ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
การค้นหาขั้นสูง

149643 กระทู้ ใน 4435 หัวข้อ- โดย 847 สมาชิก - สมาชิกล่าสุด: axlrose

29 มีนาคม 2024 | 04:36:21 AM
Thai Progressive Rock CommunityThaiProgTreasure Boxesแนะนำอัลบั้มแปลกและหายากจากกรุสมบัติปีศาจลายคราม
หน้า: [1] 2 3 ... 8
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: แนะนำอัลบั้มแปลกและหายากจากกรุสมบัติปีศาจลายคราม  (อ่าน 60586 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 10:41:18 AM »

เดิมผมได้เขียนแนะนำผลงานแปลกแต่ดีและน่าฟังไว้ในบอร์ดเก่า จึงขอยกเอาผลงานเหล่านี้มาประมวลไว้ในหัวข้อนี้ตามลำดับต่อไปครับ
บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 12:47:13 PM »

ศิลปิน: Carmen
ชื่ออัลบั้ม: Fandangos In Space; Dancing On A Cold Wind
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: EOP-81030 EMI/Odeon Japan (Fandangos In Space); EMS-80082 EMI Japan (Dancing On A Cold Wind)
ปีที่แรกออก: 1973; 1975
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

Carmen เป็นวง British prog วงหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางคนเรียกเพลงแนวนี้ว่า flamenco prog/rock เนื่องจากมีการผสมผสานดนตรีพื้นเมืองของสเปนคือดนตรีระบำฟลาเมงโก้เข้ากับเพลงร็อค ฟังแล้วอาจไม่คุ้นเคยเหมือนเช่นแนวซิมโฟนิคหรือสเปซร็อค วงนี้นำโดย David Allen มือกีตาร์ ซึ่งมีน้องสาว คือ Angela Allen เป็นผู้ร้องและเล่นคีย์บอร์ด (moog, mellotron) ด้วย ผลงานเด่นคือสองชุดแรก Fandangos In Space และ Dancing On A Cold Wind ต้องยอมรับว่างานของวงนี้ต้องฟังหลายเที่ยวจึงจะเข้าถึง หากฟังแบบผิวเผินหรือเรื่อยเปื่อยจะพาลไม่ชอบใจเอาได้, ผมซื้อแผ่นเสียงทั้งสองชุดนี้ได้จากอีเบย์ โดยเฉพาะชุดแรกนั้นเป็นแผ่น gatefold หนามาก มี booklet แถมมาให้ด้วยหนึ่งเล่ม, อ้อ ลืมบอกไป วงนี้มือเบสส์ชื่อ John Glascock ซึ่งต่อมาไปร่วมงานกับวง Jethro Tull ครับ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว (RIP)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:22:24 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 12:49:27 PM »

ศิลปิน: Airlord
ชืออัลบั้ม: Clockwork Revenge
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: K25P-411 (Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1977
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

Airlord กับผลงานชุด Clockwork Revenge (1977) ว่ากันว่าวงนี้มาจากนิวซีแลนด์แต่ไปหากินในออสเตรเลีย ผลงานชุดนี้มีอิทธิพลของ Genesis ปรากฏให้เห็นเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพลง title track Clockwork Revenge ซึ่งเล่าเรื่องราวของกองทัพหุ่นตุ๊กตาไขลานที่แก้แค้นหญิงชรา อัลบั้มชุดนี้โดดเด่นที่เสียงลีดกีตาร์ที่เสียดแทงบาดอารมณ์ เสียงร้องอันแสนเจ็บปวด และคีย์บอร์ดที่เล่นได้อย่างยอดเยี่ยม ใครเป็นแฟน Genesis ไม่ควรพลาดผลงานชุดนี้ (ถ้าพอหาได้นะครับ)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:28:22 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 12:51:30 PM »

ศิลปิน: Fusioon
ชื่ออัลบั้ม: Minorisa
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: K22P-245 (Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1975
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

Fusioon เป็นวงร็อคจากประเทศสเปน เช่นเดียวกับวงดนตรีร่วมสมัยอีกหลายวงในยุคกลางทศวรรษที่ 70 แห่งศตวรรษที่ 20 เช่น Los Canarios ผลงานของ Fusioon ในสองชุดแรกยังไม่ปรากฏความเป็น progressive ชัดเจน แต่จะชัดเจนมากขึ้นเมื่อมาถึงชุดที่สาม คือ Minorisa (1975) ซึ่งอัลบัมชุดนี้มีทั้งหมดสามเพลง ประกอบด้วยเพลง Ebusus ซึ่งเป็นเพลงแบบ suite ที่เล่นเต็มเหยียดในหน้าแรกของแผ่นเสียง ส่วนอีกสองเพลงในหน้าที่สองคือ ไทเทิลแทร็ค Minorisa ซึ่งเป็นเพลง suite เช่นเดียวกับ Ebusus และอีกเพลงหนึ่งคือ Llaves del Subsconsciente ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงในแนวทดลองโดยเล่นกับเสียงอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในแบบของ Tangerine Dream และ Synergy

ผมไม่กล้าฟันธงว่าอัลบั้มชุดนี้เป็นแนวซิมโฟนิคหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือเป็น progressive rock แน่นอน เพลงเด่นคงจะหนีไม่พ้น Ebusus และ Minorisa โดยเฉพาะ Ebusus นั้นมาในแบบเพลง suite ซึ่งมีดนตรีแบ่งออกเป็นภาคร้อยเรียงต่อเนื่องกัน โดยมีการเปลี่ยนจังหวะบ่อยมาก ทั้งช้าและเร็วสลับกันไป เน้นการเล่นแบบสอดประสานระหว่างกีตาร์และคีย์บอร์ดเป็นหลัก ส่วนเบสส์และกลองก็เล่นได้ดี หนักแน่นและโดดเด่นไม่แพ้กัน บางช่วงก็เล่นแจมกันในแบบฟิวชั่นแจ๊สส์ เสียงร้องเป็นภาษาสเปนซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ได้ตั้งใจร้องให้เป็นเรื่องเป็นราวหากแต่ฟังดูบางครั้งเหมือนคนละเมอหรือพึมพำ บางครั้งก็ออกจะเหมือนคนขี้เล่นหยอกล้อรับลูกส่งกันไปมามากกว่า และเสียงร้องในแบบนี้ปรากฏให้ได้ยินเป็นช่วง ๆ ไม่บ่อยมาก ดังนั้นเพลงนี้จึงเน้นไปที่การบรรเลงและเทคนิคการเล่นดนตรีเสียเป็นส่วนใหญ่ บางขณะที่ฟังเพลงนี้ก็รู้สึกได้ถึงอิทธิพลของ Yes และ Gentle Giant ผสมกลิ่นอายและบรรยากาศพื้นบ้านของสเปนและดนตรีของยุโรปในยุคกลาง (Medieval) ส่วนเพลง Minorisa นั้นก็เดินตามรอยเพลง suite เช่นเดียวกับ Ebusus แต่เป็นเพลงที่สั้นกว่า เพลงนี้ให้ความรู้สึกทั้งลึกลับ เย้ายวน คึกคัก และยิ่งใหญ่ตามแบบฉบับดนตรีของสเปน

โดยส่วนตัวผมเกือบจะให้คะแนนผลงานชุดนี้ว่าเป็น masterpiece แล้ว ถ้า Fusioon จะแต่งเพลงที่สามหรือเพลงสุดท้ายของอัลบั้มชุดนี้ให้มีลักษณะแบบเดียวกับสองเพลงแรก แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมชุดหนึ่ง ฝีมือการเล่นของนักดนตรีทั้งสี่ดีเยี่ยมทุกคน โดยเฉพาะเสียงคีย์บอร์ดที่หลากหลาย (piano, minimoog, string synths, vox mellotron) และเทคนิคการเล่นคีย์บอร์ดอันแพรวพราวของ Manel Camp จึงขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ี่ต้องการจะสัมผัสดนตรีโพรเกรสสีฟว์จากสเปนเป็นเบื้องต้น เพราะผลงานชุดนี้โดยรวมแล้วฟังไม่ยากเลยและค่อนข้างจะมีเมโลดี้ที่ติดหูง่ายเสียด้วย

เรตติ้งส่วนตัว ผมให้สามดาวครึ่งจากห้าดาวครับ สำหรับผลงานชุดนี้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:28:05 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 12:53:53 PM »

ศิลปิน: Caterina Caselli
ชื่ออัลบั้ม: Primavera
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: NAS 1420 (ERS-28028) Edison European Rock Series, Japan
ปีที่แรกออก: 1974
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

ในวงการเพลงพ็อพของอิตาลี ได้ขนานนามของ Caterina Caselli ไว้ว่าเป็น "แม่ทูนหัวแห่งดนตรีพ็อพของอิตาลี" หรือ "The Godmother of Italian Pop Music" ด้วยเหตุที่ว่า นอกจากจะเป็นศิลปินนักร้องและนักแสดงซึ่งมีผลงานโด่งดังในปลายยุคซิกส์ตี้ส์ถึงเซเว่นตี้ส์ และมีผลงานในแนวพ็อพ/บัลลาดออกมามากมายแล้ว ปัจจุบันเธอยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับบริษัทค่ายเพลงแห่งหนึ่งในอิตาลีอีกด้วย ในส่วนของการร้องเพลง Caterina Caselli เป็นนักร้องที่มีเสียงเข้ม ทุ้ม ชัดเจน และมีพลัง ดังจะเห็นได้จากผลงานที่จะกล่าวต่อไปนี้

Primavera (แปลตรงตัวว่า spring หรือฤดูใบไม้ผลิ) เป็นอัลบั้มผลงานของ Caterina Caselli ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อปี 1974 ผู้เขียนไม่มีข้อมูลอันใดมากนักเกี่ยวกับที่มาที่ไปของผลงานชุดนี้ เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่ไปค้นหามักจะเป็นภาษาอิตาลีทั้งสิ้น คงทราบแต่เพียงคร่าว ๆ ว่าผลงานชุดนี้อำนวยการผลิตโดย Jae-Soo Yi ประพันธ์เพลงโดย Hazzard, Daiano, Albertelli, Ferilli และ Felisatti เรียบเรียงเสียงประสานโดย Danilo Vaona มีจำนวนเพลงรวมทั้งสิ้น 11 เพลง ซึ่งเป็นเพลงร้องในแบบโอลด์แฟชั่นพ็อพที่ฟังสบาย ๆ ด้วยการใช้เครื่องดนตรีสตริงคอมโบจำนวนไม่กี่ชิ้น ได้แก่ กีตาร์โปร่ง กลอง เปียโน เป็นต้น เสริมด้วยวงนักร้องประสานเสียง (choir) และวงออร์เคสตร้า

หลายท่านพออ่านมาถึงตรงนี้หรือได้ฟังผลงานชุดนี้แล้วคงจะข้องใจว่าเหตุใดอัลบั้ม Primavera ชุดนี้จึงเข้าข่ายเป็น progressive music ได้? เพราะมันน่าจะเป็นแค่บัลลาดพ็อพ/ร็อคที่มีวงออร์เคสตร้าเป็นแบ็คอัพให้เท่านั้น แต่ถ้านำรายชื่อเพลงหรือ track listing มาพิจารณาดูโดยละเอียดก็จะเห็นว่าผลงานชุดนี้เริ่มต้น (prologue) ด้วยเพลงธีมประสานเสียง Primavera และปิดท้ายอัลบั้ม (epilogue) ด้วย Primavera เช่นเดียวกัน ส่วนเพลงที่อยู่ระหว่างกลางทั้งหมดน่าจะมีเนื้อหาที่มีแก่นเรื่องหรือธีมเดียวกันโดยตลอด คือเป็น concept ที่เกี่ยวกับการมาถึงหรือชัยชนะของ Primavera หรือฤดูใบไม้ผลิ (The Arrival or Triumph of Spring) ซึ่งเป็นฤดูกาลที่โปรดปรานของธรรมชาติ และแนวคิดดังกล่าวนี้อยู่บนพื้นฐานของภาพหน้าปกอัลบั้มซึ่งจำลองมาจากผลงานจิตรกรรมชิ้นเอกอันลือลั่นที่มีชื่อว่า The Allegory of Spring ของ Sandro Botticelli จิตรกรอิตาลียุคเรอแนสซองส์ (Renaissance) โดยลักษณะอาการตัวละครแต่ละตัวตามที่ปรากฏอยู่ในเทพปกรณัมของกรีกและที่เห็นอยู่ในภาพวาดนี้ของ Botticelli จะแตกต่างและชวนให้เกิดการตีความผิดแผกกันออกไป และผู้เขียนจะไม่ขอลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องภาพวาดของ Botticelli ซึ่งเป็นที่มาของปกแผ่นเสียงอัลบั้ม Primavera ชุดนี้ต่อไป ดังนั้นจึงขอกลับมาที่เรื่องของเพลง ซึ่งเพลงที่โดดเด่นในอัลบั้มชุดนี้ ได้แก่ Momenti Si, Momenti No ซึ่งเป็นเพลงที่ไพเราะ ติดหูง่าย แฝงด้วยความยิ่งใหญ่อลังการ และประเทืองอารมณ์เป็นที่สุด บางคนฟังแล้วอาจจะคิดไปว่าเคยได้ยินเพลงนี้ที่ใดมาก่อน แต่ก็นึกไม่ออกเสียที เช่นเดียวกับเพลงถัดไป คือ Desiderare ซึ่งเสียงที่ได้ยินจากเพลงนี้อาจฟังดูแผ่วหรือหุบไปไม่น้อย ต้องเร่งวอลลุ่มเครื่องขยายเสียงเพื่อจะได้รับฟังเพลงนี้ได้ชัดเจนขึ้น และเช่นเดียวกัน เมื่อได้ยินเพลง Desiderare แล้วบางคนอาจนึกถึงเพลงไทยเพลงหนึ่งที่นักร้องชายร้องขึ้นต้นเพลงว่า "ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย..." อะไรทำนองนี้ ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าจะลอกกันมาบ้างเล็กน้อยหรือไม่ จึงขอปล่อยให้เป็นเรื่องของนักฟังเชิงวิเคราะห์ทั่วไปจะดีกว่า

เพลงถัดไปคือ Il Magazzino Dei Ricordi ซึ่งคงความยิ่งใหญ่อลังการและให้ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังไม่แพ้ Momenti Si, Momenti No ถึงแม้ขึ้นต้นมาจะฟังดูค่อนข้างน่าเบื่อไปหน่อยก็ตาม อีกเพลงหนึ่งที่จะขอแนะนำคือ Piano Per Non Svegliarti เป็นเพลงช้าซึ่งฟังแล้วชวนให้นึกถึงบรรยากาศยามเช้าแสนอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิ ส่วนเพลงอื่นในอัลบั้มชุดนี้ก็ยังคงอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับเพลงที่ยกตัวอย่างมา

แม้ผู้เขียนจะฟังภาษาอิตาลีไม่ออก แต่ดนตรีไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ถือเป็นภาษาสากล และต้องยอมรับว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังผลงานชุดนี้ ผู้เขียนจะเอนหลังและหลับตาฟังด้วยความผ่อนคลาย สดชื่นและสบายอารมณ์ ราวกับได้สัมผัสถึงการเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวที่เยือกเย็นหม่นหมองไปสู่ฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นฤดูแห่งความสดชื่นและเบิกบาน อันน่าจะเป็น theme หรือ concept ของผลงานชุดนี้ตามที่เจ้าของอัลบั้มต้องการจะสื่อสารถึงผู้ฟัง ถือเป็นผลงานเพลงที่น่าจะต้องมีไว้เพื่อฟังสลับฉากกับเพลง serious prog ทั้งหลาย และขอเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายลองปั่นแผ่นไวนิลบนแป้นหมุนหรือสอดแผ่นซีดีเข้าเครื่องเพื่อสดับผลงานชุดนี้สักหลาย ๆ เที่ยว แล้วเพลงทั้งหมดในผลงานชุดนี้ก็จะประทับตราตรึงอยู่ในใจและสมองของท่านไปอีกตราบนานเท่านาน



ภาพวาด Primavera หรือ The Triumph of Spring โดยฝีมือของ Sandro Botticelli จิตรกรอิตาลียุค Renaissance (1478) อันเป็นที่มาของ concept และหน้าปกอัลบั้ม Primavera ของ Caterina Caselli



แก้ไขเพิ่มเติมบทความโดย "ปีศาจลายคราม" เมื่อ 01/07/53
เพิ่มเติมรูปภาพเมื่อ 24/07/55
สงวนลิขสิทธิ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:30:14 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 12:56:20 PM »

ศิลปิน: Ivory
ชื่ออัลบั้ม: Sad Cypress
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: ERS-28004, Made in Germany by Jupiter Records (Distributed by Music Visions, Japan)
ปีที่แรกออก: 1980
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ****

Ivory เป็นวง progressive rock เยอรมันที่มีประวัติค่อนข้างแปลกวงหนึ่ง วงนี้มีมือคีย์บอร์ดสองคนคือ Ulrich Sommerlatte และ Thomas Sommerlatte ซึ่งเป็นพ่อลูกกัน Ulrich ผู้เป็นพ่อนั้นมีอายุ 65 ปีเมื่อออกอัลบั้ม Sad Cypress ในปี 1980 (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เดิมเขาได้รับการศึกษาและฝึกฝนมาในด้านดนตรีคลาสสิก และเป็น conductor ประจำวง Hannover Symphony Orchestra เมื่ออายุ 22 ต่อมาได้ประกอบอาชีพเป็นนักแต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสาน เมื่อต้นยุค 70 Ulrich ได้เกิดความประทับใจดนตรี progressive ที่เล่นโดยคนหนุ่มรุ่นใหม่ อย่างวง Yes เป็นต้น เขาอยากมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เพลงในแนวนี้ออกมาบ้าง แล้ววง Ivory จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นมา อัลบั้มแรกที่ดูเหมือนจะเป็นอัลบั้มเดียวของวงนี้ คือ Sad Cypress (1980) ซึ่งเดิมมีเพลงทั้งหมด 5 เพลง (เวอร์ชั่นซีดีออกโดย Musea จะมีโบนัสแทร็คแถมมาด้วย) เราจะเห็นอิทธิพลของ Genesis อย่างเห็นได้ชัด มือกีตาร์/นักร้องนำ Christian Mayer ร้องได้เหมือน Peter Gabriel เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษซึ่งรุ่มรวย สละสลวย จริงจังและซับซ้อนในแบบฉบับของ symphonic rock แม้จะได้รับอิทธิพลจาก Genesis แต่ Ivory ก็ยังคงเอกลักษณ์ของตนเอง โดยรวมแล้วอัลบั้มชุดนี้น่าฟังและน่าสะสมสำหรับคอเพลงโพรเกรสสีฟว์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแฟนานุแฟนของ Genesis น่าเสียดายที่เดิมทีผลงงานชุดนี้ปั๊มออกมาจำนวนน้อยมากในเยอรมนี แต่โชคดีตัวแทนจำหน่ายแผ่นเสียงรายหนึ่งที่ญี่ปุ่นสั่งผลิตผลงานชุดนี้เป็นกรณีพิเศษแล้วนำเข้าไปขายในญี่ปุ่นโดยตีตรา obi เป็นของตัวเองเสร็จสรรพ แผ่นเสียงชุดนี้ผมได้รับเป็นของขวัญปีใหม่จากผู้ค้าแผ่นเสียงชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งในอีเบย์ซึ่งเขาได้ส่งมาให้เมื่อสิ้นปี 2549 ที่ผ่านมาครับ ฟังแล้วถูกใจมากเลยทีเดียว

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:31:37 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 12:58:17 PM »

ศิลปิน: Triade
ชื่ออัลบั้ม: 1998: La Storia di Sabazio
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: K25P-414 (Nexus European Rock Collection Series, Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1973
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

เห็นชื่อ Triade คงพอจะเดาออกว่าเป็นวงทริโอซึ่งมีสมาชิกสามคน Triade เป็นวงดนตรีร็อคจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งเล่นดนตรีในสไตล์ของ ELP โดยเน้นคีย์บอร์ดเป็นเครื่องดนตรีนำ นอกจากนั้นก็มีเบสส์/อะคูสติกกีตาร์/เชลโล และกลอง นอกจากสไตล์ดนตรีของ ELP แล้ว อิทธิพลของดนตรีคลาสสิกยังปรากฏให้เห็นชัดเจนจากการเรียบเรียงดนตรีและการเล่นเปียโนในแบบคลาสสิคัล

อัลบั้ม 1998: La Storia di Sabazio (1973) เป็นผลงานเพียงชุดเดียวของวงนี้ เพลงในอัลบั้มนี้มาจากการประพันธ์ร่วมกันของมือเบสส์และมือคีย์บอร์ด เพลงแรกของผลงานชุดนี้คือ Sabazio ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงแบบ suite ที่แบ่งออกเป็นสี่ภาค ได้แก่ Nascita, Il Viaggio, Il Sogno และ Vita Nuova เป็นเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรี classical อย่างชัดเจน

เริ่มต้นภาคแรก (Nascita) ของเพลง Sabazio ด้วยเสียงออร์แกนและเชลโลโทนเสียงต่ำ ให้บรรยากาศหม่นและอึมครึม จากนั้นเสียงอึกทึกครึกโครมของกลองก็ระเบิดขึ้นมาสอดรับประสานกับเสียงเกรี้ยวกราดของคีย์บอร์ด (ออร์แกน) ในแบบของ Keith Emerson (ELP) และจบลงอย่างเฉียบพลันด้วยเสียงฆ้อง (gong) ที่สั่นสะท้าน โดยภาคต่อมาคือ Il Viaggio ซึ่งมีจังหวะจะโคนของกลองและคีย์บอร์ดที่ให้อารมณ์เนิบ ๆ เอื่อย ๆ เหมือนคนเดินท่องเที่ยวไป ฟังดูไม่น่าเร้าใจเท่าที่ควร สลับกับการโชว์ออฟกลองที่หนักแน่นและคมชัดในบางช่วง ถัดไปคือภาค Il Sogno ซึ่งเป็นท่อนที่เล่นสอดประสานกันระหว่างเสียงกลองและคีย์บอร์ดอีกเช่นเคย แซมด้วยเชลโลเสียงหม่น ๆ ต่ำ ๆ แล้วดนตรีในช่วงนี้ก็ค่อย ๆ เฝดจางไป และภาคสุดท้ายของ Sabazio คือ Vita Nuova ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยเสียงเดี่ยวเปียโนที่ไพเราะโรแมนติค เปรียบเสมือนหยาดฝนที่พร่างพรม ให้ความรู้สึกอันอบอุ่น มีกลิ่นอายและอิทธิพลของดนตรีคลาสสิกชัดเจน และเป็นการปิดท้ายเพลง Sabazio เมื่อจบเพลงนี้แล้วก็ถึงคิวของเพลง Il Circo ซึ่งเป็นเพลงสั้น ๆ มีความยาวประมาณเกือบสามนาที เป็นเพลงที่มีจังหวะรวดเร็ว คึกคัก สนุกสนาน เน้นริธึ่ม และเป็นการแจมของเครื่องดนตรีทุกชิ้น เสียงโซโล hammond organ ที่ได้รับอิทธิพลจาก Emerson ได้กลับมาอีกคราหนึ่ง พร้อมกับการโชว์ออฟเบสส์อันหนักแน่นท้าทายประสิทธิภาพของลำโพง

เมื่อพลิกไปที่หน้าสองของแผ่นเสียง ก็จะพบกับเพลง Espressione ซึ่งเริ่มต้นด้วยเสียง acoustic guitar คลอกับเสียงคีย์บอร์ดวังเวงก้องกังวานจนกระทั่งถึงช่วงที่มีเสียงร้องซึ่งร้องได้น้ำเสียงที่จับจิตจับใจ อบอุ่น เต็มไปด้วยความรู้สึก และมีหางเสียงกังวานทอดไปไกลดีมาก ซึ่งเสียงของนักร้องนำ (Agostino Nobile) คนนี้ละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงของ Greg Lake สมัยที่อยู่ King Crimson และ ELP เมื่อจบเพลงนี้แล้วก็เป็นคิวของเพลง Caro Fratello ซึ่งเป็นเพลงที่ผมชอบมาก และหากพิจารณาดูดี ๆ เพลงนี้จะแบ่งออกเป็นสองช่วง โดยช่วงแรกเริ่มต้นด้วยเสียงคีย์บอร์ดที่เบาและจะค่อย ๆ ดังขึ้น ตามมาด้วยเสียงดีดสายเบสส์อันหนักหน่วงและเสียงกลองอันหนักแน่น ซึ่งจะนำไปสู่การแจมร่วมกันอย่างเมามัน และจะแผ่วลงด้วยท่อน finale ของเพลงนี้ซึ่งเริ่มต้นด้วยเสียง acoustic guitar และคีย์บอร์ดคลอกันไปกับเสียงร้องอันแจ่มใสเยือกเย็นอีกครั้ง และปิดช่วงท้ายของเพลง Caro Fratello นี้ด้วยการแจมที่ให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่โอฬาร ก่อนจะปิดท้ายเพลงนี้ด้วยเสียงโซโลคีย์บอร์ด (ออร์แกน) และเพลงสุดท้าย 1998 (Millenovecentonovantotto) ซึ่งเปิดฉากด้วยเสียงเกากีตาร์ เคล้าเสียงร้อง จากนั้นเสียงออร์แกนก็จะเข้ามามีบทบาท ตามมาด้วยเสียงกลอง เป็นเช่นนี้สลับกันไปจนถึงช่วง finale ของเพลงซึ่งเป็นการแจมอย่างเมามันกันอีกครั้งของสมาชิกทั้งสามก่อนที่เพลงจะจบลง โดยท่อนท้ายนี้เองที่เล่นบรรเลงปิดฉากได้มันหยดเหลือเกิน เพราะเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นไม่มีชิ้นไหนที่น้อยหน้าไปกว่ากัน -- เบสส์เดินเป็นจังหวะหนักแน่นชัดเจน เสียงตีกลองกระชับรวดเร็ว และคีย์บอร์ด (minimoog) ก็โซโลได้อร่อยมากในช่วงท้ายของเพลงนี้ (ทั้ง Caro Fratello และ 1998 (Millenovecentonovantotto) เคยถูกตัดออกเป็นซิงเกิ้ลมาแล้ว)

คีย์บอร์ดที่ใช้ในอัลบั้มชุดนี้ล้วนเป็น analog & vintage keyboards ทั้งสิ้น เช่น grand piano, hammond organ, mellotron, minimoog การบันทึกเสียงทำได้ดี แยกมิติและช่องสเตริโอค่อนข้างชัดเจน ใครที่ฟังผลงานของ ELP แล้วยังไม่อิ่มให้ลองหาอัลบั้มชุดนี้มาฟัง แล้วท่านอาจมีผลงานที่ดีในแนวนี้อีกชุดหนึ่งไว้ประดับคอลเล็คชั่นก็ได้ แม้ว่าผลงานชุดนี้จะไม่คงเส้นคงวาสำหรับเพลงในหน้าแรก (โดยเฉพาะเพลง Sabazio) และทั้งอัลบั้มมีความยาวประมาณสามสิบนาทีเศษ ๆ แต่โดยภาพรวมเมื่อชดเชยกับเพลงอีกสามเพลงที่เหลือในหน้าสอง (ของแผ่นเสียง) แล้ว ถือเป็นสามสิบนาทีเศษ ๆ ที่คุ้มค่าแก่การเสาะแสวงหาและรับฟัง

เอาไปสามดาวครึ่งจากห้าดาว

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:32:56 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:00:14 PM »

ศิลปิน: Pulsar
ชืออัลบั้ม: The Strands Of The Future
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: GP-1080 (Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1977
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

The Strands Of The Future (1977) เป็นผลงานลำดับที่สองของ Pulsar วงโพรเกรสสีฟว์ร็อคจากฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าเป็น French Pink Floyd ตามปกติพวกวงโพรเกรสสีฟว์ร็อคจากฝรั่งเศสมักจะเล่นดนตรีที่ให้ความรู้สึกมืดมน หดหู่ และอึมครึมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และ Pulsar ก็เช่นกัน ในอัลบั้มนี้ เพลงเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น ไทเทิลแทร็ค The Strands Of The Future ซึ่งเล่นกันยาวเหยียดเต็มหน้าแรก ส่วนเพลงในหน้าสองมีอยู่ด้วยกันสามเพลงซึ่งมาตรฐานใกล้เคียงกับเพลงไทเทิลแทร็ค แม้ว่านักวิจารณ์ทั่วไปจะเห็นว่าดนตรีของ Pulsar จะได้รับอิทธิพลจากพิงค์ฟลอยด์ แต่โดยความเห็นส่วนตัว วงนี้ก็ยังมีเอกลักษณ์ของตนเอง อย่างน้อยเสียงคีย์บอร์ดที่ได้ยินก็มีความหลากหลาย ไพเราะเสนาะหู และซับซ้อนมากกว่าสำเนียงคีย์บอร์ดของ Richard Wright แห่งพิงค์ฟลอยด์มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเสียง minimoog, ARP Solina String หรือแม้กระทั่ง mellotron ท่านจะได้ยินมันบรรเลงออกมาด้วยความเจนจัดจากผลงานของ Pulsar ชุดนี้ นอกจากนั้น สำเนียงดนตรีของวง Camel ยังปรากฏให้ได้ยินในบางขณะ เช่น ในเพลงแรกของหน้าสอง อย่างที่เรียนให้ทราบ โทนดนตรีโดยรวมเต็มไปด้วยความมืดมน หดหู่ และอึมครึม แต่ก็ยังไม่ละทิ้งซึ่งความหวัง จึงขอสรุปว่าผลงานชุดนี้เล่นได้ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะแฟนดนตรีที่ชอบเสียงหดหู่ในสไตล์พิงค์ฟลอยด์ไม่ควรพลาด ขอตินิดเดียวที่โปรดักชั่นทำกันเหมือนมือสมัครเล่น ขนาดแผ่นเสียง เมด อิน แจแปน นะเนี่ย เสียงก็ยังแบนฟุ้ง อัลบั้มแรก Pollen (1976) ยังจะเสียงดีกว่าซะอีกแน่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:34:29 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:02:00 PM »

ศิลปิน: FM
ชื่ออัลบั้ม: Black Noise
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: K25P-427 (Nexus European Rock Collection Series, Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1978
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

สำหรับวงดนตรีจากแคนาดา เรามักจะคุ้นเคยกับวงดัง ๆ อย่างเช่น Rush, Saga เป็นต้น แต่สำหรับ FM แล้วบางท่านเพิ่งอาจได้ยินชื่อ หรือไม่ก็เลิกคิ้วด้วยความฉงนหากมีคนถามถึง, วงนี้มีสมาชิกสามคน คือ Cameron Hawkins (keyboards, synths, bass, bass pedals, lead vocals), Nash The Slash (electric violin & mandolin, glockenspiel, vocals, effects) และ Martin Deller (drums, percussions & synths), วงนี้ไม่มีกีตาร์ หากแต่เสียงกีตาร์จะถูกแทนที่ด้วยเสียงแมนโดลินที่ปรับแต่งให้เหมือนเสียงลีดกีตาร์โดยฝีมือของ Nash The Slash, ผลงานชุดแรก คือ Black Noise (1977) ซึ่งถือเป็นผลงานที่ดีและแข็งแกร่งที่สุดของวง, แนวดนตรีได้รับอิทธิพลจาก Yes, Genesis เป็นหลัก และบางครั้งจะได้ยินองค์ประกอบของความเป็น Rush และสำเนียงของ neo-prog ยุคต้นปี 80 อย่างวง Saga เล็ดรอดออกมาให้ได้ยินอีกด้วย, เนื้อหาของเพลงอยู่บนพื้นฐานของนิยายวิทยาศาสตร์ (sci-fi) คล้ายคอนเส็พท์เพลงที่วง Rush มักจะแต่งและนำเสนอ, เพลงแรกของหน้าแรก Phasors On Stun เป็นเพลงที่มีจังหวะกระชับรวดเร็ว ดุเดือด สนุกสนาน และติดหูง่าย เหมาะแก่การตัดเป็นซิงเกิ้ลและเปิดออกอากาศ, เพลง One O'Clock Tomorrow เสียงร้องคล้าย Chris Squire + Peter Gabriel ฟังแล้วนึกถึงผลงานของ Yes ขึ้นมาทันที ส่วนเพลงอื่นที่น่าสนใจได้แก่ Slaughter In Robot Village และ Black Noise ดนตรีโดยรวมเล่นได้ดี นักดนตรีฝีมือเจนจัดกันทุกคน คีย์บอร์ดที่ใช้ส่วนใหญ่ยังเป็น analog keyboards อยู่ โดยเฉพาะ minimoog ยังมีให้ได้ยินได้ฟังกันเต็มอิ่ม, Nash The Slash โชว์ฝีมือชักคันสีไวโอลินและแมนโดลินไฟฟ้าได้อย่างถึงพริกถึงขิงน่าประทับใจ และ Martin Deller มือกลองได้แสดงให้เห็นศักยภาพของการหวดกลองที่ซับซ้อน รวดเร็วและทรงพลัง -- ผลงานชุดนี้ถือเป็นความลงตัวทั้งในแง่ดนตรีและฝีมือการเล่น จึงขอแนะนำให้ลองฟังดูครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:35:44 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:04:50 PM »

ศิลปิน: Los Canarios
ชื่ออัลบั้ม: Ciclos - Basado en "Las Cuatro Estaciones" de Antonio Vivaldi
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: GXD 1031 / 32 (Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1974
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: *****

ประเทศสเปนในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ของศตวรรษที่ 20 ยังอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการของนายพลฟรังโก้ (General Francisco Franco) ศิลปะวัฒนธรรม (อันรวมไปถึงดนตรี) ที่มีลักษณะก้าวหน้าของพวกชนชั้นปัญญาชนถูกควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวด ดังนั้นดนตรีแนว progressive ของสเปนจึงล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ กว่าจะได้ลืมตาอ้าปากอีกทีก็ล่วงเข้าปลายยุค 70 (ราวปี 1978-1979) ภายหลังอสัญกรรมของนายพลฟรังโก้เมื่อปลายปี 1975 ไปแล้ว -- นี่คือบรรยากาศและภูมิหลังทางดนตรีร็อคของประเทศสเปนในช่วงต้นถึงกลางทศวรรษที่ 70 แห่งศตวรรษที่ 20 -- อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายยุคการปกครองของนายพลฟรังโก้หรือที่เรียกกันว่า Franco Years นั้น ได้มีวงดนตรีร็อควงหนึ่งออกผลงาน progressive rock ระดับเอกซึ่งฝ่าขวากหนามทางวัฒนธรรมดนตรีภายใต้การควบคุมของระบอบการเมืองอันคุกรุ่นในยุคนั้นมาประดับวงการจนได้ นั่นคือวง Los Canarios กับผลงานลำดับที่สี่และเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนจะเลิกวงไป คืออัลบั้มคู่ชุด Ciclos - Basado en "Las Cuatro Estaciones" de Antonio Vivaldi (1974) หรือจะเรียกสั้น ๆ ว่า Ciclos ก็ได้

หลังจากที่ออกผลงานชุดที่สามซึ่งยังคงเป็นแนว rock and roll พื้น ๆ ทั่วไปในปี 1972 แล้ว Edourd "Teddy" Bautista มือคีย์บอร์ดและหัวหน้าวง ได้เลิกวง Canarios ไปชั่วคราวเนื่องจากถูกเกณฑ์ทหาร และเมื่อพ้นจากเกณฑ์ทหารในปี 1974 Bautisa จึงกลับมารวบรวมฟื้นวง Canarios ขึ้นมาใหม่เพื่อออกผลงานชุดที่สี่และเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของวงก่อนที่จะเลิกไปเป็นการถาวร นั่นคือผลงานชุด Ciclos ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

ก่อนอื่นขอเรียนให้ทราบว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีวงร็อคสักวงหยิบยกเอาผลงานเพลงคลาสสิกมาดัดแปลงเพื่อเล่นในแบบฉบับของตนเอง ตัวอย่างเช่น อัลบั้มชุด Pictures At An Exhibition ของ ELP ซึ่งนำเอาผลงานเพลงคลาสสิกของคีตกวีเอกชาวรัสเซีย Mussorgsky มาดัดแปลงเล่นเป็นสไตล์ร็อค หรือแม้แต่อัลบั้ม Contaminazione ของ Il Rovescio della Medaglia (RDM) วงดนตรีจากอิตาลี ก็ยังได้หยิบยืมดนตรีคลาสสิกของ Bach มาเล่นผสมผสานกับดนตรีร็อคของตนจนกลายเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมที่วงการโพรเกรสสีฟว์ร็อคจะต้องกล่าวขวัญถึงไปอีกนาน และเช่นเดียวกัน อัลบั้ม Ciclos นี้ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงสั่งลาของ Los Canarios และเป็นการนำเอาบทเพลง The Four Seasons แห่งยุคบาโรคของคีตกวีที่ชื่อ Vivaldi มาดัดแปลงเล่นในแบบร็อค ในเวอร์ชั่นแผ่นเสียงจะเป็นอัลบั้มแผ่นคู่ มีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 73-74 นาที แบ่งออกเป็นภาคเพลงทั้งหมดสี่ภาค (ภาคเพลงละหนึ่งหน้า) ซึ่งกล่าวถึงฤดูทั้งสี่โดยเปรียบเทียบกับวงจรชีวิตคน ผลงานชุดนี้ประมวลองค์ประกอบที่สำคัญเกือบจะทั้งหมดของความเป็นโพรเกรสสีฟว์ร็อคเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าคุณอยากจะได้ยินอะไรที่เป็นโพรเกรสสีฟว์ร็อค อัลบั้มชุดนี้มีให้คุณได้ยินได้ฟังหมด เช่น เสียงอะนาล็อกคีย์บอร์ดอันอุดม อันได้แก่ เปียโน, เมลโลทรอน, minimoog, ARP 2600 synth ซึ่งเล่นโดยสมาชิกวงสองคนด้วยกัน, เสียงกีตาร์ทั้งในแนวร็อคและคลาสสิก, นักร้องประสานเสียงวงใหญ่ (big choir), นักร้องนำตั้งแต่สไตล์โอเปร่ายันร็อคแอนด์โรลล์, การเรียบเรียงดนตรีที่เหนือชั้น โอ่อ่าอลังการและซับซ้อน ตลอดจนเสียงร้องโซปราโน่จากนักร้องหญิงเชื้อสายอินโดนีเซีย Rudmini Sukmawati องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมกันเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ระดับ magnum opus ซึ่งคอดนตรีโพรเกรสสีฟว์ร็อคตัวจริงไม่อาจปฏิเสธที่จะต้องมีไว้ในครอบครอง, โดยส่วนตัวผม เอาไปเลยครับ ห้าดาวสำหรับผลงานสุดยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างชุดนี้ -- Ciclos





ภาพถ่ายสมาชิกวง Canarios ในอดีต คนที่ยืนเท้าสะเอวอยู่ข้างหน้าคือ Eduard "Teddy" Bautista มือคีย์บอร์ดและหัวหน้าวง




อีกภาพหนึ่งของ Canarios




ภาพนี้คือ Teddy Bautista ในวัยหนุ่ม (เหลือ) น้อย ในฐานะนายกสมาคม SGAE ซึ่งดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ของศิลปินประเทศสเปนครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:36:57 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:07:00 PM »

ศิลปิน: Gruppo 2001
ชื่ออัลบั้ม: L'Alba Di Domani
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: K25P-413 (Nexus European Rock Collection Series, Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1972
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

เห็นหน้าปกอัลบั้มสีเทาตุ่น ๆ และมีรูปนกกางปีกบินสองตัวบนท้องฟ้านี่อย่าเพิ่งเดินผ่าน เพราะคุณกำลังจะพลาดของดี, นี่คือผลงานชิ้นเยี่ยมของวงร็อคสัญชาติอิตาลี คือ Gruppo 2001 ผมเองก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงโพรเกรสสีฟว์หลายวงในยุคนั้นที่ออกผลงานมาดี ๆ สักชุดหนึ่งแล้วต้องมีอันเป็นไป คือ ต้องยุบวง, อย่างวง Gruppo 2001 นี่ก็เช่นกัน, ออกงานชุด L'Alba Di Domani (1972) มาสักพัก ไม่ได้รับการตอบรับหรือสนใจเท่าที่ควร ก็ต้องแยกย้ายไปคนละทิศคนละทาง, และที่บอกว่า ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรนั้น ใช่ว่าผลงานจะไม่เอาไหน ตรงกันข้าม มันเป็นงานที่เข้าขั้นยอดเยี่ยมเลยทีเดียว และยังเป็นที่เสาะแสวงหาของนักสะสมในปัจจุบันอีกด้วย, ผลงานชุดนี้จะมีโทนและกลิ่นอายแห่งดนตรีโฟล์คร็อคยุคต้นเซเว่นตี้ส์ ซึ่งฟังแล้วทำให้ย้อนนึกถึงบรรยากาศในอดีต (nostalgic feelings) -- คือเสียงแบบที่ว่านี้มันบ่งบอกถึงเอกลักษณ์และบรรยากาศเฉพาะของแต่ละยุคน่ะครับ เช่น ยุคฟิฟตี้ส์ ซิกส์ตี้ส์ เซเว่นตี้ส์ ฯลฯ แต่ละยุคมันจะมี sound signature แตกต่างกันออกไป -- และผลงานชุดนี้มันบอกความเป็นเซเว่นตี้ส์อย่างชัดเจน ดนตรีเน้นเสียงกีตาร์โปร่ง ฟลุท กลอง/เพอร์คัสชั่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงคีย์บอร์ดอันยอดเยี่ยมของนักร้องนำ/หัวหน้าวง เสียงร้องนำฟังแล้วอดนึกถึงนักร้องเพลงโฟล์คร็อคที่ชื่อ Cat Stevens ไม่ได้ บางครั้งก็นึกถึง Ian Anderson แห่ง Jethro Tull การบันทึกยอดเยี่ยม ให้ความชัดเจนในการรับฟังดีมาก, ถือเป็นผลงานคลาสสิกชุดหนึ่งที่นักฟังเพลงโพรเกรสสีฟว์ร็อคทั่วไปไม่ค่อยจะรู้จัก, แต่ขอรับรองว่า ฟังแล้วให้ความรู้สึกที่ดีมาก -- ประทับใจ ว่างั้นเถอะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:38:15 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:08:36 PM »

ศิลปิน: Cherry Five
ชื่ออัลบั้ม: Cherry Five (self-titled)
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: K25P-614 (Nexus European Rock Collection Series, Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1974
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ****

ก่อนจะฟอร์มวง Goblin ขึ้นมา สมาชิกวง Goblin จำนวนสองคน ได้แก่ Claudio Simonetti (keyboards) และ Massimo Morante (guitars) ร่วมกับ Clive Barker นักร้องนำชาวอังกฤษได้ฟอร์มวงชื่อ Cherry Five (เดิมชื่อวง Oliver) แต่ต่อมาได้นักร้องนำชาวอิตาลีชื่อ Toni Tartarini (ซึ่งเดิมเป็นสมาชิกวง L'Uovo di Colombo) มาแทนที่ Clive Barker และมีการสรรหามือกลองและเบสส์ โดยผู้มาเป็นมือกลองนั้นคือ Carlo Bordini (มือกลองจากวง duo group ที่ชื่อ Rustichelli & Bordini ซึ่งออกผลงานมาชุดหนึ่ง คือ Opera Prima เมื่อปี 1973) ส่วนมือเบสส์คือ Fabio Pignatelli ผู้ซึ่งต่อมาได้ไปสังกัดวง Goblin ร่วมกับ Simonetti และ Morante โดยสรุปคือ สมาชิกวง Goblin จำนวนสามคนเคยอยู่วง Cherry Five มาก่อน ดังนั้น อาจเรียกได้ว่า Cherry Five มีสถานะเป็น Pre-Goblin Band ก็ได้

Cherry Five (1974) เป็นผลงานเพียงชุดเดียวของ Cherry Five และเป็นผลิตผลที่ได้รับอิทธิพลชัดเจนจากวง symphonic prog ชั้นนำในยุค '70 อย่างเช่นวง Yes (โดยเฉพาะอัลบั้มสามชุดแรก) และ Genesis อัลบั้มชุดนี้มีเพลงทั้งหมดด้วยกันห้าเพลงซึ่งร้องเป็นภาษาอังกฤษ แต่สำเนียงฟังดูแล้วออกจะไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำเช่นนักร้องนำของวงร็อคอังกฤษทั่วไป เพลงเด่นของอัลบั้มชุดนี้ ได้แก่ Country Graveyard เพลงเปิดอัลบั้มซึ่งถือเป็นหัวหอกของอัลบั้มชุดนี้เลยก็ว่าได้ ด้วยความที่กระชับ รวดเร็ว หนักแน่น และทรงพลังของการเล่นดนตรีในแบบของ Yes ยุคต้น

เพลงถัดมาคือ The Picture Of Dorian Gray ซึ่งเป็นเพลงเด่นอีกเพลงหนึ่งในสไตล์ของ Yes ผสมกับ Genesis ยุค Peter Gabriel ดนตรีกระชับหนักแน่นและมีเนื้อหาน่าสนใจ

เพลง The Swan Is A Murderer Part I & II ถ้าเป็นแผ่นเสียง Part I จะอยู่หน้าแรก และต้องกลับแผ่นเสียงเพื่อเล่นต่อ Part II ในหน้าสอง ซึ่งทำให้อารมณ์สะดุดหรืออาจจะเสียอารมณ์ไปบ้างเพราะขาดความต่อเนื่อง (กรณีเช่นเดียวเพลง Karn Evil 9 ของ ELP ที่ต้องกลับแผ่นเสียงเพื่อเล่นต่อภาคสอง) สำหรับ The Swan Is A Murderer ทั้งสองภาคนี้ ใครที่ชอบเพลงของ Genesis ยุค Peter Gabriel เป็นนักร้องนำ ฟังแล้วจะต้องถูกใจแน่นอน

Oliver เพลงซึ่งมีความยาวเก้านาทีกว่า เริ่มต้นค่อนข้างเนิบนาบเฉื่อยชา แต่ต่อมาจะปะทุขึ้นด้วยการโซโลคีย์บอร์ดอันดุเดือดในสไตล์ของ Keith Emerson และปิดท้ายด้วย My Little Cloud Land ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเพลงที่อ่อนที่สุดในอัลบั้มชุดนี้ เนื่องเพราะเมโลดี้ที่ซ้ำซากจำเจ สำเนียงคีย์บอร์ดที่โซโลในช่วงท้ายฟังแล้วชวนให้นึกถึง Rick Wakeman

ในส่วนของเนื้อเพลงที่ให้มาที่ด้านในของปกแผ่นเสียงแบบ gatefold อ่านแล้วเนื้อหาดูเข้าท่า สละสลวย และคมคาย ฝีมือการเล่นดนตรีทุกชิ้นในอัลบั้มชุดนี้เยี่ยมยอด โดยเฉพาะคีย์บอร์ดที่เล่นได้ซับซ้อนมีสีสันในสไตล์ของ Rick Wakeman, Keith Emerson และ Patrick Moraz มือกลอง Carlo Bordini ได้สำแดงฝีไม้ลายมือไว้ในผลงานชุดนี้ว่าเขาไม่ใช่เพียงแค่เป็นนักดนตรีรับจ้างในห้องบันทึกเสียงเท่านั้น แต่ยังเทียบชั้นมือกลองที่มีฝีไม้ลายมือขั้นสูงในยุคนั้นได้อีกด้วย ส่วนเบสส์ก็เล่นได้หนักแน่นในแบบฉบับของ Chris Squire

โดยสรุปแล้ว อัลบั้มชุดนี้เป็นผลงานของนักดนตรีชาวอิตาลีที่มากด้วยฝีมือ แม้จะติดขัดตรงที่ยังไม่มีสไตล์เป็นของตนเอง เพราะยังเดินตามรอยของวงดนตรี British prog ที่มีชื่อเสียงบางวงอยู่ แต่นี่คือผลงานที่ควรจะต้องหามาฟังสำหรับผู้ที่ชื่นชอบดนตรีในแบบ symphonic prog ของ Yes และ Genesis

แผ่นเสียงอัลบั้มชุดนี้ที่เป็น original ทำในอิตาลี เดิมผลิตออกมาเพียง 500 copies เท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้มีราคาแพงระยับในตลาดแผ่นมือสอง เพราะเป็นที่เสาะแสวงหาของนักล่าและนักสะสม ผู้ซื้ออาจต้องจ่ายเป็นพันดอลลาร์อเมริกันเพื่อให้ได้แผ่น original มาครอบครอง แต่ก็ยังมีทางเลือกให้ผู้ที่เป็น vinyl lover ได้ครอบครองโดยการซื้อแผ่น reissued ที่ผลิตโดย Amber Soundroom ของเยอรมนี เป็นต้น ซึ่งมีราคาไม่กี่สิบดอลลาร์ หรือจะหาซื้อแผ่นญี่ปุ่นตาม catalog number ที่ให้ไว้ข้างต้นก็ได้ แต่สนนราคาอาจจะแพงเป็นหลักร้อยเหรียญ โดยหาประมูลหรือซื้อเอาได้ใน eBay แล้วแต่จังหวะและโอกาสครับ



แก้ไขเพิ่มเติมบทความโดย "ปีศาจลายคราม" เมื่อ 01/07/53
สงวนลิขสิทธิ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:39:31 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:10:07 PM »

ศิลปิน: Pulsar
ชื่ออัลบั้ม: Pollen
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: GXF 2046, Made in Japan
ปีที่แรกออก: 1976
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***

ผลงานลำดับแรกของ Pulsar วงดนตรีโพรเกรสสีฟว์ร็อคจากฝรั่งเศส คืออัลบั้ม Pollen ซึ่งออกในปี 1976 อิทธิพลดนตรีในแบบ space rock ของพิงค์ฟลอยด์ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในผลงานชุดนี้ ซึ่งจะพาคุณท่องไปในอวกาศอันเวิ้งว้างดำมืด โทนโดยรวมของดนตรีชุดนี้ฟังดูแล้วหม่นหมอง ดำมืดและอึมครึมกว่าชุดที่สอง คือ The Strands Of The Future โดยมีกีตาร์ที่ปรับแต่งเสียงให้แหบเพี้ยนและห่างไกล เสียงนักร้องนำฟังดูเศร้าหม่น และคีย์บอร์ดที่ใช้เป็นหลักก็คือ piano, organ และ ARP synth เพลงบรรเลงเปิดอัลบั้ม คือ ไทเทิลแทร็ค Pulsar ฟังแล้วนึกถึงเพลง Astronomy Domine ของพิงค์ฟลอยด์, เพลงที่สาม Puzzle/Omen น่าสนใจตรงที่ดนตรีคึกคักและมีเสียงร้องนำของนักร้องหญิงรับเชิญซึ่งเหมือนการอ่านท่องบทกวีเสียมากกว่า โดยเพลงนี้ร้องเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนเพลงยาวปิดท้าย คือ Pollen ร้องเป็นภาษาฝรั่งเศส น้ำเสียงเศร้าหม่น ภาคดนตรีก็เอื่อย ต้องตั้งใจฟังให้ดี มิฉะนั้นจะหลับก่อนจบเพลง, โดยรวมถือเป็น debut album ที่น่าสนใจสำหรับคอเพลงโพรเกรสสีฟว์ที่ต้องการค้นหาขุมทรัพย์ดนตรีจากเมืองน้ำหอม การแยกแชนแนลและมิติสเตริโอผมว่าทำได้ดีกว่าชุด The Strands Of The Future เสียอีก แต่อัลบั้ม The Strands Of The Future แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะและพัฒนาการทางดนตรีที่เหนือกว่า Pollen

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:40:52 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:11:27 PM »

ศิลปิน: Machiavel
ชื่ออัลบั้ม: Machiavel (self-titled)
รูปแบบสื่อ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: EMS-80773, EMI Japan
ปีที่แรกออก: 1976
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

หลายคนคงยังไม่คุ้นกับวง Machiavel ซึ่งเป็นวงร็อคจากเบลเยี่ยม ผลงานที่โดดเด่นของพวกเขาในช่วงกลางถึงปลายยุค 70 มีด้วยกันสองชุด คือ Jester และ Mechanical Moonbeams ดนตรีของวงนี้ได้รับอิทธิพลจากสไตล์ของ Genesis และ Supertramp เป็นสำคัญ และฝีมือการเล่นคีย์บอร์ดของ Albert Letecheur นั้นโดดเด่นมาก แต่อัลบั้มที่นำมาแนะนำในครั้งนี้เป็นอัลบั้มแรกที่ตั้งชื่อเหมือนชื่อวง คือ Machiavel (1976) ซึ่งเป็นผลงานในช่วงที่ Machiavel เพิ่งเริ่มตั้งไข่ ยังไม่มีนักร้องนำที่ถาวร (ในชุดแรกนี้ร้องนำโดยมือกลอง) เพลงในอัลบั้มนี้มาจากการประพันธ์ของ Albert Letecheur มือคีย์บอร์ด สไตล์ดนตรีเน้นความหรูหรา ซับซ้อน และเสียงร้องที่เต็มไปด้วยอารมณ์ โดยได้รับอิทธิพลจาก Genesis แต่ในบางขณะก็มีสไตล์ดนตรีของ Pink Floyd และ Camel หลุดออกมาให้ได้ยินบ้างเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่เด่นเท่าสองชุดที่ตามมาภายหลัง แต่ก็ถือเป็นผลงานหนึ่งในสามชุดแรกของ Machiavel ที่น่าฟังและน่าสะสม อัลบั้มชุดนี้มีเวอร์ชั่นที่ออกในญี่ปุ่นโดย EMI Toshiba ด้วย ซึ่งผมก็มีอยู่ชุดหนึ่งในคอลเล็คชั่นเหมือนกัน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:42:12 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14349


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2007 | 01:14:27 PM »

ศิลปิน: Stern-Combo Meissen
ชื่ออัลบั้ม: Weisses Gold
รูปแบบ: แผ่นเสียง (LP)
หมายเลขแผ่น: K22P-475 (Nexus European Rock Collection Series, Made in Japan)
ปีที่แรกออก: 1979
ระดับการให้คะแนนส่วนตัว: ***1/2

Stern-Combo Meissen (SCM) วงร็อคจากเยอรมนี (ตะวันออก) เป็นตัวอย่างของวงดนตรีพ็อพ/ร็อคอีกวงหนึ่งซึ่งผันตัวเองไปเล่นแนวโพรเกรสสีฟว์ร็อคในยุคเซเว่นตี้ส์ วงนี้มีประวัติเก่าแก่ย้อนไปถึงยุคซิกซ์ตี้ส์ซึ่งเป็นยุคก่อตั้งวง อัลบั้ม Weisses Gold (White Gold) (1979) ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นคอนเส็พท์อัลบั้มซึ่งกล่าวถึงนักเล่นแร่แปรธาตุที่พยายามค้นหาทองคำในเขตดินแดน Meissen ของเยอรมนีในสมัยโบราณ หากแต่สิ่งที่ค้นพบนั้นกลับไม่ใช่ทองคำ แต่เป็นการทำถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ (ซึ่งทำจากดินขาวหรือดินเกาลิน) อันสร้างชื่อให้แก่เมือง Meissen มาจนทุกวันนี้ (คงคล้ายกับ OTOP ของบ้านเรา) ดนตรีในอัลบั้มชุดนี้เป็นเพลงบรรเลงในแบบ symphonic progressive ที่งดงาม แต่บางคนที่ไม่รู้ภาษาเยอรมันเมื่อได้ฟังแล้วอาจจะรู้สึกรำคาญเสียงคนบรรยายเรื่องราวเป็นภาษาเยอรมันในบางช่วง (โดยรวมไม่ทำให้ถึงกับต้องเสียอารมณ์เท่าใดนัก) อาจมีผู้เล่นคีย์บอร์ดมากกว่าหนึ่งคน เพราะเสียงคีย์บอร์ดและอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างซับซ้อน บางครั้งออกไปในแนวของ Tangerine Dream แต่ใช่ว่าจะอิเล็กทรอนิกส์จ๋าเหมือน TD เพราะยังมีเล่นเครื่องดนตรีร็อคอย่างอื่นด้วย จึงขอแนะนำให้คนชอบของแปลกไปหามาฟังดูครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มิถุนายน 2013 | 02:43:26 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า


Daybreak Painting by Maxfield Parrish
หน้า: [1] 2 3 ... 8
พิมพ์
กระโดดไป:  

ThaiProg.net Ver 4.0 by tisanai,Shineon,kongbei
Top 10 Best Sellers in Kindle eBooks Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers In Automotive Parts And Accessories Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers in Tools and Home Improvement Under $10, Reviewer 2016
Top 10 Best Sellers in Clothing for 2017 Top 10 Best Sellers in Clothing Best Sellers in Clothing
Top 10 Best Sellers in Books reviewer 2017 Top 10 Best Sellers in Books Best Sellers in Books
Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Reviewer 2017 Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Best Sellers In Grocery