ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
การค้นหาขั้นสูง

149662 กระทู้ ใน 4435 หัวข้อ- โดย 847 สมาชิก - สมาชิกล่าสุด: axlrose

25 เมษายน 2024 | 03:39:01 AM
Thai Progressive Rock CommunityThaiProgTreasure Boxesแนะนำอัลบั้มหัวกะทิของวง Eloy จากกรุสมบัติปีศาจลายคราม
หน้า: [1] 2 3 ... 5
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: แนะนำอัลบั้มหัวกะทิของวง Eloy จากกรุสมบัติปีศาจลายคราม  (อ่าน 29758 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 10:44:47 AM »

เดิมได้เขียนแนะนำผลงานที่น่าสนใจของ Eloy ทั้งสิบชุดไว้ในบอร์ดเก่า แต่ข้อมูลเดิมไม่ได้สูญหายไปไหน และจะนำมารวบรวมไว้ในหัวข้อนี้ต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:46:03 PM »

Title: Inside (1973, LP EMI Electrola 1C 062-29 479 D Made in Germany)
 
Track Listing: Land Of Nobody; Inside; Future City; Up And Down
 
Musicians: Frank Bornemann (guitar, vocals, percussions); Manfred Wieczorke (organ, guitar, vocals, percussion); Wolfgang Stocker (bass); Fritz Randow (drums, percussion, acoustic guitar, flute)

Personal Rating: ***1/2

เริ่มจากผลงานชุด Inside (1973) ซึ่งเป็นงานเก่าที่สุดที่ผมได้ฟัง ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ Eloy ได้ออกอัลบั้มแรกคือ Eloy ซึ่งเป็นแนวฮาร์ดร็อค/ไซคิเดลิค แต่ความเป็น progressive ที่แท้จริงเริ่มฉายแววจากชุด Inside นี้ หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนสมาชิกบางคนในวง และแกนนำของวง คือ Frank Bornemann (guitar/lead vocals) ได้เข้ามารับหน้าที่ร้องนำเต็มสูบ อัลบั้มชุดนี้มีเพลงทั้งหมดสี่เพลง ได้แก่ Land Of Nobody ซึ่งมีความยาวเต็มหน้าแรกของแผ่นไวนิล, Inside, Future City และ Up And Down ดนตรีเป็นแนว heavy progressive rock ในแบบฉบับของต้นยุคปี 70 และเสียงร้องตลอดจนภาคดนตรีบางส่วนได้รับอิทธิพลจากดนตรีของ Jethro Tull (เข้าใจว่าน่าจะมาจากความฮ็อตของอัลบั้ม Thick As A Brick) ภาคคีย์บอร์ดใช้ hammond organ เล่นโดยฝีมือของ Manfred Wieczorke (guitar/keyboard) และสามารถริฟฟ์และโซโลได้มันถึงใจมาก เพลงยาว Land Of Nobody เป็นเพลงระดับอีพิคที่มีหลายรสชาติในเพลงเดียวกัน ทั้งช้า เร็ว หนักหน่วง และลึกลับดำมืด ดูเหมือน Frank Bornemann จะพยายามลอกเลียนสไตล์เสียงร้องของ Ian Anderson แห่ง JT เพลงไทเทิลแทร็ค Inside มีท่อนบรรเลงและโซโลออร์แกนที่ดิบและมันมาก ในอดีตเพลงนี้ได้รับการเปิดออกอากาศบ่อยในรายการวิทยุ Top Teen Talent เพลง Future City เน้นดนตรีไปในแบบอะคูสติก มีเสียงเพอร์คัสชั่นที่แพรวพราวและการดวลกันอย่างมันหยดของกีตาร์สองตัวในช่วงกลางเพลง และปิดฉากด้วยเพลงสุดท้าย Up And Down ซึ่งมีเสียงร้องออกไปในทางไซคิเดลิคและมีเนื้อหาที่คิดว่าจะเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในยุคนั้น โดยสรุป Inside ถือเป็นอัลบั้มระดับแลนด์มาร์คของ Eloy ในการที่จะก้าวไปสู่ความเป็นวงดนตรี progressive rock ชั้นนำของเยอรมนีและของโลกในเวลาต่อมา

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:16:29 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:47:09 PM »

Title: Floating (1974, LP EMI Electrola 1C 064-29 51 Made in Germany)
 
Track Listing: Floating; The Light From Deep Darkness; Castle In The Air; Plastic Girl; Madhouse
 
Musicians: Frank Bornemann (guitar, vocals); Manfred Wieczorke (organ, guitar); Luitjen Janssen (bass); Fritz Randow (drums)

Personal Rating: ***1/2

Floating (1974) เป็นผลงานที่เปรียบเสมือนอัลบั้มคู่แฝดของ Inside ความดิบและหนักหน่วงในสไตล์เฮฟวี่โพรเกรสสีฟว์ยังมีให้ได้ยินเฉกเช่นอัลบั้มชุดก่อน แต่ในอัลบั้ม Flaoting นี้ได้ลดทอนภาคเนื้อร้องลงไป และเน้นการแจมดนตรีเป็นหลัก ภาคคีย์บอร์ดส่วนใหญ่ยังคงใช้ hammond organ อยู่ และโชว์ทักษะการเล่นและสีสันแพรวพราวมากกว่าชุดก่อน เพลงเปิดชุดนี้คือ ไทเทิลแทร็ค Floating ซึ่งเริ่มต้นก็ได้ยินเสียงแผดกระหน่ำอันนำไปสู่การร่วมแจมอย่างเมามันของเครื่องดนตรีทุกชิ้น เพลงนี้เป็นเพลงบรรเลงสั้น ๆ ไม่ยาวมากและเล่นได้จังหวะจะโคนกระชับดีมาก, เพลง The Light From Deep Darkness มีความยาวประมาณ 14 นาทีกว่า อาจถือได้ว่าเป็น highlight ของงานชุดนี้ เมื่อได้ยินเสียงออร์แกนเริ่มต้นเพลงนี้ก็ให้นึกถึงดนตรีร็อคในแบบฉบับต้นทศวรรษที่ 70 แล้ว ดนตรีจะเริ่มจากความอ่อนเบาในช่วงแรกเพื่อไปสู่ความหนักหน่วงในแบบฉบับเฮฟวี่แทบจะตลอดทั้งเพลง โดยมีเสียงออร์แกนบรรเลงคลออย่างยอดเยี่ยม, เพลง Castle In The Air มีท่อนร้องสั้น ๆ คล้ายเสียงพูดมากกว่า ในส่วนที่เหลือเป็นการดวลและแจมดนตรีอันสุดมัน เพลงนี้ใช้กีตาร์เล่นสองตัว, เพลง Plastic Girl กลับไปสู่ความเป็น psychedelic อีกครั้ง แต่เพลงนี้พิเศษตรงที่เริ่มมีการนำเอา moog synthesizer มาเล่นหยอดไว้ในเพลงด้วย (ซึ่งจะพบว่าเสียง moog จะมีบทบาทในอัลบั้มชุดต่อไปของ Eloy) และเพลงปิดท้าย Madhouse ยังคงความเป็น heavy prog ที่เข้มข้น มันสะใจ ใส่กันไม่ยั้ง ฟังดี ๆ จะได้ยินองค์ประกอบดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของ Jethro Tull และ Uriah Heep แฝงมาด้วย นักวิจารณ์หลายคนมองว่าผลงานชุดนี้อ่อนด้อยกว่า Inside และเดินตามรอยชุด Inside จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นงานคู่แฝดกัน แต่ในส่วนตัวของผม ผลงานชุดนี้คือความสนุกสนาน ความมันและความสะใจ สรุปว่าถ้ามีและชอบเพลงในชุด Inside แล้ว ก็ต้องหาผลงานชุดนี้มาไว้ในครอบครองเช่นกัน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:17:36 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:47:56 PM »

Title: Power And The Passion (1975, LP EMI Electrola 1C 064-29 602 Made in Germany)
 
Track Listing: Introduction; Journey Into 1358; Love Over Six Centuries; Mutiny; Imprisonment; Daylight; Thoughts Of Home; The Zany Magician; Back Into The Present; The Bells Of Notre Dame
 
Musicians: Detlef Schwaar (guitar); Frank Bornemann (guitar, vocals); Manfred Wieczorke (organ, moog synth, mellotron, piano); Luitjen Janssen (bass); Fritz Randow (drums)

Personal Rating: ***

ผลงานลำดับถัดไปของ Eloy ซึ่งออกในปี 1975 คืออัลบั้มชุด Power And The Passion และเป็นคอนเส็พท์อัลบั้มชุดแรกของ Eloy อีกด้วย โดยแต่ละเพลงจะร้อยเรียงกันต่อเนื่องกันเป็นเนื้อหาที่กล่าวถึงการเดินทางย้อนเวลาสู่อดีตในปีค.ศ. 1358 ของชายหนุ่มที่ชื่อ Jamie จากการหลงไปดื่ม time-eroding drug ที่พ่อของตนเองได้ปรุงเอาไว้ เมื่อ Jamie ได้หลงยุคมาถึงศตวรรษที่ 14 (ซึ่งฉากตามท้องเรื่องน่าจะเป็นประเทศฝรั่งเศส) ที่นั่นเขาได้พบรักกับหญิงสาวนามว่า Jeanne ซึ่งมีคู่หมั้นคู่หมายเป็นบุตรชายของหัวหน้าเขตปกครองซึ่งใช้กฎเหล็กในการปกครองชาวบ้าน แต่หญิงสาวที่ชื่อ Jeanne มิได้รักชายดังกล่าว บิดาของ Jeanne แอบซ่องสุมกำลังคนในหมู่บ้านเพื่อก่อการกำเริบต่อต้านหัวหน้าผู้ปกครอง และ Jamie ก็ได้เข้าร่วมในการต่อต้านครั้งนี้ด้วย แต่ในที่สุดก็ถูกจับขังคุก และได้รับความช่วยเหลือจากจอมขมังเวทย์ The Zany Magician ซึ่งช่วยให้ Jamie เดินทางข้ามเวลากลับสู่ปัจจุบันได้สำเร็จ และทิ้งไว้ซึ่งความทรงจำและความอาลัยของ Jamie ที่มีต่อ Jeanne (ในบทสนทนาตอนหนึ่งระหว่าง Jamie กับ Jeanne มีการกล่าวถึงกัญชา ซึ่ง Jamie ได้พกติดตัวมาและได้ยื่นให้ Jeanne สูบเพื่อผ่อนคลายความเครียดด้วย)

เดิมที Eloy มุ่งหมายให้งานชุดนี้เป็นอัลบั้มคู่ แต่ผู้จัดการวงตัวแสบ Jay Partridge ไม่ยอม จึงทำออกมาได้แค่อัลบั้มเดี่ยวอย่างน่าเสียดาย (ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาคอนเส็พท์ขนาดนี้อำนวยให้ทำเป็นอัลบั้มคู่ได้สบาย ๆ อยู่แล้ว) อย่างไรก็ดี ผลงานชุดนี้นอกจากจะเป็น concept album ชุดแรกของ Eloy แล้ว ยังมีการเพิ่มมือกีตาร์เข้ามาช่วยงานอีกหนึ่งคน คือ Detlef Schwaar และใช้คีย์บอร์ดหลากชนิดขึ้น เช่น moog, string synths, mellotron (ผมพยายามฟังเสียง mellotron จากงานชุดนี้อยู่หลายเที่ยวแล้ว แต่ยังฟังไม่ออกสักทีว่าเล่นอยู่ไหนช่วงไหนกันแน่) ซึ่งสร้างสีสันให้ดนตรีมีกลิ่นอายและบรรยากาศที่ดูขลังในแบบ Gothic สมกับที่ย้อนกลับไปในยุคโบราณ เพลงเด่นของอัลบั้มชุดนี้ ได้แก่ Love Over Six Centuries ซึ่งมี dialogue เสียงสนทนาระหว่าง Jamie กับ Jeanne มีการโซโล minimoog และริฟฟ์เสียงกีตาร์ในสำเนียงของ Uriah Heep ซึ่งอาจทำให้นึกถึงเพลง Gypsie ขึ้นมาทันที, เพลง Mutiny ซึ่งโดดเด่นด้วยการโซโล minimoog และ string synths, เพลง Daylight ที่ฟังแล้วนึกถึงเพลง Aqualung ของ Jethro Tull, เพลง The Zany Magician ซึ่งเล่นในสไตล์ heavy metal และมีเสียงร้องบาดแหลมและฟังดูแปลก และปิดท้ายด้วยเพลง The Bells Of Notre Dame อันเป็นตอนที่ Jamie ได้เดินทางกลับสู่ยุคปัจจุบันได้สำเร็จ นอกจากนี้ บางช่วงบางตอนของอัลบั้มชุดนี้ฟังแล้วอาจนึกถึง Uriah Heep และ Manfred Mann's Earth Band ขึ้นมาตะหงิด ๆ แม้จะเป็นงานที่ออกจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของ Eloy ในการทำคอนเส็พท์อัลบั้ม ซึ่งจะมีต่อไปอีกหลายชุดหลังจากผลงานชุดนี้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:18:46 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:48:54 PM »

Title: Dawn (1976, LP EMI Electrola 064-31 787 Made in Germany)
 
Track Listing: Awakening; Between The Times; Memory Flash; Appearance Of The Voice; Return Of The Voice; The Sun Song; The Dance In Doubt And Fear; Lost!??? (Introduction); Lost (The Decision); The Midnight Fight/The Victory Of Mental Force; Gliding Into Light And Knowledge/The Dawn
 
Musicians: Frank Bornemann (guitars, vocals); Klaus-Peter Matziol (Rickenbacker bass); Detlev Schmidtchen (keyboards, guitars); Jurgen Rosenthal (drums & percussions)

Personal Rating: ****1/2

อัลบั้มที่ออกถัดมาในปี 1976 คือชุด Dawn ซึ่งเปรียบเสมือนอรุณเบิกฟ้าแห่งยุค symphonic progressive ที่แท้จริงของ Eloy หลังจากที่ได้ออกอัลบั้มชุด Power And The Passion ในปี 1975 โดยต่อมาได้มีการยุบวงชั่วคราวพร้อมกับการไล่ผู้จัดการวงคนเดิม คือ Jay Partridge ออกไป ทางต้นสังกัด คือ EMI Electrola เห็นว่าผลงานชุด Power And The Passion มียอดขายที่ดีพอสมควร จึงให้โอกาสแก่ Frank Bornemann ในการฟอร์มวง Eloy ขึ้นมาอีกครั้ง โดยทีมนักดนตรีชุดใหม่ของ Eloy ในยุคนี้ได้แก่ Frank Bornemann (vocals, guitars), Klaus-Peter Matziol (bass guitar), Detlev Schmidtchen (keyboards, guitars) และ Jurgen Rosenthal (drums & percussions, อดีตมือกลองของ Scorpions ในงานชุด Fly To The Rainbow) ซึ่งถือเป็นไลน์อัพที่แกร่งและมั่นคงที่สุดในยุครุ่งเรือง นอกจากนี้ Eloy ยังได้รับการสนับสนุนด้านดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าจากบริษัทต้นสังกัด ทำให้ดนตรีในชุด Dawn นี้มีความประณีตเลิศหรูอลังการกว่าผลงานในชุดก่อน ๆ ภาคเนื้อร้อง (lyrics) ดูแลโดย Jurgen Rosenthal มือกลอง แต่เครดิตในการทำดนตรีเป็นของสมาชิกทุกคนในวง

จากการที่ได้สมาชิกที่เป็นเลือดใหม่ทั้งสามคนมาร่วมงาน ทำให้ดนตรีในงานชุดนี้มีสีสันแตกต่างผิดแผกไปจากผลงานในชุดก่อน ๆ ฝีมือและลวดลายในการเล่นกลองของ Rosenthal ละม้ายคล้ายคลึงกับ Neil Peart แห่งวง Rush มาก เต็มไปด้วยเทคนิค ลูกเล่น และมีความละเอียดซับซ้อนแพรวพราว, การเดินเบสส์ของ Klaus-Peter Matziol นิยมใช้ Rickenbacker ซึ่งให้โทนเสียงที่อุ่นหนาและมีพลังหนักแน่น, Detlev Schmidtchen ซึ่งเดิมเล่นกีตาร์ แต่พอมาสังกัดอยู่วงนี้จึงรับหน้าที่เล่นคีย์บอร์ดนานาชนิด และเล่นออกมาได้ดีพอสมควร

ผลงานชุดนี้เป็นคอนเส็พท์อัลบั้มอีกชุดหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่า Eloy ต้องการจะสื่อถึงอะไร, เพราะดูจากเนื้อเพลงที่ให้มาด้วยนั้น เป็นภาษาอังกฤษที่อ่านแล้วเข้าใจยาก -- จะว่าจงใจเขียนให้ดูเข้าใจยากและกำกวม หรือภาษาอังกฤษของคนเยอรมันอย่าง Rosenthal นั้นเป็น broken English อันนี้ก็สุดที่จะเดา (คล้าย ๆ กับเนื้อร้องที่เขียนโดย Jon Anderson ของวงเยส) -- แต่พอจะจับความได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ จิตวิญญาณ เรื่องราวเหนือจริง ความสับสน การต่อสู้ของจิต และการตรัสรู้ (โดยใช้คำว่า Dawn เป็นสัญลักษณ์?) หรืออาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับอภิปรัชญา (metaphysics) ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการเอ่ยชื่อตัวละครที่ชื่อ Jeanne (ในอัลบั้ม Power And The Passion) ด้วย จึงไม่แน่ใจว่าผลงานชุดนี้เป็นภาคสองต่อจาก Power And The Passion หรือเปล่า?

หากตัดความยากและกำกวมของภาษาออกไป ผลงานชุดนี้ถือเป็นงานดนตรี symphonic progressive ที่ยอดเยี่ยมงดงามมากไม่แพ้ผลงานคลาสสิกของวง Yes และถือเป็นมาสเตอร์พีซชุดหนึ่งของ Eloy เลยก็ว่าได้ ดนตรีเล่นได้ดีทุกชิ้นและใช้เครื่องดนตรีมากมายหลายชนิด ทำให้เสียงที่ได้ออกมานั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน เสมือนพรมที่ถูกถักทอมาอย่างวิจิตรบรรจง แต่เสียอยู่นิดเดียวเท่านั้นคือภาคคีย์บอร์ดซึ่งฟังดูเนือย ๆ ชอบกล ไม่ค่อยเร้าใจเท่าที่ควร เสียงร้องของ Bornemann มักถูกตำหนิจากเจ้าของภาษาหรือ native speaker ว่า เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นสำเนียงเยอรมันหรือ thick accent มากไปหน่อย แต่โดยส่วนตัว ผมว่าเสียงของเขามีเสน่ห์ครับ เพลงเด่นในชุดนี้ได้แก่ Awakening ซึ่งเริ่มต้นก็มีเสียงเอฟเฟ็คท์กัมปนาทครั่นครืนของลมฟ้าอากาศ, Between The Times ร็อคมัน ๆ จังหวะจะโคนคล้ายผลงานยุคแรกของ Scorpions, The Sun Song ซึ่งมีสำเนียงคีย์บอร์ดในแบบตะวันออกคล้ายของ Kitaro, The Dance In Doubt And Fear ซึ่งมีเนื้อร้องยาวและร้องในลักษณะพูด dialogue มากกว่า, Lost (The Decision) เพลงร็อคที่ฟังแล้วติดหูง่ายอีกเพลงหนึ่ง และโครงสร้างไม่ซับซ้อนมาก, The Midnight Fight/The Victory Of Mental Force จังหวะจะโคนคึกคักสนุกสนานเต็มไปด้วยความสับสน, Gliding Into Light And Knowledge ซึ่งโทนเพลงออกหวาน เศร้า ดื่มด่ำ โหยหา และเต็มไปด้วยอารมณ์, การบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ฟังดูโปร่งกระจ่างและสะอาดหูกว่าชุด Ocean ซึ่งถือเป็นงานชิ้นสุดยอดของ Eloy เสียอีก, อย่างไรก็ดี ผลงานชุดนี้ต้องฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะทุกเพลงต่างเรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่อง จะขาดไปเสียเพลงใดเพลงหนึ่งมิได้ -- และนี่คือผลงานระดับเอกอันถือเสมือนเป็นเพชรงามเลอค่าเม็ดหนึ่งแห่งโลกดนตรี progressive rock -- เอาไปเลยครับ สี่ดาวครึ่ง สำหรับผลงานอันยอดเยี่ยมชุดนี้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:20:10 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:49:34 PM »

Title: Ocean (1977, LP EMI Electrola 1C 064-32 596 Made in Germany)
 
Track Listing: Poseidon's Creation; Incarnation Of The Logos; Decay Of The Logos; Atlantis' Agony At June 5th 8498. 13 P.M. Gregorian Earthtime
 
Musicians: Frank Bornemann (electric, acoustic & effect guitars, vocals); Klaus-Peter Matziol (bass guitars); Detlev Schmidtchen (keyboards); Jurgen Rosenthal (drums & percussions)

Personal Rating: ****1/2

หลังจากประสบความสำเร็จมากพอสมควรกับอัลบั้มชุด Dawn แล้ว ในปีต่อมาคือ 1977 Eloy จึงได้ออกผลงานอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จที่มีอยู่เดิม อัลบั้มชุดนี้มีชื่อว่า Ocean และยังเป็นคอนเส็พท์อัลบั้มเช่นเดียวกับชุดก่อน โดยในชุดนี้ Eloy ได้กล่าวถึงกำเนิด ความเจริญ ความเสื่อม และการล่มสลายของทวีปแอตแลนติสซึ่งจมหายไปในท้องสมุทรตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ตามความเชื่อของชาวกรีกโบราณ อัลบั้มชุดนี้มีเพลงทั้งหมดสี่เพลง ได้แก่ Poseidon's Creation, Incarnation Of The Logos, Decay Of The Logos และ Atlantis' Agony At June 5th 8498. 13 P.M. Gregorian Earthtime ตามลำดับ ทุกเพลงเล่นได้ยอดเยี่ยมและประณีตตามแบบฉบับของซิมโฟนิคโพรเกรสสีฟว์ เครื่องดนตรีทุกชิ้นที่เล่นมีความโดดเด่นไม่แพ้กัน -- ไม่ว่าจะเป็นกลองและเพอร์คัสชั่นสารพัดชนิดซึ่งเล่นโดย Jurgen Rosenthal ในสไตล์ของ Neil Peart แห่งวง Rush (ผมไม่แน่ใจว่าระหว่างมือกลองทั้งสองคนนี้ ใครลอกทางกลองของใครกันแน่ เพราะสไตล์คล้ายกันจริง ๆ), ลีดกีตาร์ที่ได้รับอิทธิพลจาก David Gilmour (ในเพลง Poseidon's Creation), fretless bass ที่เล่นด้วยชั้นเชิงแพรวพราวโดย Klaus-Peter Matziol และคีย์บอร์ด/ซินธ์นานาชนิดที่สร้างความหรูหรา สวยงามและซับซ้อนให้กับบทเพลงชุดนี้ และฝีมือการริฟฟ์และโซโลคีย์บอร์ดของ Detlev Schmidtchen ในอัลบั้มชุดนี้มีพัฒนามากขึ้นกว่าในชุด Dawn เสียอีก -- จังหวะจะโคนดนตรีของอัลบั้มชุดนี้ส่วนใหญ่สนุกสนาน ขึงขังอลังการ ยกเว้นเพลงสุดท้าย Atlantis' Agony At June 5th 8498. 13 P.M. Gregorian Earthtime ซึ่งเป็นเพลงที่ยาวที่สุดของอัลบั้ม แต่ในช่วงอินโทรถึงกลางเพลงดูออกจะเนิบ ๆ เอื่อย ๆ ไปสักหน่อย เพราะเป็นการเล่นกับเสียงคีย์บอร์ด อิเล็กทรอนิกส์เอฟเฟคท์ และเสียงพูดเหมือนเสียงประกาศิตที่ลอยมาจากท้องฟ้าเบื้องบนจนฟังดูน่าเบื่อ โดยรวมแล้วถือเป็นงาน symphonic progressive ที่นักวิจารณ์ทั่วไปต่างยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดของ Eloy แต่โดยความเห็นส่วนตัว ผมกลับชอบความกลมกลืนต่อเนื่องของอัลบั้มชุด Dawn มากกว่า

แถมท้ายให้นิดหนึ่งคือหน้าปกในแบบแฟนตาซีอาร์ตของชุดนี้ซึ่งวาดออกมาในโทนสีน้ำเงินของมหาสมุทร เป็นอาร์ตเวิร์คที่สวยงามมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีแผ่นไวนิล ซึ่งปกเป็นแบบ gatefold ดูดีและน่าสะสมมากเลยทีเดียว

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:21:34 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:50:22 PM »

Title: Eloy Live (1978, Double LP EMI Electrola 1C 064-32 934/35 Made in Germany)
 
Track Listing: Poseidon's Creation (From "Ocean"); Incarnation Of The Logos (From "Ocean"); The Sun Song (From "Dawn"); The Dance In Doubt And Fear (From "Dawn"); Mutiny (From "Power And The Passion"); Gliding Into Light And Knowledge (From "Dawn"); Inside (From "Inside"); Atlantis' Agony At June 5th 8498. 13 P.M. Gregorian Earthtime (From "Ocean")
 
Musicians: Frank Bornemann (guitars, lead vocals); Klaus-Peter Matziol (bass guitars, vocals); Detlev Schmidtchen (keyboards); Jurgen Rosenthal (drums & percussions)

Personal Rating: ***1/2

Worlds atomize and oceans evaporate in eternity!
Man erects out of the darkness,
laughs into the glimmering light and disappears...
(Introductory speech at the beginning of the song "Poseidon's Creation" in "Eloy Live")

Eloy Live (1978) เป็นอัลบั้มคู่บันทึกการแสดงสดเมื่อครั้งที่ Eloy ออกทัวร์เพื่อโปรโมทผลงานชุด Ocean ในประเทศเยอรมนี บ้านเกิดของพวกตน ดังจะเห็นได้ว่าในอัลบั้มไลฟ์วชุดนี้มีเพลงจากงานชุด Ocean บันทึกอยู่เกือบทั้งหมด ยกเว้นเพลง Decay Of The Logos (อันที่จริง Eloy ก็เล่นเพลงนี้บนเวทีด้วยเช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลและปัญหาทางเทคนิคบางประการ ทำให้เพลง Decay Of The Logos ถูกตัดออกไป) นอกจากนั้นก็มีเพลงจากอัลบั้มชุด Dawn, Power And The Passion และ Inside ในอัลบั้มการแสดงสดชุดนี้ สมาชิกวงทุกคนยังฟอร์มสดและฝีไม้ลายมือยังเฉียบคม เพลงทุกเพลงเล่นได้ใกล้เคียงกับเพลงในสติวดิโออัลบั้ม จะมีพิเศษก็ในบางเพลงอย่าง The Sun Song ซึ่งใช้เวลาพูดแนะนำในช่วงต้นเพลงเป็นภาษาเยอรมันค่อนข้างนาน ทำให้ค่อนข้างน่าเบื่อในช่วงแรก (เพราะฟังภาษาเยอรมันไม่ออก???), เพลง The Dance In Doubt And Fear ที่เน้นการบรรเลงดนตรีโดยปราศจากเนื้อร้อง เพลงนี้เป็นเพลงโปรดเพลงหนึ่งของผม ซึ่งสมัยก่อนมักจะได้ยินเปิดออกอากาศในรายการ Top Teen Talent อยู่บ่อย ๆ, เพลง Mutiny (จากชุด Power And The Passion) และเพลง Inside (จากชุด Inside) ทั้งสองเพลงนี้น่าสนใจตรงที่เล่นสดโดยไลน์อัพชุดใหม่ (ไม่ใช่ไลน์อัพชุดเดิมที่เล่นเพลงนี้ในสติวดิโอ) และเล่นได้ใกล้เคียงกับของเดิมมาก, น่าเสียดายที่คุณภาพเสียงของอัลบั้มชุดนี้ไม่สู้จะดีนัก คือ เสียงออกจะแบนฟุ้งไปหน่อยและความดังของเสียงในแต่ละเพลงไม่สมานเสมอกัน สาเหตุเท่าที่ทราบจากข้อมูลที่ได้มาคือปัญหาด้านเทคนิคและไฟฟ้าบนเวที ทำให้ต้องมีการแต่งซ่อมเพลงบางเพลงในสติวดิโอกันในภายหลัง แต่ก็เป็นอัลบั้มแสดงสดที่น่าสนใจมากของ Eloy ในยุครุ่งเรือง และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับแฟนใหม่หรือผู้ที่ต้องการจะทำความรู้จักผลงานของ Eloy ในเบื้องต้น อัลบั้มแสดงสดชุดนี้เปรียบเสมือนชุดรวมเพลงที่ยอดเยี่ยมชุดหนึ่งของ Eloy เลยทีเดียว

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:13:29 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:51:20 PM »

Title: Silent Cries And Mighty Echoes (1979, LP EMI Electrola 1C 064-45 269 Made in Germany)
 
Track Listing: Astral Entrance/Master Of Sensation; The Apocalypse: a) Silent Cries Divide The Nights, b) The Vision - Burning, c) Force Majeure; Pilot To Paradise; De Labore Solis; Mighty Echoes
 
Musicians: Frank Bornemann (guitars, vocals); Klaus-Peter Matziol (bass guitar); Detlev Schmidtchen (keyboards); Jurgen Rosenthal (drums & percussions)

Personal Rating: ****

แม้จะล่วงเข้าปี 1979 ซึ่งเป็นช่วงที่มนต์ขลังแห่งกระแสดนตรี progressive rock เริ่มจะแผ่วลง เพราะถูกกระแสคลื่นดนตรียุคใหม่ถาโถมซัดเข้ามาเป็นระลอกเพื่อต้อนรับการมาถึงของทศวรรษใหม่ แต่ Eloy ก็ยังออกคอนเส็พท์อัลบั้มชั้นเยี่ยมมาให้แฟน ๆ ได้สัมผัสอีกหนึ่งชุด คือ Silent Cries And Mighty Echoes ซึ่งครั้งนี้ Eloy จะพาคุณท่องอวกาศอันไกลโพ้นหรือดำดิ่งสู่เรื่องราวเหนือจริงในเบื้องลึกแห่งความรู้สึก, อิทธิพลของดนตรีแนว space rock ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากกว่าผลงานชุดก่อน ๆ โดยเฉพาะช่วงอินโทรในเพลงแรกของอัลบั้ม คือเพลง Astral Entrance/Master Of Sensation นั้น ได้รับอิทธิพลจากดนตรีของ Pink Floyd (โดยเฉพาะเพลง Shine On You Crazy Diamond จากอัลบั้มชุด Wish You Were Here) มาอย่างเห็นได้ชัด เสียงลีดกีตาร์ก็เป็นเสียงในสไตล์ของ David Gilmour, เป็นผลงานที่นักวิจารณ์มีความเห็นสองด้าน คือ เป็นมาสเตอร์พีซที่รองจากอัลบั้มชุด Ocean (แต่โดยส่วนตัว ผมให้ Silent Cries And Mighty Echoes เป็นรองจาก Dawn และ Ocean ตามลำดับ) หรือไม่ก็เป็นงานที่ (บางช่วงบางตอน) ลอกเลียนสไตล์ดนตรี space rock ของ Pink Floyd (โดยเฉพาะงานชุด WYWH) แต่โดยความเห็นส่วนตัว อัลบั้มชุดนี้มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่พอสมควร และเพลงที่มีกลิ่นอายของ Pink Floyd น่าจะเป็นเพลงแรกของอัลบั้มเท่านั้น, หลังจากออกอัลบั้มนี้แล้ว Detlev Schmidtchen และ Jurgen Rosenthal ได้ลาออกจากวงไป และนี่คือผลงานที่ยอดเยี่ยมอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นการปิดฉากงานในยุค symphonic prog อันสวยงามอลังการของ Eloy โดยมีระดับความยอดเยี่ยมใกล้เคียงกับผลงานชุด Ocean และ Dawn ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และอัลบั้มถัดจากชุดนี้จะเป็นงานที่ก้าวสู่ยุค 80 ซึ่งจะมีรายละเอียดดนตรีผิดแผกไปจากงานในทศวรรษที่ 70 ของ Eloy อยู่พอสมควร

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:22:50 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:52:04 PM »

Title: Colours (1980, LP EMI Electrola 1C 064-45 936 Made in Germany)
 
Track Listing: Horizon; Illuminations; Giant; Impressions; Child Migration; Gallery; Silhouette; Sunset
 
Musicians: Frank Bornemann (guitars, lead vocals); Klaus-Peter Matziol (bass guitar); Hans Arkona (guitars); Hans Folberth (keyboards); Jim McGillivray (drums & percussions)

Personal Rating: ****

หลังจากออกอัลบั้ม Silent Cries And Mighty Echoes สมาชิกสองคนของ Eloy คือ Detlev Schmidtchen และ Jurgen Rosenthal ได้ออกจากวงไปตั้งวงดูโอกรุ๊ปที่ชื่อ Ego On The Rocks ส่วน Eloy ได้สรรหาสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมวง ได้แก่ Hans Arkona (guitars, keyboards), Hans Folberth (keyboards) และ Jim McGillivray (drums & percussions) ไลน์อัพใหม่ของ Eloy นี้ได้ร่วมกันออกผลงานประเดิมต้นทศวรรษที่ 80 ในชื่อชุด Colours ซึ่งเพลงในผลงานชุดนี้แตกต่างไปจากอัลบั้มชุดก่อนมากพอสมควร -- จากเพลงที่เคยเล่นกันในแบบ epic ซึ่งมีความยาวในสติวดิโออัลบั้มสองสามชุดก่อน พอมาถึงอัลบั้มชุดนี้ Eloy ได้เปลี่ยนสูตรหันไปทำเพลง progressive rock ที่มีความยาวอยู่ระหว่างสามนาทีกว่าไปจนถึงเจ็ดนาทีกว่าและเป็นเพลงร็อคที่เล่นกันอย่างกระชับมากขึ้น ตัดความหรูหราอลังการในแบบซิมโฟนิคออกไป อัลบั้มชุดนี้บรรจุเพลงทั้งหมดแปดเพลง โดยเพลงส่วนใหญ่ในชุดนี้ใช้ชื่อไทเทิลด้วยคำเพียงคำเดียว (ยกเว้นเพลง Child Migration) เสียงร้องนำของ Frank Bornemann ดูเหมือนจะปรับให้คล้ายกับเสียงของ Peter Gabriel แห่งวง Genesis -- เพลงแรกของอัลบั้มและเป็นไทเทิลแทร็คด้วย คือ Colours มีเสียงร้องประสานของกลุ่มนักร้องหญิง ภาคดนตรีบางส่วนในตอนท้ายดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจาก The Alan Parsons Project, เพลง Illuminations และ Child Migration สองเพลงนี้เป็นเพลงที่มีลูกผสมของฮาร์ดร็อคมัน ๆ และเพลงบรรเลงปิดท้าย Sunset ฟังแล้วนึกถึงเสียงคีย์บอร์ดที่บรรเลงโดย Kitaro โดยรวมแล้วผลงานชุดนี้ยังน่าฟัง กระชับ สนุกสนาน และมีความเป็น progressive rock แม้ Eloy จะได้ก้าวล่วงเข้ามาถึงต้นยุคแห่งความเสื่อมถอยของดนตรีโพรเกรสสีฟว์ร็อคแล้วก็ตาม

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:24:33 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:54:45 PM »

Title: Planets (1981, LP EMI Electrola 1C 064-46 483 Made in Germany)
 
Track Listing: Introduction; On The Verge Of Darkening Lights; Point Of No Return; Mysterious Monolith; Queen Of The Night; At The Gate Of Dawn; Sphinx; Carried By Cosmic Winds
 
Musicians: Frank Bornemann (guitars, lead vocals); Klaus-Peter Matziol (bass guitar); Hans Arkona (guitars, keyboards); Hans Folberth (keyboards); Jim McGillivray (drums & percussions)

Personal Rating: ***1/2

ต่อมาในปี 1981 ไลน์อัพใหม่ของ Eloy ยังคงเดินหน้าออกผลงานต่อจากชุด Colours อันเป็นผลงานซึ่ง Eloy ได้ทดลองเล่นกับงานเพลงร็อคที่หนักแน่นและสั้นกระชับ แต่มาคราวนี้ Eloy ได้หันกลับไปใช้สูตรทำคอนเส็พท์อัลบั้มในแบบ symphonic progressive เหมือนดังเช่นที่เคยประสบความสำเร็จในยุคปลายปี 70 โดยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่ชื่อ Salta และ The Ikareens ผู้อาศัยในดาวเคราะห์ดวงนั้น ในระบบสุริยะที่มีชื่อว่า Hel (มีรายละเอียดให้อ่านอยู่ในซองใส่แผ่นเสียง) คอนเส็พท์อัลบั้มที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับห้วงอวกาศนี้มีอยู่สองชุดซึ่งเป็นภาคต่อเนื่องกัน คือ Planets (1981) และ Time To Turn (1982) โดยครั้งนี้จะขอพูดถึงอัลบั้มชุด Planets ซึ่งถือเป็นภาคแรกก่อน อัลบั้ม Planets นี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแนว space rock ได้อย่างเต็มตัว เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับห้วงอวกาศและจักรวาล บทบาทของคีย์บอร์ดและเครื่องสังเคราะห์มีส่วนช่วยเป็นอันมากในการแต่งแต้มสีสันแบบอวกาศให้แก่อัลบั้มชุดนี้ (แต่ยังดีที่คีย์บอร์ดส่วนใหญ่ซึ่งนำมาเล่นในผลงานชุดนี้ยังเป็น vintage keyboards อยู่) ดังที่จะได้ยินจากเพลงเปิดอัลบั้ม Introduction ซึ่งเสียงซินธ์จะพาจินตนาการผู้ฟังหลุดลอยสู่ห้วงอวกาศ, เพลง On The Verge Of Darkening Lights ออกแนวฮาร์ดร็อคมัน ๆ ซึ่งตามมาด้วยเพลง Point Of No Return ซึ่งมีไลน์เบสส์ที่ราบเรียบ กระชับและทรงพลัง, Mysterious Monolith เป็นเพลงที่มีหลายรสชาติแห่งความเป็น progressive อยู่ในเพลงเดียว และโชว์การทักษะเล่นดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะเบสส์ คีย์บอร์ดและกลอง, เพลง Queen Of The Night ได้หันกลับไปสู่แนวฮาร์ดร็อคสนุกสนานซึ่งเจือเสียงเครื่องสายออร์เคสตร้า พร้อมด้วยเสียงคอรัสหญิง เพลงนี้เป็นเพลงที่ผมชอบมากที่สุดเพลงหนึ่งของ Eloy (สมัยก่อน รายการ Top Teen Talent ช่วงของคุณสุทธิณาดาได้เปิดเพลงนี้ให้ฟังกันบ่อย), ต่อจากนั้นท่านจะดื่มด่ำผ่อนคลายไปกับเพลงบรรเลง At The Gates Of Dawn ซึ่งฟังแล้วพาลให้นึกถึงเสียงคีย์บอร์ดในสไตล์นิวเอจของ Kitaro (อีกแล้ว), และหลังจากนั้น เพลง Sphinx ในจังหวะที่คึกคักพอสมควรจะมาปลุกเร้าพาท่านผจญภัยต่อไป, และปิดท้ายด้วย Carried By Cosmic Winds เพลงที่ทรงพลังซึ่งเน้นการริฟฟ์คีย์บอร์ดและซินธ์ เสริมด้วยเสียงเครื่องสายออร์เคสตร้าและคอรัสหญิง เป็นการปิดฉากอัลบั้ม Planets ซึ่งโดยรวมถือเป็นงานคอนเส็พท์ที่ยอดเยี่ยมอีกชุดหนึ่งของ Eloy เช่นเดียวกับ Ocean, Dawn, Silent Cries And Mighty Echoes และเป็นผลงานที่หาฟังได้ไม่ง่ายนักในยุคถดถอยของเพลงแนวนี้ในทศวรรษที่ 80 จึงขอแนะนำให้ไปหามาลองฟังกันครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:25:35 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:55:33 PM »

Title: Time To Turn (1982, LP EMI Electrola 1C 064-46 548 Made in Germany)
 
Track Listing: Through A Sombre Galaxy; Behind The Walls Of Imagination; Time To Turn; Magic Mirrors; End Of An Odyssey; The Flash; Say, Is It Really True
 
Musicians: Frank Bornemann (guitars, lead vocals); Klaus-Peter Matziol (bass guitar); Hans Arkona (guitars, keyboards); Hans Folberth (keyboards); Fritz Randow (drums & percussions)

Personal Rating: ***

หลังจากออกอัลบั้ม Planets แล้ว Jim McGillivray มือกลองได้ลาออกจากวงไป Fritz Randow อดีตมือกลองของ Eloy ในยุคต้นก็ได้เข้ามาแทนที่ และ Eloy ได้ออกผลงานชุดใหม่ คือ Time To Turn (1982) ซึ่งเปรียบเสมือนคอนเส็พท์ภาคต่อจากอัลบั้มชุด Planets ถึงตอนนี้ก็คงพอจะเดาได้ว่า Time To Turn คงไม่ต่างไปจากภาพยนตร์ภาคสอง ซึ่งโดยทั่วไปมักจะอ่อนด้อยกว่าภาคแรกในแง่ของคุณภาพ -- เพลงในชุดนี้ส่วนใหญ่ไม่ยาวมากนัก เพลงที่ยาวที่สุดในอัลบั้มนี้และเป็นเพลงบรรเลงด้วย คือ End Of An Odyssey -- โดยทั่วไป Eloy ยังคงแนวทางการนำเสนอบทเพลงในแบบซิมโฟนิคเช่นในผลงานชุดก่อน แต่เมื่อได้ฟังผลงานชุดนี้จบ ผมรู้สึกว่าพลัง ความเข้มข้นและมนต์ขลังของ Time To Turn สู้ชุด Planets ไม่ได้ -- มันอ่อนด้อยกว่าจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง Through A Sombre Galaxy, Behind The Walls Of Imagination หรือแม้กระทั่ง Time To Turn ซึ่งมีจังหวะคึกคักสนุกสนานตามแบบฉบับเฮฟวี่เมทัล ครั้นเมื่อได้ฟังดูดี ๆ แล้ว มันรู้สึกเนือย ๆ ชืด ๆ อย่างไรชอบกล เหมือนกับผลงานชุดนี้ขาดวิญญาณและความมีชีวิตชีวาไปเล็กน้อย, เพลงที่ผมชอบที่สุดในชุดนี้คือ Time To Turn ซึ่งจังหวะจะโคนเป็นร็อคกึ่งเฮฟวี่เมทัลที่มีการเดินเบสส์แสนจะเรียบง่าย ฟังแล้วนึกถึงเพลง Discovery ของ Mike Oldfield ส่วนเพลง End Of An Odyssey นั้นก็บรรเลงคีย์บอร์ดได้หวือหวาอลังการ ฟังดูยิ่งใหญ่ดี, และเพลงสุดท้าย Say, Is It Really True ก็ปิดฉากอัลบั้มชุดนี้ไปแบบเนิบ ๆ เนือย ๆ ไม่มีความคึกคักหรืออลังการใด ๆ เป็นพิเศษ, เนื่องจากผลงานชิ้นนี้เป็นภาคต่อจากงานชุด Planets ดังนั้นจึงคงจำเป็นต้องมีสำหรับผู้ที่เก็บอัลบั้มชุด Planets ไว้แล้วอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2010 | 01:27:17 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2007 | 12:56:19 PM »

ก็เป็นอันจบสิ้นกระบวนความสำหรับการแนะนำผลงานของวง Eloy ทั้งสิบชุดซึ่ง โดยความเห็นส่วนตัวของผม เป็นผลงานที่สำคัญพอที่จะทำให้ได้สัมผัสกับวงนี้ได้อย่างถึงแก่น ส่วนผลงานอื่น ๆ ซึ่งต่อจาก Time To Turn เป็นต้นไปนั้น ขอให้เป็นทางเลือกสำหรับแฟน ๆ ที่จะเลือกหามาเสพหรือเติมเต็มคอลเล็คชั่นของตนเอง ผลงานเหล่านี้ได้แก่

Performance (1983)
Metromania (1984)
Codename: Wildgeese (original soundtrack, 1985)
Ra (1988)
Rarities (1991) - a compilation of Eloy's singles
Destination (1992)
The Tides Return Forever (1994)
Ocean 2 - The Answer (1998)

นอกจากนี้ยังมีงานประเภทคอมไพเลชั่นหรือรวบรวมผลงานเก่าประเภท The Best Of Eloy ออกมาเป็นครั้งคราว หรือไม่ก็มีงานที่เป็นของเก่าเอามาเล่นและรีมิกซ์ใหม่ ผมจึงไม่ขอแนะนำงานประเภทเหล่านี้นอกจากสำหรับผู้ที่อยากจะทำความรู้จัก Eloy ในเบื้องต้นเท่านั้นและยังไม่อยากเสี่ยงที่จะต้องไปหาอัลบั้มเต็มมาฟัง

ในอัลบั้ม Performance, Metromania และ Codename: Wildgeese ยังคงเป็นไลน์อัพชุดเดิมจาก Time To Turn อยู่ หลังจากนั้น Eloy ก็ไม่มีผลงานใดออกมา และดูเหมือนจะพักวงไปชั่วคราว ต่อมาในปี 1988 Frank Bornemann ได้ร่วมกับสมาชิกใหม่ คือ Michael Gerlach (keyboards) ฟอร์มวง Eloy ขึ้นมาใหม่เป็นดูโอกรุ๊ปพร้อมด้วยนักดนตรีรับเชิญบางคน และได้ออกผลงานคอนเส็พท์อัลบั้ม Ra ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัว เป็นงานที่ดีมากอีกชุดหนึ่ง แต่ Eloy เลือกที่จะใช้ drum machine/programming แทนที่จะสรรหามือกลองสักคนมาร่วมงาน ผลลัพธ์คือเสียงให้จังหวะที่คมแข็งและไม่เป็นธรรมชาติ Frank Bornemann ร่วมงานในฐานะ duo group กับ Michael Gerlach ออกอัลบั้มต่อมาอีกสองชุดคือ Destination และ The Tides Return Forever จนกระทั่งถึงปี 1998 จึงได้ออกอัลบั้ม Ocean 2 - The Answer (อัลบั้มภาคสองของ Ocean ที่ออกในปี 1977) ซึ่งได้เชิญสมาชิกใหม่บางคนเข้ามาร่วมงาน รวมทั้งสมาชิกเก่าอย่าง Klaus-Peter Matziol มือเบสส์ด้วย แฟน ๆ ก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Eloy จะมีผลงานอะไรออกมาให้ฟังกันอีก

และผมขอจบการแนะนำผลงานที่มีนัยสำคัญทั้งสิบชุดของ Eloy วงดนตรีโพรเกรสสีฟว์ร็อคชั้นนำของเยอรมนีและของโลก ไว้แต่เพียงเท่านี้



Above: Eloy circa "Floating" recording session in 1974
Image Credit: www.progweed.net
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พฤศจิกายน 2007 | 12:38:33 PM โดย ปีศาจลายคราม » บันทึกการเข้า
The Miracle
Selling England By The Pound
**
กระทู้: 120



ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 08 พฤศจิกายน 2007 | 12:37:33 PM »

ว้าวว  เจ๋ง ค่ะ ขอบคุณทีแนะนำ ( ยาวและละเอียดมาก แฮ่ก ๆ  ยิงฟันยิ้ม ) ไม่รู้ยักอ่ะค่ะ ( หลังเขา )  อายจัง  เดี๋ยววันหลังมาไล่อ่านให้จบ
บันทึกการเข้า

kongbei
Administrator
The Snow Goose
*****
เพศ: ชาย
กระทู้: 6534


ขงปี่

pink_floyd@thaiprog.net
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 22 พฤศจิกายน 2007 | 08:01:29 PM »

วงนี้รับประกันความหลอนครับ
บันทึกการเข้า
ปีศาจลายคราม
The Snow Goose
**********
เพศ: ชาย
กระทู้: 14364


Reap What You Sow


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2007 | 08:12:02 AM »

ล่าสุด ผมได้ปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการนำเสนอเล็กน้อยโดยยกเอารายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับอัลบั้มแต่ละชุดขึ้นมาไว้ข้างบน (ซึ่งแต่เดิมอยู่ข้างล่าง) และยังได้เพิ่มการจัดอันดับหรือให้คะแนนส่วนตัว (personal rating) เข้าไป นอกจากนี้ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางตอนของอัลบั้มชุด Dawn อีกด้วย

การให้คะแนนตามจำนวน *

* แย่หรือห่วย (คำจำกัดความสั้น ๆ)
** พอใช้ แต่ถ้ายังไม่ได้ฟังหรือยังไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องไปดิ้นรนหามา เว้นแต่เงินเหลือใช้
*** ดี ถ้าเจอหรือมีโอกาสฟังก็ไปหามาฟังเสีย
**** ยอดเยี่ยม ให้รีบไปหามาฟังได้เลย
***** งานชิ้นเอกหรือมาสเตอร์พีซ ไม่มีไม่ได้ มิฉะนั้น ไม่ใช่แฟนตัวจริง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
พิมพ์
กระโดดไป:  

ThaiProg.net Ver 4.0 by tisanai,Shineon,kongbei
Top 10 Best Sellers in Kindle eBooks Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers In Automotive Parts And Accessories Reviewer 2016 Top 10 Best Sellers in Tools and Home Improvement Under $10, Reviewer 2016
Top 10 Best Sellers in Clothing for 2017 Top 10 Best Sellers in Clothing Best Sellers in Clothing
Top 10 Best Sellers in Books reviewer 2017 Top 10 Best Sellers in Books Best Sellers in Books
Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Reviewer 2017 Top 10 Best Sellers In Best Sellers In Grocery Best Sellers In Grocery