ยุค 1990s นักฟังเพลงและนักสะสมเพลง (แผ่นเสียง, ซีดี) ต่างก็ทราบกันดีว่าเป็นยุคทองของซีดี ตลาดเพลงส่วนใหญ่เป็นของซีดี ร้านค้าก็ขายแต่ซีดี และแทบไม่มีที่ยืนให้แผ่นเสียง ใคร ๆ ในสมัยนั้นต่างพากันคิดว่าแผ่นเสียงคงจอดไม่ต้องแจว ไปต่อไม่ได้แล้ว...
ยุคนั้นผมชอบอ่านคอลัมน์ถาม-ตอบในหนังสือ (นิตยสาร) เครื่องเสียงฉบับหนึ่ง ซึ่งมักจะมีคนอ่านหรือคนเล่นเครื่องเสียงเขียนจดหมายไปถามบรรณาธิการเกี่ยวกับเครื่องเสียงกัน มีคนหนึ่งถามบรรณาธิการว่าเขาอยากจะเล่นแผ่นเสียง และยังมีแผ่นเสียงให้เล่นอยู่ไหม? บรรณาธิการก็ตอบว่ายังมีให้เล่นแน่นอน ทั้งเครื่องและแผ่นเสียง ยิ่งถ้ายอมลงทุนกับแผ่นเสียงที่ผลิตใหม่ (แผ่น 180 กรัม แผ่นรีอิชชู่) นะ (คนเล่น) จะไปได้สวยเลย...
จากคำตอบของผู้ตอบ วิเคราะห์ในมุมมองของนักเล่น audiophile ได้ว่า จะเล่นแผ่นเสียงให้ได้ดี ต้องยอมลงทุน (ใช้เงิน) โดยเฉพาะกับแผ่นที่ผลิตใหม่ แผ่นรีอิชชู่ ซึ่งราคาก็ว่ากันเป็นหลักพันขึ้นไป จะพันกว่า สองพัน หรือกี่พันก็แล้วแต่ ถ้าซื้อมาแล้ว เก็บกันได้เป็นร้อยปี คนฟังและหรือเจ้าของแผ่นจะตายเสียก่อน (ทั้งฮาทั้งเรื่องจริง

) แผ่นเสียงเก่าที่ผมเก็บอยู่ส่วนใหญ่ก็มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป สภาพยังดีอยู่ แผ่นเสียงเป็นอะไรที่คนทั่วไปมองว่าแพงและสิ้นเปลือง แต่เป็นสื่อเก็บดนตรีที่ถาวรและยั่งยืน ขอเพียงแต่ดูแลรักษามันไว้ให้ดีก็พอครับ