่จะนำเมลโลตรอนมาใช้่ด้วย ซึ่งแทร๊ค Kung Bore (ภาษาอังกฦษคือ King Winter)  นี้คือตัวอย่างที่ดีของการนำเมลโลตรอนมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสวยงาม ระคนเยือกเย็นสมชื่อเพลง ซึ่งไฮไลท์อยู่ในช่วงสุดท้ายของเพลงที่มีการเรียบเรียงเมลโลตรอนได้อย่างวิจิตร ฟังแล้วชวนขนลุกเป็นที่สุด เป็นท่อนปิดเพลงที่ดีเยี่ยมเทียบเท่าพาร์ทสุดท้ายของเพลง A Saucerful of Secrets ได้เลยครับ (ฟังแล้วไม่อยากให้จบเลยจริงๆ)
- Lilium


Richochet - Anekdoten
From "Gravity" 2003
Mellotronist - (M400 : 3 Violins, Chamberlin : Flute, Mark II : Brass)
อีกเพลงจากวงดนตรีสุดเลิฟของผมในช่วงนี้ เพลงนี้มีจังหวะจะโคนที่เร็วขึ้นมากว่า Sad Rain อยู่เสียหน่อย แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือการเล่นเมโลตรอนที่สุดจะเฉียบขาดและยอดเยี่ยม เปิดด้วยเสียงเมโลตรอนและการเดินเบสของ Jan Erik Liljeström ที่ชวนให้นึกถึงการเล่นเบสของ John Wetton แห่งวง King Crimson ในอัลบั้ม Red เสียจริง แถมเสียงไวโอลินจากเมโลตรอนในเพลงนี้ก็ชวนให้นึกถึงเสียงเมโลตรอนในเพลง Starless อีกตะหาก ตรงช่วงกลางเพลงมีโซโล่ที่เล่นด้วยเสียงของคอมโบออร์แกนที่โดดเด่นและน่าสนใจเป็นอย่างมาก (คอมโบออร์แกนเป็นออร์แกนโบราณชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าแฮมมอนด์ออร์แกน และไม่นิยมนำมาเล่นกับตู้ลำโพงเลสลี่) ปิดท้ายเพลงด้วยท่อนไวโอลินงามๆ จากเมโลตรอนอีกครั้ง นี่เป็นเพลงที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เลยว่า พวกเขาได้รับอิทธิพลมาจาก King Crimson มากเพียงใด ลองฟังเพลงนี้กันดูนะครับ หลังจากนั้นลองอ่านข้อความด้านล่างนี้ดูกัน ผมขอบอกว่าเห็นด้วยกับเขาร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเลยครับ ผมมีความเห็นในแบบเดียวกันนี้หลังจากฟังเพลงนี้ หลังจากมาอ่านข้อความนี้แล้วก็รู้สึกดีมากๆ ที่มีคนที่ความเห็นตรงกับผมอย่างชัดเจนเลยครับ
- Agent Fox Mulder

"Anekdoten answers one of the great "what if" questions of art-rock: what if King Crimson hadn't broken up in the mid-seventies? Anekdoten is a remarkable sound-alike to Red-era King Crimson, which is hardly surprising given Anekdoten's roots as a tribute band. Its instrumentation of viola, distorted Rickenbacker bass, highly pitched drums, Frippy guitar, and mellotron all evoke this era of art-rock; the smoky English vocals only add to the effect."
- by Paul Collins, Allmusic.com


Isolation Years - Opeth
From "Ghost Reveries" 2005
Mellotronist - Per Wiberg/Mikael Åkerfeldt (??)
เพลงนี้คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการที่ Opeth ได้นำบทบาทของเมลโลตรอนมาใช้ในเพลงได้อย่างลงตัวและงดงามสุดๆ ถึงแม้ว่าเสียงเมลโลตรอนในเพลงนี้ีั้้้้จะค่อนข้างเบาบางและไม่โดดเด่นเท่าใน House of Wealth แต่ความเบาบางนี้กลับเป็นตัวเพิ่มความอ่อนใหวให้กับเพลงเศร้าๆเพลงนี้ขึ้นมาก หลายๆครั้งที่ฟังเพลงนี้มันก็ทำให้ผมย้อนนึกถึงเพลง Starless ของ King Crimson ในเวอร์ชั่นที่อ่อนหวานและโศกเศร้ายิ่งขึ้นทุกทีไปครับ
- Lilium


Not Too Late - Norah Jones
From "Not Too Late" 2007
Mellotronist - Norah Jones (??)
หลายคนอาจทำหน้างง อ้าว! นอร่าห์ โจนส์มาเกี่ยวกับอะไรกับเมโลตรอน ความจริงเรื่องนี้มันเกิดจากที่ผมไปค้นพบโดยบังเอิญว่านอร่าห์ โจนส์นำเมโลตรอนมาใช้บันทึกเสียงในเพลง Not Too Late  นี้ด้วย และเนื่องจากเพลงนี้เป็นเพลงโปรดของผมเอง ก็เลยขออนุญาตนำมันมาใส่ปิดท้ายซะหน่อย ด้วยบรรยากาศและอารมณ์เพลง เหมาะกับให้มันเป็นเพลงสุดท้าย (แต่ไม่ท้ายสุด เพราะมีโบนัสแทร็คอีกเพลงรออยู่) สัมผัสเปียโนบางเบา บวกกับเสียงร้องอ่อนหวาน และมีเสียงของเครื่องสายจากเมโลตรอนเข้ามาปรุงแต่งในช่วงกลางเพลงเรื่อยไปจนถึงจบเพลง ขอรับรองว่าถ้าหากได้ฟังเพลงนี้ก่อนนอน จะหลับฝันหวานกันทุกคนเป็นแน่แท้เลยครับ
- Agent Fox Mulder


Mellotron Scratch - Porcupine Tree
From "Deadwing" 2005
No Mellotron used
โบนัสแทร็คของอัลบั้มที่ขออุทิศให้กับชื่อเพลงๆ นี้ ที่ผมนำมันมาใช้เป็นชื่อบทความ ทั้งๆ ที่เพลงนี้ไม่ได้มีการใช้เมโลตรอนในการบันทึกเสียงเลย แต่สำหรับในด้านเนื้อหาของเพลงซึ่งมีการพูดถึงเรื่องราวของ "เสียงของเมโลตรอนที่ทำให้หญิงสาวคนหนึ่งร้องไห้" เพลงนี้เป็นเพลงจากอัลบั้ม Deadwing ในปี 2005 ซึ่งเป็นคอนเซปต์อัลบั้มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของผีและวิญญาณ เพลง Mellotron Scratch นี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่เมื่อเธอได้ยินเสียงของเมโลตรอน เธอจะรู้สึกถึงเรื่องเหตุการณ์เศร้าโศกในอดีต ซึ่งก็คือการตายของชายผู้หนึ่งที่อยู่ในเพลง Arriving Somewhere, But Not Here ก่อนหน้านี้ ตัวละครบุคคลที่หนึ่งในเพลงนี้น่าจะเป็นวิญญาณของชายคนนี้ "I whispered something in her ear.
Harping my soul but she don't hear"
โดยชายผู้นี้อาจจะเคยเป็นคนรักของหญิงสาว จากประโยคที่ว่า "Well, maybe she remembers us, Collecting space up in the sky." ก็เป็นได้ และท้ายที่สุดแล้ววิญญาณของชายผู้นี้ก็ไม่อยากให้เํธอจมอยู่กับความเศร้าโศกเสียใจจึงได้พึงรำพันว่า
"Don't ??
Don't let the memory hold us down
Drag it down
(Shut it down, shut it down...)"

สำหรับส่วนของดนตรีนี้ก็โดดเด่นและมีซาวน์เฉพาะตัวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เิปิดด้วยเสียงกีตาร์ที่ผ่านตู้ลำโพงเลสลี่ คอร์ดในท่อนอินโทรและเวิร์สก็มี Voicing ที่สวยและไม่ธรรมดาทีเดียว มีการใส่เสียงของไควร์ลงไปด้วย (แต่ไม่ได้มาจากเมโลตรอน) เปียโนสุดแสนไพเราะตามสไตล์ของ Richard Barbieri (ริชาร์ดเป็นมือคีย์บอร์ดที่ให้ความสำคัญกับฮาร์โมนี่และ Landscape ของเพลงอย่างมาก) ท่อนกลางเพลงมีการ Shift ไปเป็นจังหวะที่ร็อคมากขึ้น ด้วยริฟฟ์กีตาร์ไฟฟ้าและกลองจังหวะขึงขัง ก่อนจบลงด้วยท่อนเสียงประสานสไตล์อแคปแปลล่าจากพี่ตีฟของเรา ที่ทำให้เพลงจบลงแบบลึกลับและทิ้งปริศนาไว้อย่างมีเสน่ห์สุดๆ ครับ
- Agent Fox Mulder
บันทึกการเข้า

 
Tsundere (ツンデレ?) (pronounced /(t)sʌnˈdɪə(r)/ in English or /t͡sun.de.ɽe/ in Japanese) is a Japanese concept of a character archetype which describes a person with a conceited, irritable, and/or violent personality that suddenly becomes modest and loving when triggered by some sort of cause (such as being alone with someone)
winston
The Dark Side of the Moon
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 1016


Imagine there's no stairway to heaven


ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #7 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 11:16:53 PM »

What? That's all? ยิ้มกว้างๆ

A phenomenon indeed.
บันทึกการเข้า

Facebook group สำหรับคนรักเพลงทุกรูปแบบ.....

http://tinyurl.com/allmusiclovers
kongbei
Administrator
The Snow Goose
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 6534


ขงปี่

pink_floyd@thaiprog.net
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 11:20:59 PM »

นี่คือผลงานการเขียนที่ดีที่สุดของ Agent Fox Mulder ในขณะนี้

ตำรา Mellotron ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย !!!!!!!!!
บันทึกการเข้า
winston
The Dark Side of the Moon
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 1016


Imagine there's no stairway to heaven


ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #9 เมื่อ: 29 เมษายน 2008 | 11:24:30 PM »

Downloading now!!! แลบลิ้น
บันทึกการเข้า

Facebook group สำหรับคนรักเพลงทุกรูปแบบ.....

http://tinyurl.com/allmusiclovers
<โหน่ง>
Selling England By The Pound
**
เพศ: ชาย
กระทู้: 151


Ich bin der Welt abhanden gekomme


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 30 เมษายน 2008 | 02:20:37 AM »


สุดยอดครับ

มีคำถามสองข้อครับ
1. ในบทความไม่ได้พูดถึง Keith Emerson เลย แกไม่ชอบเล่น Mellotron หรือครับ
2. คีย์บอร์ดปัจจุบันสามารถเลียนเสียง Mellotron อีกทีได้หรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า


Live at The Gorge. May 31, 2008
ǝɹoɔǝsıɐuuoʎɐɯʎɹbuɐ
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 8547


nagoya_mega_snake@windowslive.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #11 เมื่อ: 30 เมษายน 2008 | 05:04:47 AM »


สุดยอดครับ

มีคำถามสองข้อครับ
1. ในบทความไม่ได้พูดถึง Keith Emerson เลย แกไม่ชอบเล่น Mellotron หรือครับ
2. คีย์บอร์ดปัจจุบันสามารถเลียนเสียง Mellotron อีกทีได้หรือเปล่าครับ

1. รู้สึกว่าจะไม่เคยนำมาบันทึกเสียงเลยนะครับ (หรือถ้าอาจจะมีบ้างผมก็ไม่เคยได้ยินจริงๆ)
2. ตอนนี้ Jordan Rudess ใช้เครื่อง Memotron อยู่ ซึ่งเป็นคีย์บอร์ดที่เลียนเสียงเมลโลตรอนได้ใกล้เคียงที่สุดครับ
บันทึกการเข้า


Stay cheap, praise the explicit, embrace the scuzz, be true to art and yourself, eat shit, keep music evil.
lilivm's self-indulgence: https://rateyourmusic.com/~potatahtapapoh
<โหน่ง>
Selling England By The Pound
**
เพศ: ชาย
กระทู้: 151


Ich bin der Welt abhanden gekomme


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 30 เมษายน 2008 | 06:25:49 AM »

เพลงที่มี mellotron ของ The Moody Blues ที่ผมชอบมากที่สุดคือเพลง Gypsy เล่นกันมันจริงๆ http://www.youtube.com/watch?v=OFuRD3uiw3U&feature=related

ใน Night in White Satin ผมรู้สึกแปลกๆตรงที่ใช้ mellotron เลียนเสียงสตริงแต่ดันมีเสียงสตริงจริงๆจากวงออร์เคสตร้าเข้ามาผสมด้วยเลย ตัวผมเองเลยรู้สึกว่ามันขัดๆกันยังไงก็ไม่รู้ ผมชอบฟังเพลงนี้ในเวอร์ชั่นที่ไม่มีออร์เคสตร้าอย่างใน Caught Live +5 จะรู้สึกได้อารมณ์กว่า
บันทึกการเข้า


Live at The Gorge. May 31, 2008
ไอแอมตองสาม
Close To The Edge
******
กระทู้: 1492


aka TONG MAYER


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #13 เมื่อ: 30 เมษายน 2008 | 07:32:06 AM »

สุดยอดมากๆครับทั้งพี่บาสและพี่เหม่ง ขอบคุณสำหรับบทความและเพลงครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

ขออภัย ต่อไปจะไม่ล่้วงเกิน.
ไม่ประสงค์ออกนาม
H to He, Who Am the Only One
*******
กระทู้: 1933



ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 30 เมษายน 2008 | 08:46:29 AM »

 ยิ้ม...เจ๋งมากครับ ขอปรบมือให้ดังๆหลายๆที นั่งอ่านตั้งกะเช้า (มาถึงที่ทำงาน 07.00น.) เพิ่งจบ เห็นด้วย(เกือบ)ทั้งหมด Track ที่เลือกมาเขียนก็น่าสนใจแทบทั้งสิ้น

ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกผลงานของ ELP แทบที่จะ(หรือไม่มีเลยก็เป็นได้) ไม่ได้ยินเสียงเมโลตรอนเลย / อยากให้เพื่อนๆที่แวะเข้ามาอ่านช่วยกันลงชื่อกันเยอะๆหน่อยนะครับ ผู้จัดทำจะได้มีกำลังใจผลิตงานเขียนดีๆออกมาให้พวกเราอ่านกันอีก

ไม่ทราบว่าอนุญาตให้ร่วมแจมได้หรือไม่ครับ? จะได้ช่วยแจมในส่วนของ Track by Track อีกสักหน่อย เพราะมีหลายวงเป็นวงที่ผมชื่นชอบ อาทิ PFM, Anglagard และก็แน่นอน Anekdoten ฯ ยังมีอีกหลายเพลงและหลายวงที่มีเสียงเมโลตรอนเจ๋งๆ อย่างป้า Elton John ตอนยุค '70s ป้าแกก็เล่นเมโลตรอนในหลายๆเพลง

เอ...Sad Rain ของ Anekdoten ถ้าจำไม่ผิดมันอยู่เพลงสุดท้ายเฉยๆนี่ครับ (ต้องกลับไปดูอีกที) ไม่ได้เป็นเพลงแถมเลย ที่สำคัญทางวงใช้เป็นเพลงหากินด้วย ยิ่งไปแสดงที่ญี่ปุ่นนี่ต้องเล่นเลย (แถมเล่นมันกว่าในอัลบั๊มอีก)... ยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
พิมพ์
กระโดดไป:  

ThaiProg.net Ver 4.0 by tisanai,Shineon,kongbei
Top 10 Best Sellers in Kindle eBooks Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers In Automotive Parts And Accessories Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers in Tools and Home Improvement Under $10, Reviewer 2016
Top 10 Best Sellers in Clothing for 2017 Top 10 Best Sellers in Clothing Best Sellers in Clothing
Top 10 Best Sellers in Books reviewer 2017 Top 10 Best Sellers in Books Best Sellers in Books
Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Reviewer 2017 Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Best Sellers In Grocery